Corporate Social Responsibility หรือ CSR คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นแนวคิดของการดำเนินกิจกรรมทั้งภายใน และภายนอกองค์กร เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
CSR คือ กลยุทธ์การทำธุรกิจอย่างหนึ่ง โดยปฏิบัติ ตามแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
กลยุทธ์ CSR คืออะไร?
กลยุทธ์ CSR คือ แนวทางการดำเนินงานที่องค์กรกำหนดขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการนำเอาแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น เข้ามาผนวกกับกิจกรรม และกลยุทธ์ของธุรกิจตัวเอง บนหลักการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน และภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาว และต้องเชื่อมโยงกับชุมชน และกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่นด้วย
CSR มีกี่ระดับ
การทำกิจกรรม CSR แบ่งออกได้ 4 ระดับ โดยองค์กรสามารถเลือกได้ว่าต้องการทำ CSR ในระดับไหน ดังนี้
1. ระดับพื้นฐาน (Mandatory Level)
ระดับที่องค์กรจำเป็นต้องทำตามหน้าที่ ข้อกฏหมาย กฎระเบียบ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน กฏหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค การจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย การให้สวัสดิการที่ดีแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม เงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ
2. ระดับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Elementary Level)
ระดับที่องค์กรคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจจะต้องมิใช่กำไรที่เกิดจากการเอาเปรียบเบียดเบียนสังคมให้ได้มา
3. ระดับจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Preemptive Level)
ระดับที่องค์กรดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น บนพื้นฐานการทำงานอย่างมีจริยธรรม ไม่เอาเปลี่ยนผู้อื่น และใส่ใจผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้ฐานการผลิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การจำหน่าย เช่น การส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลน
4. ระดับความสมัครใจ (Voluntary Level)
เป็นระดับสูงสุดของ CSR เป็นการธุรกิจดำเนินกิจกรรม CSR ด้วยความสมัครใจ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฏหมายและจรรยาบรรษทางธุรกิจ โดยองค์กรมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยระดับนี้ องค์กรสามารถดำเนินกิจกรรม CSR ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและทรัพยากรขององค์กร เช่น การทำโครงการพัฒนาชุมชน โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับองค์กรการกุศลหรือชุมชนที่ขาดแคลน การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ การส่งเสริมการศึกษา
การปลูกต้นไม้ ถือเป็นกิจกรรม การทำ CSR ยอดนิยม
รูปแบบกิจกรรม CSR มีกี่ประเภท?
ประเภทของ CSR นั้นสามารถจำแนกได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนก แต่หากจำแนกตามที่ ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาดระดับโลก ได้จำแนกไว้ มีดังนี้
1. การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion)
การที่องค์กรส่งเสริมการรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แสดงออกผ่านการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การระดมทุน การบริจาคทรัพยากร การส่งอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การรณรงค์เพื่อลดภาวะโลกร้อน การสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น
2. การตลาดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม (Cause-Related Marketing)
การที่องค์กรร่วมมือกับองค์กรอื่น ซึ่งมักจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในการแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคม โดยการนำประเด็นปัญหาทางสังคมเหล่านั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการขายสินค้าหรือบริการ แบบมีเวลาจำกัดแน่นอน
ยกตัวอย่างเช่น การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิกขององค์กรการกุศล การแบ่งส่วนหนึ่งจากยอดขายไปบริจาคให้กับหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
3. การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing)
การที่องค์กรใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสังคม ผ่านการรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สุขภาวะ โดยองค์กรจะเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข และออกแบบกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์ให้ผู้บริโภคลดการใช้พลาสติก การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy)
คือ การที่องค์กรบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับองค์กรการกุศล หรือโครงการเพื่อสังคมต่างๆ โดยมีอิสระที่จะเลือกองค์กรการกุศลหรือโครงการที่จะบริจาคเองได้ ตามวัตถุประสงค์หรือความมุ่งมั่นขององค์กร
5. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering)
การที่องค์กรส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาทางสังคม โดยองค์กรอาจจัดโครงการอาสาสมัครขึ้นภายในองค์กร หรือสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครภายนอกก็ได้ และพนักงานก็จะได้รับการชดเชยในรูปแบบของวันหยุดหรือวันลาเพิ่มหากมีการเข้าร่วมกิจกรรม
6. การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Socially Responsible Business Practices)
การที่องค์กรดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจะกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและมาตรฐานสากล ซึ่งจะดำเนินการเองหรือร่วมมือกับองค์กรภายนอกก็ได้
ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น
7. การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services)
กิจกรรม CSR ประเภทหนึ่งที่มุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อย โดยองค์กรจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในราคาที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย พลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กลุ่มฐานรากเข้าถึงสินค้าและบริการได้ ไป พร้อมกับโอกาสทางธุรกิจในการเข้าถึงตลาดด้วย
การทำ CSR สำคัญต่อองค์กรอย่างไร?
การทำ CSR มีความสำคัญต่อองค์กรในด้านต่างๆ ดังนี้
- ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เกิดการยอมรับจากสังคมและผู้บริโภคว่าเป็นองค์กรที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรนั่นเอง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้องค์กรมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น สามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนได้ด้วย
- ช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจได้ เช่น ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ความเสี่ยงด้านกฎหมาย และความเสี่ยงด้านการลงทุน หากอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ เช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบ CSR จะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการประท้วงจากชุมชนหรือผู้บริโภค
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้ เช่น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบ CSR สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานและลดมลพิษ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- ช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ เช่น เพิ่มขวัญกำลังใจ เพิ่มทักษะ และเพิ่มความรู้ ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบ CSR จัดกิจกรรม CSR ร่วมกับพนักงาน จะช่วยให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในการทำงานและรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
การทำ CSR คือแนวทางหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม องค์กรใดที่ให้ความสำคัญกับการทำ CSR ก็จะมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จในระยะยาว
ตัวอย่างโครงการ CSR ในประเทศไทย
สำหรับโครงการ CSR ขององค์กรในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (KING POWER)
ผู้จัดทำโครงการ CSR "โครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย" และ “โครงการล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย” ที่ได้ทำการส่งมอบลูกฟุตบอลทั่วประเทศกว่า 1,000,000 ลูก และสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล ให้กับโรงเรียนหรือชุมชนที่ขาดแคลนกว่า 100 สนาม เพื่อพัฒนาทักษะการเตะฟุตบอลของเยาวชนและคนไทยที่รักกีฬาฟุตบอล จนคว้ารางวัลองค์กรดีเด่น "ด้านการสร้าง ความเข้มแข็งให้สังคม" ระดับเอเชีย 3 ปีซ้อน (ปี ค.ศ.2019-2021) จากงานประกาศรางวัล ‘Asia Responsible Enterprise Awards 2021’ หรือ AREA 2021 ที่จัดขึ้นโดย Enterprise Asia องค์กรอิสระที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแบบองค์รวมในเอเชีย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
“โครงการรักษ์ใจไทย ผ่าตัดหัวใจผู้ยากไร้/คลินิกเคลื่อนที่” เป็นโครงการ CSR ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และมูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดหรือโรคลิ้นหัวใจรั่ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
โครงการ CSR คือหนึ่งในแนวคิดที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและสังคม โดยองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรม CSR มักจะมีโอกาสประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับการยอมรับจากสังคมและผู้บริโภค ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรในระยะยาว
นอกจากการทำกิจกรรม CSR แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ คือ “ระบบบริหารจัดการ CRM ที่ดี” เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น นำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจอย่างสูงสุด และแน่นอนว่า MAAI BY KTC เป็นระบบบริหารจัดการ CRM และ DIGITAL LOYALTY PLATFORM ที่ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ พร้อมเชื่อมต่อธุรกิจของคุณเข้ากับเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ด้วยประสบการณ์กว่า 25 ปี ผ่าน 3 ระบบครบวงจรที่คุณเลือกได้
ไม่ว่าจะเป็น ระบบจัดการข้อมูลสมาชิก (Membership Management) ระบบจัดการ e-Coupon (e-Coupon Management) และระบบจัดการคะแนน (Point System Management)
มาต่อยอดสิทธิประโยชน์ให้ธุรกิจของคุณวันนี้ด้วย MAAI BY KTC สำหรับองค์กรใดที่สนใจบริการ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 123 5678
ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ธุรกิจเติบโต MAAI BY KTC ผู้ช่วยของคุณ