เคยสงสัยมั้ยว่า พอมีคนใกล้ชิดเสียชีวิต แล้วเราได้รับมรดกมาเยอะ ๆ จะต้องทำอะไรบ้าง? นอกจากเรื่องของการจัดการทรัพย์สินแล้ว เรายังต้องมาเจอกับเรื่องของ "ภาษีมรดก" อีกด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ไม่ต้องตกใจไป! บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจว่าภาษีมรดกเสียเท่าไหร่ โอนที่มรดกเสียภาษีเท่าไหร่ และขายที่ดินมรดกเสียภาษีเท่าไหร่? เพื่อที่ทุกคนจะได้เตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างมั่นใจ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ภาษีมรดก คืออะไร
- ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก
- ผู้รับมรดกต้องเสียเท่าไหร่
- ประเภทของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก
- กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นจากการจ่ายภาษีมรดก
- วิธีการคำนวณภาษีมรดก
- ขั้นตอนการจ่ายภาษีมรดก
- หลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีมรดก มีโทษไหม
- ข้อกำหนดในการผ่อนจ่ายภาษีมรดก มีอะไรบ้าง
- ข้อแนะนำเพิ่มเติม ก่อนจ่ายภาษีมรดกที่ควรรู้
- วางแผนภาษีมรดก ลดภาระทางการเงินในภายหลัง
ภาษีมรดก คืออะไร
ภาษีมรดก คือ ภาษีที่ทายาทต้องจ่ายเมื่อได้รับทรัพย์สินจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น บ้าน ที่ดิน หรือเงินในบัญชี หากมีมรดกที่มีมูลค่าเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐตามอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อให้รัฐสามารถนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ เช่น เมื่อคุณตา คุณยายเสียชีวิตแล้วทิ้งบ้านหลังใหญ่ไว้เป็นมรดก หากบ้านหลังนั้นมีมูลค่าสูงมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ลูกหลานหรือทายาทผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีมรดกส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาล
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก
ภาษีมรดกที่ดินไม่ได้เก็บกับทุกคน จะเก็บเฉพาะผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่าเยอะตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด หากมรดกที่ตกทอดมายังทายาทมากกว่า 100 ล้านบาท จำเป็นต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทเท่านั้น รวมไปถึงยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวบุคคลเพิ่มเติม ดังนี้
บุคคลธรรมดา :
- บุคคลผู้มีสัญชาติไทย
- ชาวต่างชาติ ที่มีถิ่นที่อยู่ประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย :
- นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
- นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย
- นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก
- นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีการรับมรดกที่ต้องจ่ายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้รับมรดกกับผู้ตาย หากเป็นญาติสนิท เช่น พ่อแม่ ลูก หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า หากเป็นญาติห่าง ๆ หรือไม่ใช่คนในครอบครัวจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า
ผู้รับมรดกต้องเสียเท่าไหร่
หลายคนอาจสงสัยว่าภาษีมรดกที่ดิน ต้องเสียกี่เปอร์เซ็น? ในกรณีที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีมรดกใน 2 อัตรา 5% และ 10% ซึ่งอัตราที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับผู้ตาย
- ภาษีมรดก 5%: สำหรับคนที่ได้รับมรดกแล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย เช่น พ่อ แม่ ลูก หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย
- ภาษีมรดก 10%: สำหรับคนที่ได้รับมรดกแล้วมีความสัมพันธ์ห่างไกลกับผู้ตาย หรือไม่ใช่ญาติกัน
ประเภทของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกมี 5 ประเภท ดังนี้
- อสังหาริมทรัพย์ : บ้าน ที่ดิน คอนโด มีราคาประเมินตามกฎหมายที่ดินของประเทศไทย หรือตามราคาประเมินในต่างประเทศ ถ้าไม่มีราคาประเมิน ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก
- หลักทรัพย์ตามกฎหมาย : หุ้น ตราสารหนี้ จะใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก หากเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ใช้ราคาปิดในวันนั้น
- เงินฝากหรือเงินอื่น ๆ : เช่น เงินฝากธนาคาร ถ้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ในประเทศไทย จะใช้มูลค่าที่มีในบัญชี บวกดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ในวันที่ได้รับมรดก สำหรับเงินฝากต่างประเทศ จะต้องแปลงเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในวันนั้น
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน : รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จะใช้ราคาประเมินรถตามกฎหมายการขนส่งทางบก หากไม่มีราคาประเมิน ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก สำหรับยานพาหนะในต่างประเทศ จะใช้ราคาประเมินจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศนั้น
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา : กองทุนรวมจะใช้ราคาที่เปิดทำการในวันที่ได้รับมรดก
กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นจากการจ่ายภาษีมรดก
แม้ว่ามูลค่ามรดกหรือสินทรัพย์ที่ได้รับจะมากกว่า 100 ล้านบาท หรือมากกว่าที่กรมสรรพากรกำหนด แต่มีบางกรณีที่ผู้รับมรดกได้รับการยกเว้นในการจ่ายภาษี ดังนี้
- คนที่ได้มรดกจากคนที่เสียชีวิตก่อนกฎหมายบังคับใช้ : หากเจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ผู้รับมรดกไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีมรดกสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับมา
- คู่สมรสของเจ้ามรดก : ถ้าเป็นคู่สมรสของเจ้ามรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องจ่ายภาษีสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับมรดกจากคู่สมรส
- ผู้ที่ได้รับมรดกเพื่อทำบุญ : ถ้าเจ้ามรดกแสดงเจตนาที่ชัดเจนหรือมีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อกิจการทางศาสนา การศึกษา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ คุณจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินนั้น
- หน่วยงานของรัฐและองค์กรการกุศล : หน่วยงานของรัฐและองค์กรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมกิจการทางศาสนา การศึกษา หรือประโยชน์สาธารณะ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับ
- องค์กรระหว่างประเทศ : บุคคลหรือองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ หรือสัญญาระหว่างประเทศ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับมรดก
วิธีการคำนวณภาษีมรดก
การคำนวณภาษีมรดกไม่ยาก แต่มีอัตราที่ต้องจ่ายต่างกันตามความสนิทสนมกับผู้ตาย แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีที่ผู้รับมรดกมีสิทธิตามกฎหมาย
บิดา มารดา และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หากได้รับมรดกมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกินโดยใช้อัตรา 5%
ตัวอย่าง :
หากได้รับมรดกมูลค่า 120 ล้านบาท จะคำนวณภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
- (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ - 100,000,000) x 5%
- (120,000,000 - 100,000,000) x 5% = 1,000,000
2.กรณีที่ผู้รับมรดกไม่มีความผูกพันทางสายเลือด
ญาติห่าง ๆ หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ผู้เสียชีวิตระบุให้เป็นผู้รับมรดก หากได้รับมรดกมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกินโดยใช้อัตรา 10%
ตัวอย่าง :
หากได้รับมรดกมูลค่า 120 ล้านบาท จะคำนวณภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
- (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ - 100,000,000) x 10%
- (120,000,000 - 100,000,000) x 10% = 2,000,000
ขั้นตอนการจ่ายภาษีมรดก
สำหรับใครที่ต้องการยื่นภาษีมรดก ในปี 2568 สามารถทำตามขั้นตอนการยื่นภาษีได้ ดังนี้
1. ตรวจสอบว่ามรดกที่ได้รับ เกิน 100 ล้านบาทหรือไม่
2. กรณีที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ให้พิมพ์แบบ ภ.ม.60 จากเว็บไซต์กรมสรรพากร
3. เตรียมเอกสารให้พร้อม (บัตรประชาชน, หลักฐานมรดก, ใบมรณบัตร ฯลฯ)
4. ยื่นแบบและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ภายใน 150 วัน
5. ถ้ามีปัญหา เช่น ผู้รับมรดกเสียชีวิต ให้รีบแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาจัดการแทน
หลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีมรดก มีโทษไหม
หลายคนอาจคิดว่าภาษีมรดกจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่ แต่การไม่จ่ายภาษีมรดกอาจทำให้เสียเงินเพิ่ม หรือมีความผิดทางกฎหมาย ดังนี้
1. เสียเงินเพิ่มแบบไม่จำเป็น
- ถ้าไม่ยื่นภาษีหรือยื่นช้ากว่ากำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่ม คิดเป็น 1.50% ต่อเดือน ของภาษีที่ค้างอยู่
2. เบี้ยปรับหนักมาก
- กรณียื่นช้าเกิน 150 วัน ต้องเสีย เบี้ยปรับ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย แถมยังมี เงินเพิ่ม 1.50% ต่อเดือน ตามมาด้วย เช่น หากต้องจ่ายภาษี 1 ล้านบาท คุณอาจจะเสียเบี้ยปรับและภาษีรวม ๆ แล้วเกือบ 3 ล้านบาท
3. มีปัญหากฎหมาย ติดแบล็กลิสต์
- กรณีที่ตั้งใจไม่ยื่นภาษีมรดก หรือจงใจหลบเลี่ยงภาษี จะถูกดำเนินคดีความทางอาญา
- แถมยังเสียเครดิต ติดแบล็กลิสต์ ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินบางอย่างได้
4. ทำให้มรดกถูกแช่แข็ง ชำระหนี้ไม่ได้
- ถ้าภาษีมรดกไม่ถูกเคลียร์ให้เรียบร้อย มรดกนั้น ๆ อาจถูกอายัดหรือถูกนำไปขายทอดตลาดได้
5. เดือดร้อนถึงคนอื่น (ผู้จัดการมรดก/ทายาท)
- ถ้าผู้รับมรดกไม่ยื่นแบบและไม่จ่ายภาษีตามกำหนด ผู้จัดการมรดกหรือทายาทคนอื่นจะต้องมารับผิดชอบแทน
ข้อกำหนดในการผ่อนจ่ายภาษีมรดก มีอะไรบ้าง
กฎหมายอนุญาตให้สามารถผ่อนจ่ายภาษีมรดกได้ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารให้ครบ
- ยื่นคำขอผ่อนชำระภาษี พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี
- ยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือสถานที่อื่นที่กรมสรรพากรกำหนด
2. แจ้งแผนการผ่อนชำระ ในคำร้องจะต้องระบุรายละเอียด
- จำนวนปีที่ขอผ่อน (ไม่เกิน 5 ปี)
- เลือกรูปแบบการผ่อนเป็นรายเดือน, ราย 3 เดือน, ราย 6 เดือน หรือรายปี
- จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด (ต้องเท่ากันทุกงวด)
3. จัดหาหลักประกันการผ่อนชำระ เพื่อแสดงความมั่นใจว่าจะผ่อนครบ กรมสรรพากรกำหนดให้ต้องมีหลักประกันดังนี้
- หนังสือค้ำประกัน จากธนาคาร
- ที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง (จดทะเบียนจำนองไว้กับกรมสรรพากร)
- ห้องชุด ที่จดจำนองไว้กับกรมฯ
- พันธบัตรรัฐบาล ที่นำมาจำนำไว้กับกรมฯ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม ก่อนจ่ายภาษีมรดกที่ควรรู้
การวางแผนภาษีมรดกล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก เพราะช่วยให้ผู้รับมรดกได้รับประโยชน์สูงสุด และลดภาระภาษีตามกฎหมาย โดยมีเทคนิคที่ควรรู้ดังนี้
- ทำพินัยกรรม: กำหนดชัดเจนว่าทรัพย์สินจะตกเป็นของใคร เพื่อป้องกันความขัดแย้งและปัญหาทางกฎหมายในอนาคต
- ซื้อประกันชีวิต: ผลตอบแทนจากประกันชีวิตส่วนใหญ่จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก
- เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สิน: เปลี่ยนทรัพย์สินที่มีภาษีสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น เงินสด ทองคำ หรือวัตถุโบราณ
- ทยอยส่งมอบทรัพย์สิน: ส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับมรดกเป็นระยะ ๆ ภายในวงเงินที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดภาระภาษีในครั้งเดียว
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ: นักวางแผนภาษี ทนายความ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณ
วางแผนภาษีมรดก ลดภาระทางการเงินในภายหลัง
การวางแผนภาษีมรดกอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการลืมจ่ายภาษีมรดกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียเงินเพิ่มแบบไม่จำเป็น เบี้ยปรับที่หนัก มีปัญหากฎหมาย ติดแบล็กลิสต์ และอาจเดือดร้อนผู้จัดการมรดกหรือทายาท
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยทางการเงินเมื่อต้องการเงินสดยามฉุกเฉิน สามารถเบิกถอนเงินสดได้ทันที ผ่านตู้ ATM ทุกธนาคารทั่วประเทศ หรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน KTC Mobile สมัครง่าย อนุมัติไว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคล่องตัวทางการเงิน ที่สำคัญสามารถใช้ผ่อนสินค้า 0% ได้นานสูงสุด 24 เดือน สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมรายการ
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยสร้างความมั่นคงในการเข้าถึงสินเชื่อเงินสดถูกกฎหมาย