ภัยทางการเงิน หรือกลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกเอาเงินจากเหยื่อ ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ หนึ่งในภัยทางการเงินยอดฮิตที่คุณ หรือคนใกล้ชิดเคยเจอหรือได้ยินข่าวบ่อยๆ ในยุคนี้คงหนีไม่พ้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่อยากพลาดเสียรู้ให้กับมิจฉาชีพ นี่คือ วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากโดนตัดบัตรเครดิตเมื่อไม่ได้ใช้
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คืออะไร ?
มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือที่คุ้นหูคุ้นตาในชื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang) คือ ขบวนการหลอกเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ พนักงานธนาคาร ฯลฯ เพื่อหลอกให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนกตกใจกลัว หรือหลอกให้ตื่นเต้นดีใจเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง โดยกลโกงทั้งหมดมีเป้าหมายคือเพื่อนำเงินของเหยื่อออกจากบัญชีธนาคารให้ได้ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้วรีบทำตามสิ่งที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์บอก นำไปสู่การสูญเงินในบัญชีธนาคารในที่สุด
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่งในยุคปัจจุบันที่การติดต่อในรูปแบบดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเหยื่อจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศอีกด้วย ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติที่เป็นภัยร้ายแรงและเฝ้าระวังในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รู้ข้อมูลเลขบัตรประชาชน เบอร์เราได้อย่างไร ?
- จากเว็บไซต์สมัครงาน โดยผู้ที่ต้องการหางานได้มีการฝากประวัติหรือ Resume ซึ่งมีข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร อีเมล ที่อยู่ เพื่อใช้ในการสมัครงาน จากการลงทะเบียน หรือการสมัครสมาชิกจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ
- จากลิงก์ที่เราเคยกดเข้าไป เช่น ลิงก์สมัครเกม หรือรหัสที่เราผูกเอาไว้ตามเว็บไซต์เกมต่าง ๆ
- จากหน่วยงานที่เราไปติดต่อรับบริการ หรือ การสมัครรับสิทธิพิเศษโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ เป็นต้น
- จากการตกลงยินยอมสมัครใช้บริการบางอย่าง หรือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบางอย่าง ซึ่งผู้สมัครต้องกดยินยอมเพื่ออนุญาตให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราไว้ได้
- จาก Social Media เช่น Facebook, Instagram, YouTube หรือ TikTok ที่อาจมีการใส่ข้อมูลส่วนตัวไว้ในโปรไฟล์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- จากการ Hack อีเมล โดยอีเมลหลอกลวง (Phishing Email) ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำมาใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงผู้ใช้งานอีเมลให้หลงเชื่อเปิดอ่าน คลิกลิงก์ หรือตอบกลับอีเมลฉบับนั้น เพื่อโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน
- จากการแฮกข้อมูลองค์กรหรือบริษัทต่างๆ หากบริษัทไม่มีนโยบายหรือระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Loss Prevention) ที่เพียงพอ อาจทำให้ข้อมูลพนักงานถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหรือตกไปสู่มือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้
รูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ?
แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีมาอย่างยาวนาน และได้พัฒนารูปแบบกลโกงไปตามยุคสมัย โดยกลโกงทั้งหมดมีเป้าหมายคือนำเงินของเหยื่อออกจากบัญชีธนาคารให้ได้ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สรุปรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือข้ออ้างที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้หลอกเหยื่อ ดังนี้
1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือเป็นหนี้บัตรเครดิต
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะอ้างว่าเป็นพนักงานธนาคาร แล้วแจ้งว่าเรามีหนี้บัตรเครดิต หากเหยื่อปฏิเสธก็จะบอกว่าอาจเป็นมิจฉาชีพที่ปลอมบัตรเครดิตเราแล้วเอาไปใช้ จากนั้นก็จะแนะนำให้รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ซึ่งมักอยู่ไกล ถ้าเหยื่อบอกว่าไม่สะดวกเดินทางก็จะอาสาว่าจะติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ จากนั้นจะส่งสายโทรศัพท์ไปให้ตำรวจตัวปลอม ให้เหยื่อทำตามขั้นตอนต่างๆ จนนำไปสู่การสูญเงินในบัญชีธนาคาร
2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน
เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ โดยจะแอบอ้างมาจากหน่วยงานราชการ และ สภอ.ต่าง ๆ
3. เงินคืนภาษี
ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
4. โชคดีรับรางวัลใหญ่
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
5. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว
แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หลอกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อัพเดทข้อมูลส่วนตัว หรืออาจหลอกให้สมัครงานออนไลน์ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญ เช่น วัน/ เดือน/ ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน ก่อนนำไปใช้ในทางทุจริต
6. โอนเงินผิด
แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกว่าโอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินที่โอนเข้ามานั้น เป็นเงินที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกมาจากเหยื่อรายอื่นให้โอนมาให้เรา เพื่อใช้บัญชีเราเป็นที่พักเงิน หรือเป็นเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย
มีสติก่อนรับโทรศัพท์ เมื่อมีเบอร์แปลก หรือที่ไม่รู้จักโทรมา และไม่บอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด
วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
1. มีสติทุกครั้งเมื่อรับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย
คิดทบทวนอย่างถี่ถ้วน เช่น เคยยื่นขอคืนภาษี เปิดบัญชีธนาคาร มียอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิต หรือร่วมชิงรางวัลกับหน่วยงานที่โทรมาแอบอ้างจริงหรือไม่ หรือหากมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานใด ถ้าไม่แน่ใจ ให้รีบวางสาย แล้วติดต่อไปยังหน่วยงานที่อ้างถึง อ้างถึงใครให้สอบถามคนนั้น (ควรค้นหาเบอร์โทรติดต่อกลับเอง)
2. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว
แม้ผู้ติดต่อจะอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน เพราะหน่วยงานรัฐหรือธนาคารมีข้อมูลของประชาชนหรือลูกค้าอยู่แล้ว และจำไว้ว่าหน่วยงานรัฐหรือธนาคารไม่มีนโยบายโทรไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว ยกเว้นกรณีเราโทรไปติดต่อหน่วยงานนั้น อาจต้องตอบข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันตัวตนก่อน ดังนั้น หากมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้คิดไว้เลยว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
3. ไม่ทำรายการตามคำบอก ไม่กดลิงก์ ไม่เปิดข้อความ
ไม่ดาวน์โหลดอะไรก็ตามที่ปลายสายส่งมา เพราะอาจถูกหลอกให้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว เช่น หลอกให้ทำรายการที่ตู้ ATM โดยเปลี่ยนหน้าจอเป็นภาษาอื่น หรือเร่งให้กดเร็วๆ จนอ่านไม่ทัน โดยเฉพาะลิงค์จากสถาบันการเงินซึ่งปัจจุบันไม่มีนโยบายแนบลิงค์ไปกับ SMS
4. หากมีคนโอนเงินผิดบัญชีมาที่บัญชีเรา ไม่ควรโอนเงินคืนเอง
ต้องให้ธนาคารเป็นผู้แก้ไขรายการเพื่อโอนคืนเท่านั้น โดยสอบถาม call center หรือสาขาของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ให้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียด หากตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วเป็นเงินที่โอนผิดบัญชีมาจริง ให้เรายินยอมให้ธนาคารดำเนินการโอนกลับไปยังบัญชีต้นทางต่อไป
5. ไม่เปิดอ่านหรือกดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม
ไม่ติดตั้งแอปพลิเคชันโดยไม่ตรวจสอบ หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ App Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของปลายสายให้กดเข้า Web Browse rอื่น นอกจากนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจใช้วิธีการหลอกลวงในรูปแบบให้สแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จึงไม่ควรสแกนหรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ
6. ไม่โลภมาก
หากมีคนบอกว่าเราได้รับรางวัล หรือได้ส่วนลดพิเศษเกินจริง ควรเอะใจไว้ก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ และตรวจสอบเพิ่มไปยังสถาบันที่ถูกแอบอ้าง
7. ติดตามข่าวสารกลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แก๊งคอลเซนเตอร์ มีหลากหลายวิธีมาหลอกเรา เพื่อความปลอดภัย ต้องติดตามข่าวสาร เพื่อรู้เท่าทันถึงมิจฉาชีพเป็นประจำ ทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่ไม่ได้มีเพียงแค่แก๊งคอลเซนเตอร์เท่านั้น
มิจฉาชีพ บัตรเครดิต ค้างชําระ
บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรกดเงินต่างๆ เป็นบัตรที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยบัตรเหล่านี้จะบันทึกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินของเราไว้ ซึ่งหากมีมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพอาจ Hack และนำบัตรเราไปใช้เพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ไม่อยากเสี่ยงสูญเงินในบัญชี หรือโดนตัดบัตรเครดิตแม้ไม่ได้ใช้ จึงควรรับมือและป้องกันดังนี้
- ไม่เปิดเผยข้อมูลบัตรให้ผู้อื่นล่วงรู้ เงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเลขหลังบัตรเครดิต หรือเดบิต(CVV) หรือรหัสเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผ่านเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ และอย่าให้บัตรคลาดสายตาเมื่อต้องใช้บัตร ป้องกันการถูกลักลอบนำข้อมูลไปใช้
- หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)
- หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา ควรติดตั้งผ่าน App Store หรือ Google Play Store เท่านั้น
- ระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรฯ ผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น
- ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line) หรือแอปของธนาคารหรือสถาบันการเงิน
- ไม่บันทึกรายละเอียดบัตรไว้กับเบราว์เซอร์ เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari โดยเด็ดขาด
- ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) แล้วจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
- หมั่นตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการทางออนไลน์โดยทันที
สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC มั่นใจ และอุ่นใจในทุกการใช้งาน ใช้บัตรเครดิตอย่างปลอดภัยด้วยแอป KTC Mobile เข้าสู่ระบบง่าย และปลอดภัยมากขึ้น ด้วย PIN และ Biometric ที่ยืนยันในการเข้าสู่ระบบ, แจ้งเตือนทันทีที่มีการใช้จ่าย (Push Notifications) ตั้งเตือนยอดใช้จ่ายสูงสุดต่อวันและวันกำหนดชำระได้, สามารถตรวจเช็ครายการใช้จ่ายผ่าน KTC Mobile เพื่อความสบายใจเกี่ยวกับรายการแปลงปลอม (Transaction) ได้, สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายผ่านเมนูควบคุมวงเงิน (Spending Control) เพื่อควบคุมส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน หรือหากมียอดรูดเกินที่ตั้งไว้ก็จะรูดไม่สำเร็จ, หมดห่วงเมื่อทำบัตรเครดิตหาย เพราะมีระงับบัตรได้ผ่านแอปพลิเคชัน (Temporary Block)
ส่วนใครที่มีไลฟสไตล์ชอบช้อปสินค้าออนไลน์ อยากใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างมั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีบัตรเครดิต KTC DIGITAL ที่มอบความปลอดภัยขั้นกว่า เพิ่มความมั่นใจในการช้อปออนไลน์ ด้วย 3 คุณลักษณะพิเศษดังนี้
- Dynamic CVV รหัสหลังบัตรที่เปลี่ยนทุกครั้งที่ขอ และใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมควบคุมการใช้งานง่ายผ่านแอปพลิเคชัน KTC Mobile
- ใช้จ่ายได้ทันทีหลังได้รับการอนุมัติกับการใช้จ่ายออนไลน์ สแกน และผูกบัตรบนแอป Device Pays ทั้ง Google Pay, SwatchPay และอื่นๆ ได้เลย ครบที่เดียว
- ปลอดภัยขึ้นอีกขั้นกับบัตรไร้หมายเลขและแถบแม่เหล็ก สามารถใช้ได้กับเครื่องรูดบัตร (EDC) และตู้เอทีเอ็ม (ATM) ที่รองรับการทำรายการด้วยชิปการ์ดและการแตะจ่าย (Contactless) เท่านั้น โดยบัตรไร้หมายเลขสามารถขอผ่านแอปพลิเคชัน KTC Mobile
ทั้งนี้ หากพลาดพลั้งโดนแก๊ง คอลเซ็นเตอร์หลอก สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ รีบติดต่อธนาคารที่คุณมีบัญชี เพื่อระงับการโอนและถอนเงิน หลังจากนั้นรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วรีบแจ้ง ปปง. ทันที (โทร. 1710) และหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามและขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 ได้เลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC