เพราะเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต การมีความมั่นคงทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีเงินพอสำหรับใช้จ่ายในอนาคต โดยเฉพาะยามเกษียณที่อาจจะไม่มีรายได้ ดังนั้น สิ่งแรกที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนควรทำคือ สำรวจว่า หากเราทำงานบริษัทเอกชนจนเกษียณ เราจะได้รับเงินเกษียณจากไหนบ้าง ? เพื่อจะได้รีบวางแผนเก็บเงินให้เหมาะสมและเพียงพอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ทำงานบริษัทเอกชนจนเกษียณ หากเราไม่รีบวางแผนเก็บเงินตั้งแต่เนิ่นๆ อาจมีเงินเกษียณไม่พอใช้จนถึงบั้นปลายชีวิต ยิ่งอายุมากยิ่งมีภาระหน้าที่มากตามมาด้วย ทั้งยังเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย วางแผนไว้เลย รู้ก่อนดีกว่า และนี่คือ 4 แหล่งเงินที่พนักงานบริษัทเอกชนจะได้รับเมื่อทำงานจนเกษียณ
1. เงินชดเชยเลิกจ้าง
เงินชดเชย หรือค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง หรือถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่มีความผิดใดๆ โดยไม่เข้าข้อยกเว้น ซึ่งเป็นเงินนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานจนถึงเกษียณ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้าง โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า “การเกษียณ” เท่ากับ “การเลิกจ้าง” เพราะลูกจ้างมีอายุครบตามที่ตกลงไว้กับนายจ้างหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างประเภทหนึ่ง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ในส่วนของอายุการเกษียณ จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรกำหนด ในภาคเอกชนส่วนมากไม่มีการกำหนดอายุเกษียณที่แน่นอน ให้ลูกจ้างได้มีโอกาสทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ไหว ทั้งนี้ หากแต่ถ้าองค์กรใดกำหนดอายุเกษียณมากกว่าอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่มีการกำหนด พนักงานมีสิทธิ์ขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา ทั้งนี้ จำนวนเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับอายุงาน เช่น ถ้าเราเงินเดือนเดือนสุดท้าย 50,000 บาท และทำงานมาแล้ว 12 ปี จะได้ค่าชดเชย 300 วัน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 10 เดือน ของเงินเดือนสุดท้าย คือ 500,000 บาท
อัตราค่าชดเชยการเลิกจ้าง
- ลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน หรือ 1 เดือน
- ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน หรือ 3 เดือน
- ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือน
- ลูกจ้างทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน หรือ 8 เดือน
- ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน หรือ 10 เดือน
- ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน หรือ 13.3 เดือน
2. เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ในแต่ละเดือนจะถูกหักเงิน 5% หรือ 750 บาทของเงินเดือน โดยคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อนำเอาไปเป็นความคุ้มครองต่างๆ สำหรับคนทำงาน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- ความคุ้มครอง (กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต) 225 บาท
- ประกันว่างงาน 75 บาท
- เงินชราภาพ 450 บาท
ซึ่งส่วนที่ 3 คือ เงินชราภาพ ก็จะถูกสะสมเรื่อยๆ สำหรับเป็นเงินบำเหน็จบำนาญยามเมื่อเราเกษียณ
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์กรณีบำเหน็จชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ
- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- กรณีผู้รับเงิน บำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์กรณีบำนาญชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ
- กรณีจ่ายเงินสมทบ มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้น สุดลง
- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณบำนาญชราภาพ
ผู้ประกันตนทำงานได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และเกษียณอายุงานสามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย
- ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16 - ปีที่ 20 (5 ปี)จะได้รับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการส่งเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- รวมอัตราเงินบำนาญชราภาพ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5% ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือนเท่ากับ 27.5% ของเงินเดือน 15,000 บาท คือ 4,125 บาท ทุกเดือนตลอดชีวิต
3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐจัดสรรให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน สำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน อายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด จะมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพนี้ โดยแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ หมายความว่า การรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากภาครัฐ จะต้องละทะเบียนก่อน
ทั้งนี้ การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนใหม่ทุกปี ลงเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิ์ไปตลอด ในส่วนของการละทะเบียนรับเบี้ยยังชีพนี้ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของปีนั้น และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน ต.ค. ในปีนั้นๆ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง ที่ สำนักงานเขต กทม., อบต. หรือเทศบาล ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.ของทุกปี สำหรับอัตราเบี้ยยังชีพคนชราจะเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ
อัตราเบี้ยยังชีพคนชรา
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา 1,000 บาท/เดือน
4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว เป็นประโยชน์ในยามชราภาพของลูกจ้าง รวมถึงเป็นหลักประกันของครอบครัวกรณีลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ออกจากงาน เกษียณอายุ ออกจากกองทุน หรือเสียชีวิต โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวกฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน แต่สำหรับบริษัทของคุณที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง แนะนำให้ทำ
โดยองค์ประกอบของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- เงินสะสม ที่สมาชิก (ลูกจ้าง) สะสมไว้ทุกๆ ครั้งที่ได้รับค่าจ้าง โดยอัตราเงินสะสมเริ่มตั้งแต่ 2%-15% ของค่าจ้าง (เลือกได้ว่าจะให้หักกี่เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน)
- เงินสมทบ ที่นายจ้างสมทบเข้าไปในกองทุนพร้อมๆ กับเงินสะสม โดยเงินสมทบเริ่มตั้งแต่ 2%-15% ของค่าจ้าง (อัตราการจ่ายเงินสมทบนี้อาจแตกต่างกัน ตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เช่น ระยะเวลาการทำงาน ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ตามตำแหน่ง ตามอัตราเงินเดือน)
จะเห็นได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชน เนื่องจากเสมือนได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินกองทุน เป็นวิธีการออมเงินสำหรับใช้ยามเกษียณที่ดี เนื่องจากเป็นการลงทุนในจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน มีความเสี่ยงน้อย อีกทั้งเงินออมอยู่ภายใต้การบริหารของมืออาชีพ และดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน จึงเป็นการลงทุนที่ได้เปรียบ ที่สำคัญ ปลอดภัย เพราะได้รับการดูแลจากหน่วยงานกำกับดูแลและมีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ เงินสะสมสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ตามปกติแล้วการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินทั้งก้อน และจะได้รับเงินจากกองทุน เมื่อออกจากงานตอนอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกของกองทุนมาแล้ว 5 ปี ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ
เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าจะได้รับเงินเกษียณจากแหล่งใดบ้าง ขั้นต่อไปคือการคำนวณว่าเงินดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ จะได้นำไปสู่การหาวิธีเก็บออมและลงทุนเพื่อให้มีเงินครบตามเป้าหมายในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมั่นคงและมีความสุข
การใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดมีส่วนช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินเก็บมากขึ้นได้ และเพื่อการใช้จ่ายที่คุ้มค่า สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ทุก 25 บาท
รับคะแนน KTC FOREVER 1 คะแนน สามารถนำคะแนนไปแลกรับส่วนลด และสิทธิประโยชน์มากมาย หรือซื้อสินค้าด้วยโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษ 0% เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินได้ สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC คลิกที่นี่ สมัครออนไลน์ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC