ท่ามกลางโลกการเงินในปี 2025 ที่หมุนเร็วยิ่งกว่าเคยเป็นมา ความรู้ทางการเงินที่คนยุคใหม่ต้องศึกษาค้นคว้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่อง “ดอกเบี้ย” “เงินฝาก” หรือ “ภาษี” อีกต่อไป ทุกวันนี้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อย่าง DeFi, NFT, Metaverse และ คริปโทเคอร์เรนซี กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาทั่วไป โดยเฉพาะกับกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ รวมถึงคนยุคใหม่ที่พยายามก้าวตามให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในบทความนี้ KTC ได้รวบรวมคำศัพท์การเงินและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในสังคมปัจจุบัน มาขยายความให้คุณเข้าใจง่าย ๆ เพื่อให้ทุกคนไม่พลาดทุกโอกาส และเท่าทันสังคมดิจิทัลที่กำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ทำไมต้องรู้จักคำศัพท์การเงินยุคใหม่
คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องมาทำความเข้าใจคำศัพท์การเงินแปลก ๆ เหล่านี้ด้วย และการศึกษาเรื่องนี้มีความสำคัญกับชีวิตยุคใหม่อย่างไร ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ มี 3 ประการ ดังนี้
1. เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนและใช้เงิน
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการเงินใหม่ ๆ ไปจนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีได้เข้ามาปฏิวัติวิธีการจัดการเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เครื่องมือ แนวคิด รวมถึงคำศัพท์การเงินยุคใหม่
2. ช่วยให้เข้าใจโอกาสทางการเงินและเทรนด์อนาคต
คำศัพท์เหล่านี้ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นรากฐานของนวัตกรรมทางการเงินแห่งอนาคต การทำความเข้าใจคำศัพท์ทางการเงินจะช่วยให้คุณเข้าใจสิ่งที่สื่อต่าง ๆ กำลังพูดถึงและมองเห็นโอกาสในการสร้างความมั่งคั่ง และสามารถวางแผนการเงินได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น
3. ไม่ตกเทรนด์ และไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์
โลกดิจิทัลมาพร้อมกับโอกาสมากมาย แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน การมีความรู้ความเข้าใจในคำศัพท์เหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถแยกแยะข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จ รู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงต่าง ๆ บนโลกออนไลน์
8 คำศัพท์การเงิน ที่คนยุคใหม่ควรรู้
เปิด 10 คำศัพท์การเงินที่กำลังมาแรง รู้ไว้ไม่มีตกเทรนด์ ประจำปี 2025
1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
คริปโทเคอร์เรนซี หรือ Cryptocurrency คือ สกุลเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่จะแตกต่างจากสกุลเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เช่น บาท หรือดอลลาร์ ตรงที่คริปโทเคอร์เรนซีถูกสร้างและทำงานอยู่บนระบบที่เรียกว่า “บล็อกเชน” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใส ปลอดภัย และยากต่อการปลอมแปลงแก้ไข
โดยทั่วไป คริปโทเคอร์เรนซีจะไม่มีธนาคารกลางหรือรัฐบาลใด ๆ ควบคุมดูแลโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากสกุลเงินทั่วไปที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ทำให้การทำธุรกรรมสามารถเกิดขึ้นแบบ Peer-to-Peer หรือที่หมายถึง จากผู้ส่งไปยังผู้รับโดยตรง
คำว่า “คริปโท” มาจากคำว่า “Cryptography” ซึ่งหมายถึงการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้การทำธุรกรรมมีความปลอดภัยสูง และสามารถป้องกันการปลอมแปลงหรือการใช้จ่ายซ้ำซ้อนได้ โดยคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ Bitcoin (BTC) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 นอกจากนี้ยังมีสกุลเงินอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น Ethereum (ETH), Ripple (XRP) และ Litecoin (LTC)
2. บล็อกเชน (Blockchain)
บล็อกเชน หรือภาษาอังกฤษ Blockchain เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Ledger Technology - DLT) ที่บันทึกข้อมูลเป็นชุด ๆ เรียกว่า “บล็อก” (Block) แล้วนำบล็อกเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันเป็น “ห่วงโซ่” (Chain) โดยแต่ละบล็อกจะมีการเข้ารหัส (Cryptography) เพื่อความปลอดภัย
การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ของบล็อกเชน หมายถึง การที่0ข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลางเพียงจุดเดียว แต่จะถูกสำเนาและจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องทั่วเครือข่าย หากมีบล็อกใดบล็อกหนึ่งถูกแก้ไข บล็อกอื่น ๆ ก็จะยังคงมีข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง และเมื่อข้อมูลถูกบันทึกในบล็อกและบล็อกนั้นถูกเพิ่มเข้าไปในห่วงโซ่แล้ว จะไม่สามารถแก้ไขหรือลบข้อมูลนั้นได้อีกเ เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องสร้างบล็อกใหม่ขึ้นมา และบล็อกใหม่นั้นก็จะถูกบันทึกต่อท้ายไปเรื่อย ๆ ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือสูง
ทั้งนี้ บล็อกเชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของคริปโทเคอร์เรนซี NFT และ DeFi ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเงินยุคใหม่
3. DeFi (Decentralized Finance)
DeFi หรือ Decentralized Finance คือ ระบบนิเวศทางการเงินที่สร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางการเงินต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางแบบดั้งเดิม เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ
หัวใจสำคัญของ DeFi คือการที่ระบบนี้ทำงานแบบกระจายศูนย์ ไม่มีการควบคุมจากองค์กรหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยบริการ DeFi ต่าง ๆ จะถูกขับเคลื่อนด้วย Smart Contract ซึ่งเป็นสัญญาดิจิทัลที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ครบถ้วน ทำให้กระบวนการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากคน
บริการ DeFi มีความเปิดกว้างและเข้าถึงได้ (Open and Accessible) ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและมีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallet) ก็จะสามารถเข้าถึงบริการของระบบนี้ได้ โดยทุกการทำธุรกรรมในระบบ DeFi จะถูกบันทึกอย่างเปิดเผยบนบล็อกเชนที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ แต่ในส่วนของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ก็จะยังคงถูกป้องกันด้วยการเข้ารหัส
4. NFT (Non-Fungible Token)
NFT (Non-Fungible Token) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ หรือมีชิ้นเดียวในโลกดิจิทัล มักใช้กับงานศิลปะดิจิทัล ของสะสม หรือไอเทมในเกม โดยข้อมูลความเป็นเจ้าของและรายละเอียดเฉพาะของ NFT จะถูกบันทึกอย่างถาวรและโปร่งใสอยู่บนบล็อกเชน ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของแท้จริง
5. Metaverse
Metaverse หรือที่อ่านว่า เมตาเวิร์ส เป็นโลกเหนือจินตนาการแบบ 3 มิติที่เสมือนจริง มีความเชื่อมโยงถึงกัน ผู้คนสามารถเข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่านตัวตนเสมือนจริงที่เรียกว่า “อวตาร” (Avatar) โดยเป็นสภาพแวดล้อมที่ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้คล้ายคลึงกับโลกจริง หรืออาจเหนือกว่าจินตนาการในบางด้าน เช่น การทำงาน เล่นเกม ช้อปปิ้ง จัดกิจกรรม หรือซื้อขายที่ดินเสมือนจริง
เมตาเวิร์ส มีระบบเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ผู้ใช้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ที่ดินเสมือนจริง, เสื้อผ้าอวตาร, NFT หรือบริการต่างๆ ได้ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการมีโลกเสมือนจริงใบนี้คือการที่สินทรัพย์ดิจิทัลและตัวตนเสมือนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแพลตฟอร์ม Metaverse ต่าง ๆ ได้ สิ่งสำคัญคือ โลกในเมตาเวิร์สจะไม่ได้หยุดทำงานเมื่อคุณออกจากระบบ แต่โลกใบนี้ยังคงอยู่และดำเนินต่อไปเสมือนโลกจริง ต่างจากเกมที่จบแล้วต้องเริ่มใหม่
ทั้งนี้ Metaverse เป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ผสมผสานเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าด้วยกัน และมีศักยภาพในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้จริง
6. Stablecoin
Stablecoin คือ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่มีมูลค่าความมั่นคงสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือมีมูลค่าคงที่และมีความผันผวนต่ำ โดยจะตรึงมูลค่าของตัวเองไว้กับสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า เพื่อลดความผันผวนของราคาที่มักพบในคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป
Stablecoin ทำงานโดยการอ้างอิงกับสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- สกุลเงิน fiat (Fiat-backed Stablecoin)
ประเภทที่นิยมที่สุด โดยมูลค่าของ Stablecoin จะถูกตรึงไว้กับสกุลเงินจริง เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ในอัตราส่วน 1:1 หมายความว่า 1 Stablecoin จะมีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีเงิน fiat สำรองเก็บไว้เท่ากับจำนวน Stablecoin ที่หมุนเวียนอยู่
- สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity-backed Stablecoin)
มูลค่าถูกตรึงไว้กับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือโลหะมีค่า ตัวอย่างเช่น PAXG (PAX Gold) ที่อ้างอิงกับทองคำ
- คริปโทเคอร์เรนซีอื่น (Crypto-backed Stablecoin)
มูลค่าถูกตรึงไว้กับคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง แต่มีกลไกการค้ำประกันที่ซับซ้อนกว่า โดยมักใช้การค้ำประกันเกิน (Overcollateralized) เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำ
- อัลกอริทึม (Algorithmic Stablecoin)
ไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกันโดยตรง แต่ใช้กลไกอัลกอริทึม และ Smart Contract เพื่อควบคุมอุปทานของเหรียญในตลาดให้รักษามูลค่าไว้
7. Smart Contract
Smart Contract เป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บและดำเนินการตามเงื่อนไขของข้อตกลงโดยอัตโนมัติบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางมาควบคุมหรือยืนยันการทำงานของสัญญา เพราะความน่าเชื่อถือถูกสร้างขึ้นจากโค้ดและเครือข่ายบล็อกเชนเอง ซึ่งเมื่อเงื่อนไขทั้งหมดที่ระบุไว้ในโค้ดเป็นจริง เช่น มีการโอนเงินเข้ามา สัญญาก็จะดำเนินการตามข้อตกลงที่เขียนไว้ในโค้ดโดยอัตโนมัติทันที
8. Yield Farming
Yield Farming เป็นกลยุทธ์การลงทุนในโลก DeFi ที่นักลงทุนนำสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซีที่ตนเองถืออยู่ไปวางไว้ (Staking) หรือให้สภาพคล่อง (Providing Liquidity) ในแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ เพื่อรับผลตอบแทนในรูปแบบของคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรม หรือโทเคนของแพลตฟอร์มนั้น ๆ อาจกล่าวง่าย ๆ ได้ว่า คือการนำคริปโทเคอร์เรนซีไป “ฝาก” หรือ “ปล่อยกู้” ในระบบ DeFi เพื่อให้ได้ดอกเบี้ย หรือ ผลตอบแทน ที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป โดยอาศัย Smart Contract ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน
วิธีเริ่มต้นศึกษาการเงิน และเคล็ดลับการลงทุนอย่างไร ให้ไม่โดนหลอก
การทำความเข้าใจคำศัพท์ทางการเงินเหล่านี้เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของการเป็นส่วนหนึ่งในโลกการเงินในปัจจุบัน หากคุณสนใจที่จะก้าวเข้าสู่โลกการเงินยุคใหม่และลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจัง การปฏิบัติตาม 5 หลักการสำคัญเหล่านี้จะช่วยให้การลงทุนดำเนินไปอย่างราบรื่น และลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์
1. ศึกษาให้กระจ่าง
อย่าเชื่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียว ควรศึกษาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่น่าเชื่อถือ ทำความเข้าใจหลักการทำงาน ความเสี่ยง และโอกาสของแต่ละสินทรัพย์ หรือแต่ละแพลตฟอร์มให้กระจ่าง
2. เริ่มต้นจากเงินน้อย ๆ
หากต้องการทดลองลงทุนให้เริ่มต้นจากการลงทุนในจำนวนเงินที่คุณคิดว่าสามารถเสียได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
3. ระวังกลโกง
พึงระลึกไว้เสมอว่ามิจฉาชีพมีอยู่ทั่วทุกที่ในโลกออนไลน์ ควรระมัดระวังการโฆษณาที่อ้างผลตอบแทนสูงเกินจริง หรือไม่หลงเชื่อโฆษณาที่เน้นการชักชวนคน หรือการขอข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่าน
4. ใช้แพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและได้รับอนุญาต
การเลือกใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) หรือแพลตฟอร์ม DeFi ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หรือมีการการันตีว่ามีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญควรเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากไม่แน่ใจที่จะลงทุน ควรปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานะทางการเงินและความเสี่ยงที่คุณรับได้
โลกการเงินยุคใหม่กำลังเปิดประตูสู่โอกาสที่น่าตื่นเต้น แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทาย การติดอาวุธด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ และคว้าโอกาสทางการเงินแห่งอนาคตได้อย่างเต็มที่ แต่ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เหนือจินตนาการนั้น หากคุณต้องการเครื่องมือทางการเงินในโลกปัจจุบัน สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า มอบความคุ้มค่าในทุกการใช้จ่าย ด้วยการรับคะแนน KTC FOREVER สะสมได้ไม่จำกัด และไม่มีวันหมดอายุ
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC