ทุกธุรกิจต้องการกำไร แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนว่าต้องขายเท่าไหร่ถึงจะไม่ขาดทุน วันนี้ KTC จะพาคุณมาทำความรู้จักกับการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน และเรียนรู้วิธีการคำนวณ Break Even Point ที่จะช่วยให้คุณวางแผนธุรกิจได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
จุดคุ้มทุน คืออะไร
จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คือ จุดที่รายรับเท่ากับรายจ่ายพอดี หรือจุดที่ยอดขายครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ โดยที่ยังไม่มีกำไรหรือขาดทุน การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทราบว่าต้องขายสินค้า หรือบริการในปริมาณเท่าไหร่จึงจะคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ การรู้จุดคุ้มทุนจะช่วยในการวางแผนการเงินและการตลาด เพราะทำให้ทราบว่าต้องตั้งเป้าหมายยอดขายขั้นต่ำไว้ที่เท่าไหร่ และต้องใช้กลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนสำคัญกับธุรกิจอย่างไร
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในหลายด้าน เช่น
- ช่วยในการวางแผนธุรกิจ : ทำให้ผู้ประกอบการทราบเป้าหมายยอดขายขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ สามารถวางแผนการตลาด และกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธุรกิจมีทิศทางที่ชัดเจน
- ช่วยในการตั้งราคา : ทำให้สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสม ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว
- ช่วยในการควบคุมต้นทุน : ทำให้เห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามารถระบุจุดที่มีต้นทุนสูง และหาวิธีลดต้นทุนได้อย่างตรงจุด
- ช่วยในการตัดสินใจลงทุน : ช่วยประเมินความเป็นไปได้ของโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดความเสี่ยงในการลงทุนที่อาจไม่คุ้มค่า
- ช่วยในการบริหารความเสี่ยง : ทำให้สามารถคาดการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อยอดขายและกำไร
สูตรคิดจุดคุ้มทุนพร้อมวิธีคำนวณ
การคำนวณจุดคุ้มทุนมีสูตรพื้นฐาน ดังนี้
- Break Even Point (หน่วย) = ต้นทุนคงที่รวม ÷ (ราคาขายต่อหน่วย - ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)
ตัวอย่างการคำนวณ
- ต้นทุนคงที่ : ค่าเช่า 20,000 + เงินเดือนพนักงาน 30,000 = 50,000 บาท
- ราคาขาย : 100 บาทต่อชิ้น
- ต้นทุนผันแปร : 60 บาทต่อชิ้น
- จุดคุ้มทุน = 50,000 ÷ (100 - 60) = 1,250 ชิ้น
นั่นหมายความว่าต้องขายสินค้าให้ได้ 1,250 ชิ้นต่อเดือน จึงจะถึงจุดคุ้มทุน
อยากลดจุดคุ้มทุนให้ทำกำไรง่ายขึ้น ต้องทำอย่างไร
การควบคุมต้นทุน และรายจ่ายต่าง ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจ ซึ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ จะมีดังนี้
- การลดต้นทุนคงที่ : เริ่มจากการเจรจาต่อรองค่าเช่าสถานที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากนั้นมุ่งเน้นการบริหารจัดการพนักงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคุมการใช้พลังงานอย่างประหยัด พิจารณาย้ายไปทำเลที่มีค่าเช่าถูกกว่าหากเป็นไปได้ และปรับโครงสร้างองค์กรให้กะทัดรัด
- การเพิ่มราคาขาย : มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ่านการพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่ชัดเจน และเน้นการทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
- การลดต้นทุนผันแปร : ดำเนินการต่อรองราคาวัตถุดิบกับซัพพลายเออร์อย่างสม่ำเสมอ วางแผนการซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากเพื่อได้ส่วนลด ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดของเสียในการผลิต และแสวงหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือกที่มีคุณภาพใกล้เคียงแต่ราคาถูกกว่า
5 แนวทางลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจมีกำไร
การลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจบรรลุจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นจากการจัดการต้นทุนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวัตถุดิบ การบริหารเวลา การจัดการเครื่องจักร การบริหารแรงงาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งแต่ละด้านล้วนมีความสำคัญ และส่งผลโดยตรงต่อการลดจุดคุ้มทุนของธุรกิจ
1. ลดต้นทุนวัตถุดิบ
การควบคุมต้นทุนวัตถุดิบเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารต้นทุน จึงควรเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์หลายรายเพื่อเปรียบเทียบราคา และเงื่อนไขที่ดีที่สุด รวมไปถึงการมีแหล่งวัตถุดิบสำรองไว้หลายเจ้า เพื่อช่วยลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้า และกลายเป็นต้องจ่ายแพงมากขึ้นในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
2. ลดต้นทุนด้านเวลา
เวลาคือต้นทุนที่มองไม่เห็นแต่มีผลกระทบมหาศาล การบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพโดยเริ่มจากการวางแผนการผลิตที่รัดกุม การกำจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน และการฝึกอบรมพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยรวมให้ดีขึ้นได้
3. ลดต้นทุนด้านเครื่องจักร
เครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต การบริหารจัดการที่ดีจะช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา โดยเริ่มจากการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ การเลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการวางแผนการใช้งานให้คุ้มค่า และการจัดทำตารางการซ่อมบำรุงที่เหมาะสมเพื่อยืดอายุการใช้งาน
4. ลดต้นทุนด้านแรงงาน
การบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ เป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมต้นทุน เริ่มจากการพัฒนาทักษะของพนักงานให้สามารถทำงานได้หลากหลาย การจัดตารางงานที่เหมาะสมกับปริมาณงาน การสร้างระบบแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับผลงาน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยทดแทนแรงงานในบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
5. ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยี
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดสามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มจากการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต การใช้ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการสต๊อก การติดตั้งระบบควบคุมการใช้พลังงาน และการใช้แอปพลิเคชันในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในระยะยาวได้ดี
สรุปบทความ ความสำคัญของจุดคุ้มทุนในการทำธุรกิจ
จะเห็นได้ว่า การรู้ถึงจุดคุ้มทุน (Break Even Point) มีความสำคัญอย่างมากในการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยในการวางแผนให้ธุรกิจมีกำไรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ส่วนใครที่ประสบปัญหาต้องการเงินทุน KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ช่วยคุณได้ ด้วยวงเงินก้อนใหญ่ สมัครง่าย ไม่ยุ่งยาก พร้อมบริการ พี่เบิ้ม Delivery ไปประเมินสภาพรถให้ถึงหน้าบ้าน ที่สำคัญยังอนุมัติไวใน 1 ชม. รับเงินก้อนได้ทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และผ่อนได้นานสูงสุด 84 เดือน โดยสามารถเลือกรับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้ม ไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินได้อย่างอุ่นใจ หากไม่มีการกดใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21%-24% ต่อปี*
*กรณีที่รถยังผ่อนไม่หมด สามารถนำมาประเมินวงเงินเบื้องต้นได้*