“เงินก้อน” เป็นเงินที่ใครได้ยินก็ต้องตาลุกวาว พี่เบิ้มก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ว่าจะได้จากงานประจำ โปรเจ็กต์พิเศษ หรือจากคนใกล้ชิด ก็ล้วนแต่สร้างความสุข แต่ทุกข์ของคนมีเงินคือไม่รู้จะเอาเงินไปใช้อย่างไรถึงจะคุ้มค่าท่ามกลางเศรษฐกิจค่าเงินเฟ้อสูงปรี๊ดขนาดนี้ ทำให้เราต้องมานั่งคิดว่าจะเอาเงินก้อนของเราไปใช้หนี้ เก็บออม หรือลงทุนดี ใครที่กำลังคิดมากเรื่องนี้ พี่เบิ้มมีคำตอบมาให้ครับ
สำรวจทุกบัญชี เรามีเงินออมฉุกเฉินหรือยัง?
ไม่ว่าจะเอาเงินไปใช้หนี้หรือเอาเงินไปลงทุน สิ่งแรกที่พี่เบิ้มอยากจะให้ทุกคนทำก็คือการสำรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองว่าดีแค่ไหน และที่สำคัญเราต้องมี “เงินออมฉุกเฉิน” ติดเอาไว้ก่อนจะนำไปใช้หนี้หรือลงทุน
เงินออมฉุกเฉิน เป็นเงินออมที่เราทุกคนควรเตรียมเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันในยามที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างค่ารักษาพยาบาล รถเสีย ปั๊มน้ำพัง หลังคารั่ว หรือแม้กระทั่งเรื่องโรคระบาด เราจึงควรมีเงินส่วนนี้สำรองไว้ก่อนจะไปใช้หนี้หรือลงทุนใด ๆ ก็ตาม
คำถามต่อมาก็คือ เราต้องเตรียมเท่าไรถึงจะพอ?
ขั้นแรก พี่เบิ้มอยากให้ทุกคนไล่เลียงก่อนว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนมลูก ค่ากับข้าว และของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งหมดเป็นจำนวนเงินที่เราจำเป็นต้องใช้ในแต่ละเดือน
ขั้นที่สอง ตรวจดูความเสี่ยงของตัวเอง พี่เบิ้มขอบอกว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงในชีวิตไม่เท่ากัน แต่หากเสี่ยงมากพี่เบิ้มอยากให้สำรองไว้มากหน่อย เสี่ยงน้อยก็อาจจะลดเพดานการสำรองเงินฉุกเฉินได้ตามลำดับ
ฮั่นแน่ ตอนนี้ทุกคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่าใครเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย จะได้สบายใจและรู้ว่าควรนำเงินไปใช้หนี้หรือลงทุนกัน
คนที่การเงินจัดว่าอยู่ในภาวะที่เสี่ยงมาก คือ ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ หรือรับจ้างทั่วไป หัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่เป็นเสาหลักในการหาเงินเข้าบ้าน และรวมถึงกลุ่มคนที่ทำอาชีพเสี่ยงอันตราย หรือเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย คนกลุ่มนี้ให้จัดเงินออมฉุกเฉินไปเต็ม ๆ จุก ๆ อย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่า 6 เดือนได้ยิ่งดี ส่วนคนที่เสี่ยงน้อย เช่น พนักงานเอกชนในบริษัทที่มั่นคง ข้าราชการ ที่มีสวัสดิการดีพร้อม อย่างน้อยต้องมี 3 - 6 เดือนเอาไว้รองบัญชีแบบอุ่นใจ
เงินก้อนที่มีเรามี โปะหนี้หมดทั้งก้อนได้หรือไม่
ถ้าเงินก้อนที่เราได้มานั้นมีมากพอให้เราสามารถโปะหนี้ได้ทั้งหมด พี่เบิ้มแนะนำให้โปะไปเลยครับ ไม่ต้องลังเลว่าจะใช้หนี้หรือลงทุนก่อนดี แต่หากว่าใครมีหนี้หลายก้อน ดอกเบี้ยบานหลายจุด อันนี้ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าควรจะโปะก้อนไหน แต่พี่เบิ้มจะขอแนะนำดังนี้ครับ
อันดับแรก ให้เราเอาสัญญากู้ยืมเงินมากางให้เห็นจะ ๆ กันไปเลยว่า หนี้ก้อนไหนดอกเบี้ยแพงที่สุด และโหดที่สุด อย่างหนี้นอกระบบ พี่เบิ้มแนะนำให้ไปจ่ายก่อนเลยครับ จากนั้นจึงค่อย ๆ ทยอยดูหนี้ในระบบอย่างหนี้บัตรเครดิต หนี้จำนำทะเบียนรถ ไปจนถึงหนี้การผ่อนบ้าน โดยไล่เลียงใช้หนี้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยที่แพงที่สุดก่อนครับ
อันดับที่สอง ดูที่การคิดอัตราดอกเบี้ย หากว่าเป็นดอกเบี้ยลดต้นลดดอก หรือยิ่งชำระหนี้ในส่วนที่เป็นเงินต้นมากเท่าไร ดอกเบี้ยก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น แต่หากว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ที่มีการคำนวณดอกเบี้ยเท่ากันทุกเดือน เราอาจจะต้องคิดคำนวณดี ๆ ก่อนตัดสินใจ เพราะการนำเงินไปใช้หนี้ก้อนอื่น ๆ ก่อนหรือลงทุนอาจจะคุ้มค่ากว่านั่นเอง
หากว่าใครสงสัยว่าควรจะนำเงินก้อนที่ได้ไปใช้หนี้ทั้งหมดเลยไหม หรือเก็บไว้ลงทุน หรือใช้ในชีวิตประจำวันดีกว่า ข้อนี้พี่เบิ้มว่าต้องคุยกันอีกยาว เพราะความจำเป็นของคนเรานั้นไม่เท่ากัน เอาที่ไม่ทำให้เดือดร้อนในชีวิตประจำวัน และพอฝันถึงวันข้างหน้าได้ พี่เบิ้มว่าก็น่าจะเพียงพอครับ
ใช้หนี้หรือลงทุน แบบไหนดีกว่ากัน?
พี่เบิ้มแนะนำให้มุ่งเป้าไปที่การชำระหนี้ก่อน โดยเฉพาะหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากแบบ ก.ไก่ หลายตัว เพราะโดยหลักการแล้ว เราจะใช้หนี้หรือลงทุนควรต้องเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกับผลตอบแทนจากการลงทุนว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน พูดแบบง่าย ๆ คือ ถ้าผลตอบแทนในการลงทุนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้เอาเงินไปลงทุน แต่หากว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าก็ให้เอาเงินไปจ่ายหนี้ดีกว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากก็ยิ่งเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มากู้เงินกับพี่เบิ้มแล้วมีเงินก้อน อยากจะปิดยอดเงินกู้ หรือโปะหนี้บางส่วน พี่เบิ้มยินดีมากครับที่จะบอกว่า เราไม่คิดค่าปรับการปิดสินเชื่อก่อนกำหนด เพื่อช่วยให้ทุกคนปลดภาระบนบ่าให้เบาลง และหากต้องการความช่วยเหลือเมื่อไร ก็สามารถติดต่อพี่เบิ้มได้ตลอดเวลา จะลงทะเบียนไว้ เพื่อให้พี่เบิ้มติดต่อกลับ หรือมาที่จุดบริการ KTC TOUCH ทุกสาขา หรือใช้บริการพี่เบิ้ม Delivery นัดพี่เบิ้มไปหาที่บ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน ยินดีให้บริการคร้าบ