การบริหารคนไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนอาจคิดว่าตำแหน่ง “หัวหน้า” คือการเป็นผู้นำทีม สั่งงาน และควบคุมคนในทีมให้ทำงานทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเป็นหัวหน้าที่ดีนั้นต้องมีศิลปะในการบริหารคน ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ ทักษะการสื่อสาร และความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมได้ เพราะงานที่ดีไม่ได้เกิดจากการใช้คำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากความร่วมมือ และความศรัทธาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องด้วย
แล้วหัวหน้าที่ดีต้องเป็นแบบไหน ? บทความนี้จะพาคุณไปดูกันว่าคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นหัวหน้างานที่ดี 10 ข้อมีอะไรบ้าง แล้วนิสัยแบบไหนที่ทำให้ลูกน้องไม่อยากร่วมงานด้วย รวมถึงเทคนิคด้านจิตวิทยาในการบริหารทีม เพื่อให้คุณเป็นหัวหน้าที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง
10 คุณสมบัติหัวหน้าที่ดี
1. เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์
หัวหน้าที่ดีต้องสามารถกำหนดทิศทางการทำงานที่ชัดเจนให้กับทีมได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ตั้งเป้าหมายการทำงานให้สำเร็จ แต่ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมเป้าหมายของการทำงานหรือหน้าที่ของแต่ละคนนั้นถึงสำคัญ เพราะวิสัยทัศน์ที่ดีจะช่วยให้ทีมรู้จุดมุ่งหมายของการทำงาน เกิดความมุ่งมั่น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขององค์กร
2. มีความยุติธรรมให้กับทุกคน
ความยุติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกน้องเคารพหัวหน้า หัวหน้าที่ดีต้องไม่ลำเอียง ไม่เล่นพรรคเล่นพวก และให้โอกาสลูกน้องทุกคนเท่าเทียมกัน รวมถึงต้องมีความโปร่งใสในการตัดสินใจและให้เครดิตกับผลงานของทีมอย่างถูกต้องด้วย
3. รับฟังความคิดเห็นลูกน้องเสมอ
หัวหน้าที่ดีต้องเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือแม้แต่คำวิจารณ์ เพราะเสียงเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทีมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งการฟังที่ดีไม่ใช่แค่การรับรู้ แต่ต้องนำไปปรับใช้จริงด้วย
4. มีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
การสื่อสารที่ดีเป็นหัวใจของการทำงานร่วมกัน หัวหน้าที่ดีต้องสามารถอธิบายเป้าหมาย งานแต่ละส่วน และความคาดหวังในการทำงานได้อย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีทักษะในการสื่อสารเชิงบวกที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับทีมได้
5. ให้ความเชื่อมั่นและมอบอำนาจให้กับทีม
หัวหน้าที่ดีต้องไม่แบกภาระการทำงานทุกอย่างไว้กับตัวเอง และไม่ควบคุมทุกอย่างจนเกินไป แต่ต้องเชื่อใจและให้อิสระลูกน้องในการทำงาน การให้อำนาจในการตัดสินใจจะทำให้ลูกน้องรู้สึกเป็นเจ้าของงานและมีความรับผิดชอบในการทำงานมากขึ้น
6. ให้คำแนะนำและพัฒนาทีมได้
หัวหน้าที่ดีต้องมองเห็นศักยภาพของลูกน้องและช่วยผลักดันให้ลูกน้องเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำ การฝึกอบรม หรือการมอบหมายงานที่ท้าทายเพื่อพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละคน
7. ยอมรับความผิดพลาดและสามารถแก้ไขได้
หัวหน้าที่ดีต้องพร้อมยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้จากมัน แทนที่จะโยนความผิดให้ลูกน้อง การสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความผิดพลาดและนำไปพัฒนาต่อ จะทำให้ลูกน้องในทีมมีความกล้าสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาตนเอง
8. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง
หัวหน้าต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวินัย การตรงต่อเวลา หรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กร เพราะการเป็นหัวหน้าที่ปฏิบัติในกฎระเบียบได้ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองมากขึ้น
9. ใส่ใจความเป็นอยู่ของลูกน้อง
หัวหน้าที่ดีต้องเข้าใจปัญหาของลูกน้อง ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว รวมถึงต้องสามารถให้การสนับสนุนหรือให้คำแนะนำในเวลาที่จำเป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยแก้ปัญหางานที่ซับซ้อน หรือให้กำลังใจเมื่อลูกน้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัว การมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความต้องการของลูกน้อง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง รวมถึงลูกน้องกับเพื่อนร่วมงานในทีมด้วยกันเอง
10. สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี
หัวหน้าที่ดีต้องทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากมาทำงาน ไม่ใช่แค่สถานที่ทำงานไปวันๆ ซึ่งอาจจะให้ความยืดหยุ่นในบางอย่าง เช่น เวลาเข้า-ออกงาน การอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้ในบางวัน หรือการมีพื้นที่พักผ่อนในออฟฟิศที่ช่วยลดความเครียดของพนักงาน นอกจากนี้ หัวหน้าที่ดีควรสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข เพื่อให้ลูกน้องรู้สึกมีแรงจูงใจและพร้อมทำงานอย่างเต็มที่
7 นิสัยหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียด
- ชอบใช้อำนาจข่มลูกน้อง : มองลูกน้องเป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้เกียรติหรือรับฟัง ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความกดดันและความหวาดกลัวในตัวหัวหน้า
- ขาดความรับผิดชอบ : หัวหน้าที่โยนความผิดให้กับทีมเมื่อมีปัญหา แต่รับเครดิตเมื่อมีผลงานดี จะสร้างความไม่พอใจและความไม่ไว้วางใจให้กับลูกน้อง ซึ่งการเป็นหัวหน้าที่ดีนั้นต้องรู้จักรับผิดชอบและยืนเคียงข้างทีมในทุกสถานการณ์
- ไม่มีความยืดหยุ่น : ยึดติดกับกฎเกณฑ์มากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในการทำงาน จะทำให้ลูกน้องรู้สึกอึดอัดและไม่มีอิสระในการทำงานหรือใช้ชีวิต
- ไม่เปิดรับความคิดเห็น : ปิดกั้นไอเดียใหม่ๆ ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอแนะหรือคำวิจารณ์ ซึ่งจะทำให้ทีมขาดความคิดสร้างสรรค์ และลูกน้องรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
- เลือกปฏิบัติและเล่นพรรคเล่นพวก : เปิดโอกาสการทำงานหรือการเติบโตในหน้าที่ให้เฉพาะกับคนที่ตัวเองชอบหรือสนิทสนมเท่านั้น ซึ่งเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมและบรรยากาศที่เป็นพิษในที่ทำงาน ลูกน้องที่ไม่ได้รับโอกาสจะรู้สึกหมดกำลังใจ และอาจส่งผลให้การทำงานของทีมขาดประสิทธิภาพ
- ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีม : หัวหน้าที่ไม่สนับสนุนให้ลูกน้องเติบโต ไม่จัดอบรม หรือไม่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะใหม่ๆ จะทำให้ทีมขาดการพัฒนาและไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน
- ไม่สร้างแรงจูงใจในการทำงาน : ไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ และไม่ใส่ใจความรู้สึกของลูกน้อง ซึ่งอาจทำให้พนักงานหมดไฟและรู้สึกว่าไม่มีความหมายในการทำงาน
จิตวิทยาการบริหารลูกน้อง
การบริหารลูกน้องอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่การใช้คำสั่งและมอบหมายงานเท่านั้น แต่ยังต้องใช้เทคนิคจิตวิทยาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการทำงาน หากหัวหน้าสามารถเข้าใจลูกน้องและใช้เทคนิคเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น
1. ใช้เทคนิค The Pygmalion Effect
Pygmalion Effect คือหลักจิตวิทยาที่เกิดจากการคาดหวัง โดยเชื่อว่าคนๆ หนึ่งจะทำผลงานได้ดีขึ้น เมื่อเขารู้สึกว่าคนอื่นมีความคาดหวังในตัวเขา ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณเชื่อในตัวลูกน้องและมองเห็นศักยภาพว่าลูกน้องของคุณสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วคุณสื่อสารออกไปอย่างชัดเจน เช่น ผมเชื่อว่าคุณทำได้ , ผมเห็นถึงศักยภาพและเชื่อมั่นว่าคุณสามารถเป็นผู้นำของโปรเจกต์นี้ได้ ก็จะช่วยให้ลูกน้องเกิดแรงผลักดันที่จะพยายามทำผลงานให้ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หัวหน้าที่ดีต้องมองศักยภาพของลูกน้องตัวเองให้ออก ต้องพูดคุย และสื่อสารให้เขาเห็นถึงศักยภาพที่ตัวเขามีอยู่ด้วย
2. สื่อสารด้วยคำพูดเชิงบวก
คำพูดที่หัวหน้าใช้มีอิทธิพลต่อการทำงานของลูกน้องเป็นอย่างมาก หัวหน้าที่ดีต้องรู้จักใช้คำพูดเชิงบวก ให้คำพูดชมเชยลูกน้อง เช่น คุณทำได้ดีมากเลย, ผมชอบไอเดียของคุณมาก, คุณเป็นคนที่มีศักยภาพมาก, ขอบคุณมากนะที่ช่วยทำงานนี้จนสำเร็จ, ขอบคุณสำหรับความทุ่มเท เพราะคำพูดเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ลูกน้องรู้สึกมั่นใจและมีแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป ยิ่งได้รับการยอมรับและคำชมเชย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกดีและเกิดแรงจูงใจในการทำงานต่อไปด้วย
2. เปลี่ยนมุมมองให้ลูกน้องเห็นโอกาสแทนอุปสรรค
หัวหน้าที่ดีต้องเปลี่ยนมุมมองให้ลูกน้องเห็นโอกาสแทนอุปสรรคหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น เวลาลูกน้องทำผิดพลาด แทนที่จะตำหนิหรือซ้ำเติม ให้พูดว่า "นี่คือบทเรียนที่จะทำให้คุณเก่งขึ้น" หรือ "ถ้าไม่มีใครทำผิดพลาดเลย แปลว่าเราไม่กำลังพัฒนาอะไรใหม่" นอกจากนี้ ต้องให้คำแนะนำที่ชัดเจน และมีวิธีการแก้ไขที่สามารถนำไปปรับปรุงใช้ได้จริง
3. สร้างความไว้วางใจ
ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานร่วมกัน หากลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้ามีความไว้วางใจในตนเองและให้โอกาสในการตัดสินใจ จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบและต้องทำงานอย่างเต็มที่ การให้ความไว้วางใจนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย
4. การเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของลูกน้อง
การเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของลูกน้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หัวหน้าที่เข้าใจความรู้สึกของลูกน้องจะสามารถปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และยังแสดงออกถึงการรับฟัง การเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ลูกน้องมีความสุขและพึงพอใจในการทำงาน โดยอาจจะใช้เทคนิคการประชุมแบบ 1-on-1 ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เพื่ออัปเดตทั้งเรื่องทำงานและเรื่องส่วนตัวของลูกน้อง
5. กระตุ้นความสุขในการทำงาน
การกระตุ้นให้ลูกน้องมีความสุขในการทำงาน สามารถทำได้ด้วยการสร้างแรงจูงใจทั้งภายนอกและภายใน เช่น การมอบโบนัส, การให้รางวัลแบบคาดเดาไม่ได้, การเลื่อนตำแหน่ง, การแบ่งเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายย่อยๆ เพื่อให้ลูกน้องรู้สึกว่าตัวเองทำงานสำเร็จบ่อยขึ้น, การให้โอกาสในการเรียนรู้และเติบโต ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้องมีความสุข เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน
6.ต้องรู้จักควบคุมพลังงานของทีม
มนุษย์สามารถรับอารมณ์ของกันและกันได้โดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าหัวหน้ามีพลังงานบวก ลูกน้องก็จะซึมซับพลังงานนั้นไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าหัวหน้าดูเครียดและหมดไฟ ลูกน้องก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน
7. การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถทำได้
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถทำได้จะช่วยให้ลูกน้องเห็นภาพรวมของงานที่กำลังทำอยู่ รู้สึกมีทิศทางในการทำงานชัดเจน เมื่อลูกน้องสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความพึงพอใจในตัวเอง
การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ใช่แค่การบริหารงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ยังต้องรู้จักบริหาร "ใจ" ของลูกน้องด้วย ซึ่งบางครั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็เกิดขึ้นจากโมเมนต์เล็กๆ น้อยๆ เช่น การพาทีมไปเลี้ยงขอบคุณหลังจากปิดโปรเจกต์ใหญ่ หรือเลี้ยงกาแฟให้ในเช้าวันประชุมสำคัญ ซึ่งหัวหน้าที่ใส่ใจรายละเอียดแบบนี้ มักจะเป็นที่รักของลูกน้องเสมอ และเมื่อองค์กรมีหัวหน้าที่ดี ลูกน้องที่ดี ก็จะยิ่งส่งเสริมให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น
สมัครบัตรเครดิต KTC วันนี้ เพื่อช่วยให้การดูแลทีมง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรับส่วนลดร้านอาหาร ร้านค้า เครดิตเงินคืน พร้อมรับคะแนน KTC FOREVER จากทุกการใช้จ่ายที่สามารถสะสมแล้วนำคะแนนมาใช้แลกสินค้า/บริการ ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการได้ และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านออนไลน์ได้เลย ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC