แนะนำแนวทางผ่อนบ้านให้หมดเร็ว โปะบ้านแบบไหนดีกว่ากัน?
การได้ขึ้นบ้านใหม่เป็นความสุขของใครหลาย ๆ คน แต่ในขณะเดียวกันการซื้อบ้านหลังแรกก็จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าผ่อนบ้านรายเดือนไปอีก 10-20 ปีเช่นกัน หากคุณไม่ได้วางแผนการเงินอย่างรอบคอบอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง หรือไม่มีเงินทุนเหลือไปลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ได้ หลายคนจึงต้องการทราบว่าพอจะมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยทำให้หนี้บ้านลดลง และหนึ่งในวิธีนั้นก็คือ “การโปะบ้าน” นั่นเอง
แต่การโปะบ้านให้หมดเร็วไม่ว่าจะกู้ร่วมหรือกู้เดี่ยวควรทำอย่างไร เทคนิคดี ๆ ต่อไปนี้จะทำให้คุณหมดหนี้บ้านได้ไวขึ้น และลดระยะเวลาในการผ่อนลงไปได้อีกหลายปี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
การโปะบ้าน คืออะไร
โปะบ้าน คือการผ่อนชำระค่าบ้านเกินกว่าอัตราที่สถาบับทางการเงินกำหนด ทั้งนี้ต้องทราบก่อนว่าเงินที่เราผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดในแต่ละงวดจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือดอกเบี้ยกับเงินต้น และเนื่องจากการกู้บ้านเป็นการผ่อนแบบลดต้นลดดอก ดังนั้นยอดเงินในแต่ละเดือนที่เราจ่ายไปเมื่อหักดอกเบี้ยแล้ว เงินส่วนที่เหลือจะนำไปหักกับเงินต้น ทำให้มูลค่าเงินกู้คงเหลือลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงปีแรก ๆ ค่างวดที่เราต้องชำระโดยส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยเสียมากกว่า เนื่องจากยอดเงินกู้ยังคงสูง จึงถูกคิดดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย ดังนั้นการโปะบ้านจึงเป็นการที่เราพยายามจ่ายค่าผ่อนบ้านให้มากกว่ายอดเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ เพื่อนำเงินส่วนเกินที่จ่ายไปหักเงินต้นของค่าบ้านให้มากขึ้นเพื่อทำให้หนี้หมดเร็วขึ้นนั่นเอง
ข้อดีของการโปะบ้าน
ข้อดีของการโปะบ้าน คือจะทำให้ยอดเงินต้นของสินเชื่อบ้านลดลงเร็วกว่าคนที่ไม่เคยโปะเลย และยิ่งพยายามโปะบ้านบ่อย ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้ปิดงวดบ้านได้เร็วขึ้น หรือทำให้ดอกเบี้ยทั้งหมดที่คุณต้องจ่ายให้กับการกู้บ้านมีปริมาณที่น้อยกว่าคนที่เลือกที่จะไม่โปะบ้านเลยนั่นเอง
จ่ายงวดบ้าน โปะแบบไหนได้บ้าง
การผ่อนบ้านแบบโปะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางการเงินและเงื่อนไขของแต่ละบริษัทสินเชื่อ โดยเราจะขอแบ่งรูปแบบของการโปะบ้านออกเป็น 3 รูปแบบ เพื่ออธิบายให้ืุกคนเห็นความแตกต่างของการโปะหนี้บ้าน ดังต่อไปนี้
ไม่โปะบ้าน จ่ายตามค่างวดรายเดือน
ไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณเลือกที่จะไม่โปะบ้านเลย และเลือกจ่ายค่างวดรายเดือนเท่ากับยอดเงินที่ธนาคารกำหนดเอาไว้เท่านั้น แต่แน่นอนว่าระยะเวลาในการผ่อนก็จะเป็นไปตามตารางที่ธนาคารคำนวณให้ตั้งแต่วันแรกที่คุณตัดสินใจกู้บ้าน ซึ่งมันอาจจะยาวนานมากถึง 20-30 ปี และแน่นอนว่าการกู้เป็นระยะเวลานาน ย่อมทำให้ยอดหนี้รวมทั้งหมดที่คุณต้องจ่ายสูงมากขึ้นตามไปด้วย
โปะบ้านทุกเดือน
หากคุณเป็นคนบริหารเงินได้ดีในระดับหนึ่ง การแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในการโปะบ้านเป็นประจำในทุก ๆ เดือน จะช่วยทำให้หนี้ที่มีอยู่ลดน้อยลงได้เพราะเงินส่วนที่จ่ายเพิ่มจะไปหักกับเงินต้นโดยตรง และทำให้จ่ายหนี้บ้านหมดไวยิ่งขึ้นนั่นเอง
โปะบ้านเงินก้อนรายปี
สำหรับวิธีโปะงวดบ้านรายปีเหมาะสำหรับคนที่มีภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถโปะเงินเพิ่มเข้าไปในแต่ละเดือนได้ แต่ก็อาจจะมีโบนัสปลายปีที่คงเหลือมากเพียงพอ และการเอาเงินที่ได้นี้ไปใช้ในการโปะงวดบ้านก็สามารถลดเงินต้นได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่รวดเร็วเท่ากับการโปะบ้านในทุก ๆ เดือน
ตัวอย่างการคำนวณเงินโปะบ้าน
เพื่อให้คุณเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เราจะคำนวณเปรียบเทียบการโปะหนี้บ้านทั้ง 3 แบบให้คุณได้เห็นว่า แต่ละแบบมีผลทำให้ยอดเงินกู้โดยรวมลดลงได้มากแค่ไหน
กำหนดราคาบ้านที่ 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% และผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 10,000 บาท
- แบบที่ 1 ไม่โปะบ้าน : จ่ายเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท
- แบบที่ 2 โปะบ้านทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท : จ่ายเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 13,000 บาท
- แบบที่ 3 โปะเงินก้อนตอนสิ้นปี 36,000 บาท : จ่ายเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท ยกเว้นเดือน 12 จะจ่าย 46,000 บาท
จากโจทย์ข้างต้น สามารถสรุปจำนวนเงินผ่อนชำระทั้งหมด ดอกเบี้ยบ้านทั้งหมด และระยะเวลาผ่อนคงเหลือของทั้ง 3 แบบได้ดังตารางนี้
แบบที่ 1 ไม่โปะบ้าน | แบบที่ 2 โปะบ้านทุกเดือน | แบบที่ 3 โปะบ้านเงินก้อนรายปี | |
---|---|---|---|
เงินผ่อนชำระทั้งหมด | 2,776,056 บาท | 2,527,799 บาท | 2,538,027 บาท |
ดอกเบี้ยบ้านทั้งหมด | 776,056 บาท | 527,799 บาท | 538,027 บาท |
ระยะเวลาผ่อนคงเหลือ | 278 งวด | 195 งวด | 197 งวด |
หากคุณเลือกที่จะไม่โปะบ้านเลย จะต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนทั้งหมด 278 งวด (23 ปี 2 เดือน) ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้านทั้งหมดประมาณ 776,056 บาท
ในขณะที่กรณีที่ 2 หากคุณเลือกที่จะโปะบ้านเพิ่มทุกเดือน เพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 บาท จะทำให้ระยะเวลาในการผ่อนลดลงเหลือเพียง 195 งวด (16 ปี 3 เดือน) และยังช่วยให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงไปได้ถึง 248,257 บาทด้วย
ส่วนแบบที่ 3 คือการเลือกโปะเพียงครั้งเดียวตอนสิ้นปี ที่หากเทียบกับแบบที่ 2 แล้ว จะจ่ายค่าบ้านรายปีเท่ากัน แต่จะเห็นได้ว่าแบบที่ 3 จะต้องผ่อนเพิ่มจากแบบที่ 2 ถึง 2 งวด และเสียดอกเบี้ยรวมมากกว่าแบบที่ 2 ในจำนวน 10,228 บาท
โปะงวดบ้านแบบไหนดี หมดหนี้ไวที่สุด
จากการคำนวณเงินโปะบ้านข้างต้นจึงอาจสรุปได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณมีเงินเหลือก็ควรรีบนำไปโปะบ้านทันที ดังนั้น การโปะบ้านทุกเดือนจึงเป็นตัวเลือกผ่อนบ้านให้หมดไวที่ดีที่สุด เพราะการโปะแต่ละครั้งจะทำให้ยอดเงินที่เกินมานั้นหักเงินต้นได้เลย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมพิจารณาปัจจัยด้านสภาพคล่องร่วมด้วย เพราะหากคุณนำเงินที่มีทั้งหมดไปโปะหนี้ อาจทำให้มีเงินไม่พอใช้ต่อการดำรงชีพได้
แนะนำเทคนิคโปะบ้านให้หมดไว ปลดภาระหนี้บ้านได้เร็วขึ้น
สำหรับใครที่อยากปลดภาระหนี้บ้านให้เร็วขึ้น เราอยากจะแนะนำ 5 เทคนิคโปะงวดบ้านให้หมดไวที่จะทำให้บ้านของคุณหมดหนี้ได้อย่างรวดเร็ว เอาไปปรับใช้ได้ตามความสะดวก ปิดหนี้บ้านไวขึ้นแน่นอน!
1. การจ่ายหนี้ตรงเวลา ถือเป็นพื้นฐานแรกที่ควรทำเพื่อรักษาเครดิตของตัวเอง และจะมีผลต่อการปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต รวมถึงการกู้เงินในแอปกู้เงินอื่น ๆ ด้วย
2. โปะเงินต้นเมื่อมีโอกาส คุณสามารถโปะเงินได้ทุกเดือนโดยไม่จำเป็นต้องโปะในจำนวนที่เท่ากัน และไม่ว่าจะโปะบ้านเดือนละเท่าไหร่ แต่ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้สามารถปลดภาระหนี้กู้บ้านได้เร็วขึ้นทั้งนั้น
3. การขอรีเทนชั่นหรือรีไฟแนนซ์ คือการขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การรวมหนี้เป็นก้อนเดียว ซึ่งการขอรีเทนชั่นจะใช้กับธนาคารเดิมส่วนการขอรีไฟแนนซ์จะใช้กับธนาคารใหม่ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะขอผ่านได้ง่ายหากคุณมีเครดิตการจ่ายหนี้ที่ดี
4. โปะบ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน หากคุณมีหนี้จากการกู้บ้านมากกว่า 1 หลัง ให้พิจารณาโปะหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าก่อน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินต้นที่เหลืออยู่
5. ปิดหนี้สินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้านก่อน ในบางครั้งธนาคารอาจเสนอสินเชื่อสำหรับการตกแต่งหรือต่อเติมบ้านเพิ่มมาให้ด้วย ซึ่งมักจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อกู้บ้านเป็นอย่างมาก ดังนั้น ให้เลือกปิดหนี้ส่วนที่กู้มาต่อเติมบ้านก่อน ก็จะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยได้มากขึ้น
บริหารเงินแบ่งโปะบ้าน ปิดหนี้บ้านให้หมดไวยิ่งขึ้น
การผ่อนบ้านถือเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน แต่หากคุณมีความรับผิดชอบและวางแผนการเงินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักวิธีเก็บเงิน รู้จักวิธีการออม และประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น ก็จะช่วยให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้ในการโปะบ้านได้
นอกจากนี้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง ก็เป็นหนึ่งทางเลือกในการบริหารเงินที่ดียิ่งขึ้ย อย่างเช่นการใช้บัตรกดเงินสด KTC PROUD บัตรกดเงินสดที่จะช่วยให้คุณวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งเงินฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีส่วนลดจากร้านค้าชั้นนำ ถือว่าเป็นการวางแผนการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นได้กว่าเดิม
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
วางแผนค่าใช้จ่ายระยะยาว ใช้บัตรกดเงินสด KTC PROUD