การจำนำ หมายถึง การนำทรัพย์สินมีค่าไปวางไว้กับผู้รับจำนำเพื่อแลกกับเงิน ซึ่งอาจเป็นสถาบันการเงิน ร้านทอง ร้านรับจำนำ หรือโรงรับจำนำก็ได้ โดยสิ่งของที่สามารถจำนำได้ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ และไม่ต้องมีทะเบียน เช่น ทองคำ เครื่องเพชร เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ กระเป๋าแบรนด์เนม และของใช้เบ็ดเตล็ดทุกชนิด ยกเว้นสิ่งของนั้นเป็นของราชการ
โดยทรัพย์สินที่นำไปจำนำนั้น จะถูกประเมินมูลค่า ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับก็จะขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินเหล่านั้น และเมื่อครบกำหนดแล้ว ต้องนำเงินมาไถ่ถอนคืนพร้อมดอกเบี้ย หากไม่สามารถไถ่คืนได้ ทรัพย์สินที่จำนำไว้ก็จะตกเป็นของผู้รับจำนำ
การจำนำมีขั้นตอนอย่างไร ?
- เตรียมทรัพย์สินที่ต้องการจำนำ พร้อมกับบัตรประชาชนไปที่ร้านรับจำนำหรือโรงรับจำนำ
- เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและประเมินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น แล้วทำการตกลงจำนวนเงินระหว่างกัน
- หากตกลงจำนวนเงินที่จำนำได้แล้ว ก็จะมีการทำสัญญา หรือมีการให้เซ็นชื่อ ปั๊มลายนิ้วมือ หรือการสแกนนิ้วมือ เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินและรับตั๋วจำนำ
- ทางร้านจำนำหรือโรงรับจำนำก็จะจ่ายเงินให้ตามมูลค่าที่ตกลงกันไว้
- เมื่อครบกำหนดให้นำเงินต้นมาชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย และหลังจากนั้นก็จะได้รับทรัพย์สินคืนไป ซึ่งโดยปกติแล้วตั๋วรับจำนำมีอายุ 4 เดือน 30 วัน ตาม พ.ร.บ. โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ดังนั้นจะต้องมาไถ่ถอนทรัพย์สินคืนภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ แต่หากไม่สามารถชำระได้ ทรัพย์สินที่จำนำไว้ก็จะตกเป็นของผู้รับจำนำนั่นเอง
ก่อนตัดสินใจจำนำต้องคิดอะไรบ้าง ?
การจำนำ คือ การเสริมสภาพคล่องทางการเงินที่หลายคนพิจารณาเลือกใช้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการเงินสดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มีข้อควรพิจารณาบางประการ ก่อนตัดสินใจจำนำทรัพย์สิน ดังนี้
- ต้องเข้าใจกระบวนการจำนำอย่างละเอียดก่อน
- ต้องพิจารณามูลค่าการประเมินทรัพย์สินที่จำนำด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่
- ศึกษาอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ และเงื่อนไขของสัญญาจำนำให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์หรือเสี่ยงเกินไป
- ต้องมั่นใจว่าจะมีกำลังในการนำเงินมาไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้ในอนาคต มิฉะนั้นอาจสูญเสียทรัพย์สินที่จำนำไปได้
- พิจารณาข้อดี ข้อเสียของการจำนำ ซึ่งข้อดีของการจำนำ คือ ได้เงินสดเร็ว ไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน แต่ข้อเสียของการจำนำ คือ อาจไม่ได้เงินมากเท่าจำนวนที่ต้องการ หรืออาจสูญเสียทรัพย์สิน หากไม่สามารถนำเงินไปไถ่ถอนตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียให้รอบคอบก่อนตัดสินใจจำนำ
- พิจารณาทางเลือกอื่นๆ เช่น การใช้บัตรเครดิต การใช้บัตรกดเงินสด ซึ่งบางครั้งอาจมีดอกเบี้ยหรือภาระผูกพันที่น้อยกว่า
ข้อควรระวังในการจำนำมีอะไรบ้าง ?
- เงื่อนไขของโรงรับจำนำ
ก่อนที่จะใช้นำทรัพย์สินไปจำนำ ควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละโรงรับจำนำให้ดีเสียก่อน รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่ผู้จำนำต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ระยะเวลาครบกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อลดโอกาสเสียผลประโยชน์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยโรงรับจำนำของรัฐและเอกชนมีอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ควรตรวจสอบผู้ให้บริการก่อนว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
- ความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สิน
หากไม่สามารถชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ภายในกำหนดเวลา ทรัพย์สินที่นำไปจำนำไว้ก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับจำนำ ทำให้ผู้จำนำสูญเสียทรัพย์สินมีค่านั้นไปได้
- มูลค่าการประเมินทรัพย์สิน
มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาจำนำจะถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญของสถาบันการเงิน ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้นเงินที่จะได้รับอาจน้อยกว่าที่คาดหวังไว้
- การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าทรัพย์สิน
สำหรับการจำนำทรัพย์สินบางประเภท เช่น ทองคำ ที่ราคามีความผันผวน โดยแนวโน้มการขึ้นลงของราคาทองคำมาจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้น ทองคำก็จะลดต่ำลง ดังนั้นหากจำนำทองในช่วงที่ราคาทองต่ำลง ก็อาจได้รับเงินสดต่ำกว่ามูลค่าทองที่เคยซื้อมา
เคล็ด (ไม่) ลับ เทคนิคการจำนำให้ได้ราคาสูง
- เลือกร้านรับจำนำหรือโรงรับจำนำที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียง เพื่อจะให้ราคาประเมินที่เป็นธรรมและสูงกว่าแหล่งอื่นๆ รวมถึงให้บริการที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่ทรัพย์สินจะสูญหายหรือเสียหายนั่นเอง
- รู้จักราคาทรัพย์สินของคุณให้ดี ควรศึกษาข้อมูลราคาตลาด คุณภาพ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีผลต่อมูลค่าของทรัพย์สินที่จะนำไปจำนำ เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับราคาประเมินและสามารถต่อรองได้อย่างมั่นใจ
- เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะบางทรัพย์สิน เช่น ทองคำ มีราคาผันผวนตามสภาวะตลาด จึงควรเลือกจำนำในช่วงเวลาที่ราคาสูงสุด เพื่อให้ได้มูลค่าสูงสุดจากการประเมินราคา
- ดูแลรักษาสภาพทรัพย์สินให้ดี เพราะหากทรัพย์สินมีสภาพสมบูรณ์ ย่อมได้ราคาประเมินที่สูงกว่าสินค้าที่ชำรุดหรือบกพร่อง
- เตรียมเอกสารของทรัพย์สินที่ต้องการนำไปจำนำให้พร้อม เพื่อรับรองแหล่งที่มาของทรัพย์สินและคุณภาพอย่างครบถ้วน เช่น หากต้องการจำนำกระเป๋าแบรนด์เนมก็ควรมีการ์ด ใบเสร็จจาก Shop ถุงผ้า กล่อง และอื่นๆ เพราะจะส่งผลให้การประเมินราคามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ได้ราคาสูงตามมาตรฐาน
การจำนำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน และไม่มีบัตรเครดิต เพราะสามารถได้เงินสดทันทีเมื่อนำสิ่งของให้กับโรงรับจำนำประเมินมูลค่าของนั้นๆ
เปรียบเทียบการจำนำกับการใช้บัตรเครดิต
การจำนำทรัพย์สินและการใช้บัตรเครดิตนั้นมีข้อดี ข้อด้อย แตกต่างกันออกไป ดังนี้
การจำนำ
ข้อดีของการจำนำทรัพย์สิน
- ได้รับเงินสดทันที เหมาะสำหรับต้องใช้เงินสดอย่างเร่งด่วน
- ไม่มีผลต่อเครดิตบูโร
- ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติหนี้สิน
- ทรัพย์สินที่นำมาจำนำ ยังคงเป็นของผู้จำนำอยู่
- ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน
ข้อด้อยของการจำนำทรัพย์สิน
- ต้นทุนค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ สูง
- เสี่ยงสูญเสียทรัพย์สินไป หากไม่สามารถไถ่ถอนคืนได้ภายในระยะเวลากำหนด
- ได้เงินเพียงบางส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินจริงตามการประเมินราคา
- แม้ร้านรับจำนำหรือโรงรับจำนำจะมีระบบรักษาความปลอดภัย ทรัพย์สินที่เรานำไปจำนำแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียหายหรือสูญหายของทรัพย์สินได้ จากการเก็บรักษาหรือเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้น
- ในขณะที่จำนำนั้นเราต้องนำทรัพย์สินไปวางไว้กับร้านรับจำนำหรือโรงรับจำนำ ไม่สามารถใช้ประโยชน์และครอบครองทรัพย์สินไว้ได้
ใช้บัตรเครดิต
ข้อดีของการใช้บัตรเครดิต
- ยังคงสามารถใช้ประโยชน์และครอบครองทรัพย์สินของตนเองได้ตามปกติ
- ไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน
- สามารถนำทรัพย์สินไปหาประโยชน์อื่นๆ เช่น ให้เช่า ขาย โอนย้าย ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
- สามารถใช้จ่ายได้ตามวงเงินที่มีอยู่ในบัตรเครดิต
- มีสิทธิพิเศษและส่วนลดจากการใช้บัตรเครดิตตามร้านค้า ร้านอาหาร บริการ โรงแรมที่ร่วมรายการ
- สะดวกในการผ่อนชำระ เพราะเปลี่ยนยอดชำระเต็มเป็นผ่อนชำระได้
- สามารถสะสมคะแนน KTC FOREVER จากการใช้จ่ายแต่ละครั้งได้
- สามารถใช้ผ่อนชำระสินค้าและบริการต่างๆ ที่ร่วมรายการกับบัตรเครดิตได้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือได้รับโปรโมชั่นผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน
- มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเมื่อชำระเต็มจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะสามารถใช้บัตรเครดิตได้ทั้งชำระค่าสินค้าหรือบริการตามร้าน กดเงินสดออกมาใช้ หรือชำระสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องพกพาเงินสดจำนวนมาก
ข้อด้อยของการใช้บัตรเครดิต
- มีดอกเบี้ยตามที่ธนาคาร/สถาบันการเงินกำหนด หากไม่สามารถชำระคืนได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด
- หากผิดนัดชำระค่างวดบัตรเครดิตจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเครดิตบูโร ซึ่งอาจจะมีผลในการขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ
- มีค่าธรรมเนียมการผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมกดเงินสด และบางบัตรมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งบัตรเครดิต KTC ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
เปรียบเทียบดอกเบี้ยการจำนำกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต
ดอกเบี้ยการจำนำ
สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศอัตราดอกเบี้ยไว้ ดังนี้
- สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน โดยจำกัดวงเงินรับจำนำไม่เกิน 100,000 บาท ต่อ 1 ราย (บุคคล) และต่อสถานธนานุบาล 1 แห่ง
- เงินต้นตั้งแต่ 5,001 - 15,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
- เงินต้นเกิน 15,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน
(ที่มา : http://pawnshop.bangkok.go.th/index.html)
และสำหรับโรงรับจำนำทั่วไป หากวงเงินรับจำนำ 5,000 บาท อัตราดอกเบี้ยจะมักเริ่มต้นที่ประมาณ 1.25% ต่อเดือน
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต
ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป) ผู้ออกบัตรสามารถคิดดอกเบี้ยจากการใช้สินเชื่อบัตรเครดิตได้สูงสุด 16% ต่อปี และคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลได้สูงสุด 25% ต่อปี (ที่มา : https://www.setinvestnow.com/th/glossary/credit-card-interest)
ทั้งนี้ หากคุณต้องการเงินทุนระยะสั้นและไม่ต้องการจำนำทรัพย์สิน เพราะยังอยากใช้ประโยชน์ และครอบครองทรัพย์สินของตนเองได้ตามปกติ ไม่อยากเสี่ยงกับการที่ของต้องสูญหาย หรือเสียหาย "บัตรเครดิต" คือสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้จ่ายได้คล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของเงินก้อนฉุกเฉิน หรือการได้รับคะแนนสะสม ซึ่งสามารถใช้แลกรับส่วนลดหรือเครดิตเงินคืนได้ หรือรับสิทธิ์เข้าใช้บริการ Airport Lounge เป็นต้น สำหรับใครที่สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC สามารถสมัครบัตรเครดิตผ่านทางออนไลน์ได้เลย ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC