โอนรถยนต์ มีกี่แบบ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์ กลายมาเป็นแหล่งเงินด่วนถูกกฎหมายที่เข้ามามีบทบาทกับผู้คนมีรถที่ตกอยู่ในสภาวะเงินตึงมือมากยิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ก้าวผ่านวิกฤตทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว แถมถ้ามีวงเงินเหลือสามารถเก็บเป็นทุนสำรองในยามฉุกเฉิน ดังนั้นไม่แปลกที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถหรือที่เรียกกันว่าสินเชื่อรถแลกเงิน เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับคนมีรถที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ก็มีเงื่อนไขที่สำคัญที่ต้องรู้นั่นคือ เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องเป็นชื่อเดียวกับผู้ขอกู้สินเชื่อเท่านั้น ทำให้หลายคนประสบปัญหาไม่น้อย ด้วยรถที่ใช้งานยังเป็นชื่อคุณพ่อคุณแม่ เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ตนเองจึงไม่สามารถจำนำรถได้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้พี่เบิ้มขอพาทุกคนไปศึกษาวิธีโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ว่าต้องใช้เอกสารอะไร ใช้เวลากี่วัน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และเมื่อโอนกรรมสิทธิ์แล้วสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทันทีหรือไม่
เลือกอ่านตามหัวข้อ
โอนกรรมสิทธิ์รถ คืออะไร
การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ คือ การเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ภายในเล่มทะเบียนจากเจ้าของคนเดิมให้กลายเป็นของเจ้าของคนใหม่ เพื่อให้เจ้าของรถยนต์คนใหม่มีกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าวแบบถูกต้อง สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น การซื้อขายรถมือสอง การรับรถเป็นมรดกตกทอด หรือการขอสินเชื่อรถแลกเงินแบบโอนเล่มทะเบียน
การโอนรถยนต์ เปลี่ยนเจ้าของ มีกี่แบบ
การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ มีอยู่ 2 วิธี คือ การโอนรถยนต์แบบโอนตรงและการโอนลอย ซึ่งการโอนรถทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
โอนรถยนต์แบบโอนตรง
เป็นการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเก่าและเจ้าของกรรมสิทธิ์คนใหม่ต้องไปยื่นเรื่องและทำการโอนกรรมสิทธิ์ต่อหน้านายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งใกล้บ้าน
โอนรถยนต์แบบโอนลอย
เป็นการที่มีการซื้อขายรถเกิดขึ้น และมีการลงนามในเอกสารการโอนรถ มีใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งใกล้บ้าน โดยผู้ขายเซ็นมอบอำนาจให้ผู้ซื้อไปดำเนินการต่อเอาเอง ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกสบาย แต่ก็แลกมากับความเสี่ยงเช่นกันเนื่องจากหากผู้ซื้อไม่ทำเรื่องโอนรถต่อให้จบกระบวนการ หากมีการนำรถคันดังกล่าวไปทำผิดกฎหมายหรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนส่งผลให้มีคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส เจ้าของรถคนเก่าอาจต้องรับผิดความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
อยากโอนรถยนต์ ต้องไปที่ไหน
หากเป็นการโอนรถยนต์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปดำเนินเรื่องตามเขตพื้นที่ของตัวเองได้ที่สำนักงานขนส่งทั้ง 5 แห่งที่ตั้งกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพ ได้แก่
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 : บางขุนเทียน
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 : ตลิ่งชัน
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 : สุขุมวิท
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 : หนองจอก
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 : จตุจักร
สำหรับกรณีเขตพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถเดินทางไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดที่อยู่ เพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ได้เช่นกัน
โอนรถยนต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์สามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายรถ การโอนรถให้บุตรหลาน หรือบุคคลอื่นในครอบครัว ส่วนจะเลือกโอนรถแบบโอนตรงหรือโอนลอยก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์เดิม สำหรับเอกสารที่ใช้ประกอบการโอนรถก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
เอกสารสำหรับโอนรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของคนเก่าและเจ้าของคนใหม่ (หากเจ้าของคนเก่าไม่สามารถเดินทางไปยังกรมขนส่งทางบกได้ สามารถเซ็นใบมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้)
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนแล้ว
เอกสารสำหรับโอนรถยนต์แบบโอนลอย
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของคนเก่า และเจ้าของคนใหม่
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนแล้ว
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบ
เอกสารสำหรับโอนรถยนต์ในรูปแบบมรดกตกทอด
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตัวจริง
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนแล้ว
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- สำเนาใบมรณะบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
ขั้นตอนการโอนรถยนต์
ในส่วนของขั้นตอนการโอนรถยนต์เพื่อเปลี่ยนเจ้าของ หากเตรียมเอกสารครบตามประเภทการโอนไว้แล้ว สามารถทำตอนขั้นตอนด้านล่างนี้ได้เลย
1. เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ พร้อมกับนำรถยนต์เข้าตรวจสภาพในสำนักงานขนส่ง
2. ติดต่อทางเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งความประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ พร้อมแนบเอกสารที่เตรียมไป และชำระค่าธรรมเนียมตามที่เรียกเก็บ
3. รอรับเอกสารใบคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียนรถ) พร้อมรับใบเสร็จรับเงิน
ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายในการโอนรถยนต์
ค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเขตพื้นที่ต่างจังหวัด จะรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เท่ากัน โดยจะมีรายละเอียดในการชำระ ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์ 100 บาท
- ค่าคำขอในการโอนรถยนต์ 5 บาท
- ค่าเปลี่ยนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 200 บาท (ในกรณีที่อยากเปลี่ยน)
- ค่าเปลี่ยนทะเบียนเล่มรถยนต์ 100 บาท (ในกรณีที่ชำรุดเสียหาย)
- ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมินราคารถยนต์ 100,000 บาท
ข้อควรรู้ก่อนโอนรถยนต์
นอกจากข้อมูล ขั้นตอน และเอกสารต่าง ๆ ในการโอนรถยนต์ที่รู้กันไปแล้ว หลายคนอาจจะมีคำถามที่ยังคาใจในบางจุด เราเลยได้รวบรวม พร้อมหาคำตอบมาให้กันไว้แล้ว มีอะไรบ้างที่ต้องรู้เพิ่ม มาดูกันดีกว่า
การโอนรถต้องแจ้งนายทะเบียนกี่วัน
การโอนรถ จะต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน ที่สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ โดยจะนับตั้งแต่วันโอนรถ เพราะหากไม่มีการแจ้ง อาจโดนโทษปรับที่ไม่เกิน 2,000 บาท
โอนรถข้ามจังหวัด ทะเบียนเดิมได้ไหม
การโอนรถข้ามจังหวัด โดยใช้ทะเบียนเดิมสามารถทำได้ เพียงแค่แจ้งความประสงค์ต่อนายทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง พร้อมกรอกใบคำขอในการโอนรถข้ามจังหวัดด้วยทะเบียนเดิม และชำระค่าธรรมเนียมตามขั้นตอนปกติ
โอนรถต้องตรวจสภาพรถไหม
การโอนรถจำเป็นจะต้องตรวจสภาพ เพื่อเช็กหมายเลขตัวถังกับข้อมูลที่ลงไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ว่าตรงกันหรือไม่ รวมไปถึง เลขเครื่องยนต์ สีรถ และข้อมูลการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี
รถเพิ่งโอนมีระยะเวลารอคอยหรือไม่ ก่อนทำเรื่องขอสินเชื่อ
แม้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในเล่มทะเบียนรถให้เป็นชื่อของผู้กู้โดยสมบูรณ์แล้ว แต่ใช่ว่าจะสามารถยื่นขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถได้ในทันที เพราะมีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลารอคอยจากธนาคารหรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ถึงสามารถนำเล่มทะเบียนรถมาเป็นประกันเวลายื่นขอสินเชื่อรถแลกเงินหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถกับทางผู้ให้บริการสินเชื่อ
สำหรับใครที่กำลังโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ สามารถศึกษาข้อมูลที่พี่เบิ้มรวบรวมมาฝากเพื่อเป็นแนวทางก่อนดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถให้เป็นชื่อของคุณเอง และสามารถนำรถยนต์ไปยื่นขอสินเชื่อได้ตามต้องการเพราะถือว่ารถยนต์คันนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณอย่างสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับระยะเวลาการรอคอยของธนาคารหรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยปกติ เมื่อทำการยื่นเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะใช้เวลารอเล่มภายใน 15 วันทำการ และต้องทำการแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลหรือสอบถามจากผู้ให้บริการสินเชื่อโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์สำหรับคุณก่อนทำการยื่นขอสินเชื่อนั่นเอง
สรุปบทความ โอนรถยนต์ มีกี่แบบ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
เป็นอย่างไรกัน กับข้อมูลการโอนรถยนต์เพื่อเปลี่ยนเจ้าของ ต้องบอกว่าง่ายกว่าที่ทุกคนคิดไว้เยอะมาก แต่สำหรับคนที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง หากคุณมีรถปลอดภาระเป็นชื่อตัวเอง และต้องการเปลี่ยนรถเป็นเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน แต่ไม่รู้สมัครสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ไหนดี ? ถึงตอบโจทย์ความต้องการ พี่เบิ้มขอแนะนำ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน พร้อมอนุมัติไว รับเงินทันที และให้วงเงินใหญ่โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องโอนเล่ม พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันทีหลังอนุมัติ รับรถหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ หรือรถ SUV
นอกจากนี้ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ยังมีช่องทางสมัครที่หลากหลายทั้งฝากเรื่องไว้ผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการกรอกข้อมูลที่แพลตฟอร์มด้านล่างแล้วรอทีมงานพี่เบิ้ม Delivery ติดต่อกลับ เพื่อทำการนัดหมายการเดินทางไปรับสมัครพร้อมตรวจเช็กสภาพรถให้ถึงบ้าน หรือเตรียมเอกสารให้พร้อมแล้วเดินทางไปสมัครด้วยตนเองที่จุดบริการ KTC TOUCH ทุกเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการเสริมสภาพคล่อง เพียงคุณมีรถปลอดภาระเป็นชื่อตนเองก็สามารถยื่นขอสินเชื่อรถแลกเงินได้ง่าย ๆ เพราะเรื่องเงินและค่าจ่ายถือเป็นเรื่องใกล้ตัว หากในยามฉุกเฉินต้องการเงินด่วนหรือเงินก้อนไว้สำรองในยามจำเป็นนึกถึง KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน พร้อมอยู่เคียงข้างคุณในทุกสถานการณ์
สมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน วันนี้ รับเงินก้อนได้ทันที
สมัครง่าย อนุมัติไว พร้อมตรวจสภาพรถฟรีถึงหน้าบ้าน
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21%-24% ต่อปี*