โลจิสติกส์ (Logistics) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัลให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ หรืออุตสาหกรรมการผลิต ก็ล้วนแต่ต้องพึ่งพาโลจิสติกส์ทั้งสิ้น ซึ่งการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพนั้น สามารถลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่ง และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ว่าโลจิสติกส์ คืออะไร โลจิสติกส์ ทํางานอะไร มีกี่ประเภท และทำไมถึงสำคัญต่อการทำธุรกิจในยุคนี้
โลจิสติกส์ (Logistics) คืออะไร ?
โลจิสติกส์ คือ กระบวนการบริหารจัดการการไหลเวียนของสินค้า บริการ ข้อมูล และทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดเก็บสินค้า การควบคุมสินค้าคงคลัง การแพ็กสินค้า การขนส่ง การกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ
โลจิสติกส์ (Logistics) มีกี่ประเภท ?
โลจิสติกส์สามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทตามลักษณะของการดำเนินงาน ดังนี้
1.Inbound Logistics
โลจิสติกส์ขาเข้า หรือ Inbound Logistics คือ กระบวนการส่งมอบวัตถุดิบ ส่วนประกอบ และทรัพยากรที่จำเป็นให้ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตให้สำเร็จ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดซื้อ การขนส่ง การจัดเก็บสินค้า และการควบคุมสินค้าคงคลัง รวมไปถึงการประสานงานกับซัพพลายเออร์ การปรับเส้นทางขนส่งให้เหมาะสม และการบริหารสินค้าคงคลังเพื่อลดต้นทุน
2.Outbound Logistics
โลจิสติกส์ขาออก หรือ Outbound Logistics คือการกระจายสินค้าสำเร็จรูปจากผู้ผลิตไปยังบริษัทขนส่ง จนถึงลูกค้าปลายทางให้ตรงเวลา และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด การบริหารโลจิสติกส์ขาออกที่ดีนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในตลาด
เพราะมีผลต่อความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย ดังนั้น การวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ เช่น การเลือกวิธีขนส่ง เส้นทาง และศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
3.Reverse Logistics
โลจิสติกส์ย้อนกลับ หรือ Reverse Logistics คือ กระบวนการจัดการสินค้าที่ผู้บริโภคส่งคืนกลับมายังผู้ผลิต ยกตัวอย่างเช่น การมีนโยบายคืนสินค้ากรณีสินค้าที่ได้รับมีข้อบกพร่อง การรับซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ ตลอดจนการนำสินค้าหรือวัสดุที่ไม่สามารถใช้ต่อได้ไปรีไซเคิลเพื่อการใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเป้าหมายหลักคือการจัดการสินค้าคืนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสีย และปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม
4.Third-party Logistics (3PL) : โลจิสติกส์บุคคลที่สาม
โลจิสติกส์บุคคลที่สาม (3PL) เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ธุรกิจมอบหมายหน้าที่ด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ให้บริการเฉพาะทาง ซึ่งครอบคลุมบริการต่างๆ เช่น การขนส่ง การจัดเก็บสินค้า การดำเนินการคำสั่งซื้อ การบริหารสินค้าคงคลัง และการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง จุดมุ่งหมายของโลจิสติกส์รูปแบบนี้ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งการร่วมมือกับผู้ให้บริการ 3PL จะช่วยให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรของผู้ให้บริการ ทำให้สามารถมุ่งเน้นที่ธุรกิจหลักได้ดีขึ้น อีกทั้งการบร่วมมือกับ 3PL จะช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบันได้
5.Fourth-party Logistics (4PL) : โลจิสติกส์บุคคลที่สี่
โลจิสติกส์บุคคลที่สี่ 4PL เป็นการใช้บริการบริษัทโลจิสติกส์เพียงแห่งเดียวในการให้คำปรึกษาและดูแลการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การวางแผน การบริหารจัดการ และการติดตามการส่งสินค้าไปยังลูกค้า ซึ่งการมีพันธมิตรด้าน 4PL ที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากบริษัท 4PL จะดูแลกระบวนการโลจิสติกส์ทั้งหมดแบบครบวงจร
(อ้างอิง https://www.invensis.net/blog/types-of-logistics
https://tassgroup.com/logistics/types-of-logistics/)
ทำไมปัจจุบันโลจิสติกส์ (Logistics) สำคัญต่อธุรกิจ ?
โลจิสติกส์ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ลองมาดูกันว่าทำไมโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน
1.เพราะการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้บริโภคคาดหวังการจัดส่งที่รวดเร็วและแม่นยำ หากธุรกิจมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี ก็จะช่วยให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้ตรงเวลา ลดปัญหาการคืนสินค้า และเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ด้วย
2.มีการแข่งขันด้านความเร็วในการจัดส่ง
ธุรกิจที่สามารถจัดส่งสินค้าได้เร็วย่อมได้เปรียบคู่แข่ง เช่น บริการจัดส่งสินค้าภายใน 1 วัน หรือมีบริการแมสเซนเจอร์ สามารถจัดส่งได้ทันทีภายใน 2 ชั่วโมง
3.ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้
ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เป็นต้นทุนหลักของหลายธุรกิจ การบริหารโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น การเลือกเส้นทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ หรือการใช้ Smart Warehouse ในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในคลังและลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในการจัดเก็บ
4.ช่วยขยายตลาดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ธุรกิจที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาภายในประเทศหรือการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศก็ตาม
5.ทำให้การจัดการซัพพลายเชนให้มีความต่อเนื่อง
หากระบบโลจิสติกส์ขาดประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งหมด เช่น วัตถุดิบขาดแคลน หรือสินค้าถึงมือลูกค้าล่าช้า ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเสียลูกค้าไปให้กับคู่แข่งได้
โลจิสติกส์ คือ การวางแผน ดำเนินการ และควบคุมการส่งสินค้า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ไปจนถึงปลายทางผู้บริโภคหรือร้านค้า
13 กิจกรรมโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง ?
1. การขนส่ง (Transportation)
เป็นการบริหารการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยใช้ยานพาหนะ เช่น รถบรรทุก เรือ เครื่องบิน หรือรถไฟ ซึ่งการเลือกวิธีขนส่งที่เหมาะสมกับตัวสินค้านั้น จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภคได้
2. การบริหารคลังสินค้า (Warehousing and Storage)
เป็นการจัดเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบในสถานที่ที่ปลอดภัยและสะดวกต่อการกระจายสินค้า ซึ่งรวมถึงการวางแผนตำแหน่งสินค้าและการจัดการพื้นที่ภายในคลังให้มีประสิทธิภาพด้วย
3. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
การบริหารและควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะหากสินค้าขาดแคลนก็จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ หรือถ้ามีสินค้าคงคลังมากเกินไปก็จะเกิดต้นทุนในการจัดเก็บและเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของสินค้า ดังนั้น การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการป้องกันปัญหาทางการเงินในระยะยาว
4. การบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packing & Packaging)
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับสินค้า วัสดุหีบห่อมีความแข็งแรง ทนทาน จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งและจัดเก็บ อีกทั้งช่วยป้องกันสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพที่ดีเมื่อถึงมือผู้บริโภค และยังช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้อีกด้วย
5. การจัดซื้อ (Procurement)
การจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตหรือการให้บริการถือเป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น คุณภาพ ราคา ความน่าเชื่อถือของซัพพลายเออร์ โดยการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดส่ง และสามารถรับประกันคุณภาพสินค้าได้ จะช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและช่วยประหยัดต้นทุนได้ด้วย
6. การคาดการณ์ความต้องการ (Demand Forecasting)
การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า จะช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนจัดเก็บสินค้าและการขนส่งได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าหรือมีสินค้าคงคลังมากเกินไป เพราะทั้งสองปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในด้านต้นทุนและความพึงพอใจของลูกค้าอีกด้วย
7. การจัดการคำสั่งซื้อ (Order Management)
การจัดการคำสั่งซื้อเริ่มต้นตั้งแต่ลูกค้าทำการสั่งซื้อสินค้า การตรวจสอบสถานะของสินค้าคงคลัง การตรวจสอบข้อมูลการจัดส่ง การประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ภายในบริษัท ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้า ซึ่งการทำงานร่วมกับระบบการจัดการคำสั่งซื้อที่ดี จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลา ส่งผลให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีและเกิดความพึงพอใจ
8. การเลือกที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า (Plant and Warehouse Site Selection)
การเลือกที่ตั้งของโรงงานและคลังสินค้าต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ต้นทุนในการขนส่ง ระยะทาง ซึ่งการเลือกทำเลที่เหมาะสมจะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนในการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าได้
9. การจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วน (Part and Service Support)
การให้บริการหลังการขายที่ดี เช่น การจัดเตรียมอะไหล่หรือชิ้นส่วนสำรองให้พร้อมใช้งาน ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่สำคัญ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้สินค้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่เกิดการชำรุดหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใดๆ นั่นเอง
10. โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)
โลจิสติกส์ย้อนกลับเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าเมื่อลูกค้าส่งกลับมาหลังจากที่ขายไปเรียบร้อยแล้ว เช่น การคืนสินค้า การขอเปลี่ยนสินค้า การซ่อมแซม การกำจัดสินค้าที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยกระบวนการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอีกด้วย
11. การให้บริการลูกค้า (Customer Service)
เป็นการดูแลลูกค้าตลอดกระบวนการขนส่ง เช่น การตรวจสอบข้อมูลการจัดส่ง การนำส่งสินค้าที่ถูกต้อง การแจ้งเตือนสถานะการจัดส่ง การแก้ไขปัญหาสินค้าล่าช้า และการรับมือกับคำร้องเรียน เพื่อสร้างความพึงพอใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า
12. การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ (Material Handling)
เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบภายในกระบวนการผลิต การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างผลิต ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปภายในโรงงาน ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการลดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ขั้นตอนการผลิตดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
13. การติดต่อสื่อสารทางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Communications)
การสื่อสารภายในองค์กรและระหว่างองค์กรกับคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำให้กระบวนการโลจิสติกส์ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลาจะช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และทำให้กระบวนการทั้งหมดมีความคล่องตัว
(อ้างอิง https://www.bsgroupth.com/blog/8545/ิ?srsltid=AfmBOoqedatplfYfL96REVfnIGcuiA1GNbiwXRqyNhq9hEC3uHGwdQk7 https://www.facebook.com/logistics2014/photos/a.449986048478494.1073741829.443148885828877/524057234404708/?type=1&theater)
โลจิสติกส์ คือกระบวนการที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำ แต่ยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วย
หากคุณกำลังมองหาวิธีที่ช่วยให้การบริหารการเงินของธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น บัตรเครดิต KTC คืออีกหนึ่งทางเลือกที่คุณไม่ควรพลาด ด้วยการให้วงเงินที่พร้อมใช้จ่ายกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ทำให้คุณสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างคล่องตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนเงินทุนระหว่างการดำเนินงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ บัตรเครดิต KTC ยังมาพร้อมสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่คุ้มค่าทุกการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการสะสมคะแนน KTC FOREVER โดยทุก 25 บาท ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ จะได้รับ 1 คะแนน เพื่อแลกสินค้า / บริการ ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการ และคะแนนไม่มีวันหมดอายุ ซึ่งคุณสามารถสะสมไว้ใช้แลกสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ ทั้งส่วนลดร้านค้า บัตรกำนัล ไมล์สายการบิน ส่วนลดที่พักและโรงแรมชั้นนำ หรือบริการต่างๆ มาพร้อมโปรโมชั่นผ่อน 0% สำหรับการซื้อชำระสินค้าและบริการ ที่ให้คุณแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้นานสูงสุดถึง 10 เดือน เป็นต้น สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์วันนี้ พร้อมรับสิทธิประโยชน์มากมายที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจคุณ
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC