ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ
ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัด หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้จากวิชาเศรษฐศาสตร์กันมาบ้าง นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการเรียกจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันโดยเสมอภาค เพราะผู้ที่ครอบครองที่ดินเพื่อใช้ในการประกอบกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม หอพัก โรงพยาบาล(เอกชน) ธนาคาร โรงงาน หรือห้างร้านต่าง ๆ ก็จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีให้กับทางภาครัฐ จากการได้รับประโยชน์ในการใช้งานที่ดินบริเวณนั้นประกอบกิจการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่หลายคนอาจจะยังเกิดความสงสัยกันอยู่ว่า ภาษีโรงเรือน คิดยังไง ใครจ่าย และมีรายละเอียดส่วนไหนบ้างจำเป็นต้องรู้ เราจะพามาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน แม้ว่าภาษีตัวนี้จะถูกยกเลิกใช้ไปแล้วในปี 2562 และเปลี่ยนไปใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นประโยชน์ในการใช้เปรียบเทียบได้เหมือนกัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร
- โรงเรือนและที่ดินประเภทใด ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อไหร่
- ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คิดยังไง มีวิธีคำนวณอย่างไร
- ใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- วิธียื่นเรื่องและจ่ายภาษี
- เอกสารที่ใช้ยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีอะไรบ้าง
- ค่าปรับและกำหนดโทษ
- สรุปบทความ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ
ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ ภาษีที่คำนวณจากรายได้ประเมินในการใช้งานโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ติดกับที่ดินนั้นแบบถาวร เช่น อาคารพาณิชย์ ห้องเช่า ตึกแถว สำนักงาน โรงงาน ธนาคาร โรงแรม คลังสินค้า ฯลฯ โดยจะหลักในการพิจารณาว่า หากโรงเรือนและที่ดินนั้นก่อเกิดรายได้ให้กับผู้ครอบครองไม่ว่าจะทางไหน ก็จำเป็นจะต้องเสียภาษีให้กับทางภาครัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการกว้านซื้อที่ดินกักตุน และปล่อยให้รกร้างโดยไม่ใช้ประโยชน์ใด ๆ
โรงเรือนและที่ดินประเภทใด ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
โรงเรือนและที่ดิน ที่พิจารณาจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นหลัก หากเป็นการใช้ประกอบกิจการเพื่อสาธารณะ อย่างเช่นโรงพยาบาล หรือโรงเรียนที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนบุคคล ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีตรงส่วนนี้ รวมไปถึงบ้านพักอาศัยที่ไม่ได้ค้าขายใด ๆ ทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของรัฐบาล และไปถึงพระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อไหร่
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะต้องชำระในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ตามรอบการเรียกจัดเก็บภาษีแบบรายปี โดยสามารถยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ที่ สำนักงานเขตหรือเทศบาลในพื้นที่ หรือบางพื้นที่ก็สามารถยื่นผ่านไปรษณีย์ และชำระค่าภาษีผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือแอปพลิเคชันธนาคารได้อย่างสะดวกสบาย
แต่สิ่งหนึ่งที่คนจะเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องรู้ก็คือ แม้โรงเรือนและที่ดินนั้นจะไม่ได้ใช้งานเพื่อก่อเกิดรายได้ทั้งปี ก็ยังจำเป็นจะต้องยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามรอบจัดเก็บอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำโกดังสินค้าในช่วงเดือนสิงหาคม แม้จะมีระยะเวลาในการใช้งานที่ดินนั้นเพียง 5 เดือน แต่ก็จำเป็นจะต้องยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในช่วงเดือนมกราคมปีถัดไปอยู่ดี
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คิดยังไง มีวิธีคำนวณอย่างไร
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะมีอัตราในการเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 12.5% ต่อปี และจะต้องนำไปคำนวณอีกทีกับ
ประเภทการใช้งานโรงเรือนและที่ดินนั้น ซึ่งแบ่งได้เป็นสองกรณี ดังนี้
กรณีให้เช่าโรงเรือนหรือที่ดิน
หากทรัพย์สินที่ก่อเกิดรายได้ เป็นบ้านเช่า หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์ ที่สามารถประเมินค่าเช่าแบบรายปีได้ สามารถคำนวณด้วยสูตรด้านล่างนี้ได้เลย
- (ค่าเช่าของทรัพย์สินต่อเดือน x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x 12.5% = ภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี
ตัวอย่างเช่น ปล่อยเช่าหอพักที่ 4,000 บาท / เดือน และให้เช่ามาแล้วทั้งหมด 6 เดือน ให้แทนสูตรลงไปตามนี้ (4,000 x 6) x 12.5% = 3,000 บาท คือภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ต้องจ่าย
กรณีโรงเรือนหรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ
แต่หากโรงเรือนและที่ดินนั้นไม่สามารถประเมินรายได้แบบรายปีได้ จะใช้เป็นการคำนวณจากพื้นที่ บวกกับอัตราทำเลแทน โดยใช้สูตรตามนี้
- ((ตารางเมตรของพื้นที่ x อัตราทำเล) x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x 12.5% = ภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี
ตัวอย่างเช่น กิจการนั้นมีขนาดพื้นที่ 180 ตรม. และมีอัตราทำเลที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้อยู่ที่ เมตรละ 40 บาท และประกอบกิจการมาทั้งปี ให้แทนสูตรลงไปตามนี้ ((180 x 40) x 12) x 12.5% = 10,800 บาท คือภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ต้องจ่าย
ใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ผู้ถือครองทรัพย์สินอย่างโรงเรือนและที่ดินจะต้องเป็นคนจ่ายภาษีตรงส่วนนี้ แต่จะแบ่งได้เป็นสองกรณี เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น
- กรณีเจ้าของทรัพย์สินใช้งานที่ดินในการประกอบกิจการเอง ก็ต้องเสียภาษีไปตามปกติทุกปี
- กรณีเจ้าของโรงเรือนและที่ดิน เป็นคนละเจ้าของ ที่เกิดจากการปล่อยเช่า หากมีการระบุในสัญญาเช่า ผู้เช่าก็จำเป็นจะต้องชำระภาษีในส่วนนี้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่หากไม่ได้ระบุไว้ และปล่อยให้ใช้พื้นที่แบบฟรี ๆ แบบสัญญาปากเปล่า ภาษีตรงส่วนนี้ก็จะตกเป็นของเจ้าของทรัพย์สินที่ต้องจ่าย
วิธียื่นเรื่องและจ่ายภาษี
อย่างที่บอกกันไปในด้านบนแล้วว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะยื่นเสียภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ซึ่งมีขั้นตอนในการจ่ายง่าย ๆ ตามนี้
1. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2) และหลักฐานประกอบที่สำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือครองทรัพย์สินอยู่ แต่หากมีทรัพย์สินอยู่หลายแห่ง สามารถยืนได้ที่กองรายได้ หรือสำนักงานคลัง
2. รอรับใบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.8) จากสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยื่นเสียภาษีประจำปีไว้
3. นำใบแจ้งประมินที่ได้รับมาไปชำระภาษีภายใน 30 วัน ที่สำนักงานองค์กร หรือผ่านช่องทางธนาคารได้ตามแต่สะดวก
เอกสารที่ใช้ยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีอะไรบ้าง
- สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาโฉนดที่ดินที่ปลูกโรงเรือน
- สำเนาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง / สำเนาสัญญาเช่า
- เอกสารที่ใช้จดทะเบียน ที่แสดงถึงการใช้ประโยชน์ต่อสิ่งปลูกสร้างในการประกอบกิจการ เช่น ทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือใบอนุญาตในการประกอบกิจการ
ค่าปรับและกำหนดโทษ
หากไม่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ จะมีค่าปรับที่ต้องชำระ และบทลงโทษย้อนหลังตามกฎหมาย ดังนี้
กรณีไม่ยื่น ภรด.2 ตามระยะเวลาที่กำหนด
จะมีโทษปรับ 200 บาท และถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังตานจำนวนปี ไม่เกิน 10 ปี
กรณียื่น ภรด.2 ด้วยข้อมูลเป็นเท็จ
จะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับที่ไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังตามจำนวนปี ไม่เกิน 5 ปี
กรณีชำระภาษีล่าช้าเกิน 30 วัน
ส่วนกรณีที่ยื่นชำระภาษีล่าช้าเกิน 30 วัน จะต้องเสียภาษีเพิ่มตามช่วงระยะเวลาที่เกินกำหนด ดังนี้
- ล่าช้าไม่เกิน 1 เดือน : จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 2.5% ของภาษีที่ค้างชำระ
- ล่าช้าเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน : จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 5% ของภาษีที่ค้างชำระ
- ล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน : จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 7.5% ของภาษีที่ค้างชำระ
- ล่าช้าเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน : จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 10% ของภาษีที่ค้างชำระ
- ล่าช้าเกิน 4 เดือนขึ้นไป จะโดนอายัดทรัพย์สิน หรือขาดทอดตลาดโดยไม่ต้องออกหมายยึด
สรุปบทความ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ
เมื่อมีรายได้จากการประกอบกิจการในที่ดินที่ครอบครอง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก็คือเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับกฎหมายโดยตรง และอาจจะส่งผลถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยก็ได้หากเลือกที่จะไม่ใส่ใจ แต่หากใครที่กำลังประสบปัญหาขาดเงินก้อนในการหมุนเวียนธุรกิจ หรือประกอบกิจการแล้วขาดสภาพคล่อง หากคุณมีรถ ก็สามารถขอสินเชื่อKTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ที่ให้วงเงินก้อนใหญ่ สมัครง่าย รู้ผลไว ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก พร้อมรับเงินได้ทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำ พร้อมผ่อนได้ยาวสูงสุด 84 เดือน จึงตอบโจทย์คนที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
สมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ทางออนไลน์ / รู้ผลไว รับเงินก้อนทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำ*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21% - 24% ต่อปี*