การได้รับเงินเดือนก้อนแรกเป็นหนึ่งในความฝันสำคัญในชีวิตของใครหลายคน แต่ท่ามกลางความสำเร็จอีกขั้นของชีวิต และการได้รับอิสระทางการเงินนั้น สิ่งสำคัญที่คุณไม่ควรละเลยก็คือ “การวางแผนการเงิน” ซึ่งหลายคนมักติดกับดัก เพราะยิ่งเงินเดือนออกไว เงินก็ยิ่งหมดไว จนหลาย ๆ ครั้งก็แทบสิ้นเดือนสิ้นใจ และนั่นก็เป็นเพราะขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี อันเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาทางการเงินในระยะยาว
ในบทความนี้ KTC จะพาไปทำความเข้าใจ Step by step ในการบริหารเงินเดือนแรกอย่างง่ายดายและชาญฉลาด แต่ได้ผลจริง เริ่มต้นตั้งแต่การจัดสรรเงินก้อนไปจนถึงการเก็บออมและการลงทุน เพื่อให้คุณสามารถสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงได้ตั้งแต่วันนี้
1. เริ่มทำงาน = เริ่มวางแผนการเงิน
ทำไมการวางแผนการเงินถึงสำคัญนักสำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน คำตอบคือ เพราะสิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับชีวิตทางการเงินของคุณในอนาคต การที่คุณเริ่มวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดได้
- หลีกเลี่ยงกับดัก “เงินเดือนออกไว เงินหมดไว” : การมีแผนการใช้จ่ายที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณควบคุมการใช้เงินได้ดีขึ้น ไม่จับจ่ายเกินความจำเป็น
- สร้างวินัยทางการเงิน : การฝึกฝนตัวเองให้บริหารเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยสร้างวินัยที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว
- ลดความกังวลใจ : เมื่อคุณมีแผนการเงินที่ชัดเจน คุณจะรู้สึกมั่นคงและลดความกังวลใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน หรืออนาคตทางการเงิน
2. ตั้งเป้าหมายวางแผนการเงินระยะสั้น-กลาง-ยาว
ก่อนจะลงมือจัดสรรเงิน เบื้องต้นคุณต้องรู้ก่อนว่า คุณจะวางแผนการเงินเพื่ออะไร เช่น เพื่อการออม การลงทุน ท่องเที่ยว หรือ นำไปใช้ซื้อของที่อยากได้ การตั้งเป้าหมายทางการเงินจะช่วยให้คุณมีทิศทางที่ชัดเจนและมีแรงจูงใจในการออมและการลงทุน โดยสามารถแบ่งเป้าหมายทางการเงินของคุณออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- เป้าหมายระยะสั้น (ระยะเวลา 1-2 ปี) : การตั้งเป้าหมายเก็บเงินฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน หรือการเก็บเงินซื้อของชิ้นใหญ่ที่อยากได้ อาทิ โทรศัพท์ใหม่ ทริปท่องเที่ยวที่ใฝ่ฝัน
- เป้าหมายระยะกลาง (ระยะเวลา 3-5 ปี) : อาจเป็นการวางแผนเก็บเงินเพื่อดาวน์รถยนต์ หรือการเก็บเงินไปเรียนต่อ รวมถึงการเก็บเงินเพื่อแต่งงาน เริ่มต้นสร้างครอบครัวมั่นคง
- เป้าหมายระยะยาว (ระยะเวลามากกว่า 5 ปี) : เป้าหมายระยะยาวในที่นี้อาจเป็นการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น การเก็บเงินดาวน์บ้าน หรืออาจเป็นแผนการเงินในยามเกษียณ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน
3. จัดสรรรายได้แบบเข้าใจง่ายและทำได้จริง
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน สูตรวางแผนการเงินโดยจัดสรรเงินแบบ 50/30/20 เป็นวิธีที่เข้าใจง่าย และสามารถทำได้จริง โดยรายละเอียดเป็นดังนี้
50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น (Needs)
สัดส่วน 50% คือค่าใช้จ่ายที่คุณจะต้องจ่ายในแต่ละเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าเช่าที่พัก, ค่าผ่อนบ้าน-ผ่อนรถ, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าประกันภัย ซึ่งในทุก ๆ เดือนควรพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ให้เกิน 50% ของรายได้
30% สำหรับใช้จ่ายตามใจ (Wants)
ในส่วน 30% นี้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว เช่น การกินข้าวนอกบ้าน, การช้อปปิ้ง, ค่าสมาชิกฟิตเนส, ดูหนังฟังเพลง หรืองานอดิเรกต่าง ๆ ซึ่งคุณสามารถใช้จ่ายส่วนนี้ได้ตามต้องการ แต่ต้องอยู่ภายในงบประมาณที่กำหนด
20% สำหรับเก็บออม หรือลงทุน (Savings & Investments)
สัดส่วนสุดท้าย 20% เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างความมั่นคงในอนาคต เงินส่วนนี้ควรนำไปเก็บออม ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ และไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน หรือจัดสรรไปลงทุน โดยจะต้องแบ่งเงินส่วนนี้ออกมาก่อนที่จะถูกนำไปใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ซึ่งก็เพื่อให้แน่ใจว่า ในทุกเดือนคุณมีเงินเหลือเก็บอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม สูตรนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เช่น หากคุณมีวินัยและความอดทนมาก ๆ สำหรับค่าใช้จ่ายตามใจอาจเปลี่ยนไปเก็บเพื่อออมหรือลงทุนหมดเพิ่มเติมอีกก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการวางแผนการเงินที่ตั้งใจไว้
4. เงินเก็บฉุกเฉิน ควรออมก่อนใช้
สิ่งแรกที่ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานทุกคนควรให้ความสำคัญเมื่อมีเงินเดือนก็คือ การสร้าง “กองทุนสำรองฉุกเฉิน” ซึ่งเงินก้อนนี้จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ เช่น การตกงานโดยไม่คาดคิด การเจ็บป่วยกะทันหัน หรือมีค่าใช้จ่ายเร่งด่วนที่ไม่คาดคิด
วิธีสร้างกองทุนฉุกเฉิน
อันดับแรกควรเริ่มต้นจากการพิจารณารายจ่ายรายเดือน หากรายจ่ายจำเป็นของคุณอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน คุณก็ควรมีเงินเก็บฉุกเฉินอย่างน้อย 45,000 - 90,000 บาท กล่าวคือ เป็นจำนวน 3 - 6 เท่า ของรายจ่ายต่อเดือน และเมื่อกำหนดจำนวนเงินเป้าหมายได้แล้วนั้น ก็จะเป็นขั้นตอนของการเริ่มสร้างกองทุนฉุกเฉิน วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ในช่องทางที่มีสภาพคล่องสูง ถอนง่าย และมีความเสี่ยงต่ำ เช่น บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป หรือบัญชีฝากประจำ และอาจพิจารณาธนาคารที่ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เงินในกองทุนมีดอกเบี้ยงอกเงยมากที่สุด
5. วางแผนหนี้อย่างมีสติ
สำหรับคนเริ่มทำงาน การเป็นหนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือแม้กระทั่งหนี้ผ่อนสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ การสร้างหนี้ตามความจำเป็น และจัดการหนี้อย่างมีสติเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ใช้บัตรเครดิตเท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่หากใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่หนี้สินที่พอกพูนได้ ดังนั้นจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นและสามารถชำระคืนได้เต็มจำนวน
ระวังการชำระหนี้ขั้นต่ำ
การชำระหนี้ขั้นต่ำ (Minimum Payment) ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูนอย่างรวดเร็ว และทำให้หนี้ก้อนเล็กกลายเป็นก้อนใหญ่ได้ในระยะยาว การพยายามชำระให้เต็มจำนวนเสมอ หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะช่วยจำกัดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นได้
บริหารการชำระหนี้อย่างมีแบบแผน
หากมีหนี้หลายก้อน อาทิ หนี้การศึกษา และหนี้จากการผ่อนสินค้าหรือบริการ ให้วางแผนการปิดหนี้ทีละก้อน โดยเริ่มจากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยโดยรวม จากนั้นค่อยไล่ตามลำดับไปยังหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยน้อยที่สุด
6. เริ่มลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อมีเงินฉุกเฉินเพียงพอแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงทุน เพื่อให้เงินของคุณเติบโตงอกเงย ซึ่งหลักการสำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่เสมอไป
ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเงินก้อน
คุณสามารถเริ่มต้นลงทุนโดยการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเงินจำนวนไม่มากในแต่ละเดือน ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดได้
เลือกลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางในระยะเริ่มต้น
- กองทุนรวม : เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับมือใหม่ เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารให้ ทั้งยังมีหลากหลายประเภทให้เลือกตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม
- DCA ในหุ้นพื้นฐานดี : หากสนใจหุ้น อาจเลือกทยอยซื้อหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีผลประกอบการดีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์
ศึกษาเองก่อนตัดสินใจ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ทำความเข้าใจความเสี่ยงและผลตอบแทน หากไม่มั่นใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหรือที่ปรึกษาการลงทุน
7. การใช้เครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน
ในยุคดิจิทัล การจัดการเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปพลิเคชันสำหรับวางแผนการเงิน เช่น ควบคุมรายรับ-รายจ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยให้คุณจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายได้สะดวกมากขึ้น หรืออาจใช้แอปพลิเคชันของธนาคารที่คุณใช้งานอยู่ ในการจัดการเงินออกเป็นสัดส่วน เพื่อให้เห็นภาพรวมการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการเงินและปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย
นอกจากนี้ อาจใช้ระบบโอนอัตโนมัติในการช่วยออมแบบ โดยตั้งค่าให้แอปพลิเคชันธนาคาร หักเงินจากบัญชีเงินเดือนของคุณไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีกองทุนรวมโดยอัตโนมัติทุกเดือนภายในวันที่เงินเดือนออก วิธีนี้จะช่วยให้คุณออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่รู้ตัว และลดโอกาสในการใช้จ่ายเงินส่วนนั้น
การเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแค่มีความตั้งใจและวินัยเล็กๆ น้อยๆ คุณก็สามารถสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง และนำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการมีเงินเก็บฉุกเฉิน การมีบ้านในฝัน หรือแม้กระทั่งการมีอิสรภาพทางการเงินที่ช่วยให้คุณใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ
และสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น ก้าวแรกที่สำคัญคือการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม บัตรเครดิต KTC เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนทำงานรุ่นใหม่ และพร้อมเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ครอบคลุมทุกความคุ้มค่าการใช้จ่าย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC