สรุปครบ ภาษี Cryptocurrency คิดคำนวณอย่างไร
ภาษีคริปโตกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกลับนำมาพูดถึงอีกครั้ง หลังกรมสรรพากรประกาศให้ผู้ที่มีเงินได้จากการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป เพราะกำไรที่ได้รับถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ของประมวลรัษฎากร ก่อให้เกิดการถกเถียงของนักลงทุนเหรียญดิจิทัลเป็นอย่างมาก และวันนี้เราจะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกันว่า คริปโทเคอร์เรนซี คืออะไร มีวิธีคำนวณกำไรจาก Cryptocurrency อย่างไร
Cryptocurrency คืออะไร มีสกุลเงินใดบ้าง
สำหรับ Cryptocurrency เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ไม่มีรูปร่างและสามารถจับต้องไม่ได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญ แต่หลายฝ่ายมองว่าในอนาคตเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน และนอกจากเหรียญคริปโตแล้ว ยังมีเหรียญอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Bitcoin, Ethereum, Litecoin, Bitcoin Cash, Ripple, Binance Coin, Cardano, Ripple (XRP) หรือ Dogecoin เป็นต้น
รู้ไว้ นักเทรด Crypto ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีนั้น เป็นไปตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561ซึ่งระบุชัดเจนว่า "สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นอกจากนี้ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมประมวลกฎหมายรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนคริปโตเฉพาะในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) นั่นเท่ากับว่า หากคุณมีรายได้หรือกำไรจากคริปโทเคอร์เรนซีต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยภาษีที่ต้องชำระแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
(1) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยหักในอัตรา 15% ของกำไรที่ได้
(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เมื่อการลงทุนในคริปโตสร้างผลกำไรหรือเงินปันผล ย่อมถือเป็นรายได้ประจำปีที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) โดยกำไรและเงินปันผลจากการลงทุนคริปโตถูกจัดอยู่ในกลุ่มเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ของประมวลรัษฎากร ในหมวดเดียวกับกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ยเงินปันผลนั่นเอง
สมัครบัตรเครดิตอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการใช้จ่าย…กรอกข้อมูลที่นี่
ลงทุน Cryptocurrency ต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่
เมื่อพิจารณาตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่านักลงทุนเหรียญคริปโตต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ใน 2 กรณี
กรณีขายเหรียญแล้วได้กำไร
เมื่อขายเหรียญได้ในราคาสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา นักลงทุนไม่ได้กำไรจากการขายเหรียญก้อนนั้นเต็ม ๆ เพราะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของกำไรที่ได้ทันที เช่น ขายคริปโตได้กำไร 25,000 บาท ถูกหัก ณ ที่จ่าย 3,750 บาท นักลงทุนจึงได้รับเงินเพียง 21,250 บาท
กรณีถือหรือครอบครองเหรียญแล้วได้รับผลประโยชน์ส่วนเกิน
สำหรับกรณีนี้นักลงทุนที่ถือครองเหรียญดิจิทัลแม้ไม่ได้ซื้อ-ขายเหรียญเพื่อทำกำไร แต่ถ้าได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์จากเหรียญดังกล่าว เงินปันผลส่วนนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% เช่นกัน
วิธีคำนวณภาษีคริปโต
เบื้องต้นมีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีของกรมสรรพากรให้นำเฉพาะกำไรที่ได้จากการเทรดคริปโตเป็นรายครั้งที่ทำธุรกรรมมาก่อนสรุปรวมกันทั้งปียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) เพราะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ตามประมวลรัษฎากร แม้ไม่มีการถอนเงินออกจากพอร์ตก็ตาม โดยมีวิธีคิดภาษีดังนี้
ตัวอย่าง
นาย A ดำเนินการซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุลเงินต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง ในปี 2564 ปรากฎว่า ขาดทุนไป 153,000 บาท และได้กำไรรวม 230,000 บาท แต่เวลายื่นภาษีให้นำเฉพาะกำไร 230,000 บาท ไปคำนวณภาษี เพราะกฎหมายระบุให้เก็บภาษีเฉพาะส่วนกำไร แต่ไม่ได้ระบุให้นำผลขาดทุนมาหักลบได้นั่นเอง
วิธีกรอกแบบการยื่นภาษีคริปโต
(1) เข้าเว็บไซต์ efiling.rd.go.th ของกรมสรรพากร แล้วคลิกเลือก "ยื่นแบบออนไลน์" จากนั้นกรอกข้อมูลและรหัสผ่าน เพื่อเข้าสู่ระบบ
(2) สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี (ยื่นช่วงเดือนมกราคม-เมษายน) ให้เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 โดยกด "ยื่นแบบ" ที่ต้องการยื่นแบบภาษีครึ่งปี (ยื่นช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน) ให้เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
(3) ในหน้า "กรอกเงินได้" มีหัวข้อ รายได้จากการลงทุน "ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จากคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน (มาตรา 40(4))" คลิก ระบุข้อมูล
(4) หลังจากกด "ระบุข้อมูล" แล้ว จะต้องนำข้อมูลมากรอกตรงส่วนถัดไป โดยเลือกประเภทธุรกิจเป็น "เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล" ตรงส่วนนี้ให้กรอก "เงินได้ทั้งหมด" คือ นำกำไรและผลประโยชน์ที่ได้จากคริปโตทุกรายการมารวมมูลค่ากัน แล้วกรอกเป็นตัวเลขรวม ไม่ต้องแยกทีละรายการ
แม้ดูว่าการยื่นภาษีคริปโตไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็สร้างความสับสนกับนักลงทุนหรือนักเทรดได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะต้องคอยคำนวณผลการซื้อขายว่าได้กำไรหรือขาดทุน เพื่อนำกำไรที่ได้จากการลงทุนมาใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถูกต้องป้องกันการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง และปัญหาอีกอย่างนั่นคือต้องรอความชัดเจนทางจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับการคำนวณภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี รวมทั้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ สุดท้ายนักลงทุนต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ด้วย พร้อมติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันตามสถานการณ์
อ้างอิงข้อมูล : ประมวลกฎหมายรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561, กรมสรรพากร
สมัครบัตรเครดิต เพื่อลดการใช้เงินก้อน มีเงินเหลือไปลงทุน
ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
สมัครบัตรกดเงินสด ตัวช่วยในยามเผชิญวิกฤต
เบิกถอนเงินสด แบ่งผ่อนชำระได้ทุกที่ทุกเวลา