Active Learning เป็นแนวทางการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แทนที่จะเรียนรู้แบบท่องจำเพียงอย่างเดียว บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Active Learning คืออะไรให้ลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงขั้นตอน Active Learning มีอะไรบ้าง และเทคนิคที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้
Active Learning คืออะไร ?
Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง ได้มีส่วนร่วมและลงมือทำในกิจกรรมต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย แทนการรับความรู้จากอาจารย์หรือในตำราเพียงอย่างเดียว เช่น การฝึกตั้งคำถาม การทำงานเป็นกลุ่ม การทดลองและลงมือทำจริงในสถานการณ์ต่างๆ
ทั้งนี้ Active Learning คือสิ่งที่สามารถปรับใช้ได้ในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การฝึกอบรมในองค์กร ซึ่งนับว่าส่งผลดีในการพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) รวมไปถึงทักษะการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิตและการทำงานในอนาคต
Active Learning ทฤษฎีของใคร?
Active Learning คือแนวคิดการเรียนรู้ที่ได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการหลายท่าน แต่ผู้ที่ถือเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้และให้คำจำกัดความในเชิงทฤษฎีคนแรกก็คือ “John Dewey” นักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักปฏิรูปการศึกษาชาวอเมริกัน ที่เสนอแนวคิด "Learning by Doing" หรือการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยเชื่อว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำด้วยตนเอง
active learning เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและผู้สอนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานอีกด้วย
Active Learning ดีต่อผู้เรียนอย่างไร ?
การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาทักษะสำคัญหลายด้าน ลองมาดูกันว่าประโยชน์ของการเรียนรู้แบบ Active Learning มีอะไรบ้าง
1. ช่วยกระตุ้นการคิดเชิงวิพากษ์และรู้จักการวิเคราะห์
เมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็จะได้ใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง ได้วิเคราะห์ข้อมูลหรือมองเห็นปัญหาจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งการที่ผู้เรียนต้องตั้งคำถาม วิเคราะห์สถานการณ์ และตัดสินใจด้วยตัวเอง จะช่วยพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนคิดอย่างมีวิจารณญาณ แล้ว ยังทำให้สามารถประเมินสถานการณ์และเลือกวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้
2. ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม
การเรียนรู้แบบ Active Learning มักจะมีกิจกรรมกลุ่มที่ผู้เรียนต้องร่วมมือกันทำ เช่น การทำโครงการร่วมกัน การอภิปรายกลุ่ม ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม โดยการทำงานเป็นทีมนี้จะช่วยฝึกให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้จักการรับฟังผู้อื่น และรู้จักการเจรจาต่อรอง โดยทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตการทำงาน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับหลายๆ สถานการณ์ได้
3. ช่วยส่งเสริมเรื่องการมีอิสระทางความคิด
Active Learning มีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องอิสระทางความคิด เพราะผู้เรียนจะได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้แบบเดิมๆ ที่มักจะจำกัดกรอบความคิดของผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ แต่ Active Learning จะช่วยฝึกให้ผู้เรียนได้มีอิสระทางความคิด เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการลงมือทำและทดลองสิ่งใหม่ๆ
4. ช่วยเพิ่มบรรยากาศความสนุกสนานในการเรียน
การเรียนรู้ที่เน้นการทำกิจกรรมและการมีส่วนร่วม จะช่วยกระตุ้นความสนใจจากผู้เรียนได้ เพราะรูปแบบการเรียนการสอนจะไม่น่าเบื่อ ผู้เรียนจะรู้สึกตื่นเต้น มีความกระตือรือร้นในการอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
5. ช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง
เมื่อผู้เรียนได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ได้นำเสนอแนวคิดของตนเอง หรือได้แก้ปัญหาผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ ก็จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเองมากขึ้น และเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ท้าทาย
Active Learning 5 ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ?
1. ขั้นตั้งคำถาม
เป็นขั้นตอนแรกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนรู้ โดยการตั้งคำถามนั้นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด การคาดคะเนคำตอบ และการค้นหาคำตอบ
2. ขั้นแสวงหาความรู้สารสนเทศ
ขั้นนี้ผู้เรียนจะได้ออกแบบวิธีรวบรวมข้อมูลและเริ่มค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือ อินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นำไปสู่การคิดวิเคราะห์ว่าข้อมูลที่หามานั้นควรเชื่อถือหรือไม่ แหล่งข้อมูลไหนน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อคำตอบเกี่ยวกับหัวข้อที่กำลังศึกษา ซึ่งผู้เรียนก็จะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ข้อมูลหลายๆ แหล่ง เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
3. ขั้นสร้างองค์ความรู้
เมื่อผู้เรียนรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้ว ขั้นตอนนี้จะเน้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ โดยกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา หรือคิดค้นแนวทางใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสรุปผลร่วมกันในชั้นเรียน ยังช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กระตุ้นให้เกิดการทำงานเป็นทีมและพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ร่วมกัน
4. ขั้นเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร
เมื่อผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนนี้จะเน้นการนำเสนอและสื่อสารความรู้ที่ได้ให้กับผู้อื่น ทั้งในรูปแบบการอภิปราย การเขียน หรือการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อฝึกทักษะการสื่อสารและการถ่ายทอดความรู้ ด้วยภาษาที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย
5. ขั้นการตอบแทนสังคม
ขั้นตอนสุดท้ายของ Active Learning คือการนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ในสังคม ผู้เรียนสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การช่วยสอนเพื่อน การทำโครงการเพื่อสังคม หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้อื่นได้รับความรู้ แต่ยังเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดที่นำไปสู่การตั้งคำถามใหม่และการค้นคว้าเพิ่มเติม ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องและพัฒนาไปเรื่อยๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก
- https://www.eef.or.th/article-5-steps-active-learning/#:~:text=หนึ่งในเทคนิคสำคัญที่,นำความรู้ไปเผยแพร่
- http://www.maceduca.com/news-detail.php?id=1
- https://codegeniusacademy.com/active-learning/#5_ขั้น_ตอน_active_learning
เทคนิคการสอนแบบ Active Learning มีอะไรบ้าง ?
Active Learning มีเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาทักษะที่จำเป็น และนี่คือตัวอย่างเทคนิคที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
1. แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share)
เป็นเทคนิคที่ช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร โดย ผู้เรียนจะต้องคิดคำตอบสำหรับคำถามที่กำหนด หลังจากนั้นจะต้องจับคู่กันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วนำเสนอข้อสรุปของคู่ตนเองในชั้นเรียน ซึ่งช่วยให้เกิดการอภิปรายและต่อยอดแนวคิดร่วมกัน
2. แบบสวมบทบาทสมมติ (Role Play)
เทคนิคนี้เป็นการให้ผู้เรียนสวมบทบาทและจำลองสถานการณ์ เช่น การเป็นนักธุรกิจ การเป็นนักข่าว หรือการรับบทบาทในสถานการณ์ทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงบทบาทและมุมมองที่แตกต่างกัน ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหา การสื่อสาร และการตัดสินใจผ่านประสบการณ์ตรง
3. แบบเน้นกรณีศึกษา (Case Study)
เป็นการให้ผู้เรียนวิเคราะห์เหตุการณ์จริงจากอดีตหรือสถานการณ์จำลองที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน โดยเทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของปัญหา ฝึกการคิดเชิงวิเคราะห์และการตัดสินใจ เช่น วิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจผ่านกรณีศึกษาของบริษัทจริง ศึกษาคดีทางกฎหมายเพื่อให้เข้าใจแนวทางการใช้กฎหมาย วิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจหรือปัญหาสังคมผ่านสถานการณ์จริง
4. แบบเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนสอนกันเอง (Peer Teaching)
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ผ่านการอธิบายและสื่อสารกับเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งการให้ผู้เรียนสอนกันเองนั้นจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร ความมั่นใจ และความเข้าใจในเนื้อหา เช่น การให้ผู้เรียนอธิบายเนื้อหาที่ตนเองเข้าใจให้เพื่อนฟัง การให้แต่ละกลุ่มศึกษาเนื้อหาคนละหัวข้อ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน
5. แบบเรียนรู้ผ่านเกม (Games-based Learning)
การเรียนรู้ผ่านเกมเป็นอีกหนึ่งเทคนิคของ Active Learning ที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุก น่าตื่นเต้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากขึ้น โดยใช้เกมเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเนื้อหา ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็คือการได้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น ได้รู้จักวางแผนและแก้ปัญหาที่ช่วยพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบ
6. แบบโต้วาที (Student Debates)
เป็นเทคนิคการสอนที่ช่วยกระตุ้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในผู้เรียน โดยการโต้วาทีนั้นผู้เรียนจะได้รับมอบหมายให้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่กำหนด โดยแบ่งกลุ่มเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน เพื่ออภิปรายและโต้แย้งกันในหัวข้อที่ได้รับ ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดเชิงวิเคราะห์ การฝึกพูดในที่สาธารณะ การฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การโต้แย้งอย่างมีเหตุผล และมุ่งหาข้อสรุปจากการอภิปรายที่สร้างสรรค์
7. แบบเรียนรู้ผ่านปัญหา (Problem-Based Learning)
เป็นเทคนิคการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการแก้ไขปัญหาจริง โดยไม่เน้นแค่การรับข้อมูลจากครู โดยผู้เรียนจะได้รับโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนหรือท้าทาย ซึ่งต้องตั้งสมมุติฐาน ใช้การคิดวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และหาคำตอบหรือวิธีการแก้ไขปัญหานั้นให้ตรงจุด
ตัวอย่างการสอน / เรียนรู้แบบ Active Learning
-
ตัวอย่างที่ 1 : สภาจำลองแบบ Role Play
เทคนิคที่ใช้ : แบบสวมบทบาทสมมติ (Role Play) + การโต้วาที (Student Debates)
ในกิจกรรมของวิชาสังคม คุณครูได้เลือกหัวข้อ "ควรลดเวลาเรียนลงหรือไม่?" โดยให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องหาข้อมูลและเหตุผลมาสนับสนุนมุมมองของตัวเอง จากนั้นจัดการอภิปรายในรูปแบบสภาจำลอง โดยให้ตัวแทนของแต่ละฝ่ายออกมาโต้แย้งกัน
สำหรับกิจกรรมนี้ ผู้เรียนจะได้ฝึกการคิดเชิงวิเคราะห์ พัฒนาทักษะการตัดสินใจและความสามารถในการพูดในที่สาธารณะ เพราะต้องแสดงเหตุผลต่อหน้าชั้นเรียน อีกทั้งยังได้เรียนรู้การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างผ่านการอภิปรายที่มีเหตุผล ก่อนจะลงคะแนนเสียงสรุปผลความคิดเห็นของทุกคน
-
ตัวอย่างที่ 2 : Math Battle แบบ Think-Pair-Share
เทคนิคที่ใช้ : แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) + Problem-Based Learning
ในชั่วโมงคณิตศาสตร์ คุณครูได้เตรียมโจทย์ให้กับนักเรียน ดังนี้ "ถ้าราคาสินค้าขึ้น 10% แล้วลดลง 10% ราคาสินค้าจะเท่าเดิมหรือไม่?"
กิจกรรมนี้จะเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนคิดคำตอบคนเดียว (Think) โดยให้เวลา 3 นาที ในการคิดวิธีการแก้โจทย์นี้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นให้นักเรียนจะจับคู่กับเพื่อนและถกเถียงกัน (Pair) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิธีการคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะมีบางกลุ่มที่คิดว่าราคาจะเท่าเดิม หรือบางกลุ่มอาจจะเห็นว่าราคาจะไม่เท่ากัน
และสุดท้ายกลุ่มต่างๆ จะต้องนำเสนอแนวคิดของตนเองในชั้นเรียน (Share) ให้ทุกคนได้ฟังและอภิปรายร่วมกัน ซึ่งอาจมีการโต้แย้งและสรุปข้อสรุปจากหลายมุมมอง
โดยกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดเชิงตรรกะ แต่ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่อและเต็มไปด้วยความสนุก สู้การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเรียนรู้แบบ Active Learning นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีระบบและการทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการการเงินและการวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณกำลังตัดสินใจสมัครบัตรเครดิตสักใบที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้จ่าย เราขอแนะนำบัตรเครดิต KTC ที่มีให้เลือกหลากหลายประเภท มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น การสะสมคะแนน KTC FOREVER, การผ่อนชำระด้วยโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 10 เดือน, โปรโมชันสุดคุ้ม ที่ช่วยให้คุณบริหารการเงินได้ง่ายขึ้น, การรับส่วนลดร้านอาหาร ร้านค้า ที่พัก บริการสนามบิน, การเข้าถึงบริการต่างๆ อีกทั้งยังมอบความสะดวกสบายในการชำระเงิน สามารถใช้จ่ายได้สบายทั่วโลก
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านออนไลน์ได้เลย ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC