ข้าราชการ อาชีพที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ใครหลายๆ คนให้ความสนใจ หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ มีสวัสดิการที่ดี ไม่เพียงแค่ตนเองเท่านั้น แต่ครอบครัวก็ได้ด้วย อย่างเรื่องการรักษาพยาบาล มีสิทธิรักษาพยาบาล เบิกจ่ายตรง ด้วย ส่วนจะเช็กวิธีเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลอย่างไร KTC มัดรวมทุกเรื่องที่ต้องการรู้มาไว้ให้ที่นี่แล้ว
สิทธิรักษาพยาบาล คืออะไร?
สิทธิรักษาพยาบาล คือ สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ที่รัฐบาลมอบให้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม คนไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล โดยมี 3 ระบบใหญ่คือ
- สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
- สิทธิประกันสังคม
- สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท
ซึ่งรัฐบาลให้การดูแลค่าใช้จ่ายแตกต่างกันดังนี้
- สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว (ได้แก่ บิดา มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ และบุตร ไม่เกิน 3 คน เรียงลำดับก่อนหลัง ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ดูแลระบบออกกฎระเบียบ
- สิทธิประกันสังคม คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนตามสิทธิ์ สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ทำหน้าที่ดูแลระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
- สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท คุ้มครองบุคคลที่เป็นคนไทยมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจหรือสิทธิอื่นๆ จากรัฐ ให้ได้รับบริการสาธารณสุข ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด
สิทธิรักษาพยาบาล เบิกจ่ายตรง คือ สวัสดิการของข้าราชการ และบุคคลในครอบครัว
สิทธิเบิกจ่ายตรง คืออะไร?
สิทธิเบิกจ่ายตรง คือ หนึ่งในสวัสดิการของข้าราชการ ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล นอกเหนือไปจากกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ สิทธิเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาล เป็นโครงการแบบสมัครใจ หมายความว่าผู้มีสิทธิ์หรือบุคคลในครอบครัวไม่ต้องการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือไม่อยากยุ่งยากที่ต้องเดินทางไปขอหนังสือรับรองจากต้นสังกัด ก็สามารถสมัครเข้าโครงการเบิกจ่ายตรงนี้ได้
โดยกรมบัญชีกลาง จะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิ์ และบุคคลในครอบครัวให้กับสถานพยาบาล ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลทั้งข้อมูลผู้มีสิทธิ์ และบุคคลในครอบครัว ข้อมูลการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายเงิน ที่ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมทั้งระบบการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน
ผู้มีสิทธิ์ที่จะใช้โครงการเบิกจ่ายตรงนั้น จะต้องดำเนินการลงฐาน บุคลากรภาครัฐของตนเองและบุคคลในครอบครัวให้เรียบร้อยสมบูรณ์ก่อนใช้ สิทธิ์ 15-20 วัน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งระบบเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอกและระบบจ่าย ตรงผู้ป่วยใน
*หนังสือเวียนหลักๆ ของกรมบัญชีกลางที่เวียนแจ้งส่วนราชการเกี่ยวกับ โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้แก่
- หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0417/ว 34 ลงวันที่ 4 ก.ย.49 เรื่อง การบริหารจัดการฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐ
- หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0417/ว 196 ลงวันที่ 12 ธ.ค.49 เรื่อง ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนส่วนภูมิภาค เพื่อ ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐ
ใครได้สิทธิเบิกจ่ายตรงบ้าง?
- ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำจากเงินงบประมาณรายจ่าย งบบุคลากรของกระทรวง ทบวง กรม แต่ไม่รวมข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ ซึ่งอยู่ระหว่างรับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของสำนักงานตำรวจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำ
- ลูกจ้างชาวต่างประเทศ ที่มีหนังสือสัญญาจ้างที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย และสัญญาจ้างนั้น ที่ไม่ได้มีการระบุเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลไว้
- ผู้ได้รับบำนาญปกติหรือผู้ได้รับบำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีสิทธิ์ที่เป็น บุคคลในครอบครัว ประกอบด้วย บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ์ แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม รวมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ และบิดาหรือมารดา
ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้สิทธิเบิกจ่ายตรง จะต้องเป็นบุคคล ที่ไม่มีสิทธิ์ซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิรัฐวิสาหกิจ สิทธิองค์กรอิสระ เป็นต้น
วิธีเช็กสิทธิเบิกจ่ายตรง
สามารถตรวจสอบสิทธิเบิกจ่ายตรงได้จาก 3 ช่องทาง คือ
- แอปพลิเคชัน CGDiHealthCare โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบน App Store หรือ Google Play
- เว็บไซต์ระบบตรวจสอบสิทธิสวัสดิการ https://mbdb.cgd.go.th/wel/ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของ กรมบัญชีกลาง
- ตู้ KIOSK (GOVERNMENT SMART KIOSK)
ขั้นตอนการใช้สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก ผ่านบัตรประชาชน
- นำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงกับเจ้าหน้าที่การเงิน ณ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยผู้มีสิทธิ์/คู่สมรส/บิดา/มารดา/บุตรที่มีอายุ 7 – 20 ปีให้ใช้บัตรประชาชน ส่วนบุตรที่อายุต่ำกว่า 7 ปีให้ใช้เลขบัตรประชาชนของเด็ก และบัตรประชาชนผู้ดูแล ส่วนคู่สมรส/บิดา/มารดา/ ชาวต่างชาติใช้เลข 13 หลักที่ทางราชการออกให้ หากไม่มีให้ใช้เลขที่กรมบัญชีกลางกำหนด สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ใช้บัตรประชาชนของผู้ป่วย และของผู้ดูแล
- หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและทำธุรกรรมแล้ว จะได้รับใบแสดงรายการค่าใช้จ่าย (Sale Slip) เพียง 1 ใบ และไม่ต้องลงนามใน Sale Slip
ผู้มีสิทธิ์ในระบบจ่ายตรงต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงสิทธิ์ด้วยทุกครั้ง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการที่โรงพยาบาล หากลืมบัตรประชาชนหรือเอกสารที่กรมบัญชีกลางกำหนด หรือบัตรประชาชนหาย จะต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาไปก่อน และนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกกับส่วนราชการต้นสังกัดภายหลัง
ขั้นตอนการใช้สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
กดเข้าไปในเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” แล้วดำเนินการดังนี้
- เลือกเมนูชำระ/เบิกค่ารักษา
- เลือกโรงพยาบาลและรายการที่ต้องการใช้ สิทธิเบิกจ่ายตรง
- ตรวจสอบรายละเอียดและกดปุ่มยืนยันการใช้สิทธิ์
- ระบบแสดงหน้าจอ ใช้สิทธิ์สำเร็จ
ขั้นตอนการชำระค่ารักษาส่วนเกิน
- หลังจากกดยืนยันการใช้สิทธิ์แล้ว ให้กด “ชำระค่าบริการ”
- เลือกช่องทางการชำระเงินด้วย Krungthai NEXT หรือ QR Payment
- กรณีชำระด้วย Krungthai NEXT ระบบจะแสดงแอปพลิเคชันขึ้นมาทันที จากนั้นให้ทำรายการชำระเงิน ส่วนกรณีชำระด้วย QR Payment ระบบจะแสดง QR Code ให้เลือกบันทึก และทำรายการสแกนจ่ายผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร
- เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะแสดงสถานะ
ขั้นตอนการดูประวัติและใบเสร็จรับเงิน
- เข้าไปที่เมนู “ประวัติทำรายการ”
- เลือก “สิทธิ์อื่น/มีค่าบริการ”
- ระบบจะแสดงประวัติการชำระเงินทุกประเภท
- ใช้สิทธิ์เต็มจำนวน
- ใช้สิทธิ์ และชำระเงินส่วนเกินสำเร็จ
- ใช้สิทธิ์แล้ว แต่ยังค้างชำระส่วนเกินอยู่
สามารถ กด “เอกสารทางการเงิน” เพื่อดูใบเสร็จตัวจริง
การเข้ารับการรักษาพยาบาลครั้งแรก (ผู้ป่วยรายใหม่) สถานพยาบาลอาจมีขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อออกบัตรประจำตัวผู้ป่วย หรือการตรวจสอบสิทธิ์ก่อนการเข้ารับการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนภายในของสถานพยาบาล ผู้มีสิทธิ์และบุคคลในครอบครัวจึงต้องปฏิบัติตามวิธีการที่สถานพยาบาลกำหนด
ที่สำคัญผู้มีสิทธิ์และบุคคลในครอบครัวควรตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองก่อน เข้ารับการรักษาพยาบาลทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ แต่อยากได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆ สมาชิกบัตรเครดิต KTC แนะนำให้ใช้จ่ายด้วยบัตร มีโปรโมชั่นเปลี่ยนยอดใช้จ่ายเป็นรายการผ่อนด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.74% สูงสุด 10 เดือน ง่ายๆ ผ่านแอป KTC Mobile หรือโทร KTC PHONE 02 123 5000 กด 4 เพื่อเป็นตัวช่วยในการใช้จ่ายที่คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ทุกการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทุก 25 บาทรับคะแนน KTC FOREVER 1 คะแนน สามารถนำไปแลกส่วนลด และสิทธิประโยชน์มากมายได้อีกด้วย สมัครบัตรเครกิต KTC ออนไลน์ได้เลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC