การลงทุนในทองคำเป็นทางเลือกยอดนิยมที่นักลงทุนหลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมีมูลค่าที่มั่นคง และเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อหรือวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ดี แต่นอกจากจะต้องคำนึงถึงราคาซื้อขายทองในตลาดแล้ว ยังต้องทราบถึง “ค่ากำเหน็จ” และ “ค่าบล็อกทองคำแท่ง” ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเมื่อซื้อขายทอง แต่ค่าธรรมเนียมทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างไร บทความนี้รวมคำตอบมาให้แล้ว
KEY TAKEAWAY
- ค่ากำเหน็จ คือเงินที่เราจ่ายเพิ่มเข้าไปเมื่อซื้อทองรูปพรรณ หรือเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ
- โดยปกติค่ากำเหน็จจะอยู่ที่ประมาณ 600-1,200 บาท ต่อน้ำหนักทอง 1 บาท
- ค่าบล็อก คือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นเมื่อซื้อขายทองคำแท่งที่มีน้ำหนักน้อย และมีลวดลาย
- ทองคำแท่งที่ไม่ต้องจ่ายค่าบล็อกมักเป็นทองคำแท่งแบบเรียบ หรือทองคำแท่งที่ไม่มีลวดลายใด ๆ ตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ค่ากำเหน็จ คืออะไร
ค่ากำเหน็จ คือ เงินที่เราจ่ายเพิ่มเข้าไปเมื่อซื้อทองรูปพรรณ เช่น แหวน กำไล สร้อยคอ หรือเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ โดยเงินส่วนนี้ไม่ได้เป็นค่าทองคำล้วน ๆ แต่เรียกได้ว่าเป็นค่าฝีมือ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกระบวนการผลิตทองรูปพรรณทั้งหมด
โดยเมื่อซื้อทองรูปพรรณ เราจะจ่ายค่าทองคำตามราคาทองคำในตลาด และบวกค่ากำเหน็จเพิ่มเติม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่ครอบคลุมต้นทุนการผลิตทองให้ได้มาตรฐาน รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการผลิตทองคำเป็นรูปทรงต่าง ๆ
ตัวอย่างการคำนวณค่ากำเหน็จ
การคำนวณค่ากำเหน็จเป็นการนำค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มเติมจากราคาทองคำมาคิดรวมเป็นราคาเต็มที่ต้องจ่ายเมื่อเราซื้อทองคำรูปพรรณ โดยค่ากำเหน็จนี้มักจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับร้านทอง รูปแบบของทอง หรือความซับซ้อนในการผลิตชิ้นงาน แต่ค่ากำเหน็จจะคิดเป็นจำนวนเงินคงที่ต่อน้ำหนักทองคำรูปพรรณแต่ละชิ้น ซึ่งแยกออกจากราคาทองที่อ้างอิงตามราคาตลาด โดยใช้สูตรดังนี้
ราคาที่ต้องจ่ายทั้งหมด = (ราคาทองคำ x น้ำหนักทองคำ) + ค่ากำเหน็จ
- ราคาที่ต้องจ่ายทั้งหมด คือราคาทองรวมค่ากำเหน็จ
- ราคาทองคำ คือราคาต่อบาททอง (หน่วยทอง) ที่อ้างอิงตามราคาตลาดในแต่ละวัน
- น้ำหนักทอง คือจำนวนทองคำที่ต้องการซื้อ (หน่วยเป็นบาททอง)
- ค่ากำเหน็จ คือค่าธรรมเนียมการผลิตที่ร้านทองเรียกเก็บเพิ่มเติม โดยปกติค่ากำเหน็จจะอยู่ที่ประมาณ 600-1,200 บาท ต่อน้ำหนักทอง 1 บาท
ตัวอย่าง: สมมติว่าเราต้องการซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคาทองคำวันนี้ บาทละ 40,000 บาท และร้านทองคิดค่ากำเหน็จทอง 1 บาท ราคา 600 บาท
- ราคาทองคำรวม = 40,000 บาท x 2 บาท = 80,000 บาท
- ค่ากำเหน็จ = 600 บาท x 2 บาท = 1,200 บาท
- ราคาที่ต้องจ่ายทั้งหมด = 80,000 บาท + 1,200 บาท = 81,200 บาท
ดังนั้น ราคาที่เราต้องจ่ายทั้งหมดสำหรับสร้อยคอทองคำนี้คือ 81,200 บาท
ค่าบล็อก คืออะไร ต่างจากค่ากำเหน็จหรือไม่
ค่าบล็อก คือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นเมื่อซื้อขายทองคำแท่ง โดยเฉพาะทองคำแท่งที่มีน้ำหนักน้อย และมีลวดลายต่าง ๆ บนผิวทอง ซึ่งแตกต่างจากค่ากำเหน็จที่เกิดขึ้นกับทองรูปพรรณ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือค่าหลอมนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วทองคำแท่งที่ไม่ต้องจ่ายค่าบล็อกมักเป็นทองคำแท่งแบบเรียบ (Plain Gold Bar) หรือทองคำแท่งที่ไม่มีลวดลายใด ๆ ตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการหลอม ตัดชิ้น หรือพิมพ์ลายเพิ่มเติม ในขณะที่ทองคำแท่งปั๊มโลโก้จะต้องเสียค่าบล็อกไม่ว่าจะซื้อกี่บาทก็ตาม
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจจะลงทุนทอง แล้วกำลังสงสัยว่ามือใหม่ควรลงทุนอะไรดี แนะนำให้เลือกลงทุนในทองคำแท่งแบบเรียบ เพราะค่าบล็อกไม่เกี่ยวข้องกับมูลค่าทองคำในตลาดโดยตรง ทำให้ราคาที่ต้องจ่ายถูกกว่าเมื่อเทียบกับทองคำแท่งที่มีการประทับลวดลายพิเศษ
ประเภทของทองรูปพรรณ และทองแท่งที่ควรรู้จัก
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าจริง ๆ แล้วทองคำมีกี่ประเภท แล้วทองรูปพรรณ และทองแท่งแตกต่างกันอย่างไร ตามมาดูกันเลย
ทองรูปพรรณ
ทองรูปพรรณ คือทองคำที่ต้องเสียค่ากำเหน็จหลังซื้อทอง เนื่องจากถูกนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ แหวน กำไล และต่างหู ซึ่งมีความบริสุทธิ์หลายระดับที่นิยมในประเทศไทยและทั่วโลก ดังนี้
- ทองรูปพรรณความบริสุทธิ์ 96.5%: ทองคำชนิดนี้มีส่วนผสมของทองคำแท้ 96.5% ผสมกับโลหะอื่น ๆ อีก 3.5% เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทาน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีลักษณะเป็นสีเหลืองเข้ม มีความแข็งแรงพอสมควร ทำให้สามารถออกแบบเป็นเครื่องประดับที่มีรายละเอียดได้มากขึ้น เหมาะสำหรับการสวมใส่เป็นเครื่องประดับและการลงทุน เพราะมีความทนทานและราคาไม่สูงมากนัก
- ทองรูปพรรณความบริสุทธิ์ 99.99%: ทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% หรือที่เรียกว่าทองคำ 24K เป็นทองคำที่เกือบจะบริสุทธิ์ที่สุด นิยมในระดับสากลและมักใช้ในงานสะสมหรือในเครื่องประดับที่ต้องการความเงางามพิเศษ แต่เนื่องจากมีความนิ่มมาก จึงต้องระมัดระวังในการใช้งาน และอาจไม่ทนทานต่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวันเหมือนทอง 96.5%
ทองคำแท่ง
ทองคำแท่ง คือทองคำที่อยู่ในรูปของแท่ง มีขนาดและน้ำหนักที่แตกต่างกันไป นิยมใช้เพื่อการลงทุนหรือสะสม โดยทั่วไป ทองคำแท่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
- ทองแท่งหลอมเบ้า (Casting หรือ Cast Bar): ทองแท่งประเภทนี้ทำโดยการหลอมทองคำลงในเบ้าหล่อที่เป็นแม่พิมพ์ เพื่อให้ได้รูปร่างเป็นแท่ง ซึ่งเป็นการหล่อแบบดั้งเดิม ทองที่ได้จะมีผิวขรุขระ ไม่เรียบเนียนเท่าทองแท่งแบบรีดแผ่น แต่มีจุดเด่นที่สามารถผลิตได้ขนาดใหญ่และต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากกระบวนการผลิตง่ายกว่า จึงราคาถูกกว่าทองแท่งแบบรีดแผ่น เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว
- ทองแท่งแบบรีดแผ่น (Stamping หรือ Minted Bar): ทองแท่งประเภทนี้ใช้กระบวนการรีด แล้วนำไปปั๊มให้มีรูปร่างเป็นแท่ง ผิวหน้าจะเรียบและเงางาม มีตราประทับของผู้ผลิตและน้ำหนักที่ชัดเจน มักจะมีขนาดเล็กและเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนที่ต้องการซื้อขายทองแท่งในปริมาณที่แน่นอน แต่จะมีราคาแพงกว่าทองแท่งหลอมเบ้า เนื่องจากกระบวนการผลิตซับซ้อนกว่า
ค่ากําเหน็จ กุญแจสำคัญในการเลือกซื้อทอง
ค่ากำเหน็จเป็นปัจจัยสำคัญที่เราควรพิจารณาในการเลือกซื้อทองรูปพรรณ การเข้าใจค่ากำเหน็จจะช่วยให้เราเลือกซื้อทองได้อย่างคุ้มค่า ตรงตามความต้องการ และวางแผนงบประมาณในการซื้อทองได้อย่างแม่นยำ หากคุณกำลังวางแผนการลงทุน และต้องการความมั่นคงด้านการเงินในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอในการจับจ่ายใช้สอย หรือไม่พอลงทุนทำธุรกิจตามที่ตั้งใจ
ขอแนะนำ บัตรกดเงินสด KTC PROUD อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นวงเงินสำรองที่สะดวกในการใช้แล้ว ยังเป็นตัวช่วยในการจัดการภาระค่าใช้จ่ายในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การวางแผนทางการเงินราบรื่น สมัครง่าย รู้ผลไว ไม่ต้องใช้คนค้ำ
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
วางแผนการเงินอย่างรอบคอบด้วยบัตรกดเงินสด KTC PROUD