การมีครอบครัวที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความรัก เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน สำหรับผู้ที่อาจประสบปัญหาการมีบุตรตามธรรมชาติ หรือบางครอบครัวอาจต้องการเติมเต็มความอบอุ่นด้วยการต้อนรับสมาชิกใหม่สู่ครอบครัว การรับบุตรบุญธรรมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
บุตรบุญธรรม คืออะไร ?
บุตรบุญธรรม คือ เด็กที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายให้มีสถานะเป็นบุตรของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บิดามารดาโดยกำเนิด โดยผู้รับบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิและหน้าที่เสมือนเป็นบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก
ขั้นตอนการรับบุตรบุญธรรม
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับบัตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนี้
- กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องมีหนังสือแจ้งการอนุมัติของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อนยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน
- นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย หนังสือแจ้งการอนุมัติฯ (ถ้ามี) และตรวจสอบว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรม (บรรลุนิติภาวะ) มีคู่สมรสซึ่งต้องให้ความยินยอม ให้ตรวจสอบหลักฐานของบุคคลดังกล่าวด้วย
- นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร.14) ให้ครบถ้วน
- ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียน (คร.14)
- เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร.14)
คุณสมบัติของการรับบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง
- ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
- ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จึงมีผลทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ รวมไปถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมด้วยเช่นกัน โดยคู่สมรส LGBTQIAN+ สามารถรับบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตนได้
ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อจากนี้ทางวุฒิสภา จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยจะมีผลใช้บังคับหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปี พ.ศ. 2567
*ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2567
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
- หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรม (กรณีไม่มาให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
- หนังสือแจ้งการอนุมัติของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มีอายุ 6 เดือน (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
- พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
ค่าใช้จ่ายในการรับบุตรบุญธรรม
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จะไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่จะมีค่าคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
บุตรบุญธรรม รับมรดกได้ แต่ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย
บุตรบุญธรรมมีสิทธิอะไรบ้าง ?
สิทธิของบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย มีดังต่อไปนี้
- สิทธิในการใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561
- สิทธิในการได้รับอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564
- สิทธิในการรับมรดกชั้นเสมือนบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269
- ไม่สูญเสียหน้าที่ในครอบครัวเดิม กล่าวคือยังมีสิทธิในมรดกของบิดามารดาโดยกำเนิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28
- ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกตามระเบียบกรมบัญชีกลางได้ทั้งของบิดามารดาบุญธรรมที่รับราชการ และบิดามารดาที่แท้จริงซึ่งรับราชการ ตามระเบียบสวัสดิการสังคม กรมบัญชีกลาง
- อาจใช้สิทธิเบิกสวัสดิการของทางบริษัทหรือบางหน่วยงาน/องค์กรได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท
รับบุตรบุญธรรมออนไลน์
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับบุตรบุญธรรม สามารถยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออนไลน์ (e-form) ได้ เฉพาะผู้ยื่นคำขอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออนไลน์เบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://thaiadoption.dcy.go.th/public/index.do
บุตรบุญธรรม เบิกค่าเล่าเรียนได้ไหม ?
บุตรบุญธรรมจะ “ไม่สามารถเบิกค่าเล่าเรียนได้”
บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลใคร ?
บุตรบุญธรรมสามารถใช้นามสกุลของบิดาหรือมารดาบุญธรรม หรือใช้นามสกุลเดิมของตนเองได้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของบิดามารดาบุญธรรมและเด็ก
บุตรบุญธรรมรับมรดกได้หรือไม่ ?
บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม บุตรบุญธรรมต้องมีที่มาโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
การรับบุตรบุญธรรมเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ ทั้งในแง่กฎหมายและความพร้อมทางจิตใจ นอกจากนี้ ความพร้อมทางการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการรับบุตรบุญธรรมย่อมมาพร้อมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
ดังนั้น การวางแผนทางการเงินที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวที่ตัดสินใจรับบุตรบุญธรรมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งเด็กและครอบครัว และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนในอนาคต ซึ่งการมีตัวช่วยทางการเงิน เช่น บัตรเครดิต KTC ที่มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้เป็นสมาชิกบัตรในการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น ส่วนลดค่าอุปกรณ์การเรียน การผ่อนชำระค่าเทอม ส่วนลดค่าเรียนพิเศษ หรือรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับท่านใจที่สนใจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC