ว่างงาน สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้
ปัจจุบันการว่างงานถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีการปรับขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ แห่งต้องชะลอการรับพนักงานใหม่หรือเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณในบริษัทหรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถจ้างพนักงานต่อได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้อัตราการจ้างงานลดลงและส่งผลให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง โดนพักงาน ลาออกจากงานหรือว่างงาน สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ผู้ที่สามารถรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน คือใคร?
- กรณีว่างงานหลักเกณฑ์ไหนสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้บ้าง?
- วิธีลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ 2566
- เอกสารขึ้นทะเบียนคนว่างงาน มีอะไรบ้าง
- ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
- วิธีเช็คเงินว่างงานประกันสังคม
- ออกจากงานแล้วขึ้นทะเบียนคนว่างงานออนไลน์ภายในกี่วัน?
- รายงานตัวว่างงานก่อนกำหนดได้หรือไม่?
- อยากได้เงินทุนเพิ่ม ขอสินเชื่อรถแลกเงิน ที่ไหนดี
ผู้ที่สามารถรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน คือใคร?
ผู้ที่สามารถรับเงินชดเชยกรณีว่างงานได้ คือ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย หลังจากนั้นต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น สำหรับผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมและยังอยู่ในสิทธิประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
กรณีว่างงานหลักเกณฑ์ไหนสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้บ้าง?
กรณีถูกเลิกจ้าง : จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา : จะได้รับในส่วนของเงินทดแทน ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยยังจะได้รับสิทธิประกันสังคม ทั้งในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต
**กรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี การรับประโยชน์จะสามารถรวมกันได้ไม่เกิน 180 วัน แต่หากเป็นการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
วิธีลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ 2566
ช่องทางในการลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ สามารถทำการลงทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางานที่ https://e-service.doe.go.th/login.do โดยลงทะเบียนตามขั้นตอนดังนี้
1. เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์แล้วทำการกดไปที่ผู้ใช้งานใหม่ จากนั้นกดลงทะเบียน
2. ลงชื่อเข้าใช้งานหากยังไม่มีให้ทำการลงทะเบียนก่อน หรือหากเคยทะเบียนแล้วให้ทำการเข้าสู่ระบบ
3. กดตกลงยอมรับเงื่อนไข จากนั้นกรอกชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน อีเมล พร้อมตั้งรหัสผ่าน
4. ทำการกดเข้าสู่ระบบ(e-Service) และกดขึ้นทะเบียนรายงานตัวผู้ประกันตนในกรณีว่างงาน
5. เลือกช่องทางในการเข้าใจงาน ระหว่าง “ดำเนินการต่อ” หรือ “เลือกสำนักงานที่ใช้บริการ”
6. กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
7. ทำการอัปโหลดรูปภาพและกรอกข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ระบุไว้บนเว็บไซต์
8. ทำการคลิกดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน
9. เลือกเมนูขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ได้แก่ สถานที่ทำงานล่าสุด วันที่ออกจากงาน สาเหตุที่ออกจากงาน ข้อมูลนายจ้างหรือสถานประกอบการ ตำแหน่ง รวมถึงเงินเดือนล่าสุด
10. เมื่อกรอกข้อมูลหมดแล้ว คลิกข้อมูลขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง
11. จากนั้นจะมีเอกสารหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รวมถึงวันที่นัดรายงานตัวของผู้ประกันตน สามารถพิมพ์ออกมาเก็บไว้ได้
12. ทำการตรวจสอบวันรายงานตัวว่างงาน 8 ครั้ง
13. หลังจากขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว ทำการคลิกรายงานตัว
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงานเมื่อขึ้นทะเบียนว่างงานเรียบร้อยแล้ว สามารถทำการรายงานตัวรวมถึงตรวจสอบสถานะการรับผลประโยชน์ทดแทน และเช็กเงินว่างงานได้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อตรวจสอบดูสถานะหรือวันจ่ายเงิน โดยระยะเวลาการโอนเงินเข้าจะอยู่ที่ 7-14 วันทำการ
เอกสารขึ้นทะเบียนคนว่างงาน มีอะไรบ้าง
เมื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติต่อมาคือขั้นตอนการยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนคนว่างงาน ยื่นเอกสารชดเชยรายได้ผ่านระบบออนไลน์หรือ e-Service ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน โดยต้องทำการขึ้นทะเบียนคนว่างงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกจากงาน ไม่เช่นนั้นจะถูกระบบตัดสิทธิ์ สำหรับเอกสารลงทะเบียนคนว่างงานที่ต้องเตรียมให้พร้อมมีดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้เช่นกัน
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกของผู้ประกันตน สามารถใช้ได้ 9 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01/7 หรือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (กรณีว่างงาน)
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน ดังนี้
- ข้อมูลผู้ประกันตน อาทิ ชื่อ-สกุล เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
- ยื่นคำร้องในฐานะผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ์ กรณีออกจากงาน หรือออกจากงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
- กรอกชื่อสถานประกอบการสุดท้ายที่ว่างงาน
- วันเดือนปีที่ออกจากงาน
- กรอกสาเหตุที่ออกจากงาน
สำหรับประโยชน์ทดแทนทุกกรณี ผู้ประกันตนต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่กรณีว่างงานที่ผู้ประกันตนต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ โดยต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง
ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
1. ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน ที่กรมการจัดหางาน
2. กรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน (พร้อมหลักฐานบัตรประชาชน และรูปถ่าย)
3. กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (พร้อมหลักฐานการถูกเลิกจ้าง หรือแบบแจ้งการออกจากงาน สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคาร)
4. เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานทำการสัมภาษณ์และ ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติการทำงาน
5. เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานทำการเลือกตำแหน่งงานว่างให้เลือก 3 แห่ง ให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานได้พิจารณา
6. โดยหากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานจะประสานงานส่งฝึกอบรมแรงงานตามความจำเป็น แต่หากผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือปฏิเสธงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่จัดหาให้และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที
7. เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เดือนละ 1 ครั้ง
เงินว่างงาน เปรียบเสมือนเงินทุนของผู้ประกันตนก่อนเริ่มต้นงานใหม่
วิธีเช็คเงินว่างงานประกันสังคม
เช็คเงินว่างงานประกันสังคม สามารถทำได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
แอปพลิเคชัน SSO Connect
- เข้าสู่ระบบบนแอปพลิเคชัน SSO Connect ด้วยการกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และกรอกรหัสผ่าน
- เลือกหัวข้อ "การเบิกสิทธิประโยชน์"
- ระบบจะแจ้งยอดเงินและวันที่อนุมัติสิทธิ เมื่อถึงวันที่กำหนดยอดเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีของผู้ได้รับสิทธิ
เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
- ทำการเข้าสู่ระบบ ด้วยการกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และกรอกรหัสผ่าน
- เลือกหัวข้อ "ตรวจสอบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย"
- จากนั้นระบบจะแจ้งยอดเงินและวันที่อนุมัติสิทธิ
นอกจากนี้ ยังสามารถสอบถามผ่านสายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ที่ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมตรวจสอบเช็คเงินประกันสังคม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ควรได้รับไม่ว่าจะเป็นกรณีว่างงาน หรือกรณีอื่น ๆ ที่สามารถสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไข
ออกจากงานแล้วขึ้นทะเบียนคนว่างงานออนไลน์ภายในกี่วัน?
ไม่ว่าจะเป็นกรณีตกงานกระทันหัน ลาออกจากงาน หรือถูกเลิกจ้าง ไม่ควรละเลยในเรื่องของสิทธิที่จะได้รับด้วยการดำเนินการขึ้นทะเบียนคนว่างงานกับสำนักงานประกันสังคมทันที เนื่องจากมีการจำกัดระยะเวลาในการลงทะเบียนคนว่างงานออนไลน์ที่ 30 วันหลังจากว่างงาน หากไม่มีการลงทะเบียนภายในช่วงเวลาที่กำหนดจะถือว่าเสียสิทธิในการลงทะเบียนและรับเงินตนว่างงานนั่นเอง
รายงานตัวว่างงานก่อนกำหนดได้หรือไม่?
รายงานตัวว่างงานประกันสังคมก่อนกำหนดได้ไหม ถือเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เนื่องจากการรายงานตัวว่างงานคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าต้องรายงานตัวว่างงานภายใน 30 วันหลังออกจากงานเท่านั้น แต่ความจริงแล้วผู้ประกันตนที่ว่างงานสามารถรายงานตัวก่อนวันที่กำหนดได้ถึง 7 วัน เพราะในใบนัดรายงานได้มีการตัวระบุว่า กรณีรายงานตัวก่อนวันนัด 7 วัน หรือหลังวันนัด 7 วันถือว่าเป็นการรายงานตัวตามกำหนด
สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน ถือเป็นหนึ่งสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งการลาออกจากงาน ถูกเลิกจ้าง หรือถูกให้ออกจากงานกระทันหัน จะได้รู้ถึงสิทธิที่จะได้รับในระหว่างการว่างงาน เพียงปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถยื่นเรื่องได้ที่ประกันสังคมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประกันสังคมใกล้บ้าน หรือโทร. 1506
อยากได้เงินทุนเพิ่ม ขอสินเชื่อรถแลกเงิน ที่ไหนดี
ระหว่างที่ตกอยู่ในสถานการณ์ว่างงาน เชื่อว่ามีผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่อยากผันมาเป็นเจ้านายตนเองผ่านการธุรกิจ อย่างเปิดร้านชาบู ร้านสะดวกซัก ร้านคาร์แคร์ หรือร้านกาแฟ ซึ่งทุกวันนี้นอกจากการเริ่มต้นสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง ก็สามารถซื้อแฟรนไชส์ที่สนใจเพื่อลงทุนต่อได้ แต่ขึ้นชื่อว่าการลงทุนสิ่งที่ตามมาคือ เงินทุน ด้วยเหตุนี้ผู้ประกันตนที่สนใจทำธุรกิจจึงเริ่มมองหาช่องทางขอสินเชื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาสานฝันของตน โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ให้วงเงินสูง มีความรวดเร็วในการอนุมัติ สามารถนำทรัพย์สินในครอบครองไปแปลงเป็นเงินได้ นั่นคือ สินเชื่อรถแลกเงินแบบไม่โอนเเล่ม และถ้าถามว่ายื่นขอจำนำทะเบียนรถที่ไหนดี ? ขอแนะนำ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ที่มีสินเชื่อให้เลือกทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบิ๊กไบค์ ทั้งยังมีบริการพี่เบิ้ม Delivery ไปหาถึงที่ สะดวกในการเปลี่ยนรถเป็นเงิน รวมถึงได้รับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้ม ไว้เบิกถอนเงินสดในยามฉุกเฉิน ความคุ้มที่มากขึ้นเหมาะสำหรับคนมองหาเงินก้อนมาลงทุนเป็นอย่างมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม