การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคให้กับมูลนิธิ โรงพยาบาล หรือองค์กรการกุศลต่างๆ นอกจากจะได้สร้างบุญได้กุศลแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย มาดูกันเลยว่า เงินบริจาค 2567 ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ บริจาคที่ไหนได้ลดภาษี 2 เท่า
เงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุดได้เท่าไหร่ ?
ในปี 2567 เราสามารถนำยอดเงินบริจาค ลดหย่อนภาษี บุคคลธรรมดา ได้สูงสุดได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ โดยเงินบริจาคตามที่กฎหมายกำหนดให้บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และสถานพยาบาลของทางราชการ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน และในส่วนของบริจาคพรรคการเมือง ก็ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
บริจาคเงินที่ไหนได้บ้าง และบริจาคที่ไหนได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า ?
ผู้ที่บริจาคเงินแก่วัดวาอาราม โบสถ์ ศาสนสถาน สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษาของทางราชการ องค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และได้รับการรับรองจากกรมสรรพากร สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงสามารถบริจาคให้พรรคการเมืองก็ได้เช่นกัน
บริจาคที่ไหนได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า ?
การบริจาคเงิน ปี 2567 ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ เงินบริจาคพิเศษ ได้แก่
1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา
โดยต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
- จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
- จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
- จัดหาครูอาจารย์ หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา
2. เงินบริจาคสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ
โดยต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่
- สถานพยาบาลของทางราชการ
- สถานพยาบาลของสถานศึกษาของรัฐ
- สถานพยาบาลขององค์การมหาชน
- สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ
- สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย
- สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ
(สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่ลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้ที่นี่)
3. เงินบริจาคพิเศษอื่นๆ
- เงินบริจาคสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
- เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬาให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่างๆ (ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า ได้ที่นี่)
- เงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
- เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาจัดตั้งขึ้น
- เงินบริจาคให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิ์เข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- เงินบริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- เงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพ และการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู รวมถึงสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
โดยผู้ที่บริจาคสนับสนุนการศึกษาเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น ซึ่งสามารถบริจาคผ่านทาง KTC ออนไลน์ก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย, มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ, ศิริราชมูลนิธิ, มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา เป็นต้น
e-Donation บริจาคลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมาแสดง
e-Donation คืออะไร?
e-Donation คือระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมสรรพากรพัฒนาระบบขึ้นเพื่อใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล องค์กรสาธารณกุศล และหน่วยรับบริจาคอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำการบริจาคมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมาแสดง แถมยังช่วยให้ผู้บริจาคได้รับเงินคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น
บริจาคเงิน e-Donation ได้ที่ไหนบ้าง ?
การใช้งานในระบบ e-Donation ผู้ที่จะทำการบริจาคจะสามารถทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
1. การบริจาคเป็นเงินสด
การบริจาคเป็นเงินสดสามารถที่จะบริจาคได้ผ่านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น วัด โบสถ์ ศาสนสถาน สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา มูลนิธิ โดยเมื่อบริจาคเสร็จสิ้นแล้วทางหน่วยงานเหล่านั้นก็จะมีการบันทึกข้อมูลการรับบริจาคบนระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
2. การบริจาคผ่าน QR Code บนช่องทางการชำระเงินของธนาคาร
ปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและเปิดให้บริการระบบ e-Donation แล้ว ได้แก่
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารทหารไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารธนชาต
- ธนาคารออมสิน
การบริจาคผ่าน QR Code ของธนาคารจะมีระบบ e-Donation เงินในส่วนนี้ทางธนาคารก็จะเป็นผู้ส่งข้อมูลการรับบริจาคไปที่กรมสรรพากร ซึ่งก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
บริจาคเงิน e-Donation ต้องเก็บหลักฐานไหม ?
การบริจาคเงิน e-Donation ไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานที่เป็นเอกสารหรือกระดาษ เนื่องจากเราจะได้รับใบรับรองการบริจาคในรูปแบบดิจิทัล (e-Receipt) ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีได้
ข้อควรรู้เกี่ยวกับเงินบริจาค 2567 ลดหย่อนภาษี
- เราสามารถนำยอดเงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีสูงสุดได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป)
- ต้องมีหลักฐานในการยืนยันการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เช่น ใบอนุโมทนาบัตร ใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความแสดงถึงชื่อองค์กรที่บริจาคเงิน วันเดือนปี ชื่อผู้บริจาคเงิน และจำนวนเงินที่บริจาค แต่หากบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation ไม่ต้องใช้หลักฐานการบริจาค
- ปีภาษี ตามความหมายของประมวลรัษฎากร คือปีปฏิทินที่เป็นรอบระยะเวลาที่ใช้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปีภาษีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ
ทำความเข้าใจเรื่อง เงินบริจาค 2567 ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ บริจาคที่ไหนได้ลดภาษี 2 เท่า กันไปแล้ว เราจะเห็นว่าการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เป็นเรื่องสำคัญที่มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่เป็นการบริหารจัดการเงินอย่างคุ้มค่าเพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน
อย่างบัตรเครดิต KTC สามารถนำคะแนน KTC FOREVER ไปแลกคะแนนบริจาคแทนเงินได้ โดย 1,000 คะแนน KTC FOREVER แทนเงินบริจาค 100 บาท ได้ทั้งบุญได้ทั้งลดหย่อนภาษี ใครยังไม่มีบัตรเครดิต สมัครได้เลยบัตรเครดิต KTC ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปีด้วยนะ
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC