โครงสร้างองค์กร เป็นการจัดระเบียบภายในองค์กรเพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ และความสัมพันธ์ของบุคลากรในแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน ไม่ว่าจะทำงานเอกชน งานราชการ หรือแม้แต่งานรัฐวิสาหกิจ ก็มีโครงสร้างองค์กรที่ทำให้รู้ว่าแต่ละองค์กรนั้นมีตำแหน่งไหนบ้าง ทั้งยังช่วยให้การทำงานเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ โครงสร้างองค์กรก็มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป โดยแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานและเป้าหมายขององค์กรนั้นๆ ซึ่งหากคุณอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงสร้างองค์กรอยู่แล้วล่ะก็ วันนี้ KTC จะมารวบรวมข้อมูลให้คุณได้อ่านกัน
โครงสร้างองค์กร คืออะไร ?
โครงสร้างองค์กร หรือ Organizational Structure เรียกได้ว่าเป็นแผนผังที่นำเสนอตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ภายในองค์กร รวมถึงระดับบังคับบัญชาที่เชื่อมต่อคนและกลุ่มคนเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การทำงานร่วมกันในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถบรรลุเป้าหมายของการดำเนินงานที่วางไว้ได้อย่างสำเร็จ ทั้งนี้ การเกิดโครงสร้างองค์กรนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับการทำงานเป็นทีม วัฒนธรรมขององค์กร จำนวนพนักงาน และตัวบริษัท
โครงสร้างองค์กรเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบการทำงานภายในองค์กรให้มีความเป็นระเบียบ
โครงสร้างองค์กร สำคัญอย่างไร ?
โครงสร้างองค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในองค์กรให้มีความชัดเจนและเป็นระเบียบ โดยครอบคลุมด้านต่างๆ ดังนี้
- ช่วยกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน: โครงสร้างองค์กรช่วยกำหนดว่าใครรับผิดชอบอะไร และต้องทำงานอย่างไร ซึ่งช่วยลดความสับสนในหน้าที่การทำงาน
- เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร: โครงสร้างที่ชัดเจนช่วยกำหนดสายการสื่อสารระหว่างพนักงานและผู้บริหาร
- ช่วยในการบริหารและการตัดสินใจ: โครงสร้างองค์กรช่วยกำหนดอำนาจในการตัดสินใจในแต่ละระดับ ทำให้กระบวนการบริหารจัดการเป็นไปอย่างรวดเร็วและชัดเจน
- ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงาน: โครงสร้างช่วยจัดสรรทรัพยากรและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างแผนกหรือหน่วยงานต่างๆ ทำให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพ
- ช่วยในการวางแผนการเติบโตของพนักงาน: เมื่อพนักงานรู้ว่าตนเองมีบทบาท ตำแหน่ง และเส้นทางการเติบโตในอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน จะช่วยสร้างความมั่นใจและเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน พร้อมทำให้การประเมินผลการทำงานของพนักงานหรือแผนกต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยในการวางแผนการเติบโตขององค์กร: โครงสร้างองค์กรช่วยให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนหรือขยายทีมงานเมื่อธุรกิจเติบโต
- สร้างความโปร่งใสในองค์กร: การมีโครงสร้างที่ชัดเจนทำให้พนักงานเข้าใจว่าใครรับผิดชอบงานอะไร และช่วยลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน
รูปแบบโครงสร้างองค์กรแต่ละประเภทมีความเหมาะสมกับการทำงานที่แตกต่างกันไป
โครงสร้างองค์กร มีกี่ประเภทอะไรบ้าง ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละประเภท ?
รูปแบบโครงสร้างองค์กรนั้นมีทั้งหมด 7 ประเภท โดยแต่ละแบบจะมีข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมกับองค์กรหรือบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
1.โครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (Hierarchical Structure)
หากนึกตามภาพง่ายๆ โครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น คือโครงสร้างแบบพีระมิด โดยมี CEO อยู่สูงสุดและไล่ลำดับตำแหน่งตามสายงานลงมา สามารถใช้ได้กับบริษัทขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมต่างๆ โครงสร้างดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นถึงสายบังคับบัญชาของตนเองได้อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานมองเห็น Career Path ได้ง่าย และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น
ข้อดี
- ความชัดเจนในหน้าที่และอำนาจการตัดสินใจ
- มีสายการติดต่อสื่อสารที่ชัดเจน
- ฝ่ายบริหารสามารถดูแลและควบคุมการทำงานของพนักงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการจัดระบบการทำงานอย่างชัดเจน มีการประสานงานที่เป็นระเบียบ
- โครงสร้างที่มีลำดับชั้นช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และส่งเสริมความมั่นคงในด้านการบริหาร
ข้อเสีย
- ข้อมูลหรือคำสั่งต้องผ่านหลายขั้นตอนจากระดับล่างไปถึงระดับบน และจากระดับบนกลับมาสู่ระดับล่าง ทำให้กระบวนการตัดสินใจล่าช้า
- ขาดความยืดหยุ่น
- อาจทำให้พนักงานระดับล่างรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วม ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัด ด้วยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
- มีบุคลากรในตำแหน่งผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร
2.โครงสร้างองค์กรตามสายงาน (Functional Structure)
เป็นรูปแบบของโครงสร้างองค์กรที่คล้ายกับโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น แต่จะมีการแบ่งแผนกหรือหน่วยงานตามลักษณะหน้าที่ เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
ข้อดี
- สามารถกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานและตำแหน่งต่างๆ ได้ชัดเจน
- เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงน้อยหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- ช่วยให้การบริหารงานภายในแผนกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- โครงสร้างองค์กรแนวดิ่ง สามารถกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อจูงใจพนักงานได้
- พนักงานเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)
ข้อเสีย
- อาจเกิดปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างแผนก
- การตัดสินใจช้าลง เนื่องจากต้องผ่านหลายฝ่าย รวมไปถึงสายการบังคับบัญชาทำให้เกิดความล่าช้า
- ขาดความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงนำไอเดียใหม่ๆ มาใช้ได้ยาก เนื่องจากพนักงานระดับล่างอาจนำเสนอความคิดได้ยาก
- อาจไม่เหมาะกับองค์กรที่มีกระบวนการและกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
3.โครงสร้างองค์กรแบบเมทริกซ์ (Matrix Structure)
โครงสร้างองค์กรที่มีลักษณะเหมือนกับตาราง โดยผสมระหว่างโครงสร้างตามสายงาน(Functional Structure) และโครงสร้างแบบมีสาขา (Divisional Structure) เข้าด้วยกัน ทำให้พนักงานในองค์กรจะมีสายการรายงาน กับผู้จัดการหลายคนในเวลาเดียวกัน
ข้อดี
- บริษัทได้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพนักงานสามารถทำงานในหลายโครงการหรือฝ่าย ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ผู้บริหารสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถตามที่โครงการต้องการได้
- พนักงานมีโอกาสฝึกฝนทักษะหลากหลายมากขึ้นจากงานที่ต้องรับผิดชอบ
- ช่วยให้การทำงานมีความยืดหยุ่นสูง พนักงานสามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือโครงการได้ตามความต้องการ
- การตัดสินใจสามารถทำได้รวดเร็วในแต่ละโครงการหรือแผนก
- การทำงานร่วมกันระหว่างแผนกและโครงการช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากหลากหลายด้าน ส่งเสริมการคิดนอกกรอบและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
- เหมาะสำหรับองค์กรที่มีโครงการหรือผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน เช่น องค์กรด้านเทคโนโลยีหรือวิศวกรรม
ข้อเสีย
- การจัดการในโครงสร้างแบบเมทริกซ์ต้องการทักษะการบริหารที่สูง เพราะมีการประสานงานระหว่างหลายฝ่ายและหลายระดับ จนอาจทำให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้งในการตัดสินใจหรือคำสั่ง
- หากขาดการสื่อสารที่ดีอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานได้
4.โครงสร้างองค์กรแบบมีสาขาหรือหน่วยงานย่อย (Divisional Structure)
เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กร ที่แบ่งแยกเป็นหน่วยงานย่อยหรือสาขาตามผลิตภัณฑ์ บริการ หรือภูมิภาคต่างๆ โดยแต่ละหน่วยงาน จะมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน และมีการจัดการแยกจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว โครงสร้างองค์กรแบบนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ บริษัทที่ลงทุนถือหุ้นบริษัทลูก (Holding Company) หรือมีหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องการการบริหารจัดการแยกตามแต่ละประเภท
ข้อดี
- มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ ด้วยแต่ละหน่วยงานมีอำนาจในการตัดสินใจที่เป็นอิสระ ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของตลาดได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น
- ทำให้หน่วยงานแต่ละสาขามีความเชี่ยวชาญในด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการที่รับผิดชอบ ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้อย่างลึกซึ้งและมีคุณภาพสูง
- การที่องค์กรมีหลายหน่วยงานย่อยช่วยกระจายความเสี่ยง เนื่องจากหากสาขาหนึ่งประสบปัญหา ทางสาขาอื่นๆ ยังสามารถดำเนินงานได้โดยไม่กระทบต่อทั้งหมด
ข้อเสีย
- การดำเนินงานแยกตามหน่วยงานย่อยอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น เช่น การต้องสร้างระบบการทำงานและโครงสร้างที่แยกจากกันแต่ละหน่วย
5.โครงสร้างองค์กรแบบเครือข่าย (Network Structure)
เป็นโครงสร้างองค์กรแบบศูนย์กลางและกระจายออกไปตามภูมิภาค หรือ รูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่แตกต่างกัน โดยมีการทำงานร่วมกันในรูปแบบของเครือข่ายภายนอก เช่น การใช้ผู้ร่วมงานภายนอก, พันธมิตร, หรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำงานให้สำเร็จ โดยโครงสร้างองค์กรแบบเครือข่ายนั้นจะเน้นการสื่อสารและความสัมพันธ์แบบเปิดมากกว่าแบบลำดับชั้น
ข้อดี
- มีความยืดหยุ่นสูง ทั้งในด้านการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังสามารถเลือกพันธมิตรหรือบุคคลที่มีทักษะเฉพาะด้านเพื่อเข้ามาช่วยเหลือในแต่ละโปรเจกต์หรือด้านต่างๆ ได้
- องค์กรสามารถใช้เครือข่ายเพื่อขยายการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรภายในองค์กรเอง
- สามารถเข้าถึงความเชี่ยวชาญหรือทักษะจากภายนอกที่อาจไม่มีภายในองค์กรเองได้อย่างรวดเร็ว
ข้อเสีย
- เนื่องจากผู้ร่วมงานภายนอกอาจไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ทำให้การสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่มั่นคงและการสนับสนุนภายในองค์กรอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
- การพึ่งพาผู้ร่วมงานหรือพันธมิตรภายนอกอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่องค์กรจะสูญเสียการควบคุมคุณภาพหรือกระบวนการบางอย่าง
6.โครงสร้างองค์กรแบบทีม (Team-based Structure)
เป็นโครงสร้างองค์กรที่เน้นการจัดตั้งหน่วยงานย่อยแบบทีม มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันในทีมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ โครงสร้างนี้เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการเพิ่มการทำงานร่วมกันและประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญต่างๆโดยจะรายงานตรงกับหัวห้วหน้าทีมหรือผู้จัดการทีม สมาชิกในทีมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและตัดสินใจร่วมกัน
ข้อดี
- การทำงานในทีมช่วยให้การสื่อสารภายในทีมและการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลได้ทันที
- มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง เมื่อเกิดปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทันที โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากหลายระดับชั้น
- ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการทำงานร่วมกันในทีม จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
- ส่งเสริมแนวคิดของการพัฒนาตนเองของพนักงาน (Growth Mindset)
ข้อเสีย
- การทำงานเป็นทีมอาจทำให้สมาชิกในทีมไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าใครรับผิดชอบในแต่ละงาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน
- Career Path ของพนักงานไม่ชัดเจน
7.โครงสร้างองค์กรแนวนอนหรือแบนราบ (Horizontal or Flat Structure)
นี่คือรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีลำดับชั้นน้อย หรือแทบไม่มีลำดับชั้นระหว่างผู้บริหารและพนักงาน จึงเหมาะและเป็นที่นิยมในองค์กรที่เป็น Startup โดยมีการจัดการที่เรียบง่ายและกระชับ ทุกคนในองค์กรมีบทบาทที่ชัดเจนและสามารถเข้าถึงผู้บริหารได้โดยตรง
ข้อดี
- การสื่อสารที่รวดเร็วและตรงไปตรงมา เนื่องจากมีลำดับชั้นน้อย
- ความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ด้วยโครงสร้างที่เรียบง่าย พนักงานสามารถปรับตัวได้รวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงในภายในองค์กร
- ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเกิดการนำไอเดียใหม่ๆ มาใช้ได้ดี
- มีจำนวนผู้บริหารที่น้อย องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และสามารถนำทรัพยากรไปใช้ในการพัฒนาส่วนอื่นของธุรกิจได้
ข้อเสีย
- มีความท้าทายในการจัดการกับการเติบโต ทั้งในด้านหากองค์กรเติบโตขยายตัว และตัวพนักงานที่ต้องการเติบโตในสายงาน
- เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่
จัดโครงสร้างองค์กรต้องดูอะไรบ้าง ?
จากโครงสร้างองค์กรแต่ละประเภทอาจจะทำให้เราเห็นได้ว่า องค์กรหนึ่งแห่ง ไม่ได้เหมาะกับโครงสร้างองค์กรทุกประเภท ดังนั้น การพิจารณาเลือกใช้โครงสร้างองค์กร ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเป้าหมายของธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาข้อสำคัญต่างๆ ดังนี้
- เป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ชัดเจน โครงสร้างองค์กรต้องเริ่มจากการกำหนดสองอย่างนี้ ด้วยการออกแบบโครงสร้างองค์กรจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่สร้างขึ้นนั่นเอง
- ลักษณะธุรกิจและขนาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการออกแบบโครงสร้าง
- ความซับซ้อนและความหลากหลายของงานในองค์กร
- ความคล่องตัวและยืดหยุ่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ขยาย และเติบโตขององค์กร
จากที่กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การออกแบบโครงสร้างองค์กรต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ทั้งเป้าหมายองค์กร, ลักษณะธุรกิจ, ความซับซ้อนของงาน, และความยืดหยุ่นในการปรับตัว ทั้งนี้ การออกแบบที่ดีจะช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและรองรับการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
สุดท้ายนี้ ถ้าคุณกำลังมองหาตัวช่วยในการจัดการการเงินให้ประสบความสำเร็จ ตัวช่วยสำคัญด้านนี้ ที่ทำให้การเงินของคุณทั้งคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ก็ต้องบัตรเครดิต KTC ที่สามารถทำให้คุณคุ้มค่าทุกการใช้จ่าย ด้วยสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดจากร้านค้าชั้นนำ รับคะแนน KTC FOREVER จากทุกการใช้จ่ายที่สามารถนำคะแนนไปแลกคะแนนรับส่วนลด แลกคะแนนรับเครดิตเงินคืน แลกคะแนนแทนเงินสด และอีกมากมาย นอกจากนี้ยังไม่มีค่าแรกเข้าและธรรมเนียมรายปี ใครที่ยังไม่มีบัตร สามารถกดสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ โดยเลือกบัตรที่ถูกใจ ตรงกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ รับรองว่าได้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าแน่นอน
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC