อัปเดตเงินประกันสังคมที่ควรต้องรู้
ประกันสังคมเป็นสิทธิพื้นฐานที่พนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องได้รับ เพราะเป็นหนึ่งในสวัสดิการของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้มีรายได้ โดยผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินประกันสังคมให้แก่กองทุนประกันสังคมเป็นรายเดือนตามที่กำหนด ซึ่งเงินสมทบประกันสังคมมาจาก 3 ส่วน คือ ลูกจ้าง 5% นายจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% เพื่อรับสิทธิความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ประเภทผู้ประกันตนมีแบบไหนบ้าง?
สำหรับกลุ่มผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ไปจนถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่นายจ้างยังคงจ้างงานต่อ ทั้งผู้ที่ทำงานประจำหรือประกอบอาชีพอิสระก็สามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตราต่าง ๆ ได้ ทางประกันสังคมจึงมีแผนรองรับคนทำงานที่ต้องการเข้ารับสิทธิประกันสังคมหลายรูปแบบ แบ่งออกเป็น 3 มาตรา คือ ประกันสังคมมาตรา 33 ประกันสังคมมาตรา 39 และประกันสังคมมาตรา 40
รับสิทธิประกันสังคม
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33
สำหรับผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนกับนายจ้าง ทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมโดยการส่งเงินสมทบ โดยต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 5% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ทั้งผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกสถานพยาบาลที่เข้าใช้บริการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำกัดโรค จนสิ้นสุดการรักษา ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่
– กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
– กรณีคลอดบุตร
– กรณีสงเคราะห์บุตร
– กรณีทุพพลภาพ
– กรณีเสียชีวิต
– กรณีชราภาพ
– กรณีว่างงาน
2. ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ เป็นสิทธิสำหรับบุคคลที่เคยทำงานและเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน และออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง มีเงื่อนไขคือต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคมจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่
กรณีเจ็บป่วย
มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงทันตกรรมผู้ประกันตนสามารถทำฟันได้ในสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิประกันสังคมจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาทต่อครั้งต่อปี
เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย
เงินทดแทนการขาดรายได้สำหรับการหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในรอบหนึ่งปีจะจ่ายให้ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน โดยระบุโรคเรื้อรังไว้ 6 ชนิด คือ
- โรคมะเร็ง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเอดส์
- โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
- ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
- โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์
กรณีคลอดบุตร
ผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิคลอดบุตรต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่จะคลอด พร้อมรับสิทธิต่าง ๆ ดังนี้
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายไม่จำกัดจำนวนครั้ง เบิกได้ 13,000 บาทต่อครั้ง
- สำหรับผู้ประกันตนฝ่ายหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน
- ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
กรณีสงเคราะห์บุตร
การสงเคราะห์บุตรหรือค่าเลี้ยงดูบุตร ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนมีบุตรที่จะคลอด โดยบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือนต่อคน ครั้งละไม่เกิน 3 คน
กรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนจะทุพพลภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิในส่วนของค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ทุพพลภาพ ทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นจำนวนไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย ค่าอวัยวะเทียมและค่าอุปกรณ์ รวมถึงค่าพาหนะรับ – ส่งผู้ทุพพลภาพ 500 บาทต่อเดือน
กรณีเสียชีวิต
การใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 1 เดือนภายใน 6 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
กรณีชราภาพ
กรณีชราภาพผู้ประกันตนจะได้รับต่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม โดยจะได้รับดังนี้
- กรณีอายุครบ 55 ปี ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับบำเหน็จ
- กรณีอายุครบ 55 ปี ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป (15 ปี) จะได้รับบำนาญ
หากในกรณีที่ค่าจ้างเกินกว่า 15,000 บาทต่อเดือนและมีการส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แต่หากส่งเกิน 180 เดือน จะได้รับบำนาญเพิ่มปีละ 225 บาท
ผู้ประกันตนมาตรา 40
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ต้องการรับสิทธิประกันสังคม สามารถแบ่งความคุ้มครองตามเงินสมทบที่เลือกสมัคร ดังนี้
1. จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
2. จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ
3. จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 5 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ
- กรณีสงเคราะห์บุตร
โดยรายละเอียดสิทธิความคุ้มครองของผู้ประกันตนมาตรา 40 มีดังนี้
- การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องเข้ารับการรักษาในระบบบัตรทอง แต่หากต้องการรักษาในโรงพยาบาล เข้ารักษาได้แต่จะใช้สิทธิในการเบิกเงินทดแทน
- เงินชดเชยการขาดรายได้ จะได้รับในอัตราวันละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน และปีละไม่เกิน 90 วัน ตามสิทธิที่เลือกจ่ายเงินสมทบ
- กรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 ในการจ่ายเงินค่าสมทบ ส่วนทางเลือกที่ 3 สามารถเบิกได้ในอัตรา 50,000 บาท
- กรณีทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนเป็นระยะเวลา 15 ปี สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 ในการจ่ายเงินค่าสมทบ ส่วนทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินทดแทนตลอดชีวิต
- กรณีชราภาพ สำหรับทางเลือกที่ 2 จะมีการเก็บออมเงินไว้ 50 บาทจากเงินสมทบที่จ่ายเข้าระบบ 100 บาท นั้น ดังนั้นเมื่ออายุครบ 60 ปี ทางประกันสังคมจะคืนให้ทั้งก้อนพร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับ สำหรับทางเลือกที่ 3 เงินสมทบ 300 บาท จะมีการเก็บไว้เดือนละ 150 บาท และเมื่ออายุครบ 60 ปีจะมีการคืนเงินก้อนนั้นพร้อมดอกเบี้ย
สิทธิของประกันสังคมแต่ละมาตรามีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงินสมทบที่จ่ายและการเข้าระบบ ดังนั้นหากคุณเป็นพนักงานเงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมกว่า
ใช้จ่ายได้ทุกไลฟ์สไตล์กับบัตรเครดิต KTC
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมฉบับอัปเดต
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมล่าสุด
1.การรักษาพยาบาล
สำหรับผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถทำการเข้ารักษาพยาบาลฟรี ตามโรงพยาบาลที่เลือกรับสิทธิไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเป็นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเหนือจากที่เลือกไว้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายก่อนและทำเรื่องเบิกทีหลัง สำหรับค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท กรณีรักษาโรงพยาบาลเอกชน ต้องสำรองจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง รวมทั้งเบิกค่ารักษาได้ตามที่จ่ายจริง แต่มีการจำกัดวงเงินไปตามการรักษา
**หากแพทย์ให้หยุดงานเพื่อรักษาตัวจะได้รับเงินชดเชยจากการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน
ทั้งนี้ประกันสังคมได้เพิ่มการเข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ
- โรคมะเร็งเต้านม
- ก้อนเนื้อที่มดลูก
- โรคนิ่วในไต หรือถุงน้ำดี
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
สิทธิทันตกรรมฟรี
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันรักษา ใช้สิทธิด้านทันตกรรมข้างล่างนี้รวมกันไม่เกิน 900 บาทต่อปี อาทิ รักษาโรคฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรืออุดฟัน เป็นต้น
ตรวจสุขภาพฟรี
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รับสิทธิตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการต่อปี จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ
ฉีดวัคซีนฟรี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป กำหนดปีละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
วัคซีนรักษาไวรัสพิษสุนัขบ้า สิทธิประกันสังคมให้ความคุ้มครองในการรับไวรัสพิษสุนัขบ้าโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
เข็มแรก : กรณีฉุกเฉิน (หลังสัมผัสโรค) หากไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ได้ สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานพยาบาลอื่น โดยสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินพร้อมกับใบรับรองแพทย์ไปยื่นเรื่องเบิกเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคม ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท
เข็มต่อไป : เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ประกันตนไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ จะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้
ค่าคลอดบุตร
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร จะได้รับเงินสมทบค่าทำคลอดบุตรให้ครั้งละ 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
สงเคราะห์บุตร
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับเงินทดแทน จะได้รับเงินสมทบสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาทต่อบุตร 1 คน แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 3 คน โดยจะสิทธิจะสิ้นสุดเมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
ทุพพลภาพ
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 กรณีทุพพลภาพร้ายแรงจะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งได้รับสิทธิจ่ายตามจริงเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ
เงินชราภาพ
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 (เฉพาะแผน 2 และ 3) เมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินสมทบชราภาพได้ 2 รูปแบบ คือ
บำนาญชราภาพ : จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในกรณีจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 180 เดือน ได้ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากผู้ประกันตนจ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้ค่าสมทบรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก ๆ 12 เดือน
บำเหน็จชราภาพ : รับเงินก้อนครั้งเดียว ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะมีการจ่ายเงินบำเหน็จตามจริงซึ่งตรงกับจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเท่านั้น หากเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับในส่วนของเงินบำเหน็จทั้งในส่วนเงินของตัวเองและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ
ค่าทำศพ
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 -120 เดือน กรณีเสียชีวิตผู้ประกันตนจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท บวกกับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 120 เดือน จะได้รับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน
เงินว่างงาน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินชดเชยดังนี้
- กรณีที่ถูกเลิกจ้าง รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 180 วัน)
- กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน ได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 90 วัน)
ลดหย่อนภาษีเงินได้
เงินสบทบที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ตามการจ่ายจริง สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 9,000 บาท ในกรณีที่เงินสมทบประกันสังคม 750 บาทต่อเดือน
นอกจากการเป็นผู้ประกันตนในการรับสิทธิประกันสังคมตามมาตรต่าง ๆ ที่ช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายและเงินชดเชยที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับ อีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยให้คุณสามารถใช้จ่ายได้คล่องตัวและถือเป็นวงเงินยามฉุกเฉินคือการเลือกสมัครบัตรเครดิตหรือสมัครบัตรกดเงินสด เพื่อเป็นวงเงินสำรองในการใช้จ่ายยามฉุกเฉินเจ็บป่วย ไปจนถึงการเลือกซื้อสินค้าและชำระค่าบริการต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของโปรโมชั่น การรับคะแนนสะสม การเลือกผ่อนชำระ 0% พร้อมเลือกสมัครบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ในการใช้จ่ายได้อย่างลงตัว
สมัครบัตรเครดิต KTC พร้อมการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือน
ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี