พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับ ที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมี เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคู่กรณี โดยจะได้รับการชดเชยค่ารักษาพยาบาล หรือค่าทดแทนการสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า หากรถไม่มี พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ พ.ร.บ. รถยนต์ขาด หากประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น
พ.ร.บ. รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง และสามารถเบิก พ.ร.บ. ได้เท่าไหร่?
1. ค่าเสียหายเบื้องต้น (เคลมได้เลย โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด)
- กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (พิการ) จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท
- กรณีที่ได้รับความเสียหายทั้ง 2 รูปแบบ โดยเสียชีวิตหลังจากรักษา จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพ 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท
2. ค่าเสียหายส่วนเกิน
หลังได้รับการพิสูจน์ความผิดแล้ว บริษัทประกันของฝ่ายที่กระทำความผิดจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ประสบภัยหรือทายาทของผู้ประสบภัย ดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ จะจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล รวมค่าสินไหมทดแทนสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ จะจ่ายชดเชยให้ทั้งหมดเป็นจำนวน 300,000 บาท ซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลด้วย
3. ค่าสินไหมทดแทน (กรณีที่เป็นฝ่ายถูก)
ในกรณีที่ผู้ประสบภัยพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะสามารถเบิกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาลตามจริง สูงสุดคนละ 80,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร คนละ 500,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะ 2 ส่วนขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยคนละ 500,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน จะได้รับเงินชดเชยคนละ 250,000 บาท
- กรณีสูญเสียนิ้ว ตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยคนละ 200,000 บาท
- ทุพพลภาพถาวร (ในกรณีนี้หมายถึง ไม่สามารถประกอบอาชีพประจำได้) จะได้รับเงินชดเชยคนละ 300,000 บาท
- กรณีนอนรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท
เอกสารเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ ใช้อะไรบ้าง?
การเบิกสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. มีเอกสารเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ที่ต้องเตรียมพอสมควร ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปอย่างถูกต้องและได้รับสิทธิ์อย่างครบถ้วน จะมีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัย (หากอายุไม่ถึง 15 ปี ให้ใช้ใบสูติบัตรแทน)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนรถคันที่เกิดเหตุ
- สำเนาใบขับขี่พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่)
- ใบแจ้งความหรือบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- สำเนาใบกรมธรรม์ พ.ร.บ. รถยนต์
เอกสารเพิ่มเติมกรณีบาดเจ็บ
- สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ประสบภัย
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
เอกสารเพิ่มเติมกรณีเบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน
- สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ประสบภัย
- ใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
เอกสารเพิ่มเติมกรณีทุพพลภาพ
- สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเป็นผู้พิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
เอกสารเพิ่มเติมกรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบมรณบัตร
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ประสบภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ไม่มีคู่กรณี สามารถเบิกค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายได้
เบิก พ.ร.บ. รถยนต์ โดยไม่มีคู่กรณีได้ไหม ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีก็สามารถเบิก พ.ร.บ. ได้ โดยจะได้รับความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับเอกสารที่ใช้เบิกนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ตามที่แจ้งไว้ข้างต้น
พ.ร.บ. รถยนต์นั้นมีไว้เพื่อช่วยเหลือ คุ้มครอง และเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยบนท้องถนน ดังนั้น ควรตรวจสอบวันหมดอายุของ พ.ร.บ.และต่ออายุ พ.ร.บ.รถยนต์นี้อยู่เสมอ
อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่ทันตั้งตัว บางคนอาจไม่ได้มีเงินสำรองไว้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งการมีบัตรเครดิต KTC เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณหมดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉินได้ มาพร้อมสิทธิพิเศษมากมาย เช่น สมาชิกใหม่บัตรเครดิต KTC จะได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุวงเงินสูงสุด 300,000 บาท นาน 90 วัน* นับจากวันที่เปิดใช้บริการบัตรฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อสมัครบัตรเครดิต KTC ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์วันนี้ เพื่อเสริมเกราะป้องกันที่สมบูรณ์แบบสำหรับการขับขี่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.viriyah.com/article/detail/174-รู้หรือไม่-พ-ร-บ-รถยนต์-สามารถเคลมสิ่งเหล่านี้ได้
http://www.khonkaenram.com/th/services/packages-and-programs/er2
https://insurverse.co.th/car-insurance/compulsory-insurance-cover
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC