ยุคนี้ใครๆ ก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้ เพราะปัจจุบันรายได้จากงานประจำอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป การมีอาชีพเสริมเพิ่มช่องทางรับเงินหลายกระเป๋าให้รวยได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ เปิดร้านค้าออนไลน์ เปิดช่องทำคอนเทนต์ หรือการเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง
แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจเริ่มโต สิ่งที่หลายคนกำลังสงสัยในขั้นตอนต่อไปก็คือ “การจดทะเบียนบริษัท” แล้วทำไมต้องจดบริษัท? ควรจดเมื่อไร? จดทะเบียนบริษัทแบบไหนดี? ใช้เอกสารอะไรบ้าง? ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่? และขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจะยุ่งยากหรือไม่? ในบทความนี้เราจะอธิบาย ไขข้อข้องใจ พร้อมตอบทุกคำถามรับรองว่าอ่านจบแล้วสามารถเปิดบริษัทได้เลย
การจดทะเบียนบริษัท มีกี่แบบ?
การจดทะเบียนบริษัทหลักๆ จะมี 2 แบบ
- ทะเบียนพาณิชย์ หรือ บุคคลธรรมดา
จดทะเบียนการค้าสำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องการประกอบธุรกิจ ซึ่งเจ้าของกิจการดำเนินธุรกิจในนามส่วนตัวไม่ใช้ชื่อบริษัท อาจจะเป็นร้านค้า หรือกิจการเจ้าของคนเดียว
- ทะเบียนนิติบุคคล
ธุรกิจที่มีผู้ร่วมเป็นเจ้าของตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และจะจดทะเบียนในนามบริษัท ทั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือรูปแบบอื่นๆ
อย่างไรก็แล้วแต่ การจดทะเบียนบริษัท มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คุณควรเลือกรูปแบบให้เหมาะกับขนาด และเป้าหมายธุรกิจ ซึ่งต้องพิจารณาจากปัจจัยด้านภาษี ความรับผิดชอบ และแผนระยะยาวของธุรกิจด้วย
การสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง และการจดทะเบียนบริษัทเป็นอีกหนึ่งความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า
ทำไมต้องจดบริษัท และควรจดเมื่อไรดี?
เหตุผลหลักในการจดทะเบียนบริษัทเพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ การเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดามาจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งเงินทุนจดทะเบียน เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ ผู้ร่วมทุน หรือผู้ถือหุ้น การทำบัญชี ปิดงบทางการเงิน การตรวจสอบบัญชี ฯลฯ ทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อมากขึ้นกับสถาบันการเงิน คู่ค้า ลูกค้า ทั้งยังง่ายต่อการขยายธุรกิจ เพราะความสามารถในการจ่ายค่าทุนจดทะเบียนบริษัท หมายถึงความสามารถในการรับผิดชอบระหว่างการทำธุรกิจร่วมกัน อีกทั้งยังทำให้การเจรจาต่อรองทางธุรกิจเป็นไปได้ง่ายขึ้น
สำหรับคำตอบว่าควรจดทะเบียนบริษัทเมื่อไรดี คือ เมื่อต้องเสียภาษีมากกว่า 20% โดยเพดานสูงสุดของอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 35% ในขณะที่การเสียภาษีในฐานะนิติบุคคล มีเพดานสูงสุดของการคิดภาษีเพียง 20% ดังนั้นหากดำเนินธุรกิจในฐานะบุคคลธรรมดา ที่ต้องเสียภาษีสูงเกิน 20% ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญในการใช้ตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนมาจดทะเบียนบริษัท
เอกสารต้องเตรียมในการจดทะเบียนบริษัท
9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ และไม่ได้ยุ่งยากแบบที่หลายคนคิด เพียงแต่ต้องศึกษา และเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม และทำตามขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทต่อไปนี้
1. ศึกษาข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อต้องการจดทะเบียนบริษัท ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนว่าการจดทะเบียนบริษัทมีกี่แบบ? และแบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจของเรา รวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมายต่างๆ โดยการจดทะเบียนนิติบุคคลสามารถทำได้ 3 รูปแบบดังนี้
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนร่วมกันรับผิดชอบในหนี้สิน แบบไม่จำกัดจำนวนแต่อาจตกลงให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้ - ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำการจดทะเบียนนิติบุคคลโดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วนจะแบ่งเป็น “จำกัด” และแบบ “ไม่จำกัด” ความรับผิดในหนี้สินของกิจการ - หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน หุ้นส่วนประเภทนี้จะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ ในการบริหารงาน แต่มีสิทธิที่จะสอบถามถึงการดำเนินงานของกิจการได้
- หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการและจะมีสิทธิตัดสินใจต่างๆในกิจการได้อย่างเต็มที่
- บริษัท
การจดทะเบียนในรูปของบริษัท ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการแบบจำกัด คือผู้ถือหุ้นมีภาระเพียงแค่จะต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก ด้วยการจำกัดความรับผิดนี่เองที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนแบบบริษัทจำกัด
ดังนั้น การจดทะเบียนบริษัทคนเดียว ในปัจจุบันจึงยังไม่สามารถทำได้ แต่ผู้ประกอบการคนเดียวสามารถไปจดทะเบียนการค้าเพื่อยืนยันถึงการประกอบธุรกิจที่ถูกต้องและเมื่อใดที่มีรายได้ถึง เกณฑ์จดภาษีมูลค่าเพิ่มก็ควรจดทะเบียนเพื่อออกใบกำกับภาษีเวลา มีการขายหรือให้บริการในนามบุคคลธรรมดาได้เช่นกัน
2. การจดทะเบียนบริษัทใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องเตรียมในการยื่นจดทะเบียน ได้แก่
- แบบคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด ดาวน์โหลดที่นี่
- แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- หนังสือบริคณห์สนธิ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200 บาท
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง
- แบบวัตถุประสงค์
- แบบรายละเอียดกรรมการ
- ใบแจ้งผลจองชื่อนิติบุคคล (ยังไม่หมดอายุ)
- หลักฐานในการเห็นชอบการจัดตั้งบริษัท
- แบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ซื้อหุ้นในการประชุมให้ความเห็นในกิจการจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ
- สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
- สำเนาข้อบังคับ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200 บาท
- สำเนาหลักฐานการชำระหุ้นที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น
โดยเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง ส่วนเอกสารประจำตัวผู้ถือหุ้นสามารถลงชื่อด้วยตัวเองได้เลย
3. ตั้งชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียนและวิธีจองชื่อบริษัท
การตั้งชื่อบริษัทที่ถูกต้อง ควรหลีกเลี่ยงคำที่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ ไม่ใช่ชื่อประเทศ ไม่ใช้ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่ชื่อส่วนของราชการ
โดยวิธีการตรวจและจองชื่อบริษัทมี 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
- สมัครสมาชิกฟรีที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- เข้าไปที่ จองชื่อ / ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล
ซึ่งเราสามารถทำการจองชื่อบริษัทได้ 3 ชื่อ แต่ละชื่อต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้ว
4. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน
ขั้นตอนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คือการยื่นหนังสือแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้ยื่นต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันหลังจากที่นายทะเบียนได้ลงชื่อบนเอกสาร โดยข้อมูลที่ตั้งรายงานมีดังนี้
- ชื่อของบริษัท (ที่ได้จองไว้)
- ข้อมูลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ / สาขา จังหวัดที่ตั้ง รหัสประจำบ้านของที่ตั้งสำนักงาน อีเมล เบอร์โทรศัพท์บริษัท และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกรรมการและชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (ถ้ามี)
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ สัญชาติ พยานจำนวน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จำนวนทุน (มูลค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว ต้องมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ กรรมการ
- รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท
- ชื่อ-เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ-ที่อยู่ สัญชาติและจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น
5. เปิดให้จองหุ้น และนัดประชุมผู้ถือหุ้น
ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเท่านั้น ใครๆ ก็สามารถซื้อหุ้นบริษัทได้ โดยจะต้องถืออย่างน้อย 1 หุ้นขึ้นไป จากนั้นเมื่อทำการจองซื้อหุ้นบริษัทจนครบแล้ว จะต้องออกหนังสือเพื่อทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทอีกครั้งเพื่อทำการจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดการประชุมจะจัดหลังออกหนังสืออย่างน้อย 7วัน
6. จัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท
จัดการประชุมเพื่อให้เข้าใจข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบริษัทร่วมกันไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่ม กิจการหรือผู้ก่อตั้ง รวมถึงกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ
7. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท
การประชุมจัดตั้งกรรมการบริษัท เพื่อมาทำหน้าที่แทนผู้ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในนามบริษัท ด้วยการทำหน้าที่เก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาหุ้นจริง เมื่อเก็บครบแล้วจะทำการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท โดยต้องยื่นภายใน 3 เดือนหลังจากที่มีการประชุมจัดตั้งเท่านั้น หากล่าช้าจะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะและต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง
8. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท
สำหรับข้อสงสัยที่ว่าจดทะเบียนบริษัท ใช้เงินเท่าไหร่? สามารถแบ่งได้ดังนี้
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท มีดังนี้
- ค่าหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน 50 บาท
- ค่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด 5,000 บาท
ทุนในการจดทะเบียนบริษัท
เราควรใช้ทุนในการจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่ ข้อนี้ต้องรู้จักคำว่า “ทุนจดทะเบียน” ของนิติบุคคลซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือในการติดต่อธุรกิจ มูลค่าทุนจดทะเบียนมาก บริษัทยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการรับงาน ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ อาทิ
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล / ห้างหุ้นส่วนจำกัด ในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนไม่ต้องแบ่งทุนออกเป็นหุ้นเหมือนกรณีการจดทะเบียนบริษัท และไม่มีการกำหนดขั้นต่ำของทุนจดทะเบียน โดยส่วนใหญ่การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจะอยู่ที่ 250,000-1,000,000 บาท
ในกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด ไม่สามารถลงทุนด้วยแรงงานได้เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทนี้มีความรับผิดชอบหนี้สินของกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน จึงไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนโดยตรงเหมือนหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
- บริษัทจำกัด การจดทะเบียนบริษัท นิยมจดทะเบียนกันที่ 1 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งในการติดต่อทำธุรกิจ และอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจเป็น 5,000 บาท ไม่ว่าทุนจดทะเบียนจะมีมูลค่าเท่าใด เช่น ถ้ากิจการเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ในการจดทะเบียนบริษัท กิจการต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท 5,000 บาท ถ้าต่อมา กิจการต้องการเพิ่มทุนเป็น 1 ล้านบาท กิจการก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม ในการจดทะเบียนอีก 5,000 บาท ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะจดทะเบียนเมื่อเริ่มต้นธุรกิจที่ 1 ล้านบาทเลย
9. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้นแล้ว สามารถขอรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทได้ที่นายทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ ที่แสดงว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยสมบูรณ์
การจดทะเบียนบริษัทออนไลน์
การจดทะเบียนบริษัทออนไลน์
การดำเนินงานจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจปัจจุบันมีความทันสมัย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดกว่าการจดทะเบียนในรูปแบบกระดาษ นอกจากผู้ประกอบการจะสามารถยื่นขอจดทะเบียนด้วยการยื่นเอกสารโดยตรงแล้ว ยังสามารถเลือกจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
ขั้นตอน 1 จดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
- เข้าสู่ระบบ DBD e-Registration ลงทะเบียนผู้ใช้งานและยืนยันตัวตน เพื่อรับ Username และ Password ทั้งนี้ต้องเปิดใช้งานผ่าน e-mail ภายใน 30 วัน
- Log-in โดยใช้ Username และ Password ข้างต้น เพื่อเข้าสู่ระบบ และสร้างคำขอการจดทะเบียนนิติบุคคล
ขั้นตอน 2 จดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
- กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท และ upload file ตราประทับและแผนที่ตั้งสำนักงาน
- ส่งคำขอเพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบ
ขั้นตอน 3 จดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
- เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเรียบร้อยจะได้รับ Email แจ้ง
- ทำการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอน 4 จดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทและชำระค่าธรรมเนียม
ขั้นตอน 5 จดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
ผู้ประกอบการรับเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจดทะเบียน เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อย
โดยจะต้องขอคัดเอกสารผ่านทางบริการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา และการขอถ่ายเอกสารทางอินเทอร์เน็ต (e-Service)
- ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท
- หนังสือรับรอง
- หนังสือบริคณห์สนธิ
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
เพียงทำตาม 9 ขั้นตอน เท่านี้เราก็สามารถจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองได้แล้ว! เมื่อเริ่มเปิดบริษัทสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนคือ ลูกค้า ไม่ว่าจะฐานลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ เราต้องไม่ลึมคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า สร้างโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น Membership สะสมคะแนน แลกส่วนลด, e-Coupon เป็นต้น
และเพื่อตอบโจทย์ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) การเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจเราได้อีกด้วย ทั้งการ สแกน QR Code หรือการจ่ายเงินแบบการใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิต
ดังนั้นร้านค้าควรมีเครื่องรูดบัตร EDC, QR PAY ฯลฯ สำหรับธุรกิจที่สนใจ มองหาการชำระเงินจากหลากหลายช่องทาง สามารถใช้บริการ KTC Merchant ที่มีบริการรับชำระเงินหลากหลายรูปแบบเพื่อธุรกิจร้านค้า ครอบคลุมทุกการใช้งาน ทั้งเครื่องรูดบัตร EDC, QR Pay รับชำระเงินผ่าน QR Code, LINK PAY รับชำระเงินด้วยลิงก์, Payment Gateway บริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ อีกทั้งยังมีบริการ ALIPAY & ALIPAY+ รองรับการชำระเงินด้วยอาลีเพย์ สำหรับชาวจีนอีกด้วย สนใจสอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายบริการร้านค้า 02 123 5700 กด 3 หรือ สมัคร KTC Merchant ผ่านออนไลน์ ได้เช่นกัน
ตอบรับทุกการจ่าย ด้วยเครื่องรูดบัตร KTC MERCHANT