สุนัขมีอาการซึมไม่ร่าเริง กินน้อยลง เจ้าของดูแลเบื้องต้นได้อย่างไร
แม้สุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่พูดไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสุนัขเป็นเพื่อนซี้สี่ขาที่ช่วยสร้างรอยยิ้ม ความสุข เป็นเพื่อนปรับทุกข์ ทั้งยังช่วยพิทักษ์เจ้าของจากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้สุนัขกลายเป็นเพื่อนคู่หูต่างสายพันธุ์ที่หลายคนรู้สึกผูกพันธ์ รัก และห่วงใยเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว แต่บ่อยครั้งที่เพื่อนรักข้างกายมีอาการผิดแปลกไปจากเดิม เช่น ซึม หางตก ไม่ค่อยกินข้าว หรืออาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ซึ่งบางอาการเจ้าของสามารถเรียนรู้วิธีป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เพราะสาเหตุของอาการบางอย่างอาจมาจากอุปกรณ์และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไม่เหมาะสม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยภายนอก บทความนี้ KTC ชวนทาสหมาทำความเข้าใจวิธีแก้สุนัขป่วยเบื้องต้นทำอย่างไร รู้ไว้เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน
สุนัขป่วยกินยาอะไร ยาพารากินได้ไหม? มีคำตอบ
เมื่อเห็นว่าสุนัขเพื่อนซี้มีอาการที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ในฐานะเจ้าของคงอยากให้สุนัขหายจากอาการป่วยโดยเร็ว แต่บางครั้งก็อาจไม่ทันระวังจนหยิบวิธีการรักษาแบบผิด ๆ มาใช้ โดยหนึ่งคำถามที่เจ้าของสุนัขหลายคนสงสัยคือ สุนัขไม่สบายกินยาพาราได้ไหม? คำตอบของคำถามนี้คือ “ไม่ได้เด็ดขาด” เพราะยาคนกับยาสัตว์แตกต่างกัน ตัวอย่าง ยาพาราเซตามอลเป็นยาที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดให้กับคน แต่หากนำไปใช้กับสุนัขมักก่อให้ความเป็นพิษสูง โดยพิษเหล่านี้มักส่งผลให้เกิดภาวะตับและไตวาย โดยอาการหลังจากที่สุนัขได้รับยาพาราเซตามอลเกินปริมาณ คือสุนัขมีอาการซึม อาเจียน ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงคล้ำ และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายใน 2 – 5 วัน ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงไม่ควรให้ยาพาราเซตามอลกับสุนัขโดยเด็ดขาด แต่หากจำเป็นต้องได้รับยาพาราฯ จริง ๆ จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
สุนัขป่วยกินยาพาราได้หรือไม่
นอกจากยาพาราเซตามอลที่เป็นยาต้องห้ามสำหรับสัตว์เลี้ยงแล้ว ยาแก้แพ้ เช่น CPM หรือคลอเฟนิรามีนที่แม้ถูกนำมาใช้ในการรักษาสัตว์ แต่หากสุนัขได้รับเข้าไปเกินขนาดก็ก่อให้เกิดความเป็นพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทส่วนกลางเช่นกัน โดยอาการของสุนัขที่พบหลังจากรับยาเกินขนาด คือมีอาการชัก กดการหายใจ หายใจลำบาก โคม่า และเสียชีวิตได้ สำหรับวิธีการดูแลเบื้องต้นหากสุนัขมีอาการต้องสงสัย คือพยายามทำให้สุนัขอ้วกออกมาให้ได้มากที่สุด ป้อนผงถ่าน ไข่ขาวดิบ นม หรือค้นหาโรงพยาบาลสัตว์ใกล้ฉัน เพื่อให้ทีมแพทย์เร่งรักษาอาการให้ทันการที่สุด โดยวิธีข้างต้นสามารถใช้ได้ทั้งกับสุนัขที่กินยาเกินขนาด กินยาผิดประเภท และสุนัขที่กินสารเคมีหรือสารพิษต่าง ๆ เข้าไป แต่ทางที่ดีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้มากที่สุด คือเก็บสารพิษอันตรายต่าง ๆ ให้เข้าถึงยากและระมัดระวังไม่ให้สุนัขกินเข้าไปตั้งแต่แรก
อาการสุนัขป่วย พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้นที่เจ้าของควรรู้
โดยปกติแล้วเมื่อสุนัขแสนรู้ที่บ้านมีอาการเจ็บป่วย เจ้าของมักสังเกตได้จากการที่น้องหมามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ทั้งนี้หากเป็นอาการทั่วไป เช่น อาการซึม กินข้าวน้อยลง ท้องเสีย เจ้าของสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นได้ตามอาการป่วย ดังนี้
สุนัขมีอาการป่วย เช่น เป็นหวัด ไอ จาม มีน้ำมูก ตัวร้อน ซึม
- จัดเตรียมที่นอนให้พื้นที่อบอุ่น เช่นเดียวกับคนเมื่อเป็นหวัด การอยู่ในพื้นที่อุ่น ๆ ไม่มีลมหรืออากาศเย็น ๆ มาโดนตัวมากเกินไป ช่วยลดปัญหาไข้หวัดได้ดี ดังนั้นควรจัดเตรียมที่นอนภายในบ้านให้สุนัข ไม่ปล่อยให้สุนัขตากลมอยู่นอกบ้านเพราะจะทำให้อาการแย่ลง
- เช็ดตัวระหว่างวัน หากสุนัขมีอาการตัวร้อน สามารถใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดบริเวณอุ้งเท้า ใบหู และเช็ดย้อนขนขึ้นไปเพื่อลดอุณหภูมิได้ หากตัวเริ่มเย็นลงแล้วสามารถหยุดเช็ดได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงเวลาที่สุนัขป่วย เจ้าของควรงดเล่นกับสุนัขให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สุนัขได้พักผ่อนและไม่ต้องขยับร่างกายมากเกินไป แต่หลังจากที่หายดีแล้วควรพาสุนัขออกไปวิ่งออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้ตามปกติ
สุนัขมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- งดอาหาร 24 ชั่วโมง หากเป็นสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่จู่ ๆ กลับมีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย วิธีแก้สุนัขป่วยเบื้องต้น คืองดอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาหารใหม่เข้าไปแทนที่และให้กระเพาะอาหารพักฟื้น
- ให้สุนัขกินน้ำเยอะ ๆ ควรตั้งน้ำสะอาดไว้ใกล้ ๆ ที่ที่สุนัขอยู่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าปริมาณมาก มีส่วนช่วยขจัดของเสีย ชดเชยน้ำที่เสียไป และช่วยให้สุนัขไม่อ่อนเพลีย
- กินอาหารอ่อน ๆ หลังงดอาหารครบ 24 ชั่วโมงและสุนัขเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้สุนัขกินอาหารที่อ่อนที่ย่อยง่ายเป็นเวลา 1 – 2 วัน หรือจนกว่าสุนัขจะมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนเดิม
อาการสุนัขป่วยไม่กินอาหาร
- เปลี่ยนอาหารใหม่ บางครั้งสุนัขอาจไม่ได้มีอาการป่วยใด ๆ เพียงแค่ไม่ชอบรสชาติของอาหารที่กินอยู่ ดังนั้นอาจเริ่มจากการเปลี่ยนอาหารรสชาติใหม่ ยี่ห้ออาหารใหม่ที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรือลองให้น้องหมากินน้ำต้มกระดูกเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร
- กระตุ้นความอยากอาหารด้วยพืชผัก ไม่ว่าจะเป็นฟักทองหรือมันหวานล้วนเป็นผักที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี มีไฟเบอร์สูง ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้สุนัขเกิดความอยากอาหารอีกด้วย
- ฝึกให้อาหารเป็นเวลา การให้อาหารน้องหมาตลอดทั้งวัน มักส่งผลทำให้ความอยากอาหารน้อยลง ดังนั้นควรฝึกให้อาหารสุนัขเป็นเวลา โดยกำหนดเวลาให้เป็นรอบละประมาณ 5 – 10 นาที และเก็บถาดอาหารทันที วิธีนี้ช่วยให้สุนัขเรียนรู้ว่าต้องกินอาหารให้หมดภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หากไม่กินจะมีความหิวและกระตือรือร้นที่จะกินอาหารมากขึ้น
- ผสมสูตรอาหารใหม่ ๆ บางครั้งอาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำให้สุนัขเกิดอาการเบื่อได้ ดังนั้นเจ้าของอาจใช้วิธีการนำอาหารมาผสมกันให้กลายเป็นอาหารจานใหม่ ทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอรสชาติที่อร่อยถูกปาก
หมายเหตุ : หากสุนัขมีอาการป่วยเบื้องต้น เช่น ไอ จาม ไม่สบาย ท้องเสีย หรือเบื่ออาหารนานกว่า 2 – 3 วัน แนะนำพาสุนัขพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แพทย์เช็กอาการอย่างถูกวิธี
ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระต่าย หรือสัตว์ชนิดใด เรื่องอาการป่วยเป็นปัญหาทั่วไปที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับสัตว์ได้ทุกประเภท ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงที่บ้านมีอาการเซื่องซึม กินอาหารได้น้อยลง ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน หรือมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติและอาจช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงแบบเบื้องต้นไม่ได้ แนะนำพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์ เพื่อเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพราะบางครั้งอาการป่วยเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีท่วงที และสำหรับเหล่าคนรักสัตว์ที่เป็นสมาชิกบัตรเครดิต KTC สบายใจหายห่วงเรื่องค่ารักษาที่แสนแพง เพราะตอนนี้ทาง KTC มอบสิทธิพิเศษ Healthy Pet Happy Me สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC รับส่วนลดสูงสุด 25% ณ โรงพยาบาลสัตว์ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ พร้อมแลกรับเครดิตเงินคืน 15% และโปรโมชั่นผ่อนชำระนานสูงสุด 10 เดือน (หมายเหตุ : ทุกโปรโมชั่นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม) ระยะเวลาโปรโมชั่นสบายกระเป๋า ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2566
คลิกดูโปรโมชั่น Healthy Pet Happy Me ผ่านบัตรเครดิต KTC…ที่นี่