- ตราสารหนี้เป็นตราสารการเงิน ที่เป็นสัญญาแสดงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออก (Issuer) และผู้ถือตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่าผู้ลงทุน ตราสารหนี้ต้องมีกำหนดอายุและอัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใด เป็นจำนวนที่แน่นอน โดยระบุวันที่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นล่วงหน้า ตั้งแต่เมื่อออกตราสารนั้น และในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ หรือวันไถ่ถอน สามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้
- ผู้ออกตราสารหนี้คือผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ผู้ออกคือลูกหนี้และผู้ซื้อ คือผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากตราสารทุนหรือหุ้นสามัญ ที่ผู้ถือตราสารทุนนั้น ลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่เจ้าหนี้
- ตราสารหนี้ เป็นศัพท์กว้างๆ แต่คำที่ใช้บ่อย คือ “พันธบัตร” และ “หุ้นกู้”
- พันธบัตร คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
- หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยบริษัทเอกชน แต่ในต่างประเทศใช้คำว่า “Bond” สำหรับตราสารหนี้ทั่วไปทั้งที่ออกโดยรัฐและเอกชน มีในบางกรณีที่เรียกว่า “Debenture” เมื่อตราสารหนี้นั้นไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- องค์ประกอบที่สำคัญของตราสารหนี้ มีดังนี้
- ผู้ออกตราสารหนี้ คือ บริษัท รัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
- ประเภทของตราสารหนี้ ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้ จะมีความหลากหลายมากกว่าตราสารหนี้ ที่เป็นของภาครัฐ
- อายุตราสารหนี้ คือ กำหนดอายุแน่นอนของหุ้นกู้ โดยระบุวันเริ่มต้นคือวันที่ออกและวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้ไว้อย่างชัดเจน
- วันออกตราสารหนี้ (Issue date) คือ วันเริ่มต้นของการออกตราสารหนี้
- วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity date) คือ วันครบกำหนดไถ่ถอนหรือวันหมดอายุที่ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่คงเหลือทั้งสิ้นคืนแก่ ผู้ถือหุ้นกู้
- มูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ต่อหนึ่งหน่วยหุ้นกู้ เป็นคุณสมบัติของหุ้นกู้ ที่ สามารถแยกเป็นหน่วยย่อยๆได้ เพื่อให้สามารถซื้อขายในตลาดรองส่วนใหญ่ราคาพาร์จะเริ่มต้นที่ 1,000 บาทต่อหน่วย และคงที่จนครบอายุของหุ้นกู้นั้นๆ แต่ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้ ประเภททยอยจ่ายชำระคืนเงินต้น ราคาพาร์นี้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนเงินที่ทยอยคืนดังกล่าว
- อัตราดอกเบี้ย (Coupon rate) คือ อัตราผลตอบแทนที่ต้องกำหนดตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้นั้นอาจ เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว การจ่ายดอกเบี้ยกระทำเป็นงวดๆ และกำหนดวันจ่ายดอกเบี้ย เป็นวันที่ล่วงหน้าตรงกันทุกปี เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน ณ วันที่เท่าไรของปีนั้นๆ
- งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Payment frequency) ต่อปี คือ จำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ย ในรอบปี เช่น 2 ครั้งต่อปีหมายถึงการจ่ายดอกเบี้ยทุกรอบ 6 เดือน (Semi-annually) หรือ 4 ครั้งต่อปี หมายถึงการจ่ายดอกเบี้ยทุกรอบ 3 เดือน (Quarterly)
- อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (Issue rating) คือ อันดับเครดิต ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกาศเพื่อสะท้อนความสามารถ ของการชำระหนี้ ของตราสารหนี้นั้นๆ อันดับเครดิตสูง จะสะท้อนถึงความเสี่ยงของการไม่ได้รับชำระหนี้ตามกำหนด น้อยกว่าตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่า ดังนั้น ตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำ จึงต้องเสนออัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทน ที่สูงกว่าตราสารหนี้ ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า
- หุ้นกู้ เป็นตราสารการกู้เงินระยะยาว (อายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป) ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด รวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย เป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด ตลอดอายุของหุ้นกู้ และจะได้คืนเงินต้นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่ระบุในตราสาร หุ้นกู้มีกำหนดเวลาไถ่ถอนคืนที่แน่นอน
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หมายถึง ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
- หุ้นกู้ไม่มีประกัน หมายถึง หุ้นกู้ปลอดการค้ำประกัน และปลอดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
- หุ้นกู้สามารถขายคืนได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาโดยทำการขายผ่านตลาดรองตราสารหนี้ ที่หุ้นกู้นั้นๆจดทะเบียนซื้อขายอยู่
- เอกสารที่ใช้ประกอบการจองซื้อหุ้นกู้
- กรณีผู้จองซื้อเป็นบุคคลธรรมดา สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ที่มีเลขประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านที่มีเลขประจำตัวประชาชน พร้อมลงนาม รับรองสำเนาถูกต้อง
- กรณีผู้จองซื้อเป็นนิติบุคคล
- สำเนาหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงการจดทะเบียนบริษัท หรือแสดงฐานะของนิติบุคคลนั้น ซึ่งลงวันที่มาแล้วไม่เกิน 1 เดือน โดยจะต้องมีการลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล และ ประทับตราสำคัญของนิติบุคคลดังกล่าว
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้มีอำนาจลงนามไม่ได้มีสัญชาติไทย
- หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีผู้ลงนามแทนนิติบุคคล มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล ตามหนังสือรับรอง
- กรณีผู้จองซื้อเป็นผู้เยาว์(ผู้ปกครองจะต้องลงนามรับรองสำเนาทุกฉบับ)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้เยาว์ (กรณีมีบัตรประชาชน)
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร (กรณีต้องการให้จ่ายดอกเบี้ยเข้าบัญชีธนาคาร) โดยหน้าสมุดบัญชีธนาคารจะต้องเป็น ชื่อผู้เยาว์ หรือเป็น ชื่อผู้เยาว์ หรือเป็น ชื่อผู้เยาว์ โดย ชื่อผู้ปกครอง เท่านั้น
นายทะเบียนหลักทรัพย์ (Registrar) คือ บุคคลที่ทำธุรกิจให้บริการแก่ผู้ออกหลักทรัพย์ในการจัดและบันทึก ทะเบียนหลักทรัพย์ให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง รวมถึงการเปลี่ยนโอนชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ การจำนำ การอายัด การออกใบหลักทรัพย์ใหม่ การปิดสมุดทะเบียน ผู้ถือหลักทรัพย์การจ่ายเงินปันผล หรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีสิทธิตามบัญชีรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียน และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ข้อมูลอ้างอิง: ข้อ 1-4 จาก BEX (Bond Electronic Exchange) ข้อ 5-8 จาก ThaiBMA และข้อ 10 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)