การซื้อขายของออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแล้ว โดย "E-Payment" (Electronic Payment) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หากทำธุรกิจแล้วยังไม่เข้าใจว่า E-Payment คืออะไร หรือ E-Payment มีอะไรบ้าง รวมไปถึง E-Payment มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอย่างไร ? KTC จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ E-Payment ให้มากยิ่งขึ้น
E-Payment คืออะไร ?
E-Payment คือ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกระบวนการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ต้องใช้เงินสดหรือเช็ค โดยการชำระเงินจะเกิดขึ้นผ่านระบบดิจิทัล เช่น การโอนเงินผ่านแอปบัญชีธนาคาร การใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต การใช้เครื่อง EDC การชำระค่าสินค้าผ่านเว็บไซต์ การจ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (E-wallet) ฯลฯ
E-payment คือ ทำธุรกรรมทางการเงิน การจ่าย ชำระบริการ ซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทุกรูปแบบ
E-Payment มีอะไรบ้าง ?
E-Payment มีหลายประเภทที่ตอบสนองต่อความต้องการและความเหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น
1. การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking)
การโอนเงินและชำระเงินผ่านมือถือ โดยใช้แอปพลิเคชันของธนาคาร ช่วยทำให้การชำระเงินหรือโอนเงินระหว่างบุคคลหรือธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะสามารถโอนเงินหรือชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคารหรือใช้ตู้ ATM ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรองรับการโอนเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
2. การใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต
การใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในการชำระเงินยังคงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากความสะดวกในการใช้จ่ายทั้งชำระผ่านออนไลน์หรือหน้าร้านผ่านเครื่องรูดบัตร EDC ซึ่งการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตนี้ จะช่วยให้การซื้อขายง่ายขึ้น เพราะเราไม่ต้องพกเงินสด อีกทั้งยังมีระบบการป้องกันความปลอดภัยในการทำธุรกรรมผ่านบัตร เช่น ระบบ OTP ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการชำระเงิน
3. กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-wallet)
กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-wallet) เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บเงินดิจิทัล และทำการซื้อขายหรือชำระเงินผ่านแอปได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องพกพาเงินสด กระเป๋าเงินดิจิทัลสามารถเติมเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต แล้วนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าที่รองรับการชำระเงินผ่านระบบนี้ เช่น TrueMoney, Alipay, Rabbit Line Pay ซึ่งทุกวันนี้หลายร้านค้าทั่วไปก็รองรับการชำระเงินผ่าน E-wallet กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้จ่ายในบริการต่างๆ เช่น การเติมเงินโทรศัพท์ หรือจ่ายค่าสาธารณูปโภคได้ด้วย
4. QR Code Payment
QR Code Payment เป็นระบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยผู้ซื้อสามารถทำการสแกน QR Code ที่ผู้ขายสร้างขึ้นเพื่อทำการชำระเงินได้ทันที เป็นวิธีที่สะดวกสบายและความปลอดภัย โดยผู้ขายแค่แสดง QR Code บนหน้าจอหรือใบเสร็จให้ผู้ซื้อสแกนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารหรือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่รองรับการทำธุรกรรม อีกทั้งผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลการชำระเงินได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินสดหรือใช้บัตรเครดิต
นอกจากนี้ QR Code Payment ยังรองรับการชำระเงินในหลากหลายรูปแบบ เช่น การชำระค่าสินค้าในร้านค้า การจ่ายค่าบริการต่างๆ หรือการโอนเงินระหว่างบุคคลก็ได้เช่นกัน
E-Payment มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร ?
การใช้ E-Payment ไม่เพียงแต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย ซึ่งประโยชน์หลักๆ ของการใช้ E-Payment สำหรับธุรกิจ มีดังนี้
- ธุรกิจสามารถรับเงินจากลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้าด้วย
- ช่วยลดความผิดพลาดในการจัดการบัญชี เพราะการใช้ E-Payment คือการทำธุรกรรมที่มีความแม่นยำสูง เพราะไม่ต้องพึ่งพาการนับเงินสด ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดหรือเสี่ยงต่อเงินสูญหายได้
- ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า เพราะการรองรับการชำระเงินผ่านหลายช่องทาง จะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ลูกค้าจะสามารถเลือกวิธีการชำระเงินที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เช่น ลูกค้าบางคนอาจเลือกชำระผ่านบัตรเครดิต ขณะที่บางคนอาจสะดวกกับการโอนเงินผ่านแอปธนาคาร ซึ่งการรองรับการชำระเงินหลายช่องทาง จะทำให้ธุรกิจสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ การทำธุรกรรมออนไลน์ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตลาดไปยังลูกค้าจากต่างประเทศได้อย่างง่ายดายอีกด้วย
- การจัดการข้อมูลที่สะดวกและปลอดภัย เพราะ E-Payment มีระบบที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามประวัติการทำธุรกรรมได้อย่างแม่นยำ มีความโปร่งใส เจ้าของธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลการชำระเงิน ยอดขาย รวมถึงข้อมูลลูกค้า ซึ่งช่วยให้การทำบัญชีและการวิเคราะห์ธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัย เพราะระบบ E-Payment มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สูง เช่น การเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) และระบบการยืนยันตัวตน (Authentication) เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ทั้งเจ้าของธุรกิจและลูกค้า รู้สึกมั่นใจและปลอดภัยต่อการทำธุรกรรม
- ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีและต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งการรับชำระเงินที่รวดเร็วและง่ายดาย จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า และทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำหรือใช้บริการซ้ำอีก
- ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองคำสั่งซื้อหรือคำขอบริการจากลูกค้าได้ทันที โดยไม่ต้องรอการยืนยันหรือการตรวจสอบจากหลายฝ่าย นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถใช้ข้อมูลจากการทำธุรกรรมเพื่อเสนอโปรโมชั่นพิเศษหรือโปรแกรมสะสมคะแนนให้กับลูกค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้
ตัวอย่าง E-payment
ตัวอย่าง E-payment ที่ได้รับความนิยม เช่น
- TrueMoney : กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้งานง่ายและสะดวก สามารถใช้ชำระเงินได้ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ โดยผู้ใช้งานจะต้องเติมเงินเข้าระบบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตู้ ATM เคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อ การโอนเงินผ่านธนาคาร หรือผูกบัญชีกับบัตรเครดิตหรือเดบิตเพื่อใช้ในการชำระเงินได้
- Rabbit LINE Pay : E-Wallet ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน LINE สามารถใช้ชำระเงินในร้านค้าหรือบริการต่างๆ ที่ร่วมรายการ ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการโดยสารขนส่งสาธารณะ เช่น BTS
- ShopeePay : E-Wallet ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งเป็นแอปช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยม นอกจากจะช่วยให้การซื้อสินค้าบน Shopee เป็นไปอย่างสะดวกแล้ว ยังสามารถใช้เติมเงินมือถือ เติมเกม ชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟได้ สามารถผูกบัญชีกับบัตรเครดิตหรือเดบิตเพื่อใช้ในการชำระเงิน และผ่อนชำระค่าสินค้ากับร้านที่ร่วมรายการผ่านบัตรเครดิต KTC ได้
- Alipay และ Alipay+: บริการรับชำระเงินด้วย QR Code ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เครื่องรูดบัตร EDC, ป้ายตั้ง, โมบายแอปพลิเคชัน หรือ รับชำระผ่านลิงก์ โดย Alipay เน้นการใช้งานในประเทศจีน ส่วน Alipay+ รองรับการใช้งาน E-wallet ข้ามประเทศ ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวและร้านค้าสามารถทำธุรกรรมร่วมกันได้อย่างสะดวก แม้จะอยู่ต่างประเทศก็ตาม
- PromptPay : ระบบการโอนเงินของประเทศไทยที่ใช้เพียงแค่ใช้หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ในการโอนเงินและชำระเงิน ช่วยทำให้การทำธุรกรรมปลอดภัยและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยระบบนี้ใช้ได้ทั้งการโอนเงินระหว่างบุคคลและการจ่ายเงินให้กับร้านค้า
- Recurring Payment : บริการเรียกเก็บเงินอัตโนมัติผ่านบัญชีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เพื่อให้ร้านค้าเรียกเก็บเงินค่าบริการจากผู้ถือบัตรได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เหมาะกับการหักค่าบริการแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายงวดตามที่กำหนด เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าสาธารณูปโภค ค่าธรรมเนียมสมาชิก ค่าเบี้ยประกัน ค่าเรียนออนไลน์ เป็นต้น
หากคุณกำลังมองหาบริการระบบ E-Payment ที่มีประสิทธิภาพ KTC Merchant คือทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับธุรกิจคุณ สามารถสมัครออนไลน์ได้เลย หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 123 5700 กด 3
ตอบรับทุกบริการ ชำระเงิน ด้วย KTC MERCHANT