ในปัจจุบันที่การใช้บัตรเครดิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะซื้อสินค้าออนไลน์ ชำระค่าบริการต่างๆ หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่นอกจากความสะดวกสบายแล้ว บัตรเครดิตยังเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ ที่มักหาวิธีการโกงผ่านช่องทางต่างๆ โดยมักมีความซับซ้อนและแนบเนียนขึ้นในทุกวัน ทำให้ผู้ใช้บัตรหลายคนตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว KTC จะพาไปทำความรู้จักกับกลโกงบัตรเครดิตที่มิจฉาชีพมักใช้ พร้อมวิธีการสังเกตและการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยง่าย
กลโกงมิจฉาชีพ บัตรเครดิตมีรูปแบบอะไรบ้าง?
กลโกงบัตรเครดิตมีหลายรูปแบบและมักพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีและวิธีการใช้งานของผู้บริโภคด้วย โดยมีกลโกงบัตรเครดิตที่พบได้บ่อย พร้อมวิธีการทำงาน และการสังเกต ดังนี้
1. กลโกงคะแนนจะหมดอายุ
กลโกงคะแนนบัตรเครดิตจะหมดอายุเป็นวิธีที่มิจฉาชีพใช้หลอกให้ผู้ถือบัตรรีบดำเนินการโดยไม่ทันระวัง มิจฉาชีพจะอ้างว่าคะแนนสะสมบัตรเครดิตกำลังจะหมดอายุและต้องรีบแลกคะแนนทันที ซึ่งเป็นวิธีหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรเครดิต
กลโกงนี้ทำงานอย่างไร?
มิจฉาชีพจะส่งข้อความหรืออีเมลที่ดูเหมือนมาจากธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต แจ้งว่าคะแนนสะสมใกล้จะหมดอายุ และแนะนำให้คลิกลิงก์เพื่อแลกคะแนน ซึ่งลิงก์ดังกล่าวจะพาไปยังเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิต
วิธีการสังเกต
- ตรวจสอบที่มาของอีเมลหรือข้อความให้ละเอียด เช่น ที่อยู่อีเมลและลิงก์ที่คลิกว่ามาจากเว็บไซต์ทางการหรือไม่ สังเกตข้อความที่รีบเร่งให้ดำเนินการทันที หรือข้อความที่มีข้อผิดพลาดทางภาษาและรูปแบบที่ผิดปกติ
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- อย่าคลิกลิงก์ที่แนบมากับข้อความหรืออีเมลที่ไม่น่าเชื่อถือ ควรติดต่อธนาคารโดยตรงผ่านช่องทางที่ปลอดภัยเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
2. กลโกงคัดลอกข้อมูลบัตรเครดิต
การคัดลอกข้อมูลบัตรเครดิต (Skimming) เป็นวิธีที่มิจฉาชีพนิยมใช้ในการขโมยข้อมูลจากบัตรเครดิต โดยติดตั้งอุปกรณ์ที่เครื่องรูดบัตร เช่น ที่ตู้ ATM หรือเครื่องรูดบัตรในร้านค้า
กลโกงนี้ทำงานอย่างไร?
มิจฉาชีพจะติดตั้งเครื่องอ่านบัตร (Skimmer) ที่เครื่องรูดบัตร หรือตู้ ATM เพื่อคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของบัตร เมื่อมีการใช้บัตร เครื่อง Skimmer จะเก็บข้อมูลบัตรไว้ โดยอาจถูกนำไปปลอมแปลงบัตรใหม่ หรือทำรายการสั่งซื้อสินค้า/บริการมูลค่าสูง สำหรับบัตรเครดิตแบบ Contactless ก็มีข้อควรระวัง เพราะอาจถูกนำเครื่องรับชำระเข้ามาอยู่ในระยะใกล้จนสามารถจับสัญญาณได้ และเกิดการชำระเงินจากบัตรโดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีการสังเกต
- ตรวจสอบเครื่องรูดบัตร หรือเสียบบัตร หรือเครื่อง ATM ว่ามีลักษณะผิดปกติหรือไม่ เช่น ช่องใส่บัตรดูหลวม หรือมีชิ้นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ หากเป็นเครื่องรับชำระที่สามารถแตะจ่ายได้ มิจฉาชีพอาจแฝงตัวในรูปแบบนักท่องเที่ยวหรือคนเดินทาง ในพื้นที่ๆ คนพลุกพล่าน เช่น บนรถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้า หากไม่ระวังตัวก็อาจถูกดูดข้อมูลบัตรออกไปได้
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องที่ดูไม่ปลอดภัย โดยให้ใช้เครื่อง ATM ที่อยู่ในธนาคาร หรือสถานที่ที่มีความปลอดภัยสูง และใช้บริการร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ ในแหล่งที่มีความปลอดภัย สังเกตความผิดปกติของเครื่องรับชำระเงิน และให้บัตรอยู่ในสายตาเสมอ ไม่ปล่อยให้พนักงานถือบัตรไปยังที่ลับตา สำหรับบัตรเครดิตที่สามารถแตะจ่ายได้ อาจใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ซองหรือกระเป๋าที่สามารถป้องกันสัญญาณ RFID หรือ RFID-blocking ได้
- ไม่เก็บบัตรเครดิตไว้ในกระเป๋ากางเกง กระเป๋าเสื้อ หรือในช่องที่อยู่ด้านนอกของกระเป๋าสะพายที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- ตรวจสอบบัญชีบัตรเครดิตอยู่เสมอเพื่อดูว่ามีรายการใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่
- เปิดการแจ้งเตือนการใช้งานบัตรเครดิตเสมอ
3. กลโกงหลอกว่าบัตรเครดิตถูกล็อก
การหลอกว่าบัตรเครดิตถูกล็อกเป็นวิธีสร้างความตกใจเพื่อให้เหยื่อรีบดำเนินการ มิจฉาชีพมักขู่ว่าบัตรถูกนำไปใช้และเหยื่อกำลังเสียสิทธิ์การใช้งานบัตรนั้น เพื่อหลอกให้เหยื่อมอบข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญโดยเร็ว
กลโกงนี้ทำงานอย่างไร?
มิจฉาชีพจะส่งข้อความหรือโทรศัพท์มาแจ้งว่าบัตรเครดิตถูกล็อกหรือถูกจำกัดการใช้งานเพื่อป้องกันการโกง จากนั้นจะส่งลิงก์ให้คลิกเพื่อปลดล็อกบัตร เมื่อคลิกลิงก์จะถูกนำไปยังเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนเว็บไซต์ธนาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลบัตรโดยเฉพาะ
วิธีการสังเกต
- ลิงก์ที่ส่งมาอาจดูคล้ายกับเว็บไซต์ของธนาคาร แต่มักจะมีตัวอักษรหรือตัวเลขที่ไม่ตรงตามจริง
- ข้อความ SMS หรือโทรศัพท์จากธนาคารจริงมักจะไม่ใส่ลิงก์ให้คลิกเพื่อยืนยันข้อมูลส่วนตัว
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- อย่าคลิกลิงก์หรือให้ข้อมูลส่วนตัวในทันที
- ลองโทรติดต่อธนาคารโดยตรงผ่านหมายเลขที่แสดงบนบัตรเครดิตเพื่อยืนยันว่ามีปัญหาจริงหรือไม่
4. กลโกงขโมยข้อมูลบัตรผ่านฟิชชิ่ง
ฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นกลโกงที่มิจฉาชีพใช้ในการขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรเครดิตผ่านการส่งอีเมลหรือข้อความที่ดูเหมือนมาจากธนาคาร
กลโกงนี้ทำงานอย่างไร?
มิจฉาชีพจะส่งอีเมลหรือข้อความฟิชชิ่งที่ดูเหมือนมาจากธนาคาร เช่น มีการเปลี่ยนรหัสบัตร หรือมีรายการค้างชำระ พร้อมลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนเว็บไซต์ทางการมากๆ เมื่อผู้ใช้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลนั้นจะถูกส่งไปยังมิจฉาชีพทันที
วิธีการสังเกต
- ตรวจสอบที่มาของอีเมลหรือข้อความว่ามีที่อยู่อีเมลแปลกๆ หรือไม่
- ลิงก์ที่แนบมาอาจมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การสะกดผิด
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ในอีเมลหรือข้อความที่น่าสงสัย
- ติดต่อธนาคารผ่านช่องทางที่เป็นทางการเท่านั้น
5. กลโกงขโมยข้อมูลจากการใช้ Wi-Fi สาธารณะ
มิจฉาชีพสามารถดักจับข้อมูลบัตรเครดิตผ่านการใช้งาน Wi-Fi ที่ไม่มีการป้องกัน เช่น คาเฟ่ สนามบิน หรือห้างสรรพสินค้า
กลโกงนี้ทำงานอย่างไร?
เมื่อเชื่อมต่อกับ Wi-Fi สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย มิจฉาชีพจะสามารถดักจับข้อมูลการทำธุรกรรมได้ รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตด้วย
วิธีการสังเกต
- หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Wi-Fi สาธารณะที่ไม่มีการป้องกัน
- ใช้บริการ VPN เพื่อป้องกันข้อมูลขณะใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมที่ต้องใช้ข้อมูลบัตรเครดิต หรือใช้เครือข่ายที่มีการเข้ารหัสและมีความปลอดภัย
เจ้าหน้าที่ธนาคารที่โทรศัพท์มาจะไม่มีการขอข้อมูลสำคัญที่เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะ เลข CCV หากมีการขอสังเกตไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพและวางโทรศัพท์ทันที
6. กลโกงแอบอ้างว่าติดต่อจากธนาคาร
มิจฉาชีพจะแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาเพื่อยืนยันข้อมูลบัตร หรืออ้างว่าพบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ผู้ถือบัตรรีบทำการปฏิเสธรายการ
กลโกงทำงานอย่างไร?
มิจฉาชีพจะโทรมาหาผู้ถือบัตรและแจ้งว่ามีการทำธุรกรรมน่าสงสัย หรือแจ้งว่าต้องการให้ยืนยันข้อมูลเพื่อป้องกันความเสียหาย จากนั้นจะขอข้อมูลบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตร วันหมดอายุ เลข CVV และวันเดือนปีเกิด หลังจากได้ข้อมูลแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ทำธุรกรรมหรือขโมยเงินจากบัญชี
วิธีการสังเกต
- ธนาคารจริงจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น หมายเลขบัตร วันหมดอายุ หรือรหัส CVV ทางโทรศัพท์
- สังเกตเบอร์โทรศัพท์ หากเป็นเบอร์แปลกๆ หรือไม่ใช่หมายเลขของธนาคาร ควรระมัดระวัง
เจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร?
- วางสายและติดต่อธนาคารโดยตรงผ่านช่องทางที่เป็นทางการเพื่อสอบถามข้อมูลทันที
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือรายละเอียดบัตรกับบุคคลใดๆ ทางโทรศัพท์
สิ่งที่ควรทำหากตกเป็นเหยื่อกลโกงมิจฉาชีพ
หากตกเป็นเหยื่อของการโกงบัตรเครดิต ควรรีบดำเนินการทันทีเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม โดยให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อระงับบัตรที่ถูกโกงทันที เปลี่ยนรหัสผ่านของอุปกรณ์หรือบัญชีที่ผูกกับบัตรเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ในการป้องกันการถูกกลโกงบัตรเครดิต ควรใช้งานเฉพาะเว็บไซต์และร้านค้าที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่าน Wi-Fi สาธารณะ นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลบัตรเครดิตในที่ปลอดภัยและการตรวจสอบข้อมูลรายการธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน หากพบสิ่งผิดปกติควรรีบติดต่อธนาคารโดยเร็วเพื่อขอความช่วยเหลือทันที
การตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพบัตรเครดิตทำให้เสียทั้งเวลาและเงิน การรู้จักกลโกงและวิธีการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้การเลือกใช้บัตรเครดิต KTC ที่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ง่ายและรวดเร็ว พร้อมการบริการผ่านแอป KTC Mobile ที่สะดวก สามารถทำรายการ เช่น ระงับบัตรเครดิต หรือจำกัดวงเงินในการใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหาย มั่นใจทุกการใช้จ่าย เลือกบัตรเครดิต KTC สมัครง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC