ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้เหมือน “มีกาแฟเป็นเพื่อน” เริ่มต้นแก้วแรกตั้งแต่ตื่นนอน เป็นเครื่องดื่มที่ถูกตั้งบนโต๊ะงาน เป็นเครื่องดื่มปลุกพลังยามบ่าย เป็นเพื่อนคู่กายยามทำงานดึก สุดท้ายร้านกาแฟยังเป็นที่เช็คอินเก๋ๆ ในวันหยุดสุดชิล จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนเลือกที่จะ เปิดร้านกาแฟ เพื่อเป็นกิจการของตัวเอง
แต่เปิดร้านกาแฟ ปัจจุบันก็มีจำนวนมาก เพราะความชอบดื่มกาแฟอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ธุรกิจเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น ยังต้องมีองค์ประกอบต่างๆ มาดูกันว่า เปิดร้านกาแฟ ไม่มีประสบการณ์ ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง?
เรียนรู้เรื่องการชงกาแฟซึ่งเป็นขั้นพื้นฐาน ของผู้ที่สนใจเปิดร้านกาแฟ
เปิดร้านกาแฟ ไม่มีประสบการณ์ ทำยังไงให้รอด!
การเปิดร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กๆ ริมทาง ร้านตึกแถว ร้านกาแฟในสวน คาเฟ่ที่มีมุมถ่ายรูป สิ่งที่สำคัญก็คือการวางแผน เพราะการเปิดร้านกาแฟอาจจะดูเป็นเรื่องง่าย เป็นธุรกิจที่นิยมทำกันเยอะ ทำให้ในปัจจุบันนี้มีร้านกาแฟมากมาย แต่ถ้าหากขาดการวางแผนก็อาจเสี่ยงให้ร้านขาดทุนได้
หากอยากเปิดร้านกาแฟ และต้องการผลักดันให้ธุรกิจร้านกาแฟอยู่รอดได้ ผู้ประกอบการต้องแปลงรูปแบบของธุรกิจ (Business Model) นั้นเป็นรูปแบบทางการเงิน (Financial Model) ให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจร้านกาแฟในฝันให้ได้ ได้แก่
- ดูงบประมาณเงินลงทุนเริ่มต้น รู้จักเป้าหมายของตัวเองในการเปิดร้าน
- หาทำเลที่เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของร้าน
- ตั้งชื่อร้านให้จดจำได้ง่าย บ่งบอกถึงสินค้าที่เราขาย
- วิเคราะห์จุดคุ้มทุนว่าจะต้องขายให้ได้กี่แก้วต่อเดือน ถึงจะเพียงพอชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ
- ประเมินระยะเวลาคืนทุนได้ จะกี่เดือน กี่ปี
ร้านกาแฟนอกจากเครื่องดื่มรสชาติดี การตกแต่งร้านก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการครั้งแรก
ร้านกาแฟมีกี่ประเภท?
ร้านกาแฟ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป คือ
1.ร้านกาแฟ Coffee Kiosk
ร้านกาแฟสดขนาดเล็ก แบบตู้หรือเคาน์เตอร์ ใช้พื้นที่ไม่มาก ทำให้เครื่องดื่มและขนมที่นำมาว่าขายมีไม่มากนัก ส่วนมากจะคัดมาแต่เครื่องดื่มและสินค้าที่เป็นที่นิยม มักพบได้ตามสถานีรถไฟฟ้า หรือพื้นที่ๆ มีผู้คนผ่านไปผ่านมา กลุ่มเป้าหมายของร้านประเภทนี้เป็นลูกค้าที่ต้องการความเร็ว และความเร่งรีบ จึงเน้นเป็นบริการแบบ Grap & Go
- ข้อดี ใช้เงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับร้านกาแฟประเภทอื่น รวมถึงยังมีร้านกาแฟประเภทแฟรนไชส์ให้เลือกอีกด้วย
- ข้อเสีย เรื่องขนาดของพื้นที่ และความหลากหลายของสินค้าบริการมีไม่มากนัก
2. ร้านกาแฟ Full Service
มีบริการครบ พื้นที่ขนาดใหญ่กว่า แบบ Coffee Kiosk มีพื้นที่โต๊ะให้นั่งบริการ รวมถึงมีเมนูเครื่องดื่ม และขนมที่หลากหลายให้เลือก สำหรับร้านกาแฟแบบ Full Service ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท แบบ Chain Store เช่น Starbucks, Amazon, Au Bon Pain, True Coffee, กาแฟดอยช้าง เป็นต้น และแบบ Independent คือร้านกาแฟทั่วไปที่ไม่มีสาขา ส่วนใหญ่มักจะเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ
- ข้อดี มีขนาดร้านที่รองรับลูกค้า สามารถจัดรูปแบบและดัดแปลงร้านได้ตามต้องการ และยังสามารถเลือกทำเลที่ตั้งเองได้ โดยอาจจะเลือกจะที่ที่มีคนเดินผ่าน เช่น ในตลาด ปั้มน้ำมัน หรือศูนย์การค้า
- ข้อเสีย ต้องใช้เงินลงทุนและเงินหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงต้องวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม
3.ร้านกาแฟ Specialty Coffee
ร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์ มีรูปแบบการดำเนินกิจการใกล้เคียงกับร้านกาแฟแบบ Full Service แต่จะเน้นขายกาแฟที่คัดเลือกเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกทั่วโลก เช่น เอธิโอเปีย เคนยา ซึ่งกาแฟแต่ละรุ่นจะมีปริมาณที่ไม่มากนัก และมีราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไป คนที่สนใจเป็นเจ้าของกิจการร้านกาแฟ Specialty Coffee จะต้องมีใจรักและเข้าในเรื่องกาแฟเป็นอย่างดีและมีความพร้อมด้านการลงทุนอย่างแท้จริง
- ข้อดีของร้านกาแฟ Specialty Coffee คือจะมีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้มีคู่แข่งน้อยกว่าร้านกาแฟ Full Service
- ข้อเสีย ต้องมี Passion ความรู้เชิงลึก และความพร้อมในการลงทุน
4.ร้านกาแฟ Coffee Mixologist
กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นร้านที่ครีเอทกาแฟที่แตกต่างจากร้านใน 3 ประเภทแรก มีความสนุกในการผสมผสานกาแฟ คล้ายเครื่องดื่มประเภท Cocktail บวกกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพัฒนามาจากร้านประเภท Speciality Coffee
- ข้อดี สร้างสีสันให้คอกาแฟ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น
- ข้อเสีย เข้าใจเรื่องกาแฟ เงินทุนหนาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มี Passion และมีความรู้เรื่องเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ด้วย
ไม่ว่าจะร้านเล็ก-ใหญ่ ทำเลที่ตั้งเปิดร้านกาแฟเป็นเรื่องสำคัญ
อยากเปิดร้านกาแฟ ต้องเริ่มจากอะไร?
การจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีประสบการณ์ มี 7 เรื่องที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ดังนี้
1.ทำเลที่ตั้ง และกลุ่มลูกค้า
ทำเลที่ตั้ง คำที่มักจะได้เจอบ่อยๆ ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตาม เพราะทำเลดีเชื่อว่าจะช่วยให้ร้านขายดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับวิธีการเลือกทำเลนี้ สามารถเลือกได้ทั้งแหล่งชุมชนที่มีผู้คนเยอะ, ใกล้โรงเรียน, ใกล้สถานที่ทำงาน บริษัท, ห้างสรรพสินค้า, หน้าบ้าน และสถานที่อื่น ๆ ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ และอีกหนึ่งสิ่ง ที่ควรคำนึงก็คือมีที่จอดรถรองรับลูกค้านั่นเอง และเมื่อเลือกทำเลได้แล้ว พื้นที่ทำเลก็จะเป็นตัวกำหนดกลุ่มลูกค้าของร้าน เพราะเมื่อรู้ถึงกลุ่มลูกค้าแล้ว เราก็จะรู้ว่าควรตั้งราคาให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าและยอมจ่าย
2.วัตถุดิบ อุปกรณ์
รสชาติของเครื่องดื่มคือจุดขายที่ดีที่สุดในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งรสชาติที่อร่อยต้องเริ่มจากการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟ ชา ไซรัป นมสด ครีมเทียม รวมไปถึงท็อปปิ้งเครื่องดื่มเพื่อเอาใจลูกค้า อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก็คือ อุปกรณ์ร้านกาแฟ เครื่องชง เครื่องบด กาต้มน้ำไฟฟ้า เครื่องตีฟองนม ถ้วยตวง แก้ว หลอด ถุง และอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการชงเครื่องดื่ม ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าต้องใช้อะไร เท่าไหร่ เรื่องต่อไปคือ ซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่ และมีขายให้ตลอดใช่หรือไม่
3.วางแผนเมนูในร้าน กำหนดราคาขาย
การเปิดร้านขายเครื่องดื่มแน่นอนว่าต้องมีเมนูยอดนิยมอย่างเมนูกาแฟพื้นฐาน ลาเต้, คาปูชิโน่, มอคค่า, อเมริกาโน่ และเมนูชาขายดี อย่าง ชาเขียว, ชาไทย, ชานมไต้หวัน, ชามะนาว, เมนูโซดา, เป็นต้น หรือสามารถเพิ่มเมนูเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชื่นชอบไม่เหมือนใคร และชอบลองสินค้าใหม่ๆ หรือสามารถเพิ่มเมนูซิกเนเจอร์ในแต่ละฤดูกาล ในช่วงเทศกาลวันสำคัญเพื่อสร้างความประทับให้กับลูกค้า
ทั้งนี้ ควรตั้งราคาขายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และทำเลที่เลือกไว้ด้วย ซึ่งการตั้งราคาควรจะคำนวณต้นทุนเมนูเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนกำหนดราคาขาย เพื่อให้ร้านทราบต้นทุนที่ชัดเจน และบวกกำไรเพิ่มตามความเหมาะสม โดยให้ลูกค้ายอมจ่าย และรู้สึกคุ้มค่ากับสินค้าที่ได้รับ
4.ช่องทางการขายออนไลน์-Delivery
นอกจากการเปิดขายหน้าร้านแล้ว การเปิดร้านค้าบนช่องทางออนไลน์คืออีกหนึ่งช่องทางในการดึงดูดลูกค้า ช่องทางในการรับออเดอร์เพิ่ม แถมช่วยให้มียอดขายมากขึ้นตามไปด้วย และยังช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยการเปิดร้านบนช่องทางออนไลน์นั้นสามารถทำได้หลากหลาย ทั้งบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Line, Tiktok, Instragram หรือช่องทางอื่นๆ ซึ่งในแต่ละ Platform นั้นก็จะดึงดูดลูกค้าแตกต่างกันไป ตลอดจนไปถึงการเปิดร้านบนช่องทาง Food Delivery อย่าง Foodpanda, Grab, Lineman, Shopeefood เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านสามารถรับออเดอร์ได้มากขึ้น
การเปิดร้านค้าบนช่องทางออนไลน์นี้ ไม่ว่าจะผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือบนแอปพลิเคชั่น Food Delivery นอกจากเพื่อการสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ยังสามารถเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของร้าน เช่น โปรโมชั่นและแคมเปญต่างๆ ที่สำคัญวิธีนี้ยังสามารถทำได้กับร้านค้าที่ไม่มีหน้าร้าน แต่สามารถเปิดร้านขายบนออนไลน์เพื่อสร้างอาชีพได้แบบง่ายๆ
5.จัดระบบหน้าร้าน
การเปิดร้านกาแฟว่ายากแล้ว ขึ้นตอนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบยากยิ่งกว่า อย่ามองแต่ว่าขายดี ลูกค้าเยอะเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ หรือยอดขาย สต๊อกสินค้าอีกด้วย โดยเฉพาะร้านที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่จะคาดหวังว่าต้องขายได้เยอะ มีลูกค้าเข้าร้านเรื่อยๆ แต่มองข้ามเรื่องบัญชีการเงินนั่นเอง ซึ่งการมีระบบจัดการร้านค้าที่ดีจะช่วยให้เรื่องยุ่งยากเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย ร้านค้าส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ระบบ Point of Sale (POS) ซึ่งเป็นระบบจัดการร้านค้าที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่การบันทึกรายการสินค้า ระบบสต๊อกสินค้า คำนวณต้นทุน คำนวณยอดขายโดยบวกลบต้นทุนกำไรให้อัตโนมัติ พร้อมคำนวณค่าคอมมิชชั่นจากแอปพลิเคชัน Food Delivery และสามารถดูรายงานการขายย้อนหลังได้อีกด้วย ช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มความสะดวกในการขายหน้าร้าน ไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิดบัญชีทุกวัน
6.การบริการลูกค้า การตกแต่งร้าน
เครื่องดื่มอร่อย ร้านน่านั่ง พนักงานบริการดี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการดึงดูดลูกค้าเข้าร้านทั้งสิ้น การบริการลูกค้าอย่างสุภาพ พูดคุยอย่างเป็นมิตร คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ดี หากร้านไหนที่มีพนักงาน การสร้างมาตรฐานการบริการให้ออกมามีประสิทธิภาพ พนักงานทุกคนเข้าใจร่วมกันก็จะยิ่งช่วยให้การบริการของร้านดียิ่งขึ้น
7.จัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย
โปรโมชั่นคือแรงจูงใจในการซื้อของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะ ส่วนลดสำหรับลูกค้าใหม่, ซื้อ 1แถม1 หรือทำคูปองสะสมครบ 10 แก้วแลกฟรี 1 แก้วเป็นต้น โปรโมชั่นช่วยให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำแล้วยังเพิ่มลูกค้าใหม่ให้ร้านกาแฟของเรามียอดขายมากขึ้นอีกด้วย
เปิดร้านกาแฟ จำกัดงบได้อยู่ที่สไตล์ร้านที่เราต้องการ
เปิดร้านกาแฟใช้งบลงทุนเท่าไหร่ ?
การเตรียมงบประมาณในการเปิดร้านให้รอบคอบนับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ มาดูกันว่าการเปิดร้านกาแฟต้องแบ่งงบประมาณไว้ส่วนไหนบ้าง และต้องเตรียมไว้ประมาณเท่าไหร่
ตัวอย่าง งบการเปิดร้านกาแฟ
- ร้านขนาดเล็ก-กลาง หรือแบบ Grab&Go งบประมาณสำหรับเครื่องกาแฟขนาดเล็ก-กลาง ประมาณ 20,000-80,000 บาท
- ร้านกาแฟแบบมีที่นั่ง ติดแอร์ งบประมาณสำหรับเครื่องขนาดกลาง-ใหญ่ ประมาณ 100,000-200,000 บาท
- ร้านกาแฟแบบ Specialty งบประมาณสำหรับเครื่องชงกาแฟระดับ Hi-End ประมาณ 250,000-400,000 บาทขึ้นไป
งบประมาณ ค่าใช้จ่ายเปิดร้านกาแฟ
- เงินลงทุนทั้งหมด = ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้าน + เงินทุนหมุนเวียน 3-6 เดือน + เงินฉุกเฉิน
- ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้าน = ค่าก่อสร้าง/ตกแต่งร้าน/ค่าทำสัญญาพื้นที่ + ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ + ค่าอุปกรณ์การชง + ค่าภาชนะต่างๆ + ค่าวัตถุดิบเข้าร้านครั้งแรก
- เงินทุนหมุนเวียน 3-6 เดือน = ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน+ค่าเช่าร้าน+ค่าสาธารณูปโภค+ค่าวัตถุดิบหมุนเวียน+ค่าทำการตลาด
การเตรียมเงินทุนหมุนเวียนนั้นเปรียบเสมือนการเตรียมแผนพยุงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแรก ของการเปิดร้าน เนื่องจากการเปิดร้านกาแฟโดยทั่วไปจะต้องเปิดกิจการ 3 เดือนขึ้นไป จึงจะเริ่มมีรายได้จากลูกค้าประจำ และประเมินได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน ประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าสวัสดิการพนักงาน และเงินเดือนผู้จัดการร้าน โดยถ้าหากคุณเป็นคนรับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านเอง ก็ต้องมีเงินเดือนสำหรับคุณด้วย ถือเป็นหนึ่งในตัวเลขที่ต้องใช้คำนวณต้นทุนด้วยเช่นกัน
ค่าทำการตลาด การทำโฆษณาเพื่อสร้างยอดขาย และสร้างฐานลูกค้าประจำ โดยแบ่งเป็น งบประมาณการโฆษณา,งบประมาณสำหรับการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม
ค่าสาธารณูปโภค ประกอบด้วย ค่าน้ำ,ค่าไฟ,ค่าอินเตอร์เน็ต,ค่าโทรศัพท์
เงินฉุกเฉิน = เงินที่ต้องใช้เมื่อยามเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดการณ์ เช่น อุปกรณ์เกิดการพังเสียหาย,อุบัติภัยต่างๆ ซึ่งเงินในส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่ควรมีสำรองไว้เป็นอย่างยิ่งไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจใดๆก็ตาม โดยงบประมาณสำหรับส่วนสำรองนี้ อาจใช้วิธีการคำนวนโดยประมาณ 20-30% จากเงินการลงทุนค่าอุปกรณ์ทั้งหมด
เปิดร้านกาแฟ ต้องจดทะเบียน อะไรบ้างไหม ?
รู้หรือไม่ว่า? การจะเปิดร้านกาแฟไม่ใช่เพียงมีเงินทุน มีทำเลแล้วสามารถเปิดได้เลย เราต้องขอใบอนุญาตตามกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เช่น
ต้องขอหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร (มี 2 ประเภท คือ ไม่เกิน 200 ตร.ม. และมากกว่า 200 ตร.ม.) มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 100 – 1,000 บาท ปกติขอที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
ต้องขอจดทะเบียนพาณิชย์มีค่าใช้จ่าย 50 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน ปกติแล้วขอได้ที่ หน่วยงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 200 บาท ซึ่งปกติขอได้ที่ กทม.
ในปัจจุบันยุคดิจิทัลแล้วไม่ต้องวิ่งไปหลายที่ให้เสียเวลา ขอที่เดียวครบ จบทุกใบอนุญาต
อ่านมาถึงตรงนี้ หวังว่าจะช่วยให้ใครที่กำลังเปิดร้านกาแฟ เข้าใจกันได้มากขึ้น ทุกธุรกิจสิ่งสำคัญคือ การเริ่มลงมือทำ! ถ้าไม่ลุย ไม่เริ่ม ธุรกิจไม่เกิด เราก็จะไม่มีทางรู้ว่าธุรกิจนั้นจะดีหรือไม่ และสำหรับใครที่ต้องการผู้ช่วยดีๆ ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ เพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ด้วยเครื่องรูดบัตร KTC Merchant สะดวกด้วยบริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service รับเงินไวโอนให้ภายในวันที่รูด ติดต่อสมัครได้เลย พร้อมช่วยเหลือตลอด 24 ชม.หรือโทร. 02 123 5700 กด 3
ตอบรับทุกการจ่าย ด้วยเครื่องรูดบัตร KTC MERCHANT