รวมเรื่องต้องรู้ในการต่อภาษีรถยนต์แบบครบจบ
การต่อภาษีรถยนต์ เป็นหน้าที่ที่คนใช้รถจะต้องทำเป็นประจำทุกปี เพราะถือเป็นการจ่ายภาษีในการใช้งานรถยนต์บนท้องถนนให้กับภาครัฐ เพื่อนำเงินภาษีส่วนนี้ไปปรับปรุง หรือพัฒนาถนนหนทาง และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการคมนาคมทั้งหมด แต่สำหรับคนที่เพิ่งจะมีรถ หรืออาจจะลืมไปแล้วว่าการต่อภาษีรถยนต์ ใช้อะไรบ้าง ต่อได้ที่ไหน และมีราคาเท่าไหร่ วันนี้ทาง KTC เรามีข้อมูลดีๆ มาฝากสำหรับคนที่ใกล้ครบกำหนดในการต่อภาษีประจำปีกัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การต่อภาษีรถยนต์ คืออะไร ต่างจาก พ.ร.บ. ไหม
- สิ่งที่ต้องรู้ก่อนต่อภาษีรถยนต์
- ต่อภาษีรถยนต์ ใช้อะไรบ้าง
- ต่อภาษีรถยนต์ ราคาเท่าไหร่
- สามารถต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนได้บ้าง
- สะดวกต่อภาษีรถยนต์ เสาร์-อาทิตย์ 2567 ต้องไปที่ไหนดี
- อยากต่อภาษีรถยนต์ทางออนไลน์ ทำได้ไหม
- สรุปบทความ รวมเรื่องต้องรู้ในการต่อภาษีรถยนต์แบบครบจบ
การต่อภาษีรถยนต์ คืออะไร ต่างจาก พ.ร.บ. ไหม
การต่อภาษีรถยนต์ คือการจ่ายเงินภาษีให้กับภาครัฐในการใช้งานรถบนท้องถนน โดยทางภาครัฐจะนำงบประมาณที่ได้จากภาษีส่วนนี้ ไปปรับปรุง และพัฒนาในส่วนของงานคมนาคมต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะต่างจากการทำ พ.ร.บ. รถยนต์ ที่เป็นประกันภัยภาคบังคับจากทางภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากการใช้รถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณี หรือผู้เดินเท้าที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ได้รับความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยต่างๆ รวมไปถึงกรณีเสียชีวิต
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนต่อภาษีรถยนต์
เมื่อพูดถึงเรื่องการต่อภาษีรถยนต์ ก่อนอื่น เราขออธิบายถึงเงื่อนไข และรายละเอียดคร่าวๆ ในการเสียภาษีรถยนต์กันให้มากขึ้นดีกว่า โดยเฉพาะการต่อที่ล่าช้าจนเลยกำหนด และโทษปรับที่อาจจะต้องเสียตามมา ว่ามีอะไรกันบ้าง
- ในการต่อภาษีรถยนต์ จำเป็นจะต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ ที่เป็นประกันภัยภาคบังคับก่อน ไม่งั้นจะไม่สามารถต่อภาษีได้
- การต่อภาษีรถยนต์ สามารถต่อล่วงหน้าได้ 90 วัน หรือ 3 เดือน ในปีภาษีที่กำลังจะหมดอายุลง เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถวางแผนจัดการงบประมาณ และช่วงเวลาที่สะดวกในการยื่นต่อ
- กรณีเลยกำหนดในการต่อภาษีรถยนต์ จะมีการนับเวลาในการขาดต่อที่ 1-3 ปี ในทางกฎหมาย และต้องเสียค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน แม้จะขาดต่อเกิน 1 วัน ก็จะถูกปัดเป็น 1 ปีด้วยเช่นกัน
- กรณีขาดต่อภาษีเกิน 3 ปีขึ้นไป ป้ายทะเบียนจะถูกยกเลิก และจำเป็นจะต้องนำป้ายทะเบียนเดิมไปคืนกับทางกรมขนส่งทางบก เพื่อยื่นขอจดทะเบียนป้ายใหม่ และชำระค่าปรับทั้งหมด
- ในการต่อภาษีรถยนต์ รถที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพทุกครั้ง (ตรอ.) ถึงจะยื่นต่อภาษีประจำปีได้
ต่อภาษีรถยนต์ ใช้อะไรบ้าง
การต่อภาษีรถยนต์ต้องใช้อะไรบ้าง หลายคนอาจจะลืมตรงนี้ไป ซึ่งเอกสารที่ใช้นั้นมีแค่ไม่กี่อย่าง ได้แก่
- เล่มทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริงหรือสำเนา)
- หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ (ตรอ.) สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป
- พ.ร.บ. รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ
ต่อภาษีรถยนต์ ราคาเท่าไหร่
ในการต่อภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง อย่างรถเก๋ง หรือรถกระบะ จะใช้ขนาดของเครื่องยนต์เป็นเกณฑ์คำนวณค่าภาษี โดยจะแบ่งเป็นรายละเอียด ดังนี้
- เครื่องยนต์ขนาดตั้งแต่ 1 - 600 CC : จะคิดอัตราภาษีรถยนต์ที่ CC ละ 50 สตางค์
- เครื่องยนต์ขนาดตั้งแต่ 601 - 1,800 CC : จะคิดอัตราภาษีรถยนต์ที่ CC ละ 1.50 บาท
- เครื่องยนต์ขนาดตั้งแต่ 1,801 CC ขึ้นไป : จะคิดอัตราภาษีรถยนต์ที่ CC ละ 4 บาท
แต่ทางภาครัฐก็ได้มีการให้ส่วนลดกับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานหลายปีด้วยเช่นกัน ยิ่งมีอายุการใช้งานเยอะ ก็จะได้รับส่วนลดเยอะ โดยจะมีรายละเอียดส่วนลด ดังนี้
- รถที่มีอายุการใช้งาน 6 ปี : จะได้รับส่วนลดในการต่อภาษีที่ 10%
- รถที่มีอายุการใช้งาน 7 ปี : จะได้รับส่วนลดในการต่อภาษีที่ 20%
- รถที่มีอายุการใช้งาน 8 ปี : จะได้รับส่วนลดในการต่อภาษีที่ 30%
- รถที่มีอายุการใช้งาน 9 ปี : จะได้รับส่วนลดในการต่อภาษีที่ 40%
- รถที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี : จะได้รับส่วนลดในการต่อภาษีที่ 50%
สามารถต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนได้บ้าง
สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าสามารถต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนได้บ้าง เรารวมมาให้แบบครบจบกันไปเลย สะดวกที่ไหน ก็เดินทางไปต่อกันได้ทันที โดยจะแบ่งเป็น 5 จุดหลัก ดังนี้
ต่อภาษีรถยนต์ที่สำนักงานขนส่ง
สถานที่แรกที่ทุกคนน่าจะคุ้นชินกันดี ก็คือสำนักงานขนส่งทั่วกรุงเทพ ที่สามารถเข้าไปยื่นต่อภาษีได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1
- ที่อยู่ 1005 ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
- โทร 02-415-7337
- เวลาทำการ 7.30 น .- 15.30 น. (จันทร์ - ศุกร์)
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2
- 51 ถนนสวนผัก แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
- 02-4334-732
- เวลาทำการ 7.30 น. - 15.30 น. (จันทร์ - ศุกร์)
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3
- 2479 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260
- 02-332-9688
- เวลาทำการ 7.30 น. - 15.30 น. (จันทร์ - ศุกร์)
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4
- 34 หมู่ 6 ถนนร่วมพัฒนา แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530
- 02-543-5500-2
- เวลาทำการ 8.30 น. - 16.30 น. (จันทร์ - ศุกร์)
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 (กรมการขนส่งทางบก)
- ที่อยู่ 1032 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
- โทร 0-2272-3100
- เวลาทำการ 8.30 น. - 16.30 น. (จันทร์ - ศุกร์)
ต่อภาษีรถยนต์ที่ทำการไปรษณีย์
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ หรืออาจจะไม่ได้อยู่ใกล้สำนักงานขนส่งมากนัก ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวก แต่จะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก 40 บาท และป้ายภาษีรถยนต์จะถูกส่งไปตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในภายหลัง
เวลาทำการ
- เขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 8.30 น. - 19.00 น. (จันทร์ - เสาร์)
- เขตพื้นที่ต่างจังหวัด 8.30 น .- 16.30 น. (จันทร์ - เสาร์)
ต่อภาษีรถยนต์ที่ห้างสรรพสินค้า
ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) ก็เป็นอีกสถานที่ในการยื่นต่อภาษีได้เช่น โดยมีจุดที่ต่อได้ทั้งหมด ดังนี้
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ลด์ : เวลาให้บริการ 11.00 น. - 18.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์)
- ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค : เวลาให้บริการ 10.00 น. - 18.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์)
- ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ : เวลาให้บริการ 09.00 น. - 17.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์) ให้บริการในสาขาลาดพร้าว, สมุทรปราการ, สำโรง, บางนา, รัชดาภิเษก, บางปะกอก, เพชรเกษม, บางบอน, สุขาภิบาล 3, อ่อนนุช, แจ้งวัฒนะ, สุวินทวงศ์, บางใหญ่, รามอินทรา
- ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล : เวลาให้บริการ 10.00 น. - 18.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์) ให้บริการในสาขาศาลายา, เวสต์เกต, แจ้งวัฒนะ
- ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน : เวลาให้บริการ 10.00 น. - 18.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์)
- ศูนย์บริการร่วมกระทรวงคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : เวลาให้บริการ 08.30 น. - 15.00 น. (จันทร์ - ศุกร์)
ต่อภาษีรถยนต์ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส
เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นอีกหนึ่งจุดในการยื่นต่อภาษี ที่หลายคนน่าจะใช้บริการกันเป็นประจำ เพราะว่ามีสาขาตามร้านสะดวกซื้อเยอะที่สุด แต่จะมีค่าบริการ 20 บาท และมีค่าในการจัดส่งป้ายภาษีทางไปรษณีย์ตามที่อยู่อีก 40 บาท
- ร้านสะดวกซื้อ 7 - Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ
- ให้บริการตลอด 24 ชม.
ต่อภาษีรถยนต์ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
อีกหนึ่งสถานที่ในการต่อภาษี ก็คือธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่จะมีเงื่อนไขในการต่อดังนี้
- รถยนต์ที่นำมาต่อภาษี จะต้องค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี หรือมีภาษีค้างชำระเกิน 1 ปี และเป็นรถที่นายทะเบียนได้ประกาศยกเว้นการตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษี
- ยื่นต่อภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันครบกำหนด ยกเว้นกรณีค้างชำระภาษี ที่สามารถยื่นได้ทันที
สะดวกต่อภาษีรถยนต์ เสาร์-อาทิตย์ 2567 ต้องไปที่ไหนดี
หากสะดวกต่อภาษีรถยนต์ เสาร์ - อาทิตย์ ควรไปต่อตามห้างสรรพสินค้า หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสใกล้บ้าน ที่เราให้รายละเอียดไว้ด้านบน น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด หรือหากไม่อยากเสียเวลาในการขับรถออกไปดำเนินการ ก็สามารถต่อแบบออนไลน์ได้เช่นกัน
อยากต่อภาษีรถยนต์ทางออนไลน์ ทำได้ไหม
การต่อภาษีรถยนต์ทางออนไลน์ สามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ (https://eservice.dlt.go.th) และแอปพลิเคชัน (DLT Vehicle Tax) ของกรมขนส่งทางบก โดยจะมีรายละเอียด และเงื่อนไขในการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ทั้งหมด ดังนี้
ประเภทรถยนต์ที่สามารถต่อภาษีออนไลน์ได้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
- รถบรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์
- รถอายุไม่เกิน 7 ปี (ถ้าเกิน 7 ปี ต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน)
- รถจักรยานยนต์ อายุไม่เกิน 5 ปี (ถ้าเกิน 5 ปี ต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน)
- รถยนต์ที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สทุกชนิด
- รถที่มีภาษีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี
- รถที่มีสถานะปกติ หรือไม่ถูกระงับป้ายทะเบียนจากการค้างชำระภาษีเกิน 3 ปี
- รถที่ไม่ได้รับการยกเว้นค่าภาษีประจำปี
- รถที่ไม่ถูกอายัดป้ายทะเบียน
เอกสารที่จำเป็นในการยื่นต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
- เล่มทะเบียนรถยนต์
- พ.ร.บ. รถยนต์ ที่วันสิ้นอายุคุ้มครองไม่เกิน 90 วัน
- หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) (สำหรับรถที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป โดยข้อมูลจะถูกส่งไปกรมขนส่งทางบกหลังตรวจผ่านทันที)
ค่าบริการ
- ค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 20 บาท
- ค่าจัดส่งเอกสาร รายการละ 32 บาท
- ค่าธรรมเนียมการชำระด้วยบัตรเครดิต 2% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของยอดเงินทั้งหมด
สรุปบทความ รวมเรื่องต้องรู้ในการต่อภาษีรถยนต์แบบครบจบ
เพราะการต่อภาษีรถยนต์ ก็มีความสำคัญไม่ต่างจากการเสียภาษีเงินได้บุคคล ที่เป็นหนึ่งในหน้าที่ของทุกคนในสังคมในการช่วยจ่ายเงินภาษีเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ทางภาครัฐนำเงินภาษีไปบริหารจัดการในด้านการคมนาคม อย่างถนนหนทาง และกิจการส่วนอื่นๆ ให้มีความสะดวกสบายในการใช้งาน คนใช้รถทุกคนจึงไม่ควรขาดต่อภาษีกันเด็ดขาด
ส่วนใครที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน แต่ยังหาทางออกไม่ได้ หากคุณมีรถไว้ใช้งาน ให้ทาง KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เป็นทางเลือกในการช่วยเหลือคุณดีกว่า เพราะที่นี่เรามีวงเงินก้อนใหญ สมัครง่าย ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีบริการ พี่เบิ้ม Delivery ในการเดินทางไปตรวจสอบสภาพรถถึงที่หน้าบ้าน อนุมัติไว รับเงินก้อนได้ทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำ และผ่อนได้นานสูงสุด 84 เดือน อีกทั้งยังสามารถเลือกรับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้ม สำหรับใช้เงินฉุกเฉิน โดยกดฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
สมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน โดยไม่ต้องมีคนค้ำ
อนุมัติไว รับเงินก้อนทันที พร้อมผ่อนได้นานสูงสุด 84 เดือน
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21%-24% ต่อปี*