เงินไม่สะดุดแม้ยามฉุกเฉิน
ปัจจุบันบัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินออกมาเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายเวลาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ผู้ถือบัตรเครดิต ไม่แปลกที่ผู้มีรายได้ประจำจากหลากหลายอาชีพ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ความสนใจทำบัตรเครดิตไว้ชำระค่าสินค้า ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสด แล้วค่อยนำเงินก้อนไปชำระคืนตามรอบบิล และทุกครั้งที่คุณรูดบัตรเครดิตยังตามมาด้วยสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ได้รับคะแนนสะสมจากยอดใช้จ่าย โปรโมชั่นผ่อนสินค้า 0% ที่ช่วยแบ่งเบาภาระหรือโปรโมชั่นเครดิตเงินคืนที่ดั่งเป็นส่วนลด ที่คุ้มกว่าการจ่ายเงินสดเป็นไหนๆ แต่ถึงบัตรเครดิตจะมีประโยชน์มากมาย ก็ยังมีสิ่งที่ผู้ถือบัตรเครดิต ควรรู้นั่นคือวิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการรูดบัตรเครดิต แล้วชำระขั้นต่ำหรือชำระไม่เต็มจำนวน ชำระไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด หรือดอกเบี้ยจากการเบิกถอนเงินสดออกมาใช้ยามเร่งด่วน และเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานบัตรเครดิตได้อย่างสบายใจ มาดูสิ่งที่ทำให้เกิดดอกเบี้ยและการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตกัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คือ อัตราดอกเบี้ยในการใช้บริการสินเชื่อ ที่ผู้ถือบัตรเครดิตชำระใหกับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต ซึ่งดอกเบี้ยบัตรเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายกรณี เช่น กรณีชำระขั้นต่ำหรือชำระไม่เต็มจำนวน ชำระช้าเกินวันครบกำหนด หรือการเบิกถอนเงินสด
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เกิดขึ้นเพราะอะไร
1. ชำระตรงเวลา แต่ไม่เต็มจำนวน อาจจะเป็นการชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดเงินรวมที่เรียกเก็บในแต่ละเดือน หรือชำระมากกว่าขั้นต่ำแต่ชำระไม่เต็มจำนวน เป็นการทยอยผ่อนชำระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 0%
2. ชำระช้าเกินวันครบกำหนดชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่ชำระเลย ชำระเต็มจำนวน ผู้ถือบัตรฯ จะถูกคิดดอกเบี้ยฯ ของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรเครดิตจนถึงวันที่ก่อนชำระคืนครบทั้งหมด ทั้งยังต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของค่าติดตามทวงถามถ้าหากเจ้าหน้าที่โทรทวงถาม
3. เบิกถอนเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิตออกมาใช้ล่วงหน้า เงินส่วนนี้จะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ทำรายการ นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด 3% ของยอดเงินที่เบิกถอนแต่ละครั้ง
อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
สำหรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต KTC ทุกประเภทอยู่ที่ 16% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการชำระคืนของผู้ใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก หากผู้ถือบัตรฯ เลือกชำระค่าสินค้าและบริการที่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% หรือจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนตามยอดเงินรวมที่เรียกเก็บในแต่ละเดือน ก็ไม่ต้องพะวงว่าต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตในภายหลัง
วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต
คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต
สำหรับวิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้น สามารถแบ่งตามวิธีชำระหนี้บัตรเครดิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรณีจ่ายขั้นต่ำ ตรงเวลา
จะแยกคำนวณดอกเบี้ยออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ดอกเบี้ยเงินต้น ของวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระเงิน 1 วัน
ส่วนที่ 2 ดอกเบี้ยค้างชำระ ของวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป
ตัวอย่าง
นาย A รูดซื้อสินค้า 30,000 บาท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม โดยบัตรเครดิตสรุปยอดทุกวันที่ 17 ของเดือน และวันครบกำหนดชำระเงิน ทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไป (อัตราดอกเบี้ยฯอยู่ที่ 16%) ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม นาย A เลือกชำระเงินคืนขั้นต่ำ 10% คิดเป็นเงินจำนวน 3,000 บาท ในกรณีนี้จะถูกคิดดอกเบี้ยฯ ส่วนแรกจากยอดที่ใช้ไปทั้งหมด
วิธีคำนวณดอกเบี้ยเงินต้น
ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน(นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน)
จำนวนวันใน 1 ปี
ในกรณีนี้ดอกเบี้ยเงินต้น จะถูกคำนวณจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน (วันที่ 18 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม = 45 วัน) คือ 30,000 x 16% x 45 / 365 วัน = 591.78 บาท
วิธีคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ
เป็นการคิดดอกเบี้ยฯ จากยอดหนี้ที่เหลือหรือยอดที่ยังไม่ได้ชำระ ซึ่งจะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำ จนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป (2 - 17 กรกฎาคม = 16 วัน) โดยมีวิธีคิดดอกเบี้ยฯ ดังต่อไปนี้
ค่าคงค้าง X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวันจากวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป
จำนวนวันใน 1 ปี
สำหรับดอกเบี้ยฯ ส่วนที่ 2 คิดได้ดังนี้ 27,000 x 16% x 16 / 365 = 189.37 บาท
เป็นผลให้ในรอบครบกำหนดชำระวันที่ 17 กรกฎาคม ผู้ใช้บัตรเครดิตจะถูกคิดดอกเบี้ยฯ จะมียอดดอกเบี้ยฯ ที่เรียกเก็บเพิ่มทั้งหมด คือ 591.78 + 189.37 = 781.15 บาท
ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงรอบครบกำหนดชำระถัดไปในวันที่ 2 สิงหาคมผู้ใช้บัตรเครดิตมียอดคงค้างพร้อมดอกเบี้ยฯ ที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงิน 27,000 + 781.15 = 27,781.15 บาท
2. กรณีจ่ายคืนเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงเวลา
สำหรับกรณีนี้ แม้จะชำระหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวน ก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยฯ ของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันที่ชำระคืนครบทั้งหมด โดยมีวิธีคำนวณดอกเบี้ยฯ ตามนี้
ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน (นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน)
จำนวนวันใน 1 ปี
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย คือ 30,000 x 16% x 45 / 365 = 591.78 บาท
นอกจากดอกเบี้ย จำนวน 591.78 บาทแล้ว ผู้ถือบัตรเครดิตยังต้องชำระค่าทวงถามหนี้ โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/รอบบัญชี + vat 7% = 107 บาท และมีผลต่อประวัติการชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไข อัตราค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ฉะนั้น หากผู้ใช้บัตรเครดิตไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตรงตามเวลา และจ่ายครบทั้งหมด จะถูกคิดดอกเบี้ย และค่าทวงถามเบื้องต้นใน 1 รอบบิล เป็นเงิน 591.78 + 107 บาท = 698.78 บาท
3. กรณีเบิกถอนเงินสด
ตัวอย่าง
นาย A เบิกถอนเงินสดจำนวน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 2 กันยายน โดยวันสรุปยอดบัญชีคือทุกวันที่ 13 ของเดือน และวันครบกำหนดชำระเงิน ทุกวันที่ 28 ของเดือน (อัตราดอกเบี้ยฯอยู่ที่ 16%) ต่อมานาย A ต้องการปิดยอดชำระเงินเบิกถอนเงินสดพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ในวันที่ 28 กันยายน ในกรณีนี้นาย A ต้องเสียดอกเบี้ยจากการเบิกถอนเงินสดเป็นจำนวนเท่าไร
วิธีคำนวณดอกเบี้ย
จำนวนเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน (นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน)
จำนวนวันใน 1 ปี
จากกรณีตัวอย่าง เมื่อคำนวณดอกเบี้ยของการเบิกถอนเงินสด (2 – 27 กันยายน = 26 วัน) = 10,000 x 16% x 26/365 = 113.97 บาท
สุดท้ายต้องบอกว่าบัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยในการใช้จ่าย นอกจากมีเงินสดไว้ในยามฉุกเฉิน ยังได้รับสิทธิประโยชน์คืนกลับมามากมายเมื่อใช้บัตรเครดิตในชีวิตประจำวัน ทั้งเครดิตเงินคืนหรือการสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกของรางวัล ที่สำคัญการใช้บัตรเครดิตยังถือเป็นการสร้างเครดิตให้ตัวเองอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งมีผลดีต่อผู้ถือบัตรฯ เวลาสมัครสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ก็มีโอกาสได้รับอนุมัติสูง เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมองว่า มีวินัยทางการเงินและมีความสามารถในการชำระเงินคืน พอรู้แบบนี้แล้วใครที่ยังไม่มีบัตรเครดิตหรือเพิ่งทำบัตรเครดิตใบแรกก็อย่าลืมสร้างวินัยการใช้บัตรเครดิต เพื่อให้ทุกครั้งที่รูดบัตรฯ มีแต่ได้กับได้
*หมายเหตุ: ดอกเบี้ย หมายถึง ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ซึ่งมีอัตรารวมกัน 16%
แต่ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับดอกเบี้ยฯตามแต่ละช่วงได้เหมือนกัน โปรดตรวจสอบแต่ละสถาบันการเงินอีกครั้ง
บทความ
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง ใช้แล้ววิ่งเลยหรือ?
เมื่อถึงวัยทำงานถือว่าเป็นอีกวัยหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตการทำงาน การเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันต่างๆ รวมไปถึงการใช้จ่ายที่ต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น
How to วางแผนการเงินล่วงหน้า เงินไม่สะดุดแม้หางานใหม่
ช่วงหางานใหม่เป็นช่วงที่หลายคนมีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย การวางแผนการเงินเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินจึงจำเป็น ช่วยให้มีเงินสำรองใช้จ่ายในยามที่ลำบาก
8 วิธีการใช้บัตรเครดิตสำหรับมือใหม่ จ่ายสบาย ไม่สร้างหนี้เพิ่ม
บัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มนุษย์เงินเดือนกว่า 99% มี และน่าจะมีบัตรเครดิตกันหลายใบ หากใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จะทำให้คุณมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นได้ และสำหรับมือใหม่หัดใช้บัตรเครดิต ที่กังวลใจว่าควรใช้บัตรเครดิตยังไงไม่ให้ก่อหนี้เพิ่ม วันนี้เรามีเคล็ดไม่ลับที่ช่วยให้คุณใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตที่ถูกต้อง