หากใครอยู่ในแวดวงการทำธุรกิจแบบบริษัท คงจะเคยได้ยินคำว่า บอจ.5 กันมาบ้าง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่าเอกสาร บอจ.5 คืออะไร? และมีขั้นตอนในการขอเอกสารอย่างไร? วันนี้ KTC จะพาทุกคนไปเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
บอจ.5 คืออะไร?
บอจ.5 หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเอกสารแสดงรายการของบริษัทว่ามีผู้ถือหุ้นกี่คน ใครบ้าง รวมไปถึงสัดส่วนอัตราการถือหุ้นเป็นเท่าไหร่ของบริษัท ซึ่งในเอกสารจะมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
- ชื่อและเลขทะเบียนของบริษัท
- รายละเอียดวันที่ลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียน ตัวอย่างเช่น ข้อมูล ณ วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท
- มูลค่าทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าราคาเริ่มต้นของหุ้น
- จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
- รายละเอียดของผู้ถือหุ้นแต่ละคน โดยจะต้องมี ชื่อ, นามสกุล, หมายเลขบัตรประชาชน, อาชีพ, ที่อยู่, จำนวนหุ้นที่ถือ และชำระแล้วหุ้นละกี่บาท
- วันที่นำส่งข้อมูล
บอจ.5 สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง?
เอกสาร บอจ.5 เป็นเอกสารที่แสดงถึงข้อมูลรายละเอียดผู้ถือหุ้นของบริษัท อัตราส่วนการถือหุ้น เพื่อบอกข้อมูลว่าภายในบริษัทนั้นมีใครเป็นเจ้าของ ในอัตราสัดส่วนเท่าใด โดยเอกสารนี้มักใช้ในการติดต่อราชการ หรือประกอบการพิจารณาขอกู้เงินธนาคารนั่นเอง
บอจ.5 คัดและขอได้ที่ไหนบ้าง?
เอกสาร บอจ.5 จะมาพร้อมกับการจดจัดตั้งทะเบียนบริษัทสำเร็จ หากมีการยื่นขอการจดทะเบียนด้วยเอกสาร ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในชุดเอกสารจัดตั้งบริษัท ก็จะมีเอกสาร บอจ.5 ประกอบอยู่ด้วย หรือสามารถยื่นขอใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมธุรกิจการค้า
การขอเอกสาร บอจ.5 มีขั้นตอนอย่างไร?
การขอเอกสาร บอจ.5 สามารถขอด้วยตนเองผ่านช่องเว็บไซต์กรมธุรกิจการค้าได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เข้าสู่ระบบของเว็บไซต์กรมธุรกิจการค้า โดยชื่อชื่อ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ได้สร้างไว้เมื่อจดทะเบียนการค้าออนไลน์ (E-Registration) หากยังไม่มี สามารถสมัครใหม่ได้เลย (เว็บไซต์กรมธุรกิจการค้า)
- เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว เลือกหัวข้อ “หนังสือรับรองนิติบุคคล รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารทางทะเบียน งบการเงิน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น”
- เลือกรับไฟล์เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
- ระบบจะขึ้นหน้าจอให้เลือกประเภทหนังสือ โดยเลือกเป็น “รับรองสำเนา”
- หลังจากเลือกรับรองสำเนา หน้าจอจะปรากฏรายการเอกสารที่ต้องการ สามารถเลือกเอกสาร บอจ.5 ได้เลย โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการออกเอกสารดังกล่าวก่อน
- เมื่อชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว จะมีอีเมลแจ้งเตือนการส่งเอกสาร หลังจากได้รับอีเมล ให้เข้าสู่ระบบบนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกครั้ง ซึ่งเอกสาร บอจ.5 จะปรากฏให้เลือกดาวน์โหลด จากนั้นคลิกดาวน์โหลด ก็อันเสร็จเรียบร้อย
บอจ.5 คือบัญชีแสดงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท
บอจ.5 ต้องยื่นเมื่อไร?
เอกสาร บอจ.5 เป็นเอกสารที่ต้องดำเนินการส่งต่อกรมธุรกิจการค้า อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ภายใน 14 วัน หลังจากวันที่บริษัทมีการประชุมสามัญเสร็จสิ้น ตัวอย่างเช่น หากมีการจัดการประชุมสามัญวันที่ 1 พฤษภาคม เท่ากับว่าเอกสาร บอจ.5 จะต้องส่งถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในวันที่ 15 พฤษภาคม หากเกินกำหนดดังกล่าว จะเป็นการผิดกฎหมายมาตรา 1139 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะมีโทษปรับผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท คนละ 2,000 บาท
เอกสาร บอจ.5 ถือเป็นเอกสารสำคัญที่เจ้าของธุรกิจต้องมีความเข้าใจในการใช้งานเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว นอกจากการทำธุรกิจที่คล่องตัวแล้ว เรื่องการใช้จ่ายก็เป็นอีกเรื่องที่เจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญ อย่าลืมมองหาตัวช่วย อย่างบัตรเครดิต KTC ที่พร้อมช่วยให้ทุกการใช้จ่ายของคุณง่ายขึ้น ด้วยบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และสะสมคะแนน KTC FOREVER ได้ไม่จำกัด พร้อมสิทธิพิเศษจากพาร์ทเนอร์แบรนด์ดังมากมาย รวมไปถึงยังสามารถเปลี่ยนวงเงินในบัตรฯ เป็นเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียนธุรกิจยามฉุกเฉินได้ ช่วยอำนวยความสะดวกทุกการใช้จ่าย เป็นเจ้าของธุรกิจก็สมัครบัตรเครดิต KTC ได้ไม่ยาก สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ สมัครง่ายผ่านเว็บไซต์ได้เลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC