ไขคำตอบ ประกันตัวไหนดี ได้ทั้งคุ้มครองและลดหย่อนภาษี 2566
การวางแผนทางการเงินด้วยการทำประกันภัยประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฯลฯ เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้เอาประกันได้รับสิทธิคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ป้องกันความเสี่ยง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัญการซื้อประกันยังเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้เสียภาษี เพราะนอกจากจะได้รับการคุ้มครองในเรื่องต่าง ๆ ที่ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ใช่ว่าประกันภัยทุกประเภทจะนำมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด อีกทั้งประกันแต่ละประเภทยังมีเงื่อนไขต่างกัน และนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เท่ากัน เพื่อตอบข้อสงสัยประกันตัวไหนลดหย่อนภาษีได้ วันนี้ KTC รวม 4 ประกันลดหย่อนภาษี ตัวช่วยในการลดหย่อนภาษี 2566 เพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจว่าควรเลือกประกันลดหย่อนภาษีแบบไหนดี
ลดหย่อนภาษีด้วยการทำประกัน
ประเภทของประกันที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2566 ได้
หลายคนอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้มีรายได้ทุกคน จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านการทำประกัน ตามมาตรการของภาครัฐที่ช่วยให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมสำหรับตัวเองและคนในครอบครัว และนอกจากการทำประกันสังคมแล้ว ยังมีประกันประเภทอื่นที่สามารถนำมาเป็นประกันลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้
ประกันชีวิต
การทำประกันชีวิต เป็นการให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ทำประกันเอาไว้ และหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ทางบริษัทประกันจะจ่ายเงินคืนตามทุนประกัน พร้อมให้ผลประโยชน์แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา เช่น บุคคลในครอบครัว คู่สมรส หรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการจากไปของผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ทางใดทางหนึ่ง และนอกจากประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked และประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาแล้ว ประกันสะสมทรัพย์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่าประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ เงื่อนไขมีดังนี้
- ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีทำประกันให้คู่สมรส (ไม่มีรายได้) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป แต่หากเป็นแบบที่มีการจ่ายเงินคืนระหว่างทาง จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันสะสมในแต่ละช่วงเวลา
- ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked สามารถลดหย่อนภาษีได้ในส่วนของการประกันชีวิต แต่ในส่วนของการลงทุนจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ต้องทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
ประกันชีวิตแบบบํานาญ
ประกันชีวิตแบบบํานาญ เป็นการทำประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ โดยส่วนใหญ่จะต้องจ่ายค่าเบี้ยออม (เบี้ยประกัน) อย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขที่กำหนด จากนั้นจะได้รับเงินคืนเป็นรายปีเมื่อถึงอายุที่ระบุในสัญญา เช่น ได้รับเงินรายปีตั้งแต่อายุ 60 – 80 ปี เป็นต้น สรุปง่าย ๆ คือประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการลงทุนระยะยาวที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณให้ตัวเอง (แต่ได้รับสิทธิคุ้มครองชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับประกันที่จ่าย) ซึ่งแน่นอนว่าประกันชีวิตบํานาญสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เงื่อนไขดังนี้
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตทั่วไป
- ค่าลดหย่อนภาษีเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- หากในส่วนของประกันชีวิตยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนได้
- อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ และต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบก่อนได้รับผลประโยชน์
- กำหนดช่วงอายุการเงินผลประโยชน์ตั้งแต่ 55 – 85 ปี หรือมากกว่านั้น
- ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
ทำประกันลดหย่อนภาษีอะไรดี
ประกันสุขภาพของตัวเอง
ประกันสุขภาพเป็นตัวช่วยค่ารักษาพยาบาลทั้งกรณีเจ็บป่วย โรคภัยต่าง ๆ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นค่าหมอ ค่าห้อง ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่าง ๆ ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (คุ้มครองและให้วงเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด) ซึ่งประกันสุขภาพที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เช่น ประกันสุขภาพแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แบบประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses) แบบประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care) เป็นต้น สำหรับเกณฑ์ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ มีคำตอบดังนี้
- ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี
- ประกัน COVID-19 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีส่วนนี้ได้เช่นกัน
- เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ต้องทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
ประกันสุขภาพของบิดา - มารดา
หมดความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของบิดา - มารดา มีรูปแบบประกันครอบคลุมการรักษา ไม่กระทบเงินในกระเป๋า และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย รายละเอียดดังนี้
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดา - มารดา สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี
- บิดามารดาต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้)
- ในกรณีที่ลูก ๆ ช่วยกันจ่ายค่าเบี้ยประกัน การใช้สิทธิลดหย่อนจะต้องถูกหารตามจำนวนพี่น้องที่ร่วมกันจ่าย เช่น มีพี่น้อง 3 คน ลูกแต่ละคนจะได้รับสิทธิลดหย่อนไม่เกิน 5,000 บาท จากจำนวนเต็ม 15,000 บาท เป็นต้น
- ตัวผู้จ่ายประกันหรือบิดา – มารดาท่านใดท่านหนึ่ง ต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
- หากในปีนั้นคู่สมรสไม่มีรายได้ตลอดปีภาษีนั้น สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา - มารดา คู่สมรส มาลดหย่อนภาษีได้
ถึงอย่างไรก่อนตัดสินใจทำประกันลดหย่อนภาษี แนะนำว่าไม่ควรซื้อประกันเพื่อเหตุผลของการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไม่ลืมศึกษาข้อมูลแผนประกัน เปรียบเทียบค่าเบี้ยประกัน แผนการคุ้มครอง วงเงินตามกรมธรรม์ ความเหมาะสม และตรงกับเป้าหมายที่วางไว้เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้คุณได้แผนกรมธรรม์ที่คุ้มค่าและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากที่สุด
หากต้องการความคุ้มค่าในการเลือกทำประกันลดหย่อนภาษี แนะนำใช้บัตรเครดิต KTC ชำระเบี้ยประกันภัย ที่นอกจากจะเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันชั้นนำหลายแห่งและมีประกันที่คุ้มครองอย่างครอบคลุมแล้ว ยังมีโปรโมชั่นบัตรเครดิตที่มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นผ่อน 0% ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้เจ้าของบัตร เครดิตเงินคืน และคะแนนพิเศษที่ช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย สมัครง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางไปถึงสาขา
ดูโปรโมชั่นประกันภัย สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC…ที่นี่