Retention คืออะไร เทคนิคปิดหนี้บ้านไว ประหยัดเงินได้หลักแสน
ผ่อนบ้านมาสักระยะใหญ่แล้วดอกเบี้ยลอยตัว ค่าใช่จ่ายมากขึ้น ต้องแบ่งเงินจ่ายหนี้บ้านไปอีกหลายปีพอจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้ปิดหนี้บ้านได้ไวขึ้นบ้าง? คำถามยอดฮิตของคนผ่อนบ้านที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ให้ดอกเบี้ยลดน้อยลง
ในบทความนี้ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักว่า Retention คืออะไร หนึ่งในเทคนิคลดหนี้บ้านที่ใครหลาย ๆ คนมักสับสนกับการ Refinance สรุปแล้วรีเทนชั่นคืออะไร ลดดอกเบี้ยบ้านได้จริงไหม ต่างจากรีไฟแนนซ์ยังไงมาดูกัน!
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- Retention คืออะไร
- Retention กับ Refinance ต่างกันอย่างไร
- Retention กับ Refinance ทำแบบไหนคุ้มกว่ากัน
- ยื่น Retention ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
- การยื่น Retention มีขั้นตอนอย่างไร
- ข้อดีและข้อจำกัดในการยื่น Retention และ Refinance
- Retention สามารถทำซ้ำได้กี่ครั้ง
- Retention ทริกง่ายๆ ที่ช่วยให้ปิดหนี้บ้านได้ไวกว่าที่คิด
Retention คืออะไร
Retention คือการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเดิมเพื่อลดดอกเบี้ยบ้านให้ต่ำลง โดยทั่วไปผู้ผ่อนบ้านนิยมขอยื่นเรื่องหลังจากผ่อนบ้านมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้ผ่อนดอกเบี้ยได้ในเรตที่ต่ำลงกับธนาคารเดิม
นอกจากนี้การ Retention นอกจากจะให้ผู้ผ่อนบ้านที่ใช้ชื่อตนเองในการซื้อบ้านทำเรื่องได้แล้ว ผู้ผ่อนบ้านที่กู้ร่วม หรือใช้ชื่อคนอื่นในการค้ำประกันก็สามารถยื่นเรื่องขอ Retention ได้เช่นกัน เนื่องจากการ Retention ไม่ได้กำหนดจำนวนผู้กู้และลักษณะของที่อยู่อาศัย ขอเพียงแค่สถาบันการเงินแห่งนั้นรับพิจารณาคำขอ Retention ได้หรือไม่
Retention กับ Refinance ต่างกันอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการขอ Retention คือการปรับโครงสร้างหนี้บ้านกับสถาบันการเงินเดิม แต่ Refinance เป็นการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และนอกจากจะให้ดอกเบี้ยเรตดีกว่าแล้ว สินเชื่อ Refinance ยังให้ผู้กู้ที่มีหนี้หลายก้อน เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลสามารถรวมหนี้เป็นก้อนเดียว ผ่านสินเชื่อรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระผ่อนต่อเดือนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ทำให้การรีไฟแนนซ์กับรีเทนชั่นแตกต่างกัน อาทิ ระยะเวลาพิจารณาสินเชื่อ เอกสารใช้ประกอบการยื่นปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงวงเงินที่จะให้เพิ่มหลังจากทำเรื่องขอปรับโครงสร้างหนี้ผ่าน
สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านเป็นเงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง โดยสถาบันการเงินจะให้เงินกู้แก่ผู้ผ่อนบ้านเพิ่มเติม ในขณะที่การ Retention สถาบันการเงินจะไม่ได้ให้วงเงินเพิ่ม ทำให้ผู้ผ่อนบ้านที่เงินหมด ต้องการเงินด่วนแก้ไขสภาพคล่อง ก็ควรขอ Refinance เพราะจะได้ทั้งลดดอกเบี้ยบ้าน และได้เงินก้อนไปบริหารสภาพคล่อง ช่วยให้คุณปลดหนี้ได้อีกทาง
Retention กับ Refinance ทำแบบไหนคุ้มกว่ากัน
แม้ว่า Retention กับ Refinance จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เหมือนกันก็จริง แต่ทั้งสองวิธีก็ลดดอกเบี้ยได้ไม่เท่ากัน หากเลือก Retention แล้ว ผู้ผ่อนบ้านจะเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยที่ดีที่สุดไม่ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยธนาคารที่กำลังผ่อนบ้านอยู่
ส่วนการ Refinance ผู้ผ่อนบ้านสามารถเลือกสินเชื่อที่เสนอดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำสุดแก่ตนเองได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการขอ Refinance จะคุ้มค่ากว่าเสมอไป เพราะผู้ผ่อนบ้านต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องด้วยเช่นกัน
นาย A กู้ซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.75% หมายความว่านาย A ต้องผ่อนชำระ 14,400 บาท ต่อเดือน ถึงจะผ่อนชำระได้ทั้งหมด
ต่อมานาย A ผ่อนบ้านมาครบกำหนดเวลา 3 ปี วงเงินจาก 2 ล้าน คงเหลือ1,875,907.67 บาท จึงตัดสินใจขอ Retention เพื่อลดดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งธนาคารเสนอลดดอกเบี้ยให้ 1% จากอัตราดอกเบี้ยเดิม ทำให้คาดว่าเมื่อผ่อนบ้านด้วยยอด 14,400 บาทต่อไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาทั้งหมด 241 งวด หรือประมาณ 21 ปี ถึงจะผ่อนบ้านได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามนาย A พบกับข้อเสนอสินเชื่อ Refinance ของธนาคาร B ที่ให้ดอกเบี้ยตลอดสัญญาเฉลี่ย 4% ซึ่งหากนาย A เลือกขอสินเชื่อ Refinance และผ่อนด้วยยอด 14,400 บาทเท่ากันทุกงวด หมายความว่าแทนที่จะใช้เวลาถึง 241 งวด กลับใช้เวลาเพียง 207 งวด หรือประมาณ 17 ปี ก็จะปิดหนี้บ้านได้ทั้งหมด และประหยัดเงินไปได้ถึง 14,400X[(21-17)X12] = 691,200 บาท
ซึ่งหากพิจารณาถึงข้อเสนอของสินเชื่อ Refinance จากธนาคาร B แล้ว ดูเหมือนว่าจะช่วยให้นาย A ปิดหนี้บ้านได้เร็วกว่า และประหยัดเงินไปได้มากกว่าการ Retention แต่ทั้งนี้การ Refinance หนึ่งครั้งจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาได้แก่
1.ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ (สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท)
2.ค่าจดจำนองที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ใหม่
3.ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ใหม่
4.ค่าประกันอัคคีภัย
5.ค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา
โดยค่าใช้จ่ายในการ Refinance แต่ละครั้งจะอยู่ที่ 4% ของวงเงินกู้ใหม่ หมายความว่าหากนาย A เลือกสินเชื่อ Refinance ที่ให้วงเงิน 2 ล้านบาทแล้ว หมายความว่านาย A จะเสียค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 80,000 บาท ในขณะที่ Retention Rate สูงสุดอยู่ที่ 2% ดังนั้นค่าธรรมเนียม Retention จะไม่เกิน 40,000 บาท
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างของนาย A แม้สินเชื่อ Refinance จะช่วยลดดอกเบี้ย และปิดหนี้บ้านได้เร็วกว่า Retention แต่ก็แลกมาด้วยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ถ้าหากคุณพิจารณาแล้วว่าไม่มีเงินสดมากเพียงพอต่อการ Refinance เราแนะนำให้ขอ Retention แทน
ยื่น Retention ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่ใช้ยื่นขอ Retention เพื่อลดดอกเบี้ยบ้านหรือดอกเบี้ยผ่อนคอนโด มีเพียง 3 อย่างนั่นคือ
1. สัญญาเงินกู้ที่ผู้ผ่อนบ้านทำกับธนาคารแห่งนั้น
2. ทะเบียนบ้านตัวจริงและสำเนาของผู้กู้
3. บัตรประชาชนตัวจริงและสำเนาของผู้กู้
ทั้งนี้การขอ Retention กับบางสถาบันการเงิน อาจใช้เอกสารมากกว่า 3 อย่าง เช่น สลิปเงินเดือนล่าสุด 1 เดือน หรือใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ควรสอบถามรายละเอียดให้เรียบร้อยทุกครั้ง
การยื่น Retention มีขั้นตอนอย่างไร
ขั้นตอนแรกในการยื่นขอ Retention คือให้ตรวจสอบเสียก่อนว่าธนาคารที่กำลังผ่อนบ้านอยู่อนุญาตให้ทำเรื่อง Retention ได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกธนาคารที่จะให้ Retention ลดดอกเบี้ยบ้านได้เสมอไป เนื่องจากเป็นนโยบายของธนาคารแห่งนั้นที่ไม่รับ Retention กับผู้กู้ที่มีประวัติการค้างชำระ และเมื่อสอบถามธนาคารเรียบร้อยแล้วว่าขอ Retention ได้ ให้เตรียมตัวดังต่อไปนี้
1. เตรียมเอกสารตามที่ธนาคารกำหนดให้เรียบร้อย
2. เดินทางไปยังสาขาใกล้บ้านของธนาคารที่คุณกำลังผ่อนบ้านอยู่ เพื่อทำเรื่องเจรจาต่อรองและบางธนาคารก็อาจให้ผู้ผ่อนบ้านกรอกเอกสารคำขอ Retention ผ่านทางเว็บไซต์ก่อนเดินทางมายังสาขาได้คล้ายกับการขอสินเชื่อออนไลน์
3. รอรับทราบผลการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
4. เมื่อธนาคารพิจารณาแล้วว่าคุณสามารถขอ Retention ได้ให้เตรียมเงินสดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 1 -2% ของวงเงินกู้คงเหลือ หมายความว่าหากวงเงินกู้คงเหลืออยู่ที่ 1 ล้านบาท คุณต้องเตรียมเงินจ่ายให้ธนาคารอย่างน้อย 1 - 2 หมื่นบาท
ข้อดีและข้อจำกัดในการยื่น Retention และ Refinance
ทราบกันไปแล้วว่าขั้นตอนการขอ Retention ด้วยตนเองมีอะไรบ้าง และถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า Retention กับ Refinance มีข้อดี-ข้อเสียตรงไหนบ้าง มาตรวจสอบได้จากตารางต่อไปนี้เลย
ข้อดี |
ข้อเสีย |
ค่าธรรมเนียมต่ำ ไม่เกิน 1 -2 % ของวงเงินสินเชื่อบ้านคงเหลือ |
ลดดอกเบี้ยได้น้อย |
ใช้เอกสารน้อย |
ธนาคารอาจไม่รับรีเทนชั่นหากประวัติการชำระหนี้ในอดีตไม่ดี |
อนุมัติไวใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ |
|
ไม่ตรวจสอบประวัติเครดิตบูโร |
ข้อดี |
ข้อเสีย |
ลดดอกเบี้ยบ้านได้เยอะกว่าการ Retention |
ค่าธรรมเนียมสูง |
ขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อบริหารสภาพคล่องได้ |
เตรียมเอกสารจำนวนมาก |
ลดระยะเวลาผ่อนชำระได้ |
ใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อ Refinance นาน |
ตรวจสอบประวัติเครดิตบูโรย้อนหลัง |
|
สินเชื่อ Refinance บางธนาคาร ระบุเงื่อนไขให้ผู้ผ่อนต้องทำอาชีพตามที่กำหนดเท่านั้น |
Retention สามารถทำซ้ำได้กี่ครั้ง
ผ่อนบ้านครั้งแรกมักเข้าใจว่าการขอ Retention คือการปรับโครงสร้างหนี้ได้เพียงครั้งเดียวหลังจากหมดโปรโมชั่นผ่อนบ้านช่วง 3 ปีแรกมาแล้ว แต่ผู้ผ่อนบ้านสามารถทำเรื่อง Retention ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะโปะบ้านหมด หรือผ่อนจนครบสัญญา
ทั้งนี้หากผ่อนบ้านใกล้เสร็จ บางธนาคารอาจไม่ให้ขอ Retention ได้อีกต่อไป ทั้งนี้สามารถแก้ปัญหาด้วยการขอ Retention กับธนาคารแห่งใหม่ที่ไม่ได้จำกัดวงเงินสินเชื่อคงเหลือ แต่วิธีนี้ก็แลกมาด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าขอ Retention และต้องเดินทางไปทำเรื่องถึงกรมที่ดิน
Retention ทริกง่ายๆ ที่ช่วยให้ปิดหนี้บ้านได้ไวกว่าที่คิด
มือใหม่ซื้อบ้านหลังแรก ซื้อบ้านใหม่ คงได้คำตอบไปแล้วว่า Retention คืออะไร มีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง หลังจากทำเรื่องกู้ซื้อบ้านผ่านแล้ว ก็ควรบริหารเงินให้ดีว่าจะผ่อนบ้านต่อเดือนเท่าไหร่ถึงจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากเกินไป ซึ่งเราแนะนำให้คุณไม่ควรผ่อนบ้านเกินกว่า 40% ของรายได้ต่อเดือนหมายว่าเงินเดือน 20,000 บาท ไม่ควรผ่อนบ้านเกิน 8,000 บาทต่อเดือน
แต่หากคุณมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากเกินไป ทั้งค่าผ่อนบ้านและค่าเล่าเรียนลูก ทำให้บริหารเงินไม่ทัน เราขอแนะนำตัวช่วยเรื่องการเงินยามฉุกเฉินอย่างบัตรกดเงินสด KTC PROUD เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาทก็สมัครได้ เพราะการผ่อนบ้านเป็นหนี้ระยะยาว มีตัวช่วยด้านการเงินติดตัวไว้ อุ่นใจกว่า!
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยเรื่องการเงินยามฉุกเฉิน