การบริจาคเลือดถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการบริจาคที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ แถมยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ แต่หลายคนก็ยังมีความกังวลในการบริจาคเลือด ว่าแท้ที่จริงแล้วการบริจาคเลือดมีข้อดีอย่างไร บริจาคเลือดมีข้อห้ามไหม และถ้าอยากบริจาคเลือดต้องเตรียมตัวก่อนและหลังบริจาคเลือดยังไง หากใครกำลังลังเลและสงสัยเกี่ยวกับการบริจาคเลือด วันนี้ KTC จะพาทุกคนไปหาคำตอบทุกข้อสงสัยกัน
เมื่อเราบริจาคเลือด ไขกระดูกจะทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนใหม่ ทำให้มีปริมาณเลือดเท่าเดิม รวมถึงกำจัดเม็ดเลือดที่หมดอายุไปอีกด้วย
บริจาคเลือด ได้อะไร และมีประโยชน์อย่างไร
การบริจาคเลือดนั้นไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยร่างกายของคนเรามีปริมาณโลหิตหรือเลือดเทียบเท่ากับน้ำประมาณ 17-18 แก้ว แต่ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น นั่นหมายความว่ามีเลือดส่วนที่สามารถบริจาคให้กับผู้อื่นได้ เมื่อเราบริจาคโลหิต ไขกระดูกจะทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนใหม่ ทำให้มีปริมาณเลือดเท่าเดิม รวมถึงกำจัดเม็ดเลือดที่หมดอายุอีกด้วย ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงช่วยกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือด ช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้น ส่งผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
บริจาคเลือด ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเลือด ควรมีคุณสมบัติดังนี้
- มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- ไม่เคยมีประวัติในการเสพสารเสพติดในระยะ 3 ปี
- ไม่ได้รับประทานยาปฎิชีวนะในระยะ 1 สัปดาห์ย้อนหลัง
- สำหรับผู้หญิงต้องไม่อยู่ในช่วงเป็นรอบเดือน
- ต้องไม่เคยเป็นโรคตับอักเสบ
- ไม่มีประวัติการสัก หรือเจาะผิวหนังย้อนหลัง 1 ปี
ก่อนบริจาคเลือดควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง
บริจาคเลือดครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไร
ก่อนการบริจาคเลือดควรเตรียมตัวให้พร้อม เนื่องจากทุกครั้งก่อนบริจาคเลือดจะมีเจ้าหน้าที่สอบถามเพื่อคัดกรองเงื่อนไขก่อนเริ่มดำเนินการบริจาคเลือดทุกครั้ง ดังนั้นบริจาคเลือดควรเตรียมตัวดังนี้
- สำหรับผู้ที่บริจาคเลือดครั้งแรกอาจมีความกังวลอยู่บ้าง แต่หากเตรียมตัวมาดี การบริจาคเลือดก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด สิ่งแรกที่ต้องทำคือดื่มน้ำเยอะๆ ประมาณ 1-2 แก้วก่อนบริจาค เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี
- บริจาคเลือด ข้อห้ามคือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคเลือด ภายใน 6 ชั่วโมง เพราะไขมันจะทำให้พลาสม่าในเลือดขาวขุ่น และไม่สามารถนำเลือดนั้นไปใช้ต่อได้
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนมาบริจาคเลือด โดยควรหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง
- งดการอุดฟัน ขูดหินปูน อย่างน้อย 3 วัน และงดถอนฟัน รักษารากฟัน อย่างน้อย 7 วัน ก่อนการบริจาคเลือด เนื่องจากอาจมีการอักเสบในช่องปากและทำให้เกิดภาวะติดเชื้อโรคในกระแสเลือดชั่วคราวโดยไม่มีอาการ
- บริจาคเลือด ข้อห้าม งดการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง
บริจาคเลือด มีข้อห้ามอย่างไรบ้าง
บุคคลที่ห้ามบริจาคเลือดเนื่องจากมีความเสี่ยง ได้แก่
- ผู้ที่ท้องเสีย ท้องร่วง ให้เว้น 7 วัน
- ผู้ที่เจาะหู ผิวหนัง สัก ลบรอยสัก ฝั่งเข็ม ให้เว้น 4 เดือน
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเล็ก ให้เว้น 7 วัน และผ่าตัดใหญ่ ให้เว้น 6 เดือน
- หญิงที่คลอดบุตร หรือแท้งบุตร ให้เว้น 6 เดือน
- หญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cells)
- ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
- ผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติด
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยและไม่ได้มีการป้องกัน หรือเคยมีเพศสัมพันธุ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศ
โดยปกติเราสามารถบริจาคเลือดได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง หรือทุก 4 เดือน หากเกินกว่านั้นอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้
บริจาคเลือดได้กี่ครั้ง
หลายคนมีคำถามว่าเราสามารถบริจาคเลือดได้มากสุดกี่ครั้ง และแต่ละครั้งต้องเว้นช่วงห่างกันเท่าไหร่ ซึ่งใน 1 ปี เราจะสามารถบริจาคเลือดได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่าทุก 4 เดือนนั่นเอง เพราะปกติแล้วเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วันจึงจะผลิตใหม่ ถ้าหากว่ามีการบริจาคเลือดก่อนกำหนดก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้
บริจาคเลือดครบ 36 ครั้ง
หากบริจาคเลือดครบ 36 ครั้งจะได้รับ เข็มกลัดเชิดชูเกียรติผู้บริจาคโลหิตชั้นที่ 3 ซึ่งมอบโดยสภากาชาดไทย เพื่อเป็นการขอบคุณ และยกย่องความเสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ผู้บริจาคยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มด้วย ดังนี้
- บัตรรับรองการบริจาคโลหิตเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอรับบริการโลหิตกรณีฉุกเฉิน
- สิทธิพิเศษในบางสถานพยาบาล สำหรับค่ารักษาพยาบาล และค่าบริการทางการแพทย์บางประเภทในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ
- ผู้บริจาคเลือดครบ 36 ครั้ง จะได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทุกครั้งที่บริจาค ทำให้เราทราบความเปลี่ยนแปลงในสุขภาพของตัวเองอยู่เสมออีกด้วย
- นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่บริจาคเลือดครบ 100 ครั้งด้วยซึ่งสามารถขอโลหิตให้ตนเองและครอบครัวเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้
บริจาคเลือดที่ไหนดี
สำหรับสถานที่หลักในการรับการบริจาคเลือดในกรุงเทพฯ ก็คือศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ซึ่งเปิดให้บริการรับบริจาคเลือดตลอดปี แต่ในปัจจุบันมีการเปิดศูนย์บริจาคเลือดเคลื่อนที่ ซึ่งจะไปอยู่ตามห้างและสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริจาค ส่วนใครที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลรัฐฯ ประจำจังหวัดได้เลย
โรคที่ห้ามบริจาคเลือด
บริจาคเลือดข้อห้ามเด็ดขาด สำหรับใครที่มีประวัติหรือกำลังมีอาการป่วยจากโรคดังต่อไปนี้ ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
- โรคมะเร็งทุกชนิด
- โรคตับอักเสบบีและซี
- โรคไทรอยด์ที่เกิดจากมะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกัน
หลังบริจาคเลือดควรรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว คาร์โบไฮเดรต และดื่มน้ำให้เพียงพอ
หลังบริจาคเลือดห้ามกินอะไร
บริจาคเลือดไม่เพียงแค่การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด แต่หลังจากบริจาคเลือดก็มีข้อห้าม มีการดูแลตัวเองเช่นกัน โดยภายหลังจากการบริจาคเลือดควรรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว คาร์โบไฮเดรต และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง นม ชีส รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กอย่างช็อคโกแลต ชา และกาแฟ ที่สำคัญคืองดดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมงหลังบริจาคเลือด
อิ่มใจ เมื่อได้แบ่งปัน การให้.. คือกุศลที่ยิ่งใหญ่
การบริจาคเลือดนั้นได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่สำหรับใครที่ยังไม่สะดวกในการบริจาคเลือด อาจจะด้วยความสะดวกและสุขภาพร่างกาย KTC มีช่องทางดีๆ ในการบริจาคกับสภากาชาดไทยง่ายๆ โดยสามารถบริจาคเงินผ่านบัตรเครดิต KTC หรือเปลี่ยนคะแนน KTC FOREVER เป็นเงินบริจาค ผ่านทางแอปพลิเคชัน KTC Mobile ถือเป็นอีกช่องทางในการบริจาคที่อิ่มใจไม่แพ้กัน การบริจาคนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สามารถบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 ธ.ค. 67 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดช่องทางการบริจาคสภากาชาดไทยกับบัตรเครดิต KTC ได้ที่นี่ สำหรับใครที่สนใจแต่ยังไม่มีบัตรเครดิต KTC ก็สามารถกดสมัครออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC