ก่อนเปิดร้านต้องรู้ จดทะเบียนพาณิชย์การค้าต้องเตรียมอะไรบ้าง
ในยุคปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจหรือมีธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น ทั้งการเปิดร้านขายของออนไลน์ เปิดบริษัทส่วนตัว การผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์ตัวเอง ซึ่งมักจะตามมาด้วยคำถามที่หลายคนสงสัยอย่าง แล้วต้องจดทะเบียนการค้าไหม? การจดทะเบียนพาณิชย์คืออะไร แล้วจำเป็นไหมที่จะต้องทำการจดทะเบียน บทความนี้ KTC ได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนพานิชย์ที่ผู้อยากเริ่มต้นธุรกิจหลายคนอาจละเลย แต่รู้หรือไม่ว่า “การจดทะเบียนการค้า” นั้นสำคัญกว่าที่คิด
จดทะเบียนพาณิชย์การค้า คืออะไร?
การจดทะเบียนการค้า หรือ การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ เอกสารทะเบียนการค้าที่สำคัญเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าและแบรนด์ เพื่อยืนยันว่าธุรกิจของเรานั้นมีตัวตนอยู่จริง ๆ มีสถานประกอบการเป็นหลักเป็นแหล่งที่แน่ชัด ร้านค้าสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและลูกค้าสามารถมั่นใจได้ เพราะมีการจดทะเบียนพาณิชย์การค้าถูกต้องตามกฏหมาย ในเรื่องของติดตามสินค้า การเคลมสินค้า การรับประกันสินค้าต่าง ๆ กรณีที่สินค้ามีการชำรุด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายกำหนดให้กิจการบางประเภทต้องจดทะเบียนพาณิชย์ โดยจะมีความแตกต่างกันไปตามข้อบังคับ ซึ่งในการจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ทางด้านเจ้าของกิจการต้องขอยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจหรือกิจการ
วางแผนเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเองด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์
ใครที่สามารถจดทะเบียนการค้าได้บ้าง?
สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถจดทะเบียนการค้าได้หรือไม่นั้น ทางด้านกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้มีการกำหนดผู้ที่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ดังนี้
- บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
ผู้ประกอบกิจการไหนบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
นอกจากการกำหนดผู้ที่สามารถจดทะเบียนแล้วยังมีการกำหนดกิจการการค้าที่เป็นพาณิชย์ที่จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งมีการกำหนดการประกอบกิจการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วน ดังนี้
- ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้า สินค้าดังกล่าวภายในหนึ่งวันขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าไว้เพื่อขายโดยมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปต้องทำการจดทะเบียน
- นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้า
- ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรม และขายสินค้าที่ผลิตได้
- ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
- ผู้ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัลที่เกี่ยวกับการบันเทิง
- ผู้ประกอบธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
- ผู้ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ขายสินค้าออนไลน์)
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
- ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์
- ผู้ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ขายสินค้าออนไลน์)
- ผู้ให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
- ผู้ให้บริการฟังเพลงและร้องเพลง โดยคาราโอเกะในแบบต่าง ๆ
- ผู้ให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
- ผู้ให้บริการตู้เพลง
- ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพค้าเร่ ร้านค้าแผงลอย พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น การพาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม การพาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ และพาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นการจดทะเบียนการค้าหรือไม่ต้องจดทะเบียนการค้านั่นเอง
ระบบรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตกับเครื่องรูดบัตร EDC
จดทะเบียนการค้า ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ในการจดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์ สิ่งแรกที่ต้องเตรียมให้พร้อมหลังจากเช็กคุณสมบัติแล้ว คือเอกสารต่าง ๆ สำหรับการจดทะเบียน ดังนี้
(1) คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) สามารถดาวน์โหลดแบบพิมพ์เพื่อไปใช้ในการจดทะเบียนได้ที่ www.dbd.go.th หรือขอรับแบบพิมพ์ได้ที่
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร
- สำนักงานเขตทุกเขต
- เทศบาล
- องค์การบริหารส่วนตำบล
- เมืองพัทยา
(2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
(3) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
(4) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
(5) สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
(6) หนังสือชี้แจง ในกรณีร้านค้าหรือธุรกิจที่เปิดมานานแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการค้านับตั้งแต่ 30 วัน หลังเปิดร้าน
จดทะเบียนการค้าที่ไหน?
จดทะเบียนพาณิชย์การค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
เมื่อเตรียมเอกสารเสร็จสิ้น ขั้นตอนต่อมาคือการเดินทางไปจดทะเบียนการค้ายังสถานที่ให้บริการตามที่กำหนด ไม่สามารถยื่นเรื่องผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยสามารถนำเอกสารไปยื่นยังสถานที่ดังต่อไปนี้
พื้นที่กรุงเทพฯ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง หรือฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง
พื้นที่ภูมิภาค
เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา เป็นการรับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนกำกับดูแลการจดทะเบียนพาณิชย์และภูมิภาค กองทะเบียนบริษัทมหาชนและธุรกิจพิเศษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำหรับผู้ประกอบกิจการเมื่อยื่นเรื่องขอจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานหรือสถานที่ประกอบธุรกิจในตำแหน่งที่เปิดเผยและสามารถมองเห็นได้ง่าย ชื่อที่ปรากฎบนป้ายต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานที่มีสาขาหลากหลายต้องมีคำว่า "สาขา" กำกับเอาไว้ด้วย หากไม่ทำการจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายกำหนดจะมีโทษทางกฎหมายตามที่ระบุไว้ทั้งการระวางโทษปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
แนะนำร้านค้าเพิ่มยอดขายผ่านระบบรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต
นอกจากการจำทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การเพิ่มโอกาสในการเติมโตให้แก่ธุรกิจทั้งการวางกลยุทธ์ทางการตลาด การจัดโปรโมชั่น ไปจนถึงทางเลือกในการรับชำระเงินผ่านระบบต่าง ๆ ที่มีตัวเลือกให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มช่องทางรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตอย่าง KTC เครื่องรูดบัตร EDC ที่รองรับบัตรเครดิตและเดบิต และรองรับสกุลเงินต่างประเทศได้กว่า 30 สกุลเงิน ฟรีค่าติดตั้งเครื่อง ค่าประกันเครื่อง และกระดาษเซลล์สลิปตลอดการใช้งาน รวมถึงเข้าร่วมการผ่อนชำระ 0% หรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษกับบัตร KTC และแลกคะแนนกับบัตรเครดิต KTC ได้ หรือ บริการรับชำระเงินผ่านลิงก์ KTC LINK PAY ที่ให้ร้านค้าสามารถซื้อขายออนไลน์ สะดวก ปลอดภัย รองรับการชำระทั้งเต็มจำนวนและผ่อนชำระ ร้านค้าสามารถสร้างลิงก์แล้วส่งให้แก่ลูกค้าได้ผ่านช่องทางสื่อมีเดียต่าง ๆ ทั้งยังกำหนดอายุการใช้งานของลิงก์ได้
รู้แบบนี้แล้วผู้ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการหรือเตรียมวางแผนเปิดธุรกิจของตัวเองต้องจดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย ภายในช่วงเวลาที่กำหนดคือ 30 วัน เพียงเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและเดินทางไปยื่นขอจดทะเบียนได้ง่าย ๆ เพราะขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ยุ่งยาก และถือเป็นการดำเนินการให้ถูกต้องสามารถประกอบการได้อย่างถูกกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือเสริมสร้างความอุ่นใจให้แก่ลูกค้า
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า