เทคนิคการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัย รู้ไว้ก่อนเลือกช้อป
ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่มีสินค้าหลากหลาย ยังมีความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ เลือกซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา มีโปรโมชั่นและดีลส่วนลดให้เลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลายรูปแบบ แต่ยิ่งใช้งานง่ายใช้จ่ายสะดวกก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการโดนมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีหลอกไม่ส่งของ หรือแฮกช่องทางการชำระเงินจากบัตรเครดิต บัตรเดบิตได้เช่นกัน ซึ่ง KTC จะมาแนะนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Security tips เทคนิคซื้อของออนไลน์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ มาฝากกัน
7 วิธีช้อปออนไลน์ปลอดภัย อุ่นใจไม่ต้องกลัวโดนโกง
ช้อปออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตอย่างปลอดภัย
1.เลือกเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่ปลอดภัย
การเลือกเว็บไซต์ออนไลน์ที่มีความปลอดภัย ควรเลือกเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// บวกกับไอคอนรูปแม่กุญแจบริเวณด้านหน้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อแบบ Secure Sockets Layer (SSL) หรือ TLS (Transport Layer Security) คือเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และจากการเข้าถึงข้อมูลจากแฮกเกอร์ ซื้อของออนไลน์เว็บไหนดีถือเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย หากเลือกซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นควรเลือกจากแอปพลิเคชั่นที่น่าเชื่อถือ เช่น Lazada, Shopee, Shopat24, Topvalue เป็นต้น
2.เลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือ
เหตุผลในการเลือกร้านค้าออนไลน์คือเลือกร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ โดยดูจากยอดจำหน่ายว่ามีผู้เคยซื้อสินค้าจากร้านนี้มากน้อยแค่ไหน มีรีวิวไปในทิศทางไหน มีการจดทะเบียนพาณิชย์ของร้านค้าหรือไม่ ระยะเวลาในการเปิดกิจการ และควรหลีกเลี่ยงการซื้อผ่านเฟสบุ๊ก ไลน์ หรืออินสตาแกรมส่วนตัว ที่ไม่มีหน้าร้านเพราะอาจทำให้ถูกหลอกลวงได้
3.หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะระหว่างสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะ สามารถถ่ายเทข้อมูลได้ง่ายและมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ดังนั้นควรใช้อินเทอร์เน็ตมือถือหรือ Wi-Fi บ้านจะปลอดภัยมากกว่า
4.ควรหมั่นเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อย ๆ
รหัสผ่านในการเข้าใช้งานถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบัญชีสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่บางคนอาจผูกบัตรเครดิตไว้กับบัญชี เพื่อความสะดวกต่อการชำระเงิน แต่ก็ส่งผลต่อความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ดังนั้นควรหมั่นทำการเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมออาจจะทุก ๆ 30-60 วัน รวมถึงตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยากเข้าไว้ เพื่อป้องกันการโดนแฮกนั่นเอง
5.เก็บหลักฐานการชำระเงินให้ครบถ้วน
หลังจากสั่งซื้อสินค้าและทำการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ควรเก็บหลักฐานการชำระเงินให้ครบถ้วน โดยการแคปเจอร์หน้าจอการชำระเงิน รายชื่อผู้รับเงิน เลขบัญชี และธนาคารของผู้ขาย ประวัติการสนทนาในการซื้อขาย ชื่อร้านค้า เบอร์โทรติดต่อ หรือช่องทางติดต่ออื่น ๆ เผื่อกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงิน รวมถึงหลีกเลี่ยงการโอนชำระเงินผ่านบัญชีที่ไม่มีรายละเอียดของผู้รับ เช่น โอนผ่าน Wallet เป็นต้น เนื่องจากช่องทางเหล่านี้ทำให้ตามตัวผู้รับเงินได้ยากกว่าการโอนจ่ายผ่านธนาคาร
6.หมั่นตรวจสอบบิลบัตรเครดิตอยู่เสมอ
ผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์และชำระผ่านบัตรเครดิต ควรตรวจสอบยอดบิลบัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากพบค่าใช้จ่ายแปลกปลอมควรโทรแจ้งธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตรเครดิตทันที ซึ่งปัจจุบันการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทางด้านธนาคารเจ้าของบัตรฯ จะมีการส่งแจ้งเตือนมายังข้อความหรือแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ให้เราสามารถเช็คยอดใช้จ่ายหรือเช็คยอดบิลได้แบบเรียลไทม์
7.หลีกเลี่ยงการผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไว้กับแอปพลิเคชั่น
หลายคนที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ มักจะนิยมผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไว้กับช่องทางการชำระเงินของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น เพราะสามารถเลือกชำระเงินได้ง่ายสะดวกสบาย ไม่ต้องมานั่งใส่เลขบัตรเครดิตบ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการผู้บัตรฯไว้บนช่องทางการชำระเงินนั้นมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง
ให้ผู้ซื้อมั่นใจความปลอดภัยในการชำระเงินด้วย KTC GATEWAY…สมัครที่นี่
Security tips เทคนิคป้องกันข้อมูลส่วนตัวให้รั่วไหล
ป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานในหลาย ๆ ด้านทั้งการเรียน การทำงาน การทำธุรกรรมทางการเงิน การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นเพื่อป้องกันข้อมูลผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตให้มีความมั่นคงและปลอดภัยจากผู้ไม่หวังดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีแนวทางการในการปฏิบัติที่สามารถป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลและลดความเสี่ยงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ดังนี้
การตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก
การตั้งรหัสผ่านควรเลือกตั้งรหัสอย่างน้อย 8 ตัว และหลีกเลี่ยงหมายเลขวันเดือนปีเกิด ชื่อจริง ชื่อเล่น เบอร์โทรศัพท์หรือเลขตอง ซึ่งการตั้งรหัสผ่านที่ดีรหัสควรมีประมาณ 12 ตัว รวมถึงต้องมีตัวเลข อักขระหรือสัญลักษณ์พิเศษร่วมด้วย
ภัยจาก phishing
พิชชิ่ง คือหนึ่งในรูปแบบการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่พบเจอได้บ่อยในปัจจุบัน เช่น การปลอมแปลงจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อความต่าง ๆ ที่จะหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน เช่น อีเมลหรือข้อความที่อ้างว่ามาจากเว็บไซต์ธนาคาร เว็บไซต์สินค้าออนไลน์ หรือจากองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีป้องกันคือไม่ควรกดลิงก์ที่ถูกแนบมาโดยตรง ควรใช้วิธีการพิมพ์ผ่าน URL เว็บไซต์องค์กรที่อ้างอิงมาแทน
วิธีป้องกันการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้น
สิ่งสำคัญคือควรหมั่นตรวจสอบรายการในการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่อย่างเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินไปในการใช้งานเว็บไซต์ออนไลน์ ใช้ระบบป้องกันสูงสุดที่ทางเว็บไซต์มีเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล เช่น การยืนยันผ่านหมายเลข OTP หรือการยืนยันตัวตนจากช่องทางต่าง ๆ รวมถึงตรวจเช็คประวัติการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเช็คว่ามีผู้อื่นใช้งานด้วยหรือไม่ และล็อคเอาท์ทุกครั้งเมื่อไม่ได้มีการใช้งาน
การรู้เรื่องเกี่ยวกับ Security tips และการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัย ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่มีการทำธุรกรรมต่าง ๆ การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยิ่งควรรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและวิธีการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก : support.google
ธุรกิจออนไลน์คล่องตัวด้วยระบบชำระเงิน KTC GATEWAY…คลิกสมัครที่นี่