ดอกเบี้ยบ้านคิดคำนวณอย่างไร ทำไมควรรู้ก่อนเริ่มซื้อบ้าน?
ผู้ซื้อบ้านหลายคนอาจไม่ทราบว่าดอกเบี้ยบ้านคำนวณอย่างไร? ทำให้เมื่อจ่ายค่างวดบ้านไปกลับกลายเป็นว่าเงินต้นแทบไม่ลดลง เพราะจ่ายแต่ดอกเบี้ยหมด ทำให้เข้าใจว่าดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านเรตสูงมากพอ ๆ กับสินเชื่อออนไลน์ ด้วยเหตุนี้เราจึงพาทุกคนมารู้จักกับวิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้านประจำปี 2567 ด้วยตนเองว่า ธนาคารคิดดอกเบี้ยกันอย่างไร รู้แล้วสามารถวางแผนซื้อบ้านด้วยตนเอง เตรียมพร้อมเป็นเจ้าของบ้าน และทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ได้เลย!
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ตารางอัตราดอกเบี้ยบ้านล่าสุดปี 2567
ธนาคาร | อัตราดอกเบี้ย (MRR) | อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเฉลี่ย 3 ปีแรก | วงเงินกู้ |
---|---|---|---|
1.ธนาคารกรุงไทย | 7.570% | 3.57% | 100% ของราคาประเมิน |
2.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา | 7.40% | 3.30% | 100% ของราคาประเมิน |
3.ธนาคารทหารไทย | 7.89% | 3.30% | 100% ของราคาประเมิน |
4.ธนาคารกรุงเทพ | 7.05% | 3.57% | 100% ของมูลค่าหลักประกัน |
5.ธนาคารไทยพาณิชย์ | 7.30% | 3.47% | 100% ของราคาประเมิน |
6.ธนาคารเกียรตินาคิน | 8.20% | 3.550% | 100% ของราคาประเมิน |
7.ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ | 8.80% | 3.24% | 100% ของราคาประเมิน |
8.ธนาคารออมสิน | 6.595% | 4.795% | 110% ของราคาประเมิน |
8 ธนาคารอัตราดอกเบี้ยบ้านต่ำที่สุดในปี 2567
ดอกเบี้ยบ้านของทุกธนาคารที่ปรากฏในตารางข้างต้น มีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และสินเชื่อเกี่ยวกับการซื้อบ้านที่น่าสนใจ โดยสามารถอ่านข้อมูลต่าง ๆ ได้ดังนี้
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านแทนคุณ ที่เสนอดอกเบี้ยเรตพิเศษสำหรับผู้ที่ดูแลพ่อแม่ โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.57% จากนั้นปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยจะปรับเป็นเรตลอยตัว MLR - 0.75% และสินเชื่อบ้านแทนคุณได้กำหนดให้ผู้กู้ต้องยื่นเอกสารแสดงหลักฐานว่าดูแลพ่อแม่จริง เช่น การหักลดหย่อนภาษี, กรมธรรม์ประกัน, ทะเบียนบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกัน เป็นต้น
หากต้องการเงินด่วนเพื่อขยายธุรกิจ หรือซ่อมแซมบ้าน ก็สามารถขอสินเชื่อกรุงไทยบ้านแลกเงิน ที่ให้วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 8.55% ต่อปี โดยผู้กู้ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ บ้าน, ที่ดิน, อาคารพาณิชย์ หรือคอนโด ตามที่ธนาคารกำหนด
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทหลักประกันบ้านเดี่ยว, ทาวน์เฮ้าส์, ทาวน์โฮม และห้องชุดพักอาศัย โปรโมชันดอกเบี้ยบ้านกรุงศรีปีแรก 2.90% ต่อปี ปีที่ 2 และปีที่ 3 คิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR -3.9% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.30% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไปอยู่ที่ MRR -1.60% ต่อปี พร้อมข้อเสนอฟรีค่าประเมินหลักประกัน และผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี ทั้งนี้ผู้กู้ที่เป็นพนักงานประจำต้องมีอายุงานมากกว่า 2 ปีขึ้นไป
ธนาคารกรุงศรียังมีสินเชื่อผ่อนคอนโดที่อนุมัติวงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน ไม่คิดค่าจดจำนองและค่าประเมินหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 3.30% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ย MRR -1.60% ต่อปี เรตเดียวกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว
ธนาคารทหารไทย
ธนาคารทหารไทยได้จัดโปรโมชัน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านใหม่-บ้านมือสอง ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยผ่อนบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรก 3.30% ต่อปี หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยลอยตัวคิดเรต MRR -2.08% ต่อปี ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 35 ปี อนุมัติวงเงินสูงสุดไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ ผู้สมัครสินเชื่อต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป และมีอายุงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน
รวมถึงหากต้องการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวกับธนาคารทหารไทย ก็สามารถสมัครสินเชื่อบ้านแลกเงินเคลียร์หนี้ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 6.95% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปคิดเรตลอยตัว MRR -0.63% ต่อปี พร้อมอนุมัติวงเงินกู้ตั้งแต่ 500,000-15,000,000 บาท
ธนาคารกรุงเทพ
สินเชื่อบ้านบัวหลวงได้เสนออัตราดอกเบี้ยบ้านเรตพิเศษสำหรับพนักงานประจำที่มีข้อตกลงกับทางธนาคารโดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.57% หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยปรับเป็นแบบลอยตัว MRR-1.50% ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 35 ปี ทั้งนี้ผู้กู้ต้องทำประกันตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ทำประกันคุ้มครองการเสียชีวิตอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก จะอยู่ที่ 3.73% และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไปคิดแบบเรตลอยตัว MRR - 1.50% และหากผู้กู้สมัครสินเชื่อบ้านบัวหลวงพร้อมประกันชีวิตเครดิตโฮมเฟิร์สพลัส จะได้รับข้อเสนอส่วนลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษปีแรก 0.5%
ธนาคารไทยพาณิชย์
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อซื้อบ้านใหม่ ที่เสนออัตราดอกเบี้ยบ้านเรตพิเศษเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 3.47% ต่อปี ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน โดยสามารถเลือกรูปแบบการกู้ได้ทั้งกู้เดี่ยวและกู้ร่วม ทั้งนี้สินเชื่อซื้อบ้านใหม่พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ และเสนอส่วนลดอัตราดอกเบี้ย หากผู้กู้ซื้อประกันคุ้มครองการเสียชีวิตตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
สำหรับผู้กำลังวางแผนต่อเติมบ้านเพิ่ม ธนาคารไทยพาณิขย์ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านได้เพิ่ม เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้ลูกค้าสินเชื่อเคหะ ที่ผ่อนชำระ 2 ปีขึ้นไป ได้วงเงินกู้เพิ่มเติมจากส่วนที่ชำระไปแล้ว เพื่อบริหารสภาพคล่อง โดยเลือกผ่อนชำระในอัตราเดิมได้นานสูงสุด 30 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 5.8-14.050% ต่อปี
ธนาคารเกียรตินาคิน
สินเชื่อบ้าน-คอนโด ที่อนุมัติวงเงินกู้ 50 ล้านบาท พร้อมระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 40 ปี และยังให้กู้ร่วมได้สูงสุดถึง 4 คน คิดอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกแบบลอยตัว MLR -4.625% ต่อปี เฉลี่ยรวม 3 ปีอัตราดอกเบี้ย 3.55% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไปอยู่ที่ MLR -2.00% ต่อปี
นอกจากนี้ธนาคารเกียรตินาคิน ยังมีสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์บ้าน ที่คิดดอกเบี้ยเรตพิเศษ 3.30% ต่อปี ทั้งนี้จะขอสินเชื่อได้ก็ต่อเมื่อวงเงินคงเหลือจากการผ่อนชำระกับสินเชื่อเดิมต้องมากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป และมีประวัติการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 12 เดือน ซึ่งสามารถนำเงินที่ได้จากการรีไฟแนนซ์ไปขยายธุรกิจเพิ่มเติม หรือที่เรียกกันว่าการให้เงินต่อเงิน เพื่อให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์
สินเชื่อบ้านใหม่โฮมโลนโดนใจแบบทำประกัน MRTA/MLTA ไม่ฟรีค่าจดจำนอง อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรก 3.24% ต่อปี ปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ย MRR -3.01% ต่อปี ผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี เสนอวงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน และสินเชื่อดังกล่าวกำหนดให้ราคาหลักประกันแนวราบต้องมีราคาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนราคาหลักประกันแนวสูงราคาต้องมากกว่า 2.5 ล้านบาท
หากผู้กู้ไม่สะดวกจ่ายค่าจดจำนอง และไม่ต้องการทำประกัน MRTA/MLTA ก็สามารถทำเรื่องขอสินเชื่อบ้านใหม่โฮมโลนโดนใจ ประเภทไม่ทำประกัน MRTA/MLTA ซึ่งสินเชื่อรูปแบบนี้ผู้กู้จะได้ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกคงที่ 3.72% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยบ้านปีที่ 3 เป็นต้นไปจะอยู่ที่ MRR -3.01% ต่อปี พร้อมให้วงเงินกู้เพิ่มสูงสุด 10% เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์บ้านเพิ่มเติม
ธนาคารออมสิน
สินเชื่อบ้านใหม่ และบ้านมือสอง ในกรณีที่ผู้กู้ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ โปรโมชันอัตราดอกเบี้ยบ้าน 3 ปีแรกเฉลี่ย 4.795% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไปคิดแบบลอยตัว MRR -0.75% ต่อปี ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ให้วงเงินกู้สูงสุด 110% ของราคาประเมินเหมาะกับผู้กู้ที่ต้องการเงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง เพื่อไถ่ถอนอาคารหรือที่ดิน
นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะสำหรับกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านที่ออกแบบมาเพื่อลูกค้าที่เป็นแพทย์, อัยการ, นักบิน, วิศวกร ฯลฯ โดยเสนออัตราดอกเบี้บบ้านเรตเดียวกับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านมือสอง
สูตรคำนวณสินเชื่อบ้านฉบับเข้าใจง่าย
หลังจากเช็กดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน กับ 8 ธนาคารชื่อดังไปแล้ว ผู้ซื้อบ้านครั้งแรกมักไม่ทราบว่าเงินเดือนที่เรามีจะขอสินเชื่อบ้านได้จำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม และไม่ทำให้เกิดภาระในการผ่อนบ้านมากเกินไป ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าคุณควรซื้อบ้านในราคาเท่าไหร่ สามารถคำนวณได้จากสูตร
วงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด = (รายได้ต่อเดือน x 40%) x 150
ตัวเลข 40% มีที่มาจากอัตราส่วนในการชำระหนี้ หรือรู้จักกันในชื่อ DSR (Debt Sevice Ratio) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ผู้กู้ไม่ควรชำระหนี้เกินกว่า 40% ของรายได้ เพราะจะทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนมากเกินไป เกิดปัญหาเงินไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้
ตัวอย่างเช่น นาย A เงินเดือน 25,000 บาท หมายความว่าราคาบ้านสูงสุดที่นาย A จะซื้อได้ คือ (25,000x40%)x150 = 1.5 ล้านบาท และจากอัตราส่วน DSR นาย A ไม่ควรผ่อนชำระต่อเดือนเกินกว่า 25,000x40% =10,000 บาท
หลังจากคำนวณวงเงินสินเชื่อบ้านที่เหมาะสมได้แล้ว นาย A ตัดสินใจขอสินเชื่อบ้านวงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1-3 ปีแรก 3.5% ต่อปี และดอกเบี้ยปีที่ 3 ขึ้นไปคิดแบบลอยตัว MRR -1.5% ผ่อนชำระ 30 ปี (กำหนดให้อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.5% ต่อปี)
อย่างที่ทราบดีว่าถึงแม้นาย A จะผ่อนบ้านงวดละ 10,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้หมายความว่าเงินต้นจะลดลงไป 10,000 บาท เพราะจะต้องคิดคำนวณในส่วนของดอกเบี้ยเข้าไปด้วย ซึ่งสูตรคำนวณดอกเบี้ยบ้านคือ
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
เมื่อแทนค่าเข้าไปจะได้ดอกเบี้ยงวดแรก ที่นาย A จะต้องจ่าย = (1,500,000x3.5%x30)/365 = 4,315.068 บาท
หากนาย A จ่ายค่าบ้านงวดแรก 10,000 บาท เมื่อหักดอกเบี้ยบ้านแล้ว หมายความว่านาย A จะจ่ายเงินต้นไปได้ 10,000-4,315.068 = 5,684.932 บาท ดังนั้นเงินต้นคงเหลือ คือ 1,500,000-5,684.932 = 1,4943,15.068 บาท และดอกเบี้ยบ้านในงวดที่ 2 คือ (1,4943,15.068x3.5%x30)/365 = 4,298.7145 บาท หากผ่อนจ่าย 10,000 บาทเท่าเดิม ก็จะเหลือเงินต้น 1,494315.068-(10,000-4,298.7145) = 1,488,613.7825 บาท
เมื่อคำนวณดอกเบี้ยบ้านต่อเนื่องมาจนถึงงวดที่ 36 (ครบกำหนด 3 ปี) เงินต้นจะคงเหลือ 1,284,695.47บาท และดอกเบี้ยบ้านจะปรับไปคิดในเรตลอยตัวซึ่งก็คือ MRR -1.5% (7.5%-1.5%) = 5% ดังนั้นดอกเบี้ยบ้านในงวดที่ 37 จะคำนวณได้จาก
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี = 1,284,695.47X5%X30/365 = 5,279.57 บาท
ดังนั้นหากนาย A ผ่อนบ้านด้วยจำนวนเงิน 10,000 บาทต่อเดือนไปเรื่อย ๆ จะใช้เวลาเท่ากับ 222 งวด หรือก็คือ 18.5 ปีก็จะปลดหนี้บ้านได้ทั้งหมด
รวมทุกเรื่องควรรู้ เลือกสินเชื่อบ้านยังไงให้ได้ดอกเบี้ยต่ำ
แม้ว่าการเลือกสินเชื่อบ้านจาก 8 ธนาคารที่ได้นำเสนอไปข้างต้นจะช่วยให้คุณได้ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำก็จริง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อเสนอดอกเบี้ยที่ดีที่สุด เราจึงได้นำเทคนิคที่จะช่วยให้คุณได้ดอกเบี้ยบ้านต่ำ ประหยัดเงินผ่อนกว่าเดิมมาให้คุณแล้ว ดังนี้
เลือกสินเชื่อบ้านช่วงจัดโปรโมชัน
สถาบันการเงินจะจัดโปรโมชันสินเชื่อบ้านเป็นประจำทุกปี ผู้ที่วางแผนซื้อบ้านก็อาจใช้เวลานี้ทำเรื่องซื้อบ้าน เพื่อได้รับข้อเสนอดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำที่สุด แต่ก็ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ว่าเป็นสินเชื่อที่กำหนดให้ทำเรื่องซื้อบ้านภายในระยะเวลากี่วัน หรือต้องเป็นลูกค้าที่รับบัญชีเงินเดือนเฉพาะธนาคารนั้น ๆ ถึงจะขอสินเชื่อได้
ซื้อบ้านช่วงอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง
หลายคนอาจไม่ทราบว่าดอกเบี้ยบ้านอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยบ้านจะเพิ่มตาม ทำให้ผู้ผ่อนบ้านในช่วงดอกเบี้ยสูง มักจะจ่ายค่าบ้านไม่ไหว แต่ถ้าซื้อบ้านในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายลดลงแล้ว จะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยบ้านได้จำนวนมาก
รักษาประวัติเครดิตบูโรให้ดี
เมื่อทำเรื่องขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินจะตรวจสอบประวัติเครดิตบูโรย้อนหลังทุกครั้ง เพื่อเช็กว่าผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่ หากในช่วงที่ผ่านมาผู้กู้มีประวัติค้างชำระเกินกว่า 90 วัน ชื่อของผู้กู้จะปรากฏในฐานข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเครดิตทางการเงินที่ไม่ดี ทำให้นอกจากธนาคารจะปฏิเสธสินเชื่อบ้านแล้ว ก็อาจคิดดอกเบี้ยบ้านในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่เครดิตทางการเงินเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้เข้าไป
เปรียบเทียบสินเชื่อบ้านก่อนทุกครั้ง
ก่อนที่จะกู้ซื้อบ้าน ให้คุณเปรียบเทียบสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งอื่นเพื่อได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยบ้านที่ดีที่สุด เพราะบางธนาคารอาจให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้กู้ที่ทำอาชีพรายได้สูงโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้กู้เลือกขอสินเชื่อที่ทำประกันชีวิตด้วยแล้ว อัตราดอกเบี้ยบ้านจะต่ำกว่าสินเชื่อที่ไม่ทำประกันชีวิตอีกด้วย
วางแผนจ่ายดอกเบี้ยบ้านให้น้อยลง ด้วยเทคนิคโปะบ้าน
นอกจากจะคำนวณดอกเบี้ยบ้านและวงเงินสินเชื่อตามสูตรที่เราได้แนะนำไปแล้ว หากไม่มีเวลาคำนวณดอกเบี้ยด้วยตนเองก็สามารถใช้เครื่องคำนวณดอกเบี้ยออนไลน์ ที่เพียงแค่กรอกจำนวนเงินที่ต้องการกู้ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องการผ่อนต่อปี และจำนวนงวดในการผ่อนชำระ ระบบก็จะคำนวณเงินผ่อนให้แบบอัตโนมัติ ทำให้ทราบว่าต้องตั้งเป้าหมายเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะผ่อนบ้านหมดตามสัญญา
เมื่อวางแผนขอสินเชื่อบ้านเรียบร้อย ก็อย่าลืมชำระค่างวดบ้านให้ตรงเวลา มิเช่นนั้นแล้ว เงินต้นคงค้างจะถูกนำไปคิดคำนวณรวมกับดอกเบี้ยซื้อบ้านในงวดถัดไป พร้อมค่าธรรมเนียมทวงถาม ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและเงินต้นไม่ลดลง แต่ถ้ามีเงินก้อนจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากเงินโบนัสหรือเงินค่าโอที แนะนำให้รีบโปะบ้านเพื่อให้จ่ายดอกเบี้ยบ้านลดลงและปิดหนี้ได้เร็วขึ้น
ถ้าคุณเกิดอุบัติเหตุทางการเงิน ชำระหนี้บ้านไม่ไหว ลองใช้ตัวช่วยบริหารเงินอย่างบัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยบริหารเงินของคนยุคใหม่ แก้ปัญหาเงินหมดระหว่างผ่อนบ้านได้แบบตรงจุด ไม่ต้องก่อหนี้นอกระบบ ที่สำคัญยังอนุมัติไว เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาทก็สมัครได้ทันที!
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยเรื่องการเงินยามฉุกเฉิน