การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อมีการซื้อขายรถยนต์มือสอง หรือการส่งต่อรถยนต์ให้กับบุคคลอื่น ซึ่งวันนี้ KTC ได้รวบรวมทุกสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ ตั้งแต่ความหมาย วิธีการ ขั้นตอน เอกสารที่ต้องใช้ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และไม่พลาดรายละเอียดสำคัญทั้งหมด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ คืออะไร
- การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ ทำได้กี่วิธี
- 4 ขั้นตอนการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
- เอกสารที่ใช้ในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
- หนังสือมอบอำนาจโอนรถ คืออะไร
- การโอนรถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในกี่วัน
- โอนรถเปลี่ยนเจ้าของ มีค่าโอนรถยนต์กี่บาท
- ทำไมควรเลี่ยงการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอย
- สรุปบทความ รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ คืออะไร
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของรถยนต์ จากบุคคลหนึ่งไปเป็นอีกบุคคลหนึ่งอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การให้ หรือการรับมรดก การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของจึงมีความสำคัญอย่างมากในแง่ของกฎหมาย เพราะหากไม่ดำเนินการให้เรียบร้อย เจ้าของเดิมอาจต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อมีการกระทำผิดทางกฎหมายจากการใช้รถคันดังกล่าว แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริงแล้วก็ตาม
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ ทำได้กี่วิธี
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ดังนี้
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรง
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรง เป็นวิธีที่ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายต้องไปดำเนินการร่วมกันที่สำนักงานขนส่ง ซึ่งวิธีนี้มีความปลอดภัยมากที่สุด ผ่านการนำรถไปตรวจสภาพ และยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนพร้อมกัน ข้อดีคือ การโอนจะเสร็จสิ้นในคราวเดียว ลดความเสี่ยงในการถูกฉ้อโกง หรือเกิดปัญหาภายหลัง แต่อาจไม่สะดวกสำหรับผู้ที่มีเวลาจำกัด หรืออยู่ต่างพื้นที่กัน
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอย
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอย เป็นวิธีที่ผู้ขายมอบเอกสาร และลงนามในแบบฟอร์มต่าง ๆ ให้ผู้ซื้อนำไปดำเนินการโอนเองในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้มีความยืดหยุ่นกว่า และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปดำเนินการพร้อมกันได้ หรือในกรณีของเต็นท์รถมือสองที่ต้องการความคล่องตัวในการซื้อขาย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าสำหรับผู้ขาย เพราะหากผู้ซื้อไม่ดำเนินการโอนให้เรียบร้อย ทางผู้ขายอาจต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้รถคันดังกล่าวเอง
4 ขั้นตอนการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
แม้ว่าการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของอาจดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจ และขั้นตอนหลัก ๆ ทั้งหมดจะมีเพียง 4 ขั้นตอนนี้เท่านั้น
1. นำรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่ง
2. ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ และชำระค่าธรรมเนียมที่งานทะเบียนรถ
3. รับใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน
4. รับใบเสร็จรับเงิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษีและแผ่นป้ายทะเบียนรถ
เอกสารที่ใช้ในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเอกสารที่ต้องใช้อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะการโอน ดังนี้
เอกสารโอนตรง
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดจดทะเบียนรถฉบับจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถคนเดิม และเจ้าของรถคนใหม่
- สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอการโอนกับรับโอนที่มีลายเซ็นผู้โอน และผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
เอกสารโอนรถลอย
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดจดทะเบียนรถฉบับจริง
- สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถคนเดิม และเจ้าของรถคันใหม่
- สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอการโอนกับรับโอนที่มีลายเซ็นของผู้โอนเจ้าของรถคนเดิม และผู้รับโอนที่เป็นเจ้าของรถคนใหม่
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบ (เจ้าของรถคนใหม่)
เอกสารโอนให้ญาติหรือผู้รับมรดก
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดจดทะเบียนรถฉบับจริง
- แบบคำขอโอนกับรับโอนที่มีลายเซ็นผู้โอน และผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
- สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- สำนาใบมรณบัตรเจ้าของรถในกรณีที่เจ้าของรถคนเดิมเสียชีวิต และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนาที่มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และของผู้รับมอบ
หนังสือมอบอำนาจโอนรถ คืออะไร
หนังสือมอบอำนาจโอนรถ เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในกรณีที่เจ้าของรถไม่สามารถไปดำเนินการโอนรถด้วยตนเองได้ เอกสารนี้จะระบุว่า เจ้าของรถยินยอมให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนตนในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ โดยจะต้องระบุรายละเอียดของรถ ข้อมูลของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจอย่างชัดเจน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและพยาน ซึ่งการใช้หนังสือมอบอำนาจโอนรถ จะช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่ไม่สามารถไปดำเนินการด้วยตนเองได้ แต่ก็มีความเสี่ยงหากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีเช่นกัน
การโอนรถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในกี่วัน
ในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เพราะการแจ้งต่อนายทะเบียนเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะช่วยยืนยันการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการ และป้องกันปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ควรให้ความสำคัญในดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา
โอนรถเปลี่ยนเจ้าของ มีค่าโอนรถยนต์กี่บาท
การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของมีค่าใช้จ่ายหลายส่วน ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขาย ควรทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อม และโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของจะประกอบไปด้วย
- ค่าคำขอการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ 5 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการโอนรถ 100 บาท
- ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน 100 บาท (ในกรณีที่เล่มทะเบียนชำรุด)
- ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 บาท (หากต้องการเปลี่ยนทะเบียนรถ)
- ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมินราคารถยนต์ 100,000 บาท
ทำไมควรเลี่ยงการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอย
แม้ว่าการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอยจะดูสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่ควรพิจารณา เหตุผลที่ควรเลี่ยงการโอนลอยมีดังนี้
- ความเสี่ยงต่อเจ้าของเดิม : หากผู้ซื้อไม่นำรถไปโอนทันที เจ้าของเดิมอาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดจากการใช้รถคันนั้น
- โอกาสถูกฉ้อโกง : ผู้ซื้ออาจนำเอกสารไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปจำนำ หรือขายต่อโดยที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์
- ปัญหาการติดตามภายหลัง : หากเกิดปัญหาในภายหลัง อาจยากต่อการติดตาม หรือเรียกร้องความรับผิดชอบ
- ความไม่ชัดเจนในการส่งมอบ : อาจเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับวันที่ส่งมอบรถจริง ซึ่งอาจส่งผลต่อความรับผิดชอบในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือการกระทำผิดกฎหมาย
- การละเมิดกฎหมาย : การไม่แจ้งโอนภายใน 15 วันถือเป็นการละเมิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกปรับได้
สรุปบทความ รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ
หวังว่าผู้ใช้รถทุกคนจะรู้กันแล้วว่า การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของมีขั้นตอนอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของเอกสาร และค่าธรรมเนียมทั้งหมด แต่อย่างที่เราได้บอกไป การโอนตรงยังคงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และควรเลี่ยงการโอนลอยจะดีกว่า ส่วนใครที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน แต่ยังไม่รู้จะหาเงินหมุนเวียนจากไหน KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เป็นอีกหนึ่งสินเชื่อที่มีวงเงินก้อนใหญ่ สมัครง่าย ไม่ยุ่งยาก และมีบริการ พี่เบิ้ม Delivery ในการเดินทางไปประเมินสภาพรถให้ถึงหน้าบ้าน ที่สำคัญยังอนุมัติไว รับเงินก้อนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน และผ่อนได้นานสูงสุด 84 เดือน อีกทั้งยังเลือกรับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้มไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินอย่างอุ่นใจ หากไม่กดใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21%-24% ต่อปี*