อายุ 30 ถือเป็นช่วงวัยที่หลายคนตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างครอบครัว ซื้อบ้าน หรือเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการวางแผนการเงินที่ดี เงินเก็บจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายเหล่านั้นเป็นจริงได้ บทความนี้จะมาแนะนำว่าอายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนและสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
เลือกอ่านตามหัวข้อ
อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบอกเอาไว้ว่า อายุ 30 ควรมีเงินเก็บไม่น้อยกว่า 3 เท่าของรายได้ เช่น เงินเดือน 35,000 บาท เงินเก็บที่ควรมีอย่างน้อยคือ 105,000 บาท ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วอายุ 30 ปี ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่? คงเป็นคำถามที่ไม่ได้มีคำตอบตายตัว เพราะปัจจัยในการมีเงินเก็บของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอายุ 30 ยังไม่มีเงินเก็บ อาจเพราะมีภาระที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด จนไม่เหลือเงินเก็บ ทำให้การศึกษาวิธีบริหารเงิน ลงทุน และจัดการหนี้สินไปพร้อม ๆ กับการเก็บเงินทีละน้อยก็สำคัญไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากนักวางแผนการเงินที่บอกว่า อายุ 30 ปี ควรมีเงินเก็บสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น รายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 16,000 บาท เงินเก็บฉุกเฉินควรอยู่ที่ 48,000 - 96,000 บาท ส่วนจะเลือกเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ก็อย่าลืมดูสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละคนด้วย
อายุ 30 ควรมีเงินเท่าไหร่ จะรู้ได้อย่างไรว่าพอใช้แล้ว
เพื่อให้รู้ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปี ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ ถึงจะพอใช้สำหรับอนาคตหรือยามฉุกเฉิน สามารถใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ได้
- บันทึกรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าห้อง ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็นและตัดออกได้บ้าง
- คำนวณค่าใช้จ่ายฉุกเฉินไว้เสมอ โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เช่น กรณีตกงาน เจ็บป่วย หรือต้องซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ ซึ่งเงินเก็บส่วนนี้ควรมีอย่างน้อย 4-6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือน
- กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้ตัวเอง เช่น ต้องการเก็บเงินซื้อคอนโด ก็ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดจริง ๆ (ค่าดาวน์, ค่าผ่อนแต่ละงวด, ค่าส่วนกลาง)
- วางแผนอนาคตตัวเองคร่าว ๆ เช่น ตั้งใจว่าจะเกษียณจากการทำงานตอนอายุเท่าไหร่ แล้วเป้าหมายเงินเก็บในแต่ละปีไปจนถึงวัยเกษียณควรอยู่ที่เท่าไหร่
เทคนิคการเก็บเงินในช่วงอายุ 20 ปลาย 30 ต้น
สำหรับคนที่อยู่ในช่วงวัย 20 ปลาย หรือเข้าสู่วัย 30 ต้น ๆ แล้วอยากจริงจังกับการเก็บเงิน เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเองว่า อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะพอสำหรับตัวเอง ต่อไปนี้คือ 3 เทคนิคช่วยให้เก็บเงินได้ง่าย และเห็นผลลัพธ์ได้จริง
ตั้งเป้าหมายระยะสั้น–กลาง-ยาว
การวางเป้าหมาย สั้น-กลาง-ยาว เป็นวิธีที่ช่วยให้การเก็บเงินของคนวัย 20-30 ปี เป็นเรื่องง่ายและ “เป็นไปได้” โดยเป้าหมายระยะสั้น คือเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ เช่น เก็บเงินซื้อ Laptop เครื่องใหม่ หรือวางแผนว่าจะเก็บเงินยังไงให้ได้ 30,000 บาท โดยข้อดีของเป้าหมายระยะสั้นคือการสร้างขวัญกำลังใจ เมื่อทำสำเร็จจะมีความมั่นใจที่จะไปสู่เป้าหมายระยะกลางและระยะยาวต่อไปได้
เป้าหมายระยะกลางนั้นจะขยับให้ไกลออกไปอีกเล็กน้อย โดยเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จในระยะเวลา 2-5 ปี เช่น การเก็บเงินให้ได้ถึง 100,000 บาท หรือเก็บเงินดาวน์สำหรับซื้อรถยนต์คันแรกให้ตัวเอง เป้าหมายระยะกลางเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่ทำได้ การไปถึงเป้าหมายระยะยาวก็ไม่ใช่เรื่องยาก
สำหรับเป้าหมายระยะยาวนั้นเป็นเป้าหมายที่อยู่ไกลในระยะเวลาที่มากกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้จำนวนเงินลงทุนมากที่สุด เช่น การวางแผนเกษียณ ซื้อคอนโด หรือซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น กลาง หรือยาว ถ้าตั้งใจเก็บเงินอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ๆ ให้ได้ จะช่วยสร้างความมั่นคงและวางรากฐานให้กับชีวิตสำหรับอนาคตได้อีกด้วย
แบ่งเงินเป็นสัดส่วน
สำหรับคนที่มีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ หรือค่ากินอยู่ ควรแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนหลังจากได้รับเงินเดือน เช่น 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น 30% สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว และอีก 20% สำหรับแบ่งเก็บเพื่อเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
เคลียร์หนี้สิน
การมีหนี้สินของคนอายุ 30 ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ต้องกังวลจนเกินไป เมื่อมีหนี้แล้วก็ควรวางแผนเคลียร์หนี้สินให้เหมาะสม เพราะยิ่งมีหนี้สินน้อยพื้นฐานการเงินที่ดีในอนาคตก็ดีไปด้วย ดังนั้นไม่ควรมีหนี้สินที่ต้องผ่อนเกินกว่า 40% ของเงินเดือน หากมีภาระค่าบ้านอาจใช้วิธีรีไฟแนนซ์บ้านหรือคอนโดได้ เพราะเป็นวิธีที่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ลดยอดผ่อนต่อเดือน และช่วยให้ปิดหนี้บ้านได้เร็วขึ้นด้วย
อายุ 30 เก็บเงิน ลงทุนยังไงให้ยั่งยืน
นอกจากการเก็บเงินแล้ว การลงทุนก็เป็นวิธีที่ช่วยให้รู้ได้ว่า อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ ได้เหมือนกัน แถมยังมีโอกาสเก็บเงินได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้อีกด้วย ซึ่งวิธีต่อไปนี้เป็นวิธีเก็บเงินและการลงทุนที่ให้ผลลัพธ์ยั่งยืน
ฝากเงินออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
นอกจากการฝากเงินออมทรัพย์ตามปกติแล้ว การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ได้ดอกเบี้ยสูง และเพิ่มจำนวนเงินเก็บให้กับผู้ฝากได้ ซึ่งการฝากเงินออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี และเป็นการฝากประจำในจำนวนเงินที่เท่ากันแต่ละเดือน ผู้ฝากจึงต้องวางแผนเรื่องการเงินให้ดีด้วย
ศึกษากองทุนและหุ้น
การลงทุนเป็นอีกวิธีที่จะช่วยสร้างโอกาสเพิ่มจำนวนเงินเก็บได้ และยังมีผลดีในเรื่องผลกำไรที่ยั่งยืนอีกด้วย แต่การลงทุนไม่ว่าจะกองทุนหรือหุ้น ล้วนมีความเสี่ยงดังนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนลงทุน และควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากที่สุดด้วย สำหรับการลงทุนในด้านนี้อาจจะเหมาะกับคนที่มีเงินเย็นและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินเก็บในระยะเวลาอันใกล้
พันธบัตรรัฐบาล
พันธบัตรรัฐบาลเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของคนวัย 30 ที่อยากเริ่มต้นลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และเป็นหน่วยงานที่สถานะทางการเงินมั่นคง โอกาสที่จะชำระหนี้คืนให้กับนักลงทุนจึงเป็นไปได้สูง สำหรับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นยังเหมาะกับคนที่ไม่อยากเสี่ยงกับความผันผวนของเศรษฐกิจ และมองหาตัวเลือกที่ได้ผลกำไรมากกว่าเงินฝากประจำ
สลากออมสิน
การซื้อสลากออมสินเป็นทางเลือกของการเก็บเงินที่ยังได้ลุ้นเงินรางวัลจากการเสี่ยงโชคได้อีกด้วย สลากออมสินเป็นการฝากเงินรูปแบบหนึ่งมีความเสี่ยงต่ำมาก แต่มีข้อดีในเรื่องของการได้ลุ้นเงินรางวัลจากสลากที่เราซื้อไว้ ยิ่งมีเงินฝากเยอะก็ยิ่งมีตัวเลขสลากออมสินเยอะ โอกาสรับเงินรางวัลตั้งแต่หลักหมื่นถึงล้านก็มีมากขึ้นด้วย
หางานเสริม
การหางานหรือรายได้เสริมเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มจำนวนเงินเก็บให้กับคนช่วงอายุ 30 ปี ได้อีกวิธีหนึ่ง และยังมีข้อดีในเรื่องของการฝึกทักษะ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำงาน ที่บางครั้งรายได้เสริมในวันนี้อาจกลายเป็นรายได้หลักในวันหน้าก็เป็นได้
อายุ 30 ปี อย่าลืม! วางแผนการเงิน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
อายุ 30 ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่? ไม่มีคำตอบเดียวที่ใช้ได้กับทุกคน ปัจจัยสำคัญคือรายได้ ค่าใช้จ่าย เป้าหมาย และไลฟ์สไตล์ ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย และเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ แม้จำนวนเงินจะน้อย เพื่อสร้างวินัยทางการเงินและบรรลุเป้าหมายในอนาคต
แต่ถึงแม้จะมีเงินเก็บมากหรือน้อย สิ่งสำคัญก็คือ “ต้องมีเงินสำรอง” ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอนย่อมช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติได้ดีที่สุด
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยบริหารเงินยามฉุกเฉิน เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินที่ดีและต่อยอดไปสู่การเก็บออมที่มีประสิทธิภาพ บัตรกดเงินสด KTC PROUD ที่ให้ความคล่องตัวทุกการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเบิกถอนเงินผ่าน ATM ได้ 24 ชั่วโมง โอนเงินผ่านแอป สะดวกทุกที่ ทุกเวลา หรือจะรูดซื้อ และผ่อนสินค้า 0% ก็สะดวก ทั้งที่ร้านค้า และออนไลน์ที่ร่วมรายการ สมัครง่าย อนุมัติไว เงินเดือน 12,000 บาท ก็สมัครได้
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
สร้างสภาพคล่องทางการเงินที่ดีด้วยบัตรกดเงินสด KTC PROUD