ในยุคที่เต็มไปด้วยเหล่าแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ที่เกิดจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจออนไลน์ รวมไปถึงวัยรุ่น วัยทำงาน ที่อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งการจะทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นต้องมีการ “จดทะเบียนการค้า” และหลายคนมักจะมีข้อสงสัยถึงรายละเอียดต่างๆ ในการจดทะเบียนว่าต้องมีขั้นตอนอย่างไร หรือจะต้องเตรียมอะไรบ้าง KTC ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ เพื่อช่วยคลายข้อสงสัย พร้อมแนะวิธีและขั้นตอนที่ถูกต้องมาให้แล้ว
จดทะเบียนการค้าคืออะไร
การจดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ คือการจดทะเบียนเพื่อยืนยันการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและเสียภาษีตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ
อายุเท่าไหร่จึงจะจดทะเบียนการค้าได้
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าวัยรุ่นที่อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง กรมธุรกิจการค้าได้กำหนดอายุของบุคคลที่สามารถมีสิทธิ์ในการจดทะเบียนการค้าได้ ต้องมีอายุ 12 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องได้รับความยินยอมจากพ่อ-แม่ หรือผู้แทนโดยชอบธรรม จึงจะได้รับอนุญาตให้สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้
การจดทะเบียนการค้าเพื่อเป็นการยืนยันว่าธุรกิจนั้นถูกต้องตามกฎหมาย
จดทะเบียนการค้าเพื่ออะไร
หากใครอยากเริ่มต้นทำธุรกิจ ควรไปจดทะเบียนการค้า เพราะการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนการค้านั้น “เพื่อเป็นการยืนยันว่าธุรกิจของเรานั้นถูกต้องตามกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ พูดง่ายๆ คือเป็นหลักฐานในการแสดงความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของเรา ว่าเราขายสินค้าจริงๆ และมีตัวตนจริงๆ ลูกค้าหรือคู่ค้าจะได้มั่นใจในการซื้อหรือร่วมธุรกิจกับเรามากยิ่งขึ้น
จดทะเบียนการค้าต้องเสียภาษีหรือไม่
เมื่อมีการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนการค้า ที่เป็นการยืนยันว่าธุรกิจของเรามีความถูกต้องทางกฎหมาย อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนมักกังวล ก็คือจะต้องมีการเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วจดทะเบียนการค้านั้น “ไม่ต้องเสียภาษี” หากรายได้ของธุรกิจไม่ได้เกินเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากมีรายได้เกิน หรือเข้าเงื่อนไขการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าของธุรกิจก็จะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจด VAT เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า 7% และนำส่งสรรพากร ซึ่งบางครั้งธุรกิจอาจไม่ได้มีรายรับเกิน แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับการยกเว้น ก็จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ดังนั้นควรศึกษารายละเอียด ข้อกำหนด และกฎหมายอีกครั้งก่อนดำเนินการ
ปัจจุบันสามารถจดทะเบียนการค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานฯ
วิธีการจดทะเบียนการค้าออนไลน์ 2568 ทำอย่างไร
สำหรับใครที่สนใจจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ ในปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้สามารถจดทะเบียนการค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ ไม่ต้องลำบากเดินทางไปถึงสำนักงานฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านเว็บไซต์ https://ereg.dbd.go.th/ERegistMemberWeb/nonmemberpages/home.xhtml เพื่อรับ Username และ Password
- กรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ e-Registration และยืนยันตัวตน (สามารถยืนยันตัวตนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักพาณิชย์ประจำจังหวัดใกล้บ้าน หรือยืนยันตัวตนออนไลน์ ด้วยระบบ e-KYC)
- เปิดใช้งานบัญชี (Active User) ผ่านอีเมลภายใน 30 วัน
- เมื่อบัญชีได้รับการอนุมัติแล้ว ก็สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นคำขอจดทะเบียน ด้วยการกรอกข้อมูลผ่านระบบ e-Registration จากนั้นฝั่งนายทะเบียนจะตรวจสอบข้อมูล
- เมื่อได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากนายทะเบียนแล้ว ระบบจะส่งให้ลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (โดยใช้ Username และ Password ของตนเอง และรหัส OTP ในการเข้าสู่ระบบ)
- หลังจากลงลายมือชื่อออนไลน์แล้ว ผู้ยื่นสามารถยื่นคำขอการจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม
- เมื่อชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกรอกข้อมูลในการยื่นคำขอแล้ว นายทะเบียนจะดำเนินการรับจดทะเบียน
- หากการจดทะเบียนเสร็จสิ้น ผู้ประกอบการสามารถรับเอกสารการจดทะเบียนได้เลย
หากใครสะดวกเดินทาง สามารถเตรียมเอกสารให้พร้อม และเดินทางไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเขตใกล้บ้าน หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดได้เช่นกัน
จดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้อะไรบ้าง
สำหรับการจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ ต้องทำการจดทะเบียนการค้าเช่นกัน ซึ่งมีเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อม ตามรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจออนไลน์
- สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ที่ต้องการยื่นจดทะเบียน
- กรอกแบบฟอร์มคำขอในการยื่นจดทะเบียน (ดาวน์โหลดที่นี่) พร้อมกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มคำขอ
- บุคคลธรรมดา กรอกเอกสารข้อ 1-8
- คณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วน กรอกเอกสารข้อ 1-8 และข้อ 11
- บริษัทจำกัด/บริษัทมหาชน กรอกเอกสาร 1-8 และข้อ 12
- กรอกแบบฟอร์มเอกสารแนบแบบ ทพ. (ดาวน์โหลดที่นี่) ในกรณีที่มีมากกว่า 1 เว็บไซต์ ต้องกรอกเอกสารเพิ่มตามจำนวนเว็บไซต์ที่ต้องการจดทะเบียนการค้า (เอกสาร 1 ใบต่อ 1 เว็บไซต์)
- กรณีเป็นเว็บไซต์ ต้องแนบเอกสารการจดโดเมน (โดยชื่อผู้จดทะเบียนโดเมน ต้องตรงกับชื่อของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้า)
- บันทึกภาพหน้าแรกของเว็บไซต์ รูปสินค้า หรือบริการ วิธีการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ วิธีการชำระสินค้า และวิธีการส่งสินค้า
- แผนที่ตั้งของร้านค้า หรือธุรกิจ
- กรณียื่นขอจดทะเบียนในนามนิติบุคคล ต้องแนบเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
เมื่อจัดเตรียมเอกสารครบแล้วก็สามารถยื่นขอได้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือหากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สามารถเข้ายื่นคำขอได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือฝ่ายปกครอง สำนักเขตทุกพื้นที่ ส่วนในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริการส่วนตำบล
หากไม่สะดวกยื่นจดทะเบียนการค้าออนไลน์ สามารถเข้าไปยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานราชการ
นอกจากการจดทะเบียนการค้าออนไลน์ จดที่ไหนได้อีกบ้าง
หากใครไม่สะดวกยื่นจดทะเบียนการค้าแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ สามารถยึดรูปแบบดั้งเดิมโดยการเข้าไปยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานราชการ ตามรายละเอียดดังนี้
- พื้นที่กรุงเทพฯ
- กรณีที่ตั้งร้านค้า ธุรกิจ (สำนักงานใหญ่) อยู่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งให้บริการกับสถานประกอบการทุกแห่งที่มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
- หรือ สามารถไปที่ สำนักงานเขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตไหน ก็ให้ไปยื่นจดทะเบียน ณ สำนักงานเขตนั้น
- ต่างจังหวัด
หากที่ตั้งร้านค้า ธุรกิจ (สำนักงานใหญ่) อยู่ในพื้นที่การดูแลของหน่วยใด ก็สามารถเดินทางไปยื่นคำขอได้ที่หน่วยงานนั้นๆ (เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล)
โดยเจ้าของธุรกิจจะต้องดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มกิจการ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจะอยู่ที่ 50 บาท/ครั้ง
ปัจจุบันการจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ สามารถทำได้ง่ายและสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไกลก็สามารถยื่นขอได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อจดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้องแล้ว การมีระบบรับชำระที่ดี ยังช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการช้อปออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ชาวต่างชาติก็สามารถซื้อสินค้าของเราได้ การมีบริการรับชำระเงินที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกการใช้งานจากสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลก เป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งกับเจ้าของธุรกิจและลูกค้า สนใจสมัครร้านค้าสมาชิก KTC MERCHANT หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
ตอบรับทุกบริการ ชำระเงิน ด้วย KTC MERCHANT