เชื่อว่าหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับผิวหน้ารวมไปถึงรูปหน้าที่ไม่ได้สัดสัดส่วน ปัญหาบนใบหน้านั้นสร้างความไม่มั่นใจอยู่ตลอดเวลา แต่พอจะรักษาก็สับสนไม่รู้ว่าวิธีไหนดี แบบไหนเหมาะ ตัดสินใจไม่ได้ สุดท้ายก็ปล่อยปัญหานั้นให้กวนใจต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราควรเริ่มด้วยการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่าปัญหาผิวหน้าแต่ละประเภทนั้น เหมาะเทคโนโลยีความงามแบบใด เพราะตอนที่ไปปรึกษาแพทย์จะได้มีพื้นฐาน และไม่เข้าใจผิดค่ะ
ปัญหาของผิวหน้า สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. รอยสิวหลุม ติ่งเนื้อ จุดด่างดำ กระเนื้อ หรือเนื้องอกบนผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็ง
ปัญหาในกลุ่มนี้ จะเป็นลักษณะของผิวที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ทั้งที่มีลักษณะนูนขึ้น เช่น ติ่งเนื้อ กระเนื้อ เป็นเนื้องอกผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีเดียวกับผิวหนัง สีน้ำตาลอ่อนหรือเข้ม สีดำ มักมีพื้นผิวที่ขรุขระ ขนาดมีตั้งเเต่ขนาดเล็กๆ จนถึงขนาดใหญ่เป็นเซนติเมตร มักพบที่บริเวณที่โดนเเสงเเดดบ่อยๆ หรือมีการเสียดสีบ่อย สาเหตุอาจมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากอายุ, พันธุกรรม หรือแสงแดด หรือเป็นเนื้องอกจากคอเลสเตอรอล เป็นต้น และปัญหาผิวอีกลักษณะ คือ เป็นหลุมจากการยุบตัว เช่น รอยหลุมสิว เมื่อมีการกดสิว แล้วทิ้งรอยไว้ วิธีการรักษาปัญหาในลักษณะนี้ จะใช้เลเซอร์ในกลุ่มของ Carbondioxide Laser (CO2) และ Erbrium: Yag Laser ซึ่งเลเซอร์กลุ่มนี้ จะทำให้เกิดความร้อนที่ผิวหนังชั้นบนจนลอกออกเป็นแผล จากนั้นร่างกายจะทำการซ่อมแซมผิวหนังบริเวณนั้น ทดแทนที่ผิวที่โดนทำให้หลุดออกไป และเมื่อแผลหาย ผิวจะกลับมาสู่สภาพปกติ เลเซอร์ประเภทนี้ต้องอาศัยความระมัดระวังและใช้โดยแพทย์ที่มีความชำนาญเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น รอยไหม้ และเมื่อทำแล้ว ห้ามโดนน้ำ 24 ชั่วโมง จากนั้นจะต้องทาเจลหรือวาสลีน มอยซ์เจอไรเซอร์เพื่อบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ไม่โดนแสงแดด และไม่แกะเกาเมื่อตอนเป็นสะเก็ด เพื่อให้ผิวสมานกันอย่างสมบูรณ์ เป็นผิวใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทน
2. ปานชนิดต่างๆ กระแดด กระลึก ปานสีเทาสีน้ำเงิน (ปานโอตะ) รอยสักที่มีสี
ปาน คือ ร่องรอยจุดสีบนผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดไม่นาน มีทั้งลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและใหญ่ มีสีแตกต่างกันไป เช่น สีแดง สีน้ำตาล สีดำ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แตกต่างกันไป เช่น เซลล์ผิวหนัง หลอดเลือด ทางเดินน้ำเหลืองและกล้ามเนื้อ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดปาน และปานก็ไม่ใช่ความผิดปกติที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ปานบางชนิดเป็นปานที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ปานบางชนิดอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุ ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ หรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นปานแต่กำเนิดชนิดที่พบบ่อยในชาวเอเชีย มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีฟ้าเทา หรือสีน้ำเงินที่ค่อยขยายขนาดขึ้นตามอายุซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา จะพัฒนาไปเป็นโรคต้อหินและทำให้ตาบอดได้
สำหรับรอยสักในปัจจุบัน จะแบ่งเป็นการสักเพื่อความสวยงามบนใบหน้า เป็นรอยสักสีเดียว เช่น สักคิ้ว สักปาก และการสักลวดลายต่างๆ บนร่างกายเป็นรอยสักหลายสี ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป หากสีที่ใช้สักมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สวยงาม หรือไม่ต้องการมีรอยสักบนร่างกายอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องลบรอยสักออก
ซึ่งการรักษาปานและรอยสักที่มีสีด้วยเลเซอร์นั้น ควรใช้ชนิด Q-switched, QS Ruby, ND: YAG, Q-Switched Alexandrite Laser และ Picosecond Laser ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ที่สามารถใช้ทำลายเม็ดสีในชั้นผิวหนังลึก โดยไม่ก่อให้เกิดความร้อน ไม่เสี่ยงต่อผิวไหม้ เหมาะกับการลบรอยสักที่มีหลายสีได้ดี
โดยจำนวนครั้งของการลบรอยสักนั้น ขึ้นอยู่กับสีของรอยสัก ขนาด ตำแหน่งของรอยสัก และสีผิว ซึ่งควรให้แพทย์ทำการวินิจฉัยอีกครั้ง
หลังจากเลเซอร์แล้ว ผิวบริเวณนั้นจะมีแผล ให้งดโดนน้ำ 24 ชั่วโมง แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ และทาครีมตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด จากนั้นแผลจะตกสะเก็ดและหลุดออกเอง ห้ามใช้มือแกะออก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดแผล ควรทาครีมกันแดด และหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจนกว่าจะถึงวันนัดที่จะต้องไปทำเลเซอร์อีกครั้ง
3. รอยแดงจากสิว เส้นเลือดขอด และแผลเป็นคีลอยด์
รอยแดง รอยดำจากสิว และรอยแผลเป็นจากสิว เกิดจากการที่สิวอุดตันและสิวอักเสบที่ยุบหรือถูกบีบออกอย่างรุนแรงจนผิวเกิดความเสียหายและเกิดอาการอักเสบ สามารถใช้เลเซอร์กลุ่ม Pulsed dye Laser หรือบางที่เรียกว่า V beam แสงเลเซอร์จะส่งความร้อนลงไปยังชั้นผิวหนังแท้ ทำให้เส้นเลือดผิดปกติใต้ผิวหนังถูกทำลายหายไป เกิดการจัดเรียงตัวของเส้นเลือดใต้ผิวหนังใหม่ ทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ สำหรับจำนวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยแดง อาจเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำการรักษา แต่หลังเข้ารับการรักษา 4-5 ครั้งจะเห็นว่าผิวหนังที่มีรอยแดงจะดีขึ้น เมื่อรักษาด้วยเลเซอร์แล้ว ควรทาครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกันแสงแดดที่จะทำลายผิวได้
สำหรับปัญหาเส้นเลือดขอด และแผลเป็นคีลอยด์ เป็นกลุ่มปัญหาที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติ จนเกิดเป็นสีแดงขึ้นบนผิวหนัง บางครั้งเส้นเลือดมีการฝ่อจนทำให้เลือดกระจุกตัว และกดสีเส้นเลือดขึ้นมา หรือนูนแดงเป็นแผลคีลอยด์ ควรรักษาด้วย Nd;YAG, Long pulsed diode Laser การทำงานของเลเซอร์กลุ่มนี้ จะไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงของแผลเป็นนูน ทำให้แผลเป็นนูนฝ่อลง และใช้เลเซอร์ชนิด Diode Laser ที่มีความยาวคลื่นยาวเพื่อรักษาเส้นเลือดขอด โดยใช้ฉายเข้าไปบริเวณผนังของหลอดเลือด เพื่อทำลายให้ผนังหลอดเลือดมีการฝ่อตัวลง การรักษาด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย และควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดแรงโดยตรง พร้อมทั้งควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 เป็นอย่างน้อยเมื่อต้องถูกแสงแดด ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย คือ รอยช้ำรอบบริเวณที่รับการรักษา แต่จะหายไปเองในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน
4. กำจัดขนบนใบหน้า ขนบนใบหน้าที่ทำให้เกิดความกังวลมักเป็นหนวด ซึ่งเกิดได้ทั้งชายและหญิง และทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ หรือสร้างความรำคาญใจ สามารถใช้เลเซอร์กลุ่ม Long pulsed Diode Laser, Long-Pulse Nd: Yag และเทคโนโลยีแสงชนิด IPL (Intense pulsed light) โดยใช้วิธีการส่งพลังงานความร้อนผ่านลำแสงไปที่เส้นขน โดยรากขนระยะที่โตเต็มที่ จะมีเซลล์เม็ดสีซึ่งสามารถดูดซับพลังงานความร้อนจากเลเซอร์ แล้วเมื่อได้รับความร้อน รากขนจะฝ่อลงจนหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งเลเซอร์แบบนี้สามารถทำให้จำนวนเส้นขนลดลงไปได้นานกว่าวิธีกำจัดขนด้วยวิธีอื่น และหากทำต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้เส้นขนไม่ขึ้นมาใหม่อีก ซึ่งขนที่รักษาได้ดี คือ เส้นขนสีดำ ขนาดใหญ่ ในคนผิวขาว มากกว่าขนสีอ่อนในคนผิวเข้ม การดูแลหลังจากเลเซอร์ขนแล้ว ไม่ควรขัดถูบริเวณนั้น หรือทาเครื่องสำอางหรือสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพื่อให้ผิวระคายเคือง หลีกเลี่ยงการเข้าซาวน่า ควรทาครีมบำรุงบริเวณที่ทำเลเซอร์ เพื่อให้ผิวหนัง กลับมาชุ่มชื่นสุขภาพดี
5. ริ้วรอยบนใบหน้า กระชับรูขุมขน รูปหน้าหย่อนคล้อย กระตุ้นคอลลาเจน
ริ้วรอยบนใบหน้านั้น มีอยู่หลายบริเวณที่สร้างความกังวลใจ เช่น รอยตีนกา ร่องแก้มหรือร่องน้ำหมาก ร่องใต้ตา เป็นต้น ความหย่อนคล้อยที่เกิดจากวัย รูปร่างที่เปลี่ยนแปลง เช่น น้ำหนักลดลง ทำให้รูปหน้าเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแก้มห้อยย้อย หน้าผากย่น ซึ่งสามารถแก้ไขได้หลายวิธี ทั้งเลเซอร์ Nd:YAG Laser,Er:Glass Laser และ Long pulsed Diode Laser ที่ทำให้เกิดความร้อนในชั้นผิวหนังแท้ แล้วกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมผิวด้วยการสร้างคอลลาเจน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง เหมาะกับการลบริ้วรอยและรักษาแผลหลุมตื้นๆ บนใบหน้า หรือสามารถใช้การฉีดโบท็อกซ์ในการลดริ้วรอย เช่น บริเวณหน้าผากหรือร่องแก้มได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อขยับได้น้อยลง ไม่เกิดริ้วรอยเพิ่มขึ้น และอีกวิธีหนึ่งในการลดริ้วรอย คือ การเติมสารเติมเต็มประเภท Hyaluronic Acid ลงในบริเวณที่ต้องการ เช่น ร่องแก้ม ใต้ตา
นอกจากนี้ สามารถใช้เครื่อง Radio Frequency (RF) เช่น Thermage เพื่อส่งคลื่นความถี่วิทยุพลังงานสูง ผ่านความร้อนไปยังชั้นหนังแท้และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เพื่อทำให้เกิดการหดตัวของเส้นใยคอลลาเจน (collagen) และอีลาสติน (elastin) ที่ยึดเกาะกันอยู่ในชั้นผิวหนังเป็นเสมือนเกลียวเชือก ทำให้หน้าตึงกระชับขึ้น หรือหากต้องการดึงยกหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัดก็สามารถใช้เทคโนโลยี Ultrasound เช่น เครื่อง Ulthera, Ultraformer ที่เป็นคลื่นเสียงพลังงานสูง (High Intense Focused Ultrasound) ส่งผ่านความร้อนไปยังชั้นผิว SMAS ให้เกิดการหดตัว และสร้างคอลลาเจนใหม่ ทำให้ผิวมีความเต่งตึงขึ้น หากต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วขึ้น และใช้งบประมาณน้อยลง อาจใช้วิธีร้อยไหม เพื่อยกผิวหน้าให้ไม่หย่อนยานตามแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งควรใช้ไหมเงี่ยงปลา เพื่อทำให้เกี่ยวยกหน้าขึ้นได้จริง
ซึ่งวิธีที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ต้องพักฟื้น และไม่มีแผลให้เห็น การดูแลหลังจากทำ คือ หลีกเลี่ยงเข้าซาวน่าหรือออกกำลังกายหนัก ที่ทำให้ใบหน้าแดง หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดทั้งก่อนและหลังการรักษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงการใช้ครีมกันแดดร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด
6. รูปหน้าไม่ได้สัดส่วน
สัดส่วนของใบหน้าที่ดีนั้น จะช่วยทำให้รู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้น ทั้งการถ่ายรูปและพบปะผู้คน ซึ่งบางคนมีความกังวลเรื่องหน้าใหญ่เกินไป หรือหน้าตอบไป ทำให้ดูมีอายุ หรือใบหน้าไม่สมมาตรอย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับรูปหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัดศัลยกรรมนั้น สามารถใช้การฉีดโบท็อกซ์ เพื่อลดขนาดกล้ามเนือในบริเวณนั้นๆ ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งาน จนฝ่อกลายเป็นเล็กลงในที่สุด มักใช้ลดขนาดกราม ในทางกลับกัน สามารถฉีดฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ในบริเวณที่ต้องการให้รูปหน้าสมสัดส่วนขึ้น เช่น คาง แก้ม หน้าผาก หรือขมับ เพิ่มให้อวบ สมส่วนมากยิ่งขึ้น และทำให้ดูอ่อนเยาว์ลง ซึ่งเมื่อทำการฉีดสารเหล่านี้แล้ว ไม่ควรนอนราบ 3 ชั่วโมงหลังจากฉีด หลีกเลี่ยงความร้อนทุกชนิดและกิจกรรมที่ทำให้หน้าแดง เช่น ออกกำลังกายหนักๆ หรือเข้าซาวน่า หลีกเลี่ยงแสงแดดและยังไม่ควรทำเลเซอร์หลังจากฉีดโบท็อกซ์ เพราความร้อนจะเข้าไปทำลายสารโบท็อกซ์บนใบหน้า ไม่ควรดื่มแอลกฮอล์ เพราะจะให้สารที่ฉีดทั้งโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ทำงานได้ไม่เต็มที่และสลายไว ควรดื่มน้ำเยอะๆ โดยเฉพาะ 4 วันแรก เพราะฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid เป็นสารอุ้มน้ำ การดื่มน้ำนั้นจะช่วยทำให้การเติมเต็มอยู่ได้นานขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดื่มน้ำประมาณ 8-10 แก้ว หรือปริมาณ 2 ต่อวัน จะช่วยทำให้การเติมฟิลเลอร์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นอาจทำให้ผิวส่วนที่โดนแสงมีความบางลงได้ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายก็จะทำการสร้างผิวหนังขึ้นมาทดแทนส่วนที่โดนทำลายไป เพราะมีการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินขึ้นมาทดแทน ดังนั้นเมื่อใช้เลเซอร์แล้วผิวหนังจะกลับมีความหนาเท่ากับสภาวะปกติหลังจากฉายเลเซอร์ไปแล้วประมาณ 6 เดือน ซึ่งบริเวณที่ทำการรักษาอาจจะกลับมาเป็นใหม่ได้ ตราบใดที่เรายังต้องผจญแสงแดด ฝุ่น มลพิษเหมือนเดิม ผิวหนังก็จะโดนทำลายได้เช่นเดิม จึงต้องดูแลผิวหน้าหลังการรักษาด้วยการทาครีมกันแดด ทาครีมบำรุงผิว หลบเลี่ยงแสงแดด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาผิวหน้าซ้ำอีก
เทคโนโลยีเกี่ยวกับความงามนั้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เลือกผลลัพธ์ที่ต้องการ แล้วเลือกคลินิกความงาม และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เพื่อผลการรักษาที่น่าพอใจ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาแต่ละด้านนั้น อาจเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่น รอยแผลเป็นจากสิว ที่มีทั้งรอยแดงและหลุมสิวด้วยกัน อีกทั้งสภาพผิวของแต่ละคน ที่มีความแตกต่างกันจากวัย หรือสภาพแวดล้อม ทำให้การประเมินปัญหา จำเป็นต้องใช้หลายเทคโนโลยีควบคู่กัน และต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ ควรเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์ รวมทั้งพิจารณาความปลอดภัย รวมถึงความสะอาด การดูแลสุขอนามัยของสถานพยาบาลและคลินิกก่อนเข้ารับคำปรึกษาให้ดีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาจากสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน