รู้พิกัดก่อนต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
นอกจากการดูแลรถยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน การต่ออายุภาษีรถยนต์เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คนมีรถไม่ควรละเลย เพื่อให้รถของคุณวิ่งได้อย่างถูกกฎหมายบนท้องถนน อีกทั้งการเช็กภาษีรถยนต์ หมดอายุ ยังมีความเกี่ยวข้องในเรื่องของ พ.ร.บ.รถยนต์และประกันภัยรถยนต์อีกด้วย บทความนี้รวบรวมคำตอบเกี่ยวกับการเช็กภาษีรถมาฝากครับ ทั้งช่องทางเช็กราคาต่อภาษีรถยนต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง แล้วถ้าครบรอบต่อทะเบียนรถแต่ลืมไปเสียภาษี จะต้องทำอะไรบ้าง ยังนำรถไปทำธุรกรรมอะไรได้ไหม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ภาษีรถยนต์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
- ภาษีรถยนต์ VS พ.ร.บ.รถยนต์ เหมือนหรือต่างกัน
- รถแต่ละประเภท ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่
- เช็กภาษีรถประจำปีได้จากที่ไหนบ้าง
- ต่อภาษีรถยนต์ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
- ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ มีขั้นตอนอย่างไร
- รถอายุเกิน 7 ปี ต่อภาษีออนไลน์ได้ไหม
- ต่อภาษีรถยนต์ล่าช้า จะเกิดอะไรขึ้น
- ไม่ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ทำธุรกรรมได้ไหม
ภาษีรถยนต์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ภาษีรถยนต์ คือ ป้ายแสดงการเสียภาษีหรือป้ายกระดาษสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกกันติดปากว่า ป้ายวงกลม โดยผู้ใช้รถจะได้รับป้ายกระดาษมาติดที่หน้ากระจกรถยนต์ เพื่อแสดงว่ารถคันดังกล่าวได้จ่ายภาษีรถยนต์ตามที่กฎหมายบังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งป้ายแสดงการเสียภาษีมีการระบุข้อมูลเลขทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อรถยนต์ และปี พ.ศ. สิ้นอายุ หากอยากทราบว่าต้องยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปีเมื่อใด อาจดูข้อมูลจากป้ายกระดาษนี้ได้เช่นเดียวกัน
ถ้าถามว่าการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี มีความสำคัญอย่างไร ? คำตอบคือ นอกจากเป็นสิ่งที่ต้องต่อกันทุกปีตามกฎหมายกำหนด ภาษีรถที่จ่ายไปในทุกปีจะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงถนน รวมไปถึงการคมนาคมภายในประเทศ ที่สำคัญป้ายแสดงการเสียภาษีหรือป้ายวงกลมยังเปรียบเสมือนตัวแทนชื่อรถ ที่เจ้าหน้าตำรวจสามารถนำข้อมูลบนป้ายดังกล่าวไปตรวจสอบเวลาเกิดเหตุต่าง ๆ ได้
ภาษีรถยนต์ VS พ.ร.บ.รถยนต์ เหมือนหรือต่างกัน
เมื่อเอ่ยถึงการต่อภาษีรถหรือต่อทะเบียน หลายคนอาจนึกว่าเป็นการไปต่อภาษีรถยนต์ หรือต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ แต่ความจริงแล้วทั้งสองอย่างเป็นคนละเรื่องกัน แม้กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถทุกคนต้องจ่ายในทุก ๆ ปี โดยมีความแตกต่างกันดังนี้
จุดประสงค์
- ต่อภาษีรถยนต์ เป็นการจ่ายภาษีรถยนต์เพื่อให้ภาครัฐนำรายได้ตรงส่วนนี้ไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ คือประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อรับความคุ้มครองเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในรูปแบบของค่ารักษาพยาบาล หรือเงินชดเชยอื่น ๆ นอกจากนี้ พ.ร.บ.รถยนต์ ยังเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการต่อภาษีรถยนต์
ระยะเวลาที่ต้องชำระ
- ต่อภาษีรถยนต์ ผู้ใช้รถควรดำเนินการจ่ายภาษีรถก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ทุกปี
- ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถต้องชำระทุกปี
โทษหากไม่ต่อ
- ต่อภาษีรถยนต์ หากละเลยต่อภาษีรถยนต์ล่าช้าเกิน 3 ปี ทะเบียนรถถูกระงับและต้องชำระค่าปรับก่อนขอทะเบียนรถใหม่
- ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
สิ่งที่ได้หลังจากต่อ
- ต่อภาษีรถยนต์ ผู้ใช้รถจะได้รับป้ายภาษี หรือที่เรียกว่าป้ายวงกลม ป้ายสี่เหลี่ยม
- ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ผู้ใช้รถจะได้รับเอกสารกรมธรรม์ พ.ร.บ.รถยนต์
รถแต่ละประเภท ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่
สำหรับรถยนต์แต่ละประเภทนั้นมีกำหนดอัตราค่าภาษี และวิธีจัดเก็บ ตลอดจนการคำนวณภาษีรถยนต์ประจำปีแตกต่างกันไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.)
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
- 600 ซีซีแรก ซีซีละ 0.50 บาท
- 601 – 1,800 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท
- เกิน 1,800 ซีซี ซีซีละ 4.00 บาท
รถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ
- จ่ายภาษี 2 เท่า
รถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อ ๆ ไป ดังนี้
- ปีที่ 6 ร้อยละ 10
- ปีที่ 7 ร้อยละ 20
- ปีที่ 8 ร้อยละ 30
- ปีที่ 9 ร้อยละ 40
- ปีที่ 10 ขึ้นไป ร้อยละ 50
(2) จัดเก็บเป็นรายคัน
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
- รถพ่วงข้างจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
- รถพ่วงประเภทอื่น ๆ คันละ 100 บาท
- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
การคำนวณภาษีรถเบื้องต้นช่วยเรื่องการเตรียมค่าใช้จ่าย
(3) จัดเก็บตามน้ำหนัก
กรณีนี้เป็นการคำนวณภาษีรถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์บริการ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถลากจูง หรือรถแทรกเตอร์ที่มิได้ใช้ในการเกษตร โดยมีรายละเอียดดังนี้
- น้ำหนักรถ 0- 500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 150 บาท
- น้ำหนักรถ 501- 750 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 300 บาท
- น้ำหนักรถ 751 - 1,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 450 บาท
- น้ำหนักรถ 1,001 - 1,250 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 800 บาท
- น้ำหนักรถ 1,251 - 1,500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,000 บาท
- น้ำหนักรถ 1,501 - 1,750 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,300 บาท
- น้ำหนักรถ 1,751 - 2,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,600 บาท
- น้ำหนักรถ 2,001 - 2,500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 1,900 บาท
- น้ำหนักรถ 2,501 – 3,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 2,200 บาท
- น้ำหนักรถ 3,001 – 3,500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 2,400 บาท
- น้ำหนักรถ 3,501 – 4,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 2,600 บาท
- น้ำหนักรถ 4,001 – 4,500 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 2,800 บาท
- น้ำหนักรถ 4,501 – 5,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 3,000 บาท
- น้ำหนักรถ 5,001 – 6,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 3,200 บาท
- น้ำหนักรถ 6,001 – 7,000 กิโลกรัม คิดอัตราภาษี 3,400 บาท
- น้ำหนักรถตั้งแต่ 7,001 กิโลกรัมขึ้นไป คิดอัตราภาษี 3,600 บาท
(4) รถพลังงานไฟฟ้า
- หากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้เก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
- รถพลังงานไฟฟ้าอื่น ๆ ให้เก็บภาษีครึ่งหนึ่งของการเก็บรายคันและตามน้ำหนัก
เช็กภาษีรถประจำปีได้จากที่ไหนบ้าง
ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนสามารถต่อภาษีรถพร้อมเช็กภาษีรถออนไลน์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นรถยนต์ที่อายุไม่เกิน 7 ปี สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก มีรายละเอียดดังนี้
เช็กข้อมูลภาษีรถยนต์ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
(1) เข้าไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/esvapp/esv/ebk/esv02q002/
(2) กรอกข้อมูลประเภทรถ จังหวัด เลขทะเบียนรถ เลขบัตรประชาชนของผู้ครอบครอง และกดค้นหา
(3) เว็บไซต์จะแสดงวันสิ้นอายุภาษีปัจจุบัน/ของปีถัดไป ค่าภาษี และค่าปรับ (ถ้ามี) รวมถึงสถานะของรถว่าต้องตรวจสภาพรถก่อนยื่นต่อภาษีด้วยหรือไม่
ตัวอย่างการเช็กข้อมูลภาษีรถยนต์
ต่อภาษีรถยนต์ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ผู้ใช้รถที่วางแผนต่อภาษีรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นด้วยตนเองหรือผ่านช่องทางออนไลน์ มาดูกันก่อนว่าต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการต่อทะเบียนรถเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เพราะถ้าเอกสารไม่ครบก็ต้องเสียเวลายื่นต่อภาษีรถใหม่ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนไปยื่นต่อภาษีรถยนต์ มีดังนี้
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (ตัวจริงหรือสำเนา)
- หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) (สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้น)
- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ยังไม่หมดอายุ ณ วันต่อภาษีรถ
ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ มีขั้นตอนอย่างไร
ยื่นต่อภาษีรถออนไลน์ที่เว็บกรมการขนส่งทางบก
(1) เข้าไปที่เว็บไซต์ E-Service ของกรมการขนส่งทางบก eservice.dlt.go.th
(2) ทำการ Log-in เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชน พร้อมใส่รหัสผ่าน ใครที่เพิ่งเข้ามาใช้งานครั้งแรกและยังไม่เคยยื่นชำระภาษีออนไลน์ ให้ลงทะเบียนสมาชิกใหม่ก่อนให้เรียบร้อย
(3) สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนให้กรอกข้อมูลส่วนตัว บัตรประชาชน ที่อยู่ปัจจุบันหรือที่อยู่ส่งเอกสาร พร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือ อีเมล และตั้งรหัสผ่าน
(4) เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ให้ล็อกอินเข้าระบบใหม่อีกครั้ง จากนั้นคลิกที่ชำระภาษีรถประจำปี และเลือกชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ต
(5) กรอกรายละเอียดประเภทรถ เลขทะเบียนรถ จังหวัดตามป้ายทะเบียน และชื่อผู้ครอบครองรถ เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเสร็จจะปรากฏที่ช่องรายการข้อมูลทะเบียนรถ โดย 1 ยูสเซอร์ในการลงทะเบียนนั้นสามารถยื่นภาษีออนไลน์ให้หลาย ๆ คนได้ เพียงกรอกข้อมูลประเภทรถเพิ่มลงไป
(6) หลังจากนั้นให้ไปกดที่ช่องยื่นชำระภาษี แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ตรวจสภาพรถจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าได้รับการตรวจสภาพผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางขนส่งจะได้รับข้อมูลจากทาง ตรอ.
(7) กรอกข้อมูล พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ได้ทำการซื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเลขกรมธรรม์ บริษัทที่ซื้อ พ.ร.บ. แต่ถ้าหากว่าใครยังไม่มี พ.ร.บ. ก็สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้เลย
(8) กรอกชื่อ-ที่อยู่ส่งเอกสาร โดยใส่ข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน
(9) แล้วเลือกช่องทางการชำระเงิน โดยระบบจะมีให้เลือกหลายช่องทาง ทั้งหักบัญชีธนาคาร ชำระผ่านบัตรเครดิต ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลการชำระเงิน และตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร
(10) กรณีเลือกชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์บริการ ให้พิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถ แล้วนำในส่วนนี้ไปจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกแห่ง หรือเคาน์เตอร์ธนาคารและตู้ ATM
(11) เมื่อชำระเงินเรียบร้อย ทางกรมการขนส่งทางบกจะส่งใบเสร็จรับเงิน ป้ายภาษี และกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาให้ (กรณีที่ซื้อ พ.ร.บ.ด้วย) ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ภายใน 3-5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน
รถอายุเกิน 7 ปี ต่อภาษีออนไลน์ได้ไหม
สำหรับผู้ใช้รถที่สงสัยว่า ต่อภาษีรถยนต์เกิน 7 ปี ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไหม ? คำตอบคือ ได้ แต่ก่อนดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี จำเป็นต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีรถยนต์ที่ ตรอ. ใกล้บ้าน เพื่อนำใบรายงานผลการตรวจสภาพมายื่นประกอบการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี โดยขั้นตอนการต่อภาษีรถออนไลน์ก็เหมือนกับรถยนต์ที่อายุน้อยกว่า 7 ปี
ต่อภาษีรถยนต์ล่าช้า จะเกิดอะไรขึ้น
หากผู้ใช้รถละเลยไม่ดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นอกจากถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้านำรถคันดังกล่าวมาวิ่งใช้งานบนท้องถนน แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะต้องเสียค่าปรับ หรือถ้าปล่อยไว้นานกว่านั้นอาจเจอบทลงโทษที่ยุ่งยากกว่าเดิม ดังนั้นมาดูกันว่าถ้าไม่ต่อภาษีรถจะเป็นอย่างไร
เสียค่าปรับ
ตามปกติแล้วการต่อภาษีสามารถทำได้ล่วงหน้าก่อนทะเบียนหมดอายุไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน แต่ถ้าต่อภาษีล่าช้าจะโดนค่าปรับ 1% ของภาษีรถยนต์ต่อเดือน ยิ่งปล่อยไว้นาน ค่าปรับก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ถูกระงับทะเบียน
เมื่อปล่อยรถไว้นานโดยไม่ได้ทำการต่อทะเบียนเกิน 3 ปี ทางกรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการระงับทะเบียนทันที ถ้าจะใช้รถคันเดิมต้องดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนรถใหม่พร้อมคืนป้ายทะเบียน รวมถึงดำเนินการชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลัง
เสียค่าใช้จ่ายจิปาถะ
นอกจากค่าปรับย้อนหลังแล้ว การไม่ต่อภาษีรถยนต์ประจำปีตามกำหนดยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ผู้ใช้รถต้องเตรียมไว้ เช่น ค่าตรวจสภาพ ค่าป้ายทะเบียนใหม่ ค่าธรรมเนียม หรือค่าซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ใหม่ เป็นต้น
ไม่ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ทำธุรกรรมได้ไหม
การไม่จ่ายภาษีรถยนต์ประจำปีภายในวันที่กำหนดไว้บนป้ายสี่เหลี่ยมหรือป้ายวงกลมจากกรมการขนส่งทางบก ถือเป็นการขาดต่อภาษีทะเบียนรถหรือที่เรียกว่ารถทะเบียนขาด ทำให้รถของคุณไม่สามารถทำธุรกรรมได้เว้นแต่การซื้อขาย ถ้าต้องการนำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินก้อนผ่านบริการรถแลกเงิน ผู้ใช้รถต้องดำเนินการชำระค่าภาษีรถยนต์ประจำปีที่ค้างไว้ทั้งหมดก่อน
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าผู้ใช้รถคงเห็นถึงความสำคัญของการต่อภาษีรถกันแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเปลี่ยนรถเป็นเงินก้อน เพื่อนำวงเงินดังกล่าวมาเสริมสภาพคล่องในชีวิตประจำวันหรือเป็นวงเงินสำรองฉุกเฉิน ฉะนั้นอย่าลืมหมั่นสังเกตวันหมดอายุได้จากป้ายสี่เหลี่ยมที่ติดอยู่หน้ารถ ส่วนรถที่ต่อทะเบียนทุกปีขอสินเชื่อรถแลกเงินแบบไม่โอนเล่มได้ไม่ยากกับ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ที่เพียงมีรถปลอดภาระและคุณสมบัติครบถ้วนก็สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ อนุมัติปั๊บ รับเงินโอนเข้าบัญชีทันที ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องโอนเล่ม หากไม่สะดวกเดินทางก็มีบริการพี่เบิ้ม Delivery ได้รับสมัครถึงที่ พร้อมมอบบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้ม สำหรับกดเงินใช้จ่ายยามจำเป็นอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : กรมการขนส่งทางบก
ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เตรียมไว้ขอสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน
บทความ

ป้ายภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. เหมือนกันไหม ถ้าหายต้องทำไง
ป้ายภาษีรถยนต์และ พ.ร.บ. รถยนต์ เอกสารสำคัญของผู้มีรถยนต์ที่จำเป็นต้องมี และเป็นสิ่งที่กฏหมายกำหนดให้รถยนต์ทุกคันมีติดไว้ แต่มีข้อแตกต่างที่ควรทำความเข้าใจ

ต่อภาษีรถต้องรู้ ใช้เอกสารอะไรบ้าง ถ้าลืมเสียภาษีเป็นอย่างไร
หน้าที่หลักของผู้มีรถคือต้องทำการยื่นต่อทะเบียนหรือต่อภาษีรถยนต์ประจำปีให้แก่กรมขนส่งทางบก โดยมีเอกสารที่ควรเตรียมให้พร้อม เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ

สรุปเรื่องต้องรู้ ก่อนต่อภาษีรถยนต์ประจำปีออนไลน์
การต่อภาษีรถยนต์สิ่งสำคัญที่คนมีรถไม่ควรละเลย ตามข้อกฎหมายกำหนดหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามมาได้ ในปัจจุบันสามารถดำเนินการต่อภาษีรถผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว