สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน นับเป็นหนึ่งในสิทธิ์บริการทางการแพทย์ที่สำนักงานประกันสังคม มอบให้กับผู้ประกันตน ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเกิดได้เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่รับบริการทางการแพทย์ รวมถึงผู้ประกันตนได้เลือกสถานพยาบาลหลักในการเข้ารับการรักษาตัว สำหรับในกรณีแขนหัก ขาหัก นิ้วหัก ประกันสังคมเบิกได้ไหม กระดูกหักต่างๆ มีคำตอบให้แล้วทุกข้อสงสัย
ประกันสังคม อุบัติเหตุ ครอบคลุมอะไรบ้าง?
กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประกันสังคมได้ให้สิทธิสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยเร็ว ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะทำการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตามความจำเป็นไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยไม่รวมระยะเวลาในวันหยุดราชการ และโรงพยาบาล
สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งสิทธิต่อโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนสํารองจ่าย ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุให้ ดังนี้
- หากเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลจ่ายให้ตามจริงตามความจําเป็น สำหรับค่าห้องค่าอาหารจ่ายวันละไม่เกิน 700 บาท
- หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน
- กรณีผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ครั้งละ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการการรักษาที่กำหนด
- กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายให้วันละไม่เกิน 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท แต่ถ้าเจ็บหนักต้องนอนในห้องไอซียูจ่ายให้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท พร้อมสามารถเบิกรายการค่ารักษาอื่น ๆ ได้ตามรายการที่สํานักงานประกันสังคมประกาศกําหนด เช่น ทํา CT scan เบิกได้ 4,000 บาท ทํา MRI เบิกได้ 8,000 บาท เป็นต้น
และหากต้องมีการผ่าตัดเฉพาะค่าผ่าตัดใหญ่จะเบิกคืนได้ ดังนี้
- ใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน 1 ชั่วโมงเบิกได้ไม่เกิน 8,000 บาท
- ใช้เวลาผ่าตัดเกิน 1 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงเบิกได้ไม่เกิน 12,000 บาท
- ใช้เวลาผ่าตัดเกิน 2 ชั่วโมงเบิกได้ 16,000 บาท
- กรณีฉุกเฉิน เบิกได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง (ผู้ป่วยนอก 2 ครั้ง ผู้ป่วยใน 2 ครั้ง)
- กรณีอุบัติเหตุ ไม่จํากัดจำนวนครั้ง
ขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก เบิกประกันสังคมได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
ขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก เบิกประกันสังคมได้ไหม?
เรื่องที่หลายคนสงสัยว่า ขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก เบิกประกันสังคมได้หรือไม่ กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล คำตอบคือ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที (โดยไม่ต้องสำรองจ่าย) แต่หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน และไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ สำนักงานประกันสังคมจะทำการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ และต้องแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยเร็ว
สำหรับกรณีการเบิกเงินประกันสังคม เพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไประหว่างที่พักรักษาตัว เมื่อขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก เรียกว่า “เงินทดแทนการขาดรายได้” ในส่วนนี้จะเบิกประกันสังคมได้ไหม ได้เท่าไหร่ เบิกได้กี่วัน มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง มาดูกัน
เงินทดแทนการขาดรายได้ คืออะไร?
สำหรับเงินทดแทนการขาดรายได้ เป็นเงินที่สํานักงานประกันสังคมจ่ายให้กับผู้ประกันตนทุกมาตรา กรณีที่ต้องหยุดพักทำงานเพื่อรักษาตัวตามคำสั่งของแพทย์ โดยทั่วไปผู้ประกันตนสามารถหยุดพักได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี
เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนสูงสุด 365 วันต่อปี ซึ่งในปัจจุบันกําหนดไว้ทั้งหมด 6 โรค คือ
- โรงมะเร็ง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเอดส์
- อัมพาตที่มีที่มาจากอาการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลัง
- ความผิดปกติของกระดูกหัก ที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ กระดูกหักที่มีการติดเชื้อ, กระดูกติดช้า, กระดูกไม่ติด, กระดูกผิดปกติ หรือเหล็กดามกระดูกหัก
- โรคหรือการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกิน 180 วัน (ระหว่างการรักษา ไม่สามารถทํางานได้)
การใช้สิทธิเบิกประกันสังคม มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40
ขาหัก เบิกประกันสังคมได้เท่าไหร่? ผู้ประกันตนที่สามารถเบิกเงินได้ต้องเข้าเงื่อนไขอะไรบ้าง? เบิกเงินประกันสังคม กรณีเจ็บป่วย กี่วันได้? เรื่องนี้ต้องอธิบายว่าการจ่ายเงินทดแทนของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา มีจำนวนเงินทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับ และเงื่อนไขการได้รับเงินแตกต่างกันออกไป ดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33
จำนวนเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีลาป่วย ขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก จะได้รับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง และหากหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน สามารถเบิกกรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย
โดยจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน สูงสุดไม่เกินปีละ 180 วัน ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
เงื่อนไข
ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันที่เจ็บป่วย
ทั้งนี้ กรณีนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ จะเบิกประกันสังคมไม่ได้ โดยเบิกได้เฉพาะช่วงที่ขาดรายได้จริงเท่านั้น
ผู้ประกันตนมาตรา 39
จำนวนเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก จะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบที่ 4,800 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
เงื่อนไข
ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันที่เจ็บป่วย
หากเป็นเหตุที่เกิดจากการทำงาน สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน ดังนี้
- กรณีประสบอันตราย จ่ายค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท (สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือสิ้นสุดการรักษา เงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด)
- ได้ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน หากต้องหยุดงานตั้งแต่ 1 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
- กรณีสูญเสียอวัยวะและสมรรถภาพในการทำงาน ได้ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ในการหยุดพักรักษาตัว แต่ไม่เกิน 10 ปี
- ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูฯ ตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้ประกันตนมาตรา 40
จำนวนเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 โดยมีรายละเอียดดังนี้
การใช้สิทธิประกันสังคม |
ทางเลือกที่ 1 (จ่าย 70 บาทต่อเดือน) |
ทางเลือกที่ 2 (จ่าย 100 บาทต่อเดือน) |
ทางเลือกที่ 3 (จ่าย 300 บาทต่อเดือน) |
ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป |
300 บาท/วัน |
300 บาท/วัน |
300 บาท/วัน |
ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป |
200 บาท/วัน |
200 บาท/วัน |
200 บาท/วัน |
ผู้ป่วยนอก ที่ไปพบแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง |
50 บาท (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี) |
50 บาท (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี) |
- |
ระยะเวลารับเงินฯ สูงสุด |
30 วัน |
30 วัน |
90 วัน |
เงื่อนไข
ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนวันที่เจ็บป่วย
ขั้นตอนการยื่นขอเงินทดแทนการขาดรายได้
หากผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุ ขาหัก นิ้วหัก กระดูกหัก และต้องการเบิกประกันสังคม ให้ยื่นขอเงินทดแทนการขาดรายได้ ตามขั้นตอน ดังนี้
1.เตรียมเอกสารที่กำหนดไว้ตามแต่ละมาตราให้พร้อม
2.ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน
3.ยื่นเอกสารได้ 2 แบบ คือ
ยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมสาขาที่สะดวกได้ทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจสอบจุดบริการได้ที่นี่
ส่งไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคม
4.รับเงินผ่านช่องทางต่างๆ เช่น
รับเงินด้วยตนเอง/หรือมอบอำนาจรับเงินแทน
รับเงินทางธนาณัติ
รับเงินผ่านธนาคาร สามารถเช็กธนาคารที่เข้าร่วมได้ที่นี่
เงินทดแทนรายได้ จะเบิกได้ตั้งแต่ วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยจะได้รับเงินทดแทนประมาณ 7,500 บาท/เดือน ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน
เบิกเงินประกันสังคม กรณีเจ็บป่วย กี่วันได้?
สำหรับการเบิกเงินประกันสังคม กรณีลาป่วย ทดแทนรายได้ เมื่อรับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง และหากหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน สามารถเบิกกรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (ประมาณ 7,500 บาท) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน สูงสุดไม่เกินปีละ 180 วัน ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม หรือสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
แม้ว่าการเป็นผู้ประกันตนของมนุษย์เงินเดือนจะได้รับสิทธิประกันสังคม ซึ่งช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่าย และเงินทดแทนการขาดรายได้ แต่การมีเงินสำรองฉุกเฉินจากวินัยการออมเงิน หรือการมีวงเงินยามฉุกเฉินจากการบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เพื่อเป็นวงเงินสำรองยามเจ็บป่วยหรือฉุกเฉิน ก็เป็นตัวเลือกที่คนวัยทำงานไม่ควรมองข้าม สามารถ สมัครบัตรเครดิต KTC พร้อมการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือน ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายปี สมัครออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC