ช้าก่อน! อย่าเพิ่งหนีพี่เบิ้มไปไหนสิ ใครอ่านชื่อบทความแล้วคิดว่าพี่เบิ้มจะมาสอนคณิตศาสตร์ล่ะก็ อย่าเพิ่งกลัวกันนะครับ เพราะพี่เบิ้มมีเรื่องราวที่จำเป็นมาก ๆ ซึ่งคนอยากสมัครกู้เงินควรรู้เอาไว้ แน่นอนเลยว่า การกู้เงินนั้น สิ่งสำคัญที่ควรรู้พอ ๆ กับเงื่อนไขต่าง ๆ ก็คือ “ดอกเบี้ย” เราจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือน ค่างวดที่เราส่งไปมันมาจากอะไรบ้าง หรือเวลาตัดสินใจว่าจะเลือกกู้กับที่ไหน จะได้รู้ว่าเขาคิดดอกเบี้ยกันยังไง ใครที่มีรถแล้วอยากเพิ่มสภาพคล่อง พี่เบิ้มก็จะมาเล่าให้ฟังว่า สินเชื่อทะเบียนรถคิดดอกเบี้ยยังไง ใช้อัตราแบบไหน แตกต่างจากเงินกู้รูปแบบอื่นไหม แล้วมีดอกเบี้ยชนิดใดที่คุณต้องเลี่ยงบ้าง ตามพี่เบิ้มมาครับ
ดอกเบี้ยเงินกู้ รู้ไหมว่ามีกี่ประเภท?
เคยสงสัยกันไหมครับว่า เวลาแบงค์หรือบริษัทเงินกู้แปะโฆษณาเอาไว้ว่าดอกเบี้ยร้อยละ x% ต่อปี เวลาเอามาคำนวณรวมกับเงินต้นที่ต้องชำระแล้ว มีวิธีการคิดแบบไหน ทางเลือกของคนต้องใช้เงินอย่างสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อทะเบียนรถเขาคิดดอกเบี้ยยังไงให้เรา
การคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้นั้น โดยทั่วไปตามกฎหมายแล้วเรามีอยู่ 2 แบบครับ แบบแรกคือแบบคงที่ และแบบที่สองคือแบบลดต้นลดดอก เราไปทำความรู้จักรายละเอียดของแต่ละแบบให้มากขึ้น พร้อมชมพี่เบิ้มสาธิตวิธีการคำนวณแบบเข้าใจง่ายกันเลย
อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่
เงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยด้วยอัตราคงที่ (Flat Rate) นั้น ส่วนมากเรามักจะเห็นในพวกสินเชื่อเช่าซื้อ โดยผู้กู้จะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่เท่ากันไปตลอดอายุสัญญา พูดง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่างวดแรกจ่ายดอกเบี้ย 3% พร้อมกับเงินต้น ต่อไปก็ยังต้องจ่ายจำนวนเท่านี้ไปจนกว่าจะผ่อนหมดนั่นเอง ถึงแม้ว่าระหว่างทางคุณจะผ่อนจนเงินต้นลดลงไปแล้วก็ตาม ก็ยังคำนวณค่างวดด้วยตัวเลขเงินต้นแบบเต็ม ๆ เหมือนงวดแรก เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาดูตัวอย่างกัน
สมมติว่าพี่เบิ้มไปทำสัญญากู้เงินเพื่อเช่าซื้อรถยนต์คันที่อยากได้กับธนาคารหนึ่ง กู้มา 400,000 บาท ดอกเบี้ย 5% ต่อปีแบบคงที่ ระยะเวลาของสัญญาคือ 24 เดือน วิธีคำนวณว่าตลอด 2 ปีนี้พี่เบิ้มต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ทำได้โดยเอาเงินต้น x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนปีของสัญญา
- เพราะฉะนั้น ตลอด 2 ปีนี้ พี่เบิ้มต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (ไม่รวมเงินต้น) ทั้งหมด 400,000 x 5% x 2 = 40,000 บาท
- พี่เบิ้มจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยในแต่ละงวด (เดือน) เป็นเงิน 40,000 / 24 งวด = 1,666.67 บาท
- เมื่อนำมาคิดรวมกับเงินต้น 400,000 บาทที่พี่เบิ้มกู้มา ซึ่งต้องแบ่งจ่าย 24 งวด งวดละ 16,666.67 บาทในแต่ละงวดแล้ว พี่เบิ้มต้องชำระเงินต้น + ดอกเบี้ยให้ธนาคารทั้งสิ้น 18,333.34 บาทต่องวด
อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
แบบนี้พี่เบิ้มชอบเป็นพิเศษเลยครับ เพราะดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) นั้น เวลาจ่ายค่างวด จะเอาอัตราดอกเบี้ยไปคำนวณกับยอดเงินต้นที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามที่เราผ่อนกันไปแต่ละงวด เช่น พี่เบิ้มไปกู้มา 100,000 บาท แต่งวดแรกผ่อนไปแล้ว ทำให้งวดต่อไปเงินต้นเหลือไม่ถึง 100,000 บาท เวลาคิดค่างวดถัดไปก็ให้ใช้ยอดเงินต้นคงเหลือมาคำนวณแทน
อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกนี้ใช้กับสินเชื่อเงินกู้แทบทุกประเภท ใครสงสัยว่าสินเชื่อทะเบียนรถคิดดอกเบี้ยยังไง พี่เบิ้มขอตอบว่าแบบนี้ครับ
มาดูตัวอย่างให้เข้าใจกันมากขึ้นดีกว่าครับ สมมติว่าเดือนสิงหาคมพี่เบิ้มนำรถของตัวเองมาขอสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ได้วงเงิน 100,000 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียม 21% ต่อปี และธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเดือนละ 3,768 บาท
- คำนวณดอกเบี้ยงวดแรกก่อนด้วยสูตร (เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) / จำนวนวันใน 1 ปี ดังนั้น งวดแรกพี่เบิ้มต้องจ่ายดอกเบี้ย (100,000 x 21% x 31 วัน) / 365 = 1,783.56 บาท
- นำยอดดอกเบี้ยงวดแรกมาหักออกจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือน เพื่อให้เหลือแต่ยอดเงินต้นที่ไม่รวมดอกเบี้ย 3,768 - 1,783.56 = 1,984.44 บาท
- พอได้ตัวเลขเงินต้นเพียว ๆ มาแล้ว เราก็สามารถคำนวณเงินต้นคงเหลือสำหรับคิดดอกเบี้ยในงวดถัด ๆ ไปได้โดยนำเงินต้นคงเหลือ - ยอดเงินที่เราจ่ายไปเดือนที่แล้วแบบไม่รวมดอกเบี้ย = 100,000 - 1,984.44 = 98,015.56 บาท
- งวดที่ 2 เวลาจะเอาตัวเลขเงินต้นไปแทนค่า ก็ให้ใช้ยอดเงินต้นเป็น 98,015.56 บาท และคำนวณแบบนี้ไปจนครบสัญญา
เกร็ดความรู้เพิ่มเติมจากพี่เบิ้ม: “ดอกลอย” คืออะไร?
ถึงในตำราเราจะเห็นดอกเบี้ยกันอยู่แค่แบบคงที่และแบบลดต้นลดดอก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง พี่เบิ้มรู้นะว่าหลายคนเคยเห็นคำว่า “ดอกลอย” หรือดอกเบี้ยรายวันผ่านตากันมาแล้วแน่ ๆ เวลาหาข้อมูลเรื่องเงินกู้
ดอกลอยเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เงินกู้นอกระบบใช้ แม้ดูเผิน ๆ คนปล่อยกู้อาจจะบอกว่าดอกเบี้ยแค่ 20% ต่อเดือนเท่านั้น จ่ายรายวันก็แค่ไม่เท่าไหร่ หาเงินทันแหละ แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่าตัวเลขดอกเบี้ยนั้นเป็นตัวเลข “ต่อเดือน” พอคิดเป็นรายปีก็อยู่ที่ 240% ต่อปีเลยทีเดียว แถมเวลาจ่ายค่างวด เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบยังเรียกเก็บเฉพาะส่วนของดอกเบี้ย ทำให้ภาระหนี้ของคุณไม่มีวันลดลงเลย เพราะมัวแต่ผ่อนจ่ายดอกเบี้ยที่ไม่มีวันจบสิ้น
เมื่อนำข้อมูลนี้ไปเทียบกับสินเชื่อในระบบที่มีเพดานดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดอย่างสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ว่าคิดดอกเบี้ยยังไงแล้ว จะเห็นได้ว่าอยู่ที่ไม่เกิน 24% ต่อปีเท่านั้น ดอกลอยจึงเป็นดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโหดกว่ากันเยอะ ไม่แปลกเลยครับที่หลายคนผ่อนไม่ไหว
ดังนั้น พี่เบิ้มขอฝากเอาไว้ให้คิด เวลาเลือกกู้เงินกับที่ไหน ต้องดูอัตราดอกเบี้ยดี ๆ เพราะตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว พวกสินเชื่อทะเบียนรถยนต์จะมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 24% ต่อปี และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปีครับ
สินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้ม คิดดอกเบี้ยยังไง?
ใครที่สงสัยว่าสินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้มมีวิธีการคิดดอกเบี้ยยังไง ตอบเลยครับว่าเราคิดแบบ Effective Rate หรือลดต้นลดดอก ซึ่งข้อดีมีหลายอย่างเลย
- จำนวนเงินที่คุณต้องผ่อนจะลดลงไปเรื่อย ๆ คำนวณจากยอดเงินต้นที่ลดลงทุกงวดที่คุณผ่อนนั่นเอง
- หากผ่อนไปผ่อนมาแล้วยอดเริ่มน้อยลง แต่คุณหาเงินได้เพิ่ม ก็สามารถผ่อนชำระเกินจำนวนที่พี่เบิ้มกำหนดเอาไว้ เพื่อลดเงินต้นลงไปอีก
- สุดท้าย ใครจ่ายครบ ปิดยอดเร็ว พี่เบิ้มไม่คิดค่าปรับนะ!
สรุปว่า ได้รู้จักอัตราดอกเบี้ยแบบต่าง ๆ และไขข้อข้องใจกันไปแล้วว่าสินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้มคิดดอกเบี้ยยังไง ใครที่ฉุกเฉินต้องการเงินใช้ หรืออยากไปต่อยอดเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวเองและมีรถในครอบครองก็เข้ามาปรึกษากับพี่เบิ้มได้ครับ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ของเราสมัครง่าย วงเงินใหญ่ อนุมัติไว แถมผ่อนชำระได้ยาว ๆ สูงสุด 60 งวด ลงทะเบียนตรงนี้ก่อน แต่ถ้าใครไม่สะดวกมาที่จุดบริการ KTC TOUCH ก็ติดต่อบริการพี่เบิ้ม Delivery ให้ไปหาถึงหน้าบ้านเลยก็ได้นะ