ในปัจจุบันที่มีกลโกงและมิจฉาชีพมากมาย ที่มาในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์ โฆษณาชวนเชื่อ หรือหาคนสมัครทำงานฟรีแลนซ์ออนไลน์ และหนึ่งในกลโกงที่มาก่อนกาล มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก และยังหลอกลวงให้คนมาลงทุนได้เรื่อยๆ ก็คือ “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งมีกลลวงมากกว่าที่หลายคนคิด มิจฉาชีพบางคนจะมีวิธีพูดหลอกล่อ หรือใช้หลักจิตวิทยาขั้นสูงเพื่อทำให้หลงเชื่อและไว้ใจ ดังนั้นหากใครไม่อยากตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ แนะนำให้อ่านบทความนี้ เพราะ KTC จะพาไปดูรายละเอียดของแชร์ลูกโซ่ พร้อมข้อควรรู้ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปแบบใหม่ที่ทุกคนควรรู้
แชร์ลูกโซ่มักใช้กลลวงโฆษณาชวนเชื่อด้วยการชักชวนให้ลงทุน
แชร์ลูกโซ่ คืออะไร
แชร์ลูกโซ่ หมายถึง กลลวงประเภทหนึ่งที่โฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการชักชวนให้ลงทุน หรือยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ มีหลักการคือลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนที่สูงมาก หรือได้ผลตอบแทนกลับมาในระยะเวลาที่รวดเร็ว หรือการันตีผลตอบแทนสูง แต่ลงทุนไม่มาก จึงทำให้มักมีคนหลงเชื่อลงทุนเป็นจำนวนมาก
แชร์ลูกโซ่ ทำงานอย่างไร
หลักการทำงานของแชร์ลูกโซ่แต่ละรูปแบบจะมีจุดสังเกตหลักที่คล้ายกัน และไม่ซับซ้อน ซึ่งการทำงานของแชร์ลูกโซ่คือการชักชวนมาลงทุนเป็นหลัก เน้นผลตอบแทนที่สูง ได้ทุนคืนในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยมีรายละเอียดการทำงานของแชร์ลูกโซ่ ดังนี้
- ผู้ก่อตั้งจะหาผู้ลงทุนรายใหม่มาเรื่อยๆ เพื่อนำเงินที่ได้จากพวกเขามาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนรายเก่า
- ผู้ลงทุนรายเก่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดูน่าสนใจ เพื่อจูงใจให้มีการแนะนำผู้ลงทุนรายใหม่เพิ่มเติม
- ไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างกำไรจริง แต่เป็นการหมุนเงินแบบพีระมิดที่ต้องอาศัยการเก็บเงินจากผู้เข้าร่วมใหม่ตลอดเวลา
- เมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่เข้ามาได้อีก ระบบก็จะพังทลายลง โดยผู้เข้าร่วมลงทุนรายล่าสุดจะเป็นผู้ที่เสียหายมากที่สุด
แชร์ลูกโซ่มีลักษณะอย่างไร
แชร์ลูกโซ่คือชื่อเรียกของลักษณะกลลวงที่หลอกเอาเงินเหยื่อ จากการพูดชักชวน โน้มน้าวให้มาลงทุนด้วย ที่จริงแล้วแชร์ลูกโซ่มีหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกออมเงิน ออมทอง ลงทุนหุ้น และที่มีเหยื่อโดนหลอกมากที่สุดคือแชร์ลูกโซ่แบบขายตรง ถึงแม้จะเป็นแชร์ลูกโซ่คนละแบบ แต่จะมีลักษณะร่วม ดังนี้
- ชักชวนลงทุน การชักชวนลงทุนของแชร์ลูกโซ่ มักจะมีสิ่งล่อตาล่อใจด้วยโปรโมชั่นเปิดบิล หรือชวนลงทุนที่ใช้เงินทุนไม่สูง แต่ได้รับผลตอบแทนที่ดี และมักจะได้ผลตอบแทนกลับคืนในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแชร์ลูกโซ่บางธุรกิจก็มาในรูปแบบของค่าแรกเข้าที่สูง แต่ลงทุนแล้วได้เงินคืนไว
- ผลตอบแทนที่สูงเกินปกติ ลักษณะเด่นของแชร์ลูกโซ่ที่หลอกล่อให้คนมาติดกับ ก็คือค่าตอบแทนที่สูงเกินปกติ และได้คืนในระยะเวลารวดเร็ว โดยผู้ชักชวนอาจจะหาหลักฐาน หรือรีวิวมาให้ดูว่ามีคนลงทุนแล้วได้เงินคืนจริง
- เน้นการหาเครือข่าย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนมาชวนลงทุน แล้วแจ้งโมเดลธุรกิจว่าต้องการเน้นสร้างเครือข่ายเป็นหลัก ไม่เน้นขายของแต่เน้นหาคนที่จะมาสมัครสมาชิกเพิ่มถึงจะได้ค่าตอบแทน
- มีการบังคับซื้อสินค้าหรือแพ็กเกจ เป็นอีกหนึ่งลักษณะของแชร์ลูกโซ่ที่มักจะให้เหยื่อซื้อสินค้า สมัครแพ็กเกจ หรือบางรายอาจจะบังคับให้สต็อกของในปริมาณที่ต้องมีการเปิดบิลขั้นต่ำ
ข้อควรรู้ก่อนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่
สิ่งที่ควรตระหนักเสมอก่อนหลงเชื่อคำพูดชักชวนการลงทุน คือ ไม่มีการลงทุนใดที่จะให้ผลตอบแทนมากเกินจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลตอบแทนที่ได้คืนมาในเวลาอันสั้น จึงควรศึกษารายละเอียดทั้งหมดอย่างรอบคอบ รวมถึงการจ่ายผลตอบแทน หากมีเงื่อนไขเช่นการต้องเปิดบิลขั้นต่ำ หรือได้รับค่าตอบแทนจากการหาสมาชิกเพิ่ม อาจพิจารณาได้ว่าเป็นกลลวงของแชร์ลูกโซ่
ถูกชักชวนเข้าเครือข่ายหรือสงสัยเกี่ยวแชร์ลูกโซ่แจ้งที่ไหน
หากสงสัยหรือถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนจากคนรู้จัก คนมีชื่อเสียง หรือชักชวนโดยการทักมาในช่องทางออนไลน์ แนะนำให้แจ้งหน่วยงาน ดังนี้
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441
และถ้าการชักชวนนั้นมีการกล่าวอ้างผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ให้โทรแจ้งที่ 1207 เท่านั้น
แชร์ลูกโซ่ ผิดกฎหมายอะไรบ้าง
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์นั้นผิดกฎหมาย โดยมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท
ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร หรือมีอายุเท่าไหร่ ก็มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ได้ เพราะแชร์ลูกโซ่มาในรูปแบบของธุรกิจชวนเชื่อมากมาย และการตรวจสอบข้อมูลแบบเดิมๆ ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป และแม้รายละเอียดของบริษัทจะถูกจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ มีพรีเซนเตอร์เป็นคนดัง หรือมีคนมาการันตีว่าได้เงินจริง ก็ยังอาจจะเป็นบริษัทแชร์ลูกโซ่แอบแฝงได้ ซึ่งถ้าหากใครได้ทำการลงทุนไปแล้ว แนะนำให้แจ้งความทันที พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานที่ได้กล่าวไปข้างต้น
บัตรเครดิต KTC ขอเตือนภัยทุกคนที่ได้รับการชักชวนให้ลงทุน โดยธุรกิจนั้นเข้าข่าย และมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ แล้วมีการบังคับให้เปิดบิล หรือซื้อแพ็กเกจขั้นต่ำที่สามารถชำระค่าใช้จ่ายได้ด้วยบัตรเครดิต อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด เพราะการขายฝันด้วยความร่ำรวยที่เกินความเป็นจริงนั้นเป็นเหตุจูงใจหลักที่ทำให้คนส่วนมากหลงเชื่อ แต่สำหรับใครที่อยากได้เงินลงทุนในธุรกิจที่สร้างขึ้นเอง ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ เพราะเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตได้เลยที่ตู้ ATM หรือจะโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ก็ได้ แนะนำสำหรับคนที่หาเงินลงทุนระยะสั้นและไม่อยากเสี่ยงต่อการโดนหลอก
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC