ปัจจุบันสังคมเรามีความเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ (L- Lesbian, G-Gay, B-Bisexual, T-Transgender, Q-Queer) หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายขึ้นมาก แม้จะยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่บ้าง แต่ LGBTQ+ ก็มีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น การทำประกันชีวิต อีกทั้งยังมีกฎหมายเท่าเทียม ที่ให้ LGBTQ+ เป็นผู้รับผลประโยชน์ประกัน ได้แล้วเช่นกัน
LGBTQ+ สามารถทำประกันชีวิตได้ไหม?
สำหรับ LGBTQ+ การทำประกันชีวิตนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรสนิยมทางเพศด้วย เพราะบริษัทประกันจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ สุขภาพ
ทั้งนี้ แนะนำให้ชาว LGBTQ+ แจ้งข้อมูลให้บริษัทประกันได้ทราบอย่างครบถ้วน เช่น กรณีตัดหน้าอก เสริมหน้าอก หรือแปลงเพศแล้ว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารับประกันและการจ่ายสินไหมทดแทน เพราะมิฉะนั้นจะถือว่าปกปิดประวัติส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกยกเลิกกรมธรรม์ภายหลังได้
ผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต ทำอย่างไร?
หากผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต สิ่งแรกที่ควรทำ คือ แจ้งการเสียชีวิตให้ ทางบริษัทที่ทำประกันไว้รับรู้เร็วที่สุด อย่างน้อย ไม่ควรเกิน 14 วัน พร้อมเอกสารการเสียชีวิต เช่น สำเนาใบมรณะบัตรหรือใบแจ้งการเสียชีวิต จากนั้นตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์คนเดียว หรือมีผู้รับผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ หากมีผู้รับผลประโยชน์คนอื่นๆ ด้วย ติดต่อผู้รับผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ เตรียมเอกสาร เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารการเป็นผู้รับผลประโยชน์ และเอกสารแสดงความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิต จากนั้นยื่นคำร้องพร้อมเอกสารที่จำเป็นต่อสถาบันการเงินหรือบริษัทประกัน รอการตรวจสอบและอนุมัติจากสถาบัน เมื่ออนุมัติ ผลประโยชน์จะถูกโอนตามเงื่อนไขที่กำหนด
ผู้รับผลประโยชน์ เป็นใครได้บ้าง ไม่ใช่ญาติได้ไหม?
หากสงสัยว่าผู้รับผลประโยชน์ เป็นใครได้บ้าง? ผู้รับผลประโยชน์ ประกันชีวิต ไม่ใช่ญาติได้ไหม? คำตอบก็คือ “ได้” เพราะไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องเพศหรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด และแม้ว่าตามกฎหมายจะไม่ได้ถือว่าคู่รัก LGBTQ+ เป็นคู่สมรสกัน แต่ในบริษัทประกันหลายแห่งก็ให้สิทธิ์ในการเป็น “คู่ชีวิต” เพื่อใส่ชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ประกันได้ โดยอาจจะต้องแนบหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มน้ำหนักของความสัมพันธ์ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันจะขอหลักฐาน
ทั้งนี้ จำเป็นต้องทราบก่อนว่า บริษัทประกันจะค่อนข้างเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ประกัน เพื่อป้องกันการทำประกันเพื่อหวังเอาเงินประกันและรักษาผลประโยชน์อย่างสูงสุดนั่นเอง ดังนั้นการจะเลือกให้ผู้ใดเป็นผู้รับผลประโยชน์ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วย
ผู้รับผลประโยชน์ LGBTQ+ ตามกฎหมายจะไม่ได้ถือว่า “เป็นคู่สมรสกัน” แต่บริษัทประกันหลายแห่งให้สิทธิ์ในการเป็น “คู่ชีวิต” สามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์
วิธีส่งมอบทรัพย์สิน LGBTQ+ ให้กับผู้ที่ไม่ใช่ญาติ
สำหรับคู่ชีวิตในกลุ่ม LGBTQ+ การวางแผนเพื่อส่งมอบทรัพย์สินให้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ญาตินั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่ได้รับรองสถานะการสมรสของคู่เพศเดียวกัน ทำให้ขาดสิทธิในการรับมรดกตามกฎหมาย ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้การส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่ชีวิตได้อย่างราบรื่นตามความประสงค์ ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
1. ระบุชื่อคู่ชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์
วิธีที่ง่ายที่สุดคือระบุชื่อคู่ชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยไม่ต้องระบุความสัมพันธ์ เพียงแจ้งชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของคู่ชีวิตให้กับบริษัทประกันได้ทราบ
2. ระบุความสัมพันธ์ในกรมธรรม์
บางบริษัทประกันอาจอนุญาตให้ระบุความสัมพันธ์ของผู้รับผลประโยชน์ว่าเป็น "คู่ชีวิต" ในกรมธรรม์ได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการตีความในภายหลัง และทำให้การส่งมอบทรัพย์สินเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย
3. ทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรมเป็นวิธีที่ช่วยให้การกำหนดชื่อผู้รับทรัพย์สินเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ระบุชื่อคู่ชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์ประกัน ทั้งนี้ ควรปรับพินัยกรรมให้เป็นปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพหรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ การทำพินัยกรรมมี 2 แบบด้วยกัน คือ
3.1 เขียนเองด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ โดยสิ่งที่ต้องระบุให้ชัดเจน มีดังนี้
- วันที่ เดือน ปี ที่จัดทำพินัยกรรม
- ชื่อ-นามสกุลของผู้ทำพินัยกรรม สถานภาพ และที่อยู่อย่างถูกต้องครบถ้วน
- หากมีรอยแก้ไขต้องเซ็นกำกับพร้อมลงวันที่ที่แก้ไขด้วย มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นโมฆะ
- ระบุชื่อ-นามสกุล ของผู้รับผลประโยชน์อย่างชัดเจน
- ระบุความสัมพันธ์ว่าเป็น "คู่ชีวิต" หรือ "คู่รัก" เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างชัดเจน
- ลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมโดยผู้ทำพินัยกรรมเอง
โดยพินัยกรรมประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้ แต่ควรมีผู้รับรู้ไว้ด้วยว่ามีพินัยกรรมฉบับนี้ เพราะหากเสียชีวิตจะช่วยให้การส่งมอบทรัพย์สินเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั่นเอง
3.2 พินัยกรรมที่ทำโดยมีต้องมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน
โดยผู้ที่เป็นพยานนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ตาบอด หรือหูหนวก เนื่องจากต้องเห็นและได้ยินผู้ทำพินัยกรรมสั่งการ
โดยพยานทั้ง 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นพยานในพินัยกรรมฉบับนั้น โดยพยานควรเขียนข้อความว่า "ข้าพเจ้าได้เป็นพยานในการทำพินัยกรรมนี้แล้ว" และลงลายมือชื่อกำกับ และต้องกระทำในขณะเดียวกันกับผู้ทำพินัยกรรมในสถานที่เดียวกันด้วย เพื่อรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะทำพินัยกรรม
แต่มีข้อควรระวัง คือ ห้ามให้คู่ชีวิตที่จะให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ประกัน
เซ็นเป็นพยานเด็ดขาด เพราะคนที่เป็นพยานจะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดกนั่นเอง
ประกันชีวิตของ LGBTQ+ ช่วยลดหย่อนภาษีได้ไหม
คำตอบคือ “ได้” โดยคู่รัก LGBTQ+ สามารถระบุชื่อ “คู่ชีวิต” เป็นผู้รับผลประโยชน์
ประกัน แล้วเอาเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดกับกรมสรรพากร หรือบริษัทประกันชีวิตโดยตรง
บัตรเครดิต KTC เข้าใจในความหลากหลายทางเพศและสนับสนุนความเท่าเทียม พร้อมเติมเต็มความรัก และมอบสิทธิพิเศษมากมาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ให้กับชาว LGBTQ+ เช่น ประกันอุบัติเหตุการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ โดยสามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชม.
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC