รวมสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องรู้
กองทุนประกันสังคม เป็นคำที่มนุษย์เงินเดือนในฐานะบลูกจ้างหรือประกันสังคมมาตรา 33 ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นอีกหนึ่งรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ส่วนใหญ่ทราบกันดีว่าสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามสถานพยาบาลที่เลือกไว้ แต่ถึงอย่างนั้นมีหลายคนที่ไม่รู้ว่าสิทธิประกันสังคมอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้มีอะไรบ้าง รวมถึงประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่ วันนี้เราจะมาอัปเดตสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 พร้อมวิธีเช็คสิทธิประโยชน์แบบง่าย ๆ กัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ประกันสังคม มาตรา 33 คืออะไร
เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างในสถานประกอบการ โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันเข้าทำงาน อย่างพนักงานออฟฟิศ พนักงานบริษัทเอกชน ถือเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคมที่นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้าง ทั้งนี้กรณีเป็นคนต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33 ต้องมีใบอนุญาตทำงาน มีบัตรประจำตัวที่กรมการปกครองออกให้ หรือมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
ประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่
สำหรับอัตราเงินประกันสังคม มาตรา 33 ที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน มีวิธีคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ดังนี้
- ลูกจ้างหรือประกันสังคมมาตรา 33 ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เท่ากับว่าเงินที่จ่ายสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมขั้นต่ำอยู่ที่ 82.5 บาทต่อเดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% เท่ากับลูกจ้าง
- รัฐบาล ร่วมจ่ายสมทบในอัตรา 2.75% ของฐานเงินเดือนค่าจ้าง
ตัวอย่างการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33
ประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบได้ที่ไหน
ตามที่ทราบกันดีว่า การชำระเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 บริษัทจะเป็นผู้หักจากเงินเดือนของลูกจ้างและนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
1. สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ
2. ชำระเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะทำการหักบัญชีบริษัท และโอนเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแบบออนไลน์
วิธีสมัครประกันสังคมมาตรา 33
สำหรับพนักงานเอกชนหรือลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง แล้วต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่ไม่รู้สมัครผ่านช่องทางไหนดี ? คำตอบคือ นายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับพนักงานและลูกจ้างเองภายใน 30 วัน ดังนั้นผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม
ประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้าง
สิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมมาตรา 33 จะได้รับจากการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนต่อเนื่อง ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 กรณี ดังนี้
(1) กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ฟรี ทั้งเจ็บป่วยปกติและฉุกเฉิน โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย แต่กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง (นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) รวมทั้งเบิกค่ารักษาได้ตามที่จ่ายจริง แต่จำกัดวงเงินต่างกันไปตามการรักษา นอกจากนี้หากแพทย์ให้หยุดงานเพื่อรักษาตัว ผู้ประกันตนยังได้รับเงินชดเชยจากการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน รวมทั้งกรณีตรวจสุขภาพประจำปี และทำฟัน ที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท
(2) กรณีคลอดบุตร
- ผู้ประกันตนหญิงสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งค่าตรวจ-รับฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) สำหรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง
- ผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาคลอดบุตร สามารถเบิกได้เพียงค่าคลอดบุตร 15,000 บาทต่อครั้ง
แต่กรณีที่ทั้งสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตน ให้เลือกใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรหรือครั้งในการเบิก
(3) กรณีทุพพลภาพ
เงินทดแทนการขาดรายได้เป็นสิทธิประโยชน์ที่ได้รับกรณีทำงานไม่ได้
หากผู้ประกันตนมาตรา 33 สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ จนเป็นผู้ทุพพลภาพและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิต รวมทั้งได้รับสิทธิเบิกจ่ายตามจริงเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ หากรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน กองทุนประกันสังคมจะได้รับค่าบริการทางแพทย์สูงสุด เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท กรณีเป็นผู้ป่วยนอก ส่วนกรณีเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยในได้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งนี้เมื่อชราภาพแล้วผู้ทุพพลภาพยังคงได้รับสิทธิบำเหน็จชราภาพเหมือนคนทั่วไป หากเสียชีวิต ผู้จัดการศพหรือทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต รวมทั้งค่าทำศพ 50,000 บาท
(4) กรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตนที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือนต่อคน สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย คราวละไม่เกิน 3 คน
บัตรเครดิต ช่วยจัดสรรการเงินวัยทำงานได้อย่างลงตัว
(5) กรณีว่างงาน
ประกันสังคมมาตรา 33 ว่างงาน หากดำเนินการลงทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th/login.do หลังจากลาออกเพื่อขอรับเงินชดเชยเป็นที่เรียบร้อย ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชยโอนเข้าบัญชีภายใน 5-7 วันทำการ (ไม่รวมเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ) นับจากวันที่ได้รับการอนุมัติและรายงานตัว สำหรับเงินทดแทนว่างงานถูกคิดจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน และฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- กรณีลาออกเอง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
(6) กรณีชราภาพ
ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินชราภาพเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- เงินบำเหน็จชราภาพ คือ การจ่ายเงินให้ก้อนเดียว สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- เงินบำนาญชราภาพ คือ การจ่ายเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต สำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน)
(7) กรณีเสียชีวิต
ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ตามระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
- เงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายให้แก่ทายาทตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ประกันสังคมมาตรา 33 สิ้นสุดลงเมื่อใด
สถานะประกันสังคมมาตรา 33 จะสิ้นสุดลง เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิตหรือลาออกจากงาน แต่ถึงลาออกจากงานประจำและไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ก็ไม่ได้ทำให้สถานะผู้ประกันตน มาตรา 33 สิ้นสุด ทั้งยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิตได้ต่ออีก 6 เดือน แต่ถ้าพ้น 6 เดือนแล้วผู้ประกันตนยังไม่ได้เริ่มทำงานกับบริษัทใหม่ อาจเลือกสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ต่อ เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม
เช็คเงินประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงสถานะผ่านช่องทางไหน
ปัจจุบันผู้ประกันตนทุกมาตราสามารถเช็คสิทธิประกันสังคม ด้วยเลขบัตรประชาชน ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
เว็บไซต์ www.sso.go.th ประกันสังคม
เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ภาพจาก www.sso.go.th
เพียงผู้ประกันตน มาตรา 33 กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านตามที่มีการลงทะเบียนไว้ จากนั้นคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ” หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ประกันสังคมจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตนทั้งหมด โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ได้เลย
แอปพลิเคชัน SSO Connect
หลังผู้ประกันตนทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SSO Connect เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้กรอกเลขบัตรประชาชนพร้อมรหัสผ่าน และคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ (Login) ซึ่งแอปพลิเคชันประกันสังคม SSO Connect จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน เช่น ชื่อและนามสกุล โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ยอดเงินสมทบชราภาพ และสิทธิทำฟันประกันสังคม ทั้งนี้ผู้ประกันสามารถเลือกเช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ที่ต้องการทราบได้เลย
แอปพลิเคชัน LINE สำนักงานประกันสังคม
LINE สำนักงานประกันสังคม
สำหรับแอปพลิเคชัน LINE ประกันสังคม ถือเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถใช้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ ทั้งยอดเงินสมทบชราภาพ เงินสมทบผู้ประกันตน การเบิกสิทธิประโยชน์ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลตามสิทธิ เพียงค้นหา @ssothai แล้วเพิ่มเพื่อน จากนั้นกด "ลงทะเบียนรับสิทธิแจ้งเตือน" ที่มุมล่างขวามือของ LINE สำนักงานประกันสังคม เพียงเท่านี้ก็สามารถสิทธิประโยชน์ได้ตามความต้องการ
จะเห็นได้ว่า สิทธิประกันสังคม เป็นหลักประกันชีวิตขั้นพื้นฐานที่ช่วยคุ้มครองผู้ประกันตน มาตรา 33 ทั้งด้านการทำงานและดำรงชีวิต ในยามเจ็บป่วย คลอดบุตร พิการ เสียชีวิต หรือแม้แต่ชราภาพ ฉะนั้นถ้าต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องส่งเงินสมทบให้ครบตามเงื่อนไข
แต่ถึงอย่างนั้นชาวออฟฟิศควรเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินไว้เพิ่มเติม ด้วยการสมัครบัตรเครดิตไอเทมติดกระเป๋าที่มาพร้อมเครดิตเงินคืน คะแนนบัตรเครดิต และโปรโมชั่นผ่อน 0% สิทธิพิเศษที่ช่วยให้ผู้ถือบัตรฯ สามารถเลือกซื้อสินค้ามูลค่าสูงได้ทันทีแล้วค่อยผ่อนชำระเงินคืนทีหลังแบบไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนหนักเกินไป รวมถึงการสมัครบัตรกดเงินสด ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เปรียบเสมือนวงเงินสำรองยามฉุกเฉินที่สามารถกดเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ตามความต้องการทันที ส่วนประกันสังคม มาตรา 39 กับ 40 ที่สนใจทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดก็สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน เพียงมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข มีเอกสารยืนยันตัวตน และเอกสารแสดงความมั่นคงทางรายได้ตรงตามที่สถาบันการเงินกำหนด การทำผลิตภัณฑ์การเงินติดตัวไว้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม
เสริมสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน ผ่านบัตรเครดิต KTC
ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี