ในฐานะเจ้าของรถ ไม่ใช่แค่การดูแลรักษารถและขับขี่อย่างระมัดระวังเท่านั้นนะครับ แต่เจ้าของรถทุกคนยังมีทั้งหน้าที่ไปทำ พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์เพื่อให้อุ่นใจว่า หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทั้งตัวเองและคู่กรณีก็จะได้รับความคุ้มครองและเงินชดเชยตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ ว่าแต่ ใครสงสัยบ้างครับว่า พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์แท้ที่จริงแล้วแตกต่างกันอย่างไร และถ้าเราต้องการทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้หรือไม่ วันนี้ พี่เบิ้มจะมาตอบทุกข้อสงสัยให้กระจ่างครับ
พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์ มีแค่อย่างเดียวได้ไหม?
มาเริ่มกันที่ข้อสงสัยที่คาใจหลาย ๆ คนกันก่อนเลย บางคนอาจไม่มั่นใจว่าระหว่าง พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์ เราสามารถเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ เพราะหากทำทั้งสองอย่างก็เป็นรายจ่ายที่มากพอตัวอยู่ คำตอบก็คือ มี พ.ร.บ. อย่างเดียวได้ครับ เพราะ พ.ร.บ. หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์เป็นประกันภัยภาคบังคับ ที่เจ้าของรถทุกคนมีหน้าที่ต้องไปต่อทุกปี แต่ประกันชั้น 1, 2 หรือ 3 ที่เราเห็นกันนั้นเป็นประกันภาคสมัครใจ ซึ่งคุณสามารถทำเพิ่มเติมได้ตามความคุ้มครองที่ต้องการนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ความคุ้มครองจะมีไม่เท่ากันนะครับ เพราะ พ.ร.บ. นั้นจะคุ้มครองเฉพาะกรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตทั้งตัวผู้ขับขี่และคู่กรณี แต่ไม่ได้คุ้มครองตัวรถของผู้เอาประกัน ดังนั้น หากใครอยากอุ่นใจว่า ถ้ารถเราถูกเฉี่ยวชนจนเสียหายจะสามารถเคลมค่าซ่อมได้ ก็สามารถทำประกันชั้นที่ครอบคลุมเรื่องความเสียหายของตัวรถ เช่น ประกันชั้น 1 หรือ 2+ ได้เลยจ้า
วิธีแจ้งเคลม พ.ร.บ. ที่คนขับรถต้องรู้!
เข้าใจความแตกต่างของ พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์กันไปแล้ว ทีนี้พี่เบิ้มจะพามาดูวิธีการเคลมหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุกันครับ สำหรับการเคลมหรือเบิก พ.ร.บ. นั้นจะเป็นการยื่นเรื่องเคลมเพื่อรับเงินหลังจากที่ได้จัดการค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
วิธียื่นเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาล
- ผู้ประสบภัย ผู้รับมอบอำนาจ หรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยทำเรื่องเบิกภายใน 180 วัน
- ยื่นเรื่องผ่านโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือโทร. 1791 เพื่อยื่นเรื่องผ่านบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์
เอกสารที่ต้องใช้
นอกเหนือจากสำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบเหตุแล้ว ยังมีเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมแยกตามเงื่อนไข ดังนี้
- กรณีผู้ป่วยนอก: ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ
- กรณีผู้ป่วยใน: ใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองการเป็นผู้ป่วยใน และใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล (หากผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายผิด เช่น เป็นผู้ขับรถชน จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)
- กรณีทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ: ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองความพิการ และสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานว่าเป็นผู้เสียหายจากอุบัติเหตุนั้น ๆ
- กรณีเสียชีวิต: ใบมรณบัตร สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทโดยธรรม และสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ประสบภัยถึงแก่ความตาย
มือใหม่จดไว้ วิธีแจ้งเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน
อีกหนึ่งความแตกต่างของ พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์คือวิธีการเคลม ซึ่งการเคลมประกันรถยนต์สามารถเลือกเคลมได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ เคลมสด (เคลมเลย ณ ที่เกิดเหตุ) และเคลมแห้ง (เคลมหลังจากเกิดเหตุ)
เคลม ณ ที่เกิดเหตุ
หากคุณเกิดอุบัติเหตุและคู่กรณียังอยู่ สามารถเลือกเคลมสดตามขั้นตอนดังนี้ได้ครับ
- โทร. ติดต่อบริษัทประกัน แจ้งข้อมูลเลขทะเบียนรถยนต์ เลขกรมธรรม์ ชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้ขับขี่ และแจ้งรายละเอียดของอุบัติเหตุและจุดเกิดเหตุคร่าว ๆ
- รอเจ้าหน้าที่เดินทางมาเพื่อประเมินความเสียหาย ณ จุดเกิดเหตุ
- หลังจากได้รับใบแจ้งเคลมจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถนำรถเข้าซ่อมตามอู่หรือศูนย์บริการตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ได้เลยครับ
พี่เบิ้มขอโน้ตเพิ่มไว้อีกนิดว่า ถ้าหากอุบัติเหตุนั้นมีผู้บาดเจ็บขึ้นมา อาจต้องเดินทางไปแจ้งความด้วย อย่าลืมเตรียมใบขับขี่และหน้ากรมธรรม์ไปนะครับ
เคลมหลังจากเกิดเหตุ
แต่หากอุบัติเหตุนั้นไม่มีคู่กรณี หรือคู่กรณีนั้นไม่ใช่รถยนต์ แต่เป็นการเฉี่ยวชนวัตถุอื่น ๆ ก็สามารถเคลมหลังจากเกิดเหตุได้เช่นกัน โดยควรรีบเคลมภายใน 2 - 3 วันหลังเกิดเหตุ และสามารถเคลมได้เฉพาะประกันชั้น 1 เท่านั้นครับ
สำหรับการเคลมแห้ง พี่เบิ้มแนะนำให้เตรียมหลักฐาน ดังนี้
- รูปถ่ายความเสียหายต่าง ๆ ณ ที่เกิดเหตุ
- จดบันทึกเวลาและสถานที่เกิดเหตุให้พร้อม
- ติดต่อไปแจ้งเคลมกับบริษัทประกัน หลังจากประกันออกใบประเมินความเสียหายแล้วก็สามารถไปเคลมกับทางอู่หรือศูนย์บริการตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ได้เลย
อีกหนึ่งข้อสงสัย รถชนแบบไม่มีคู่กรณีเคลมได้ไหม?
คำถามสุดท้ายแล้ว หากใครสงสัยว่าถ้าเราเฉี่ยวชนกับขอบถนน สะพาน เสาไฟ หรือวัตถุอื่น ๆ จนรถบุบหรือเสียหาย ประกันจะจ่ายไหม? อย่างที่พี่เบิ้มแนะนำไปในวิธีการเคลมแห้งเลยครับ คือ คุณสามารถเคลมได้ก็ต่อเมื่อทำประกันชั้น 1 เท่านั้น ในส่วนของประกันชั้น 2+ และ 3+ จะคุ้มครองเฉพาะกรณีเฉี่ยวชนกับยานพาหนะทางบกด้วยกันและระบุคู่กรณีได้ ส่วนชั้น 2 และ 3 จะไม่คุ้มครองในกรณีนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ พี่เบิ้มว่าทุกคนคงเข้าใจถึงความแตกต่างของ พ.ร.บ. กับประกันรถยนต์กันดีพอสมควรแล้ว ถ้าใครอยากสบายใจว่าจะได้รับความคุ้มครองและชดเชยในส่วนที่ พ.ร.บ. ไม่ได้จ่าย การทำประกันรถเอาไว้ก็ช่วยประกันความเสี่ยงได้ดีครับ เพราะการดูแลรถดี มีประกันคอยเพิ่มความอุ่นใจ ก็เหมือนการเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเอง รับผิดชอบต่อชีวิตคนรอบข้าง และยังเป็นการดูแล “รถยนต์” หลักประกันที่สามารถนำไปเพิ่มสภาพคล่องได้อีกด้วย
และหากใครมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วนและมีรถยนต์เป็นของตัวเองก็สามารถนำมาขอสินเชื่อทะเบียนรถยนต์กับ KTC พี่เบิ้มได้เลย! พี่เบิ้มพร้อมเป็นทางเลือกคนไม่ท้อเสมอ จะลงทะเบียนที่นี่ ไปสมัครที่จุดบริการ KTC TOUCH ทุกสาขา หรือเรียกบริการพี่เบิ้ม Delivery ให้พี่เบิ้มไปหาถึงบ้านก็ได้เลยจ้า